สาธารณรัฐอินเดีย
Republic of India
เมืองหลวง นิวเดลี
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้พื้นที่ประมาณ 3,287,263 ตร.กม. แบ่งเป็น พื้นดิน 2,973,193 ตร.กม. พื้นน้ำ 314,070 ตร.กม. (ใหญ่กว่าไทยประมาณ 6 เท่า) มีพรมแดนทางบกยาวประมาณ 14,103 กม. และชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 7,000 กม. รวมทั้งมีดินแดนที่เป็นหมู่เกาะในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และทะเลอาหรับจำนวน 1,197 เกาะ หมู่เกาะที่สำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะอันดามันนิโคบาร์และลัคคาดีฟ ส่วนนิวเดลีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,800 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดปากีสถานจีนเนปาลภูฏานและเมียนมา
ทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ติดบังกลาเทศเมียนมาและอ่าวเบงกอล
ทิศใต้ ใกล้ศรีลังกา
ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ติดปากีสถาน
ภูมิประเทศ ประกอบด้วย 4 ลักษณะคือ 1) เขตภูเขาสูงตอนเหนือ (เทือกเขาหิมาลัย) เป็นเขตเทือกเขาสูงเป็นแนวยาวตะวันตก-ตะวันออก เริ่มต้นจากเขตแดนอัฟกานิสถานกั้นชายแดนดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียทางตอนเหนือ จนถึงชายแดนจีนและเมียนมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 2) เขตลุ่มน้ำคงคาพรหมบุตรและลุ่มน้ำสินธุ ลุ่มน้ำคงคาและพรหมบุตรเป็นเขตลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกของประเทศ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหิมาลัยและแยกเป็นสาขาอีกหลายสาย เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ ส่วนลุ่มน้ำสินธุ ต้นน้ำอยู่ในทิเบตไหลในแนวจากเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปากีสถาน แต่มีแม่น้ำสาขาหลายสายอยู่ในเขตอินเดีย 3) เขตพื้นที่ทะเลทราย (ทะเลทราย Thar) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เขตรัฐราชสถานต่อเนื่องปากีสถาน สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 ม. แห้งแล้งมีภูเขาหินปูนกระจายทั่วไป และ 4) เขตพื้นที่คาบสมุทรตอนใต้ เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งยื่นเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียรายล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ตอนกลางพื้นที่คาบสมุทรเป็นเขตที่สูงเรียกว่าที่ราบสูง Deccan (Deccan Plateau) มีเทือกเขา Ghats ขนาบอยู่ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ปลายเทือกเขา 2 เทือกนี้ไปบรรจบกันในทางตอนใต้ที่เทือกเขานิลคีรี
วันชาติ 26 ม.ค.
วันประกาศเอกราช 15 ส.ค.
นายนเรนทรา โมดิ
Narendra Modi
(นรม.อินเดีย)
รายละเอียดประชากร 1,381 ล้านคนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยองค์การสหประชาชาติคาดว่า อินเดียจะมีประชากร 1,500 ล้านคน และ 1,700 ล้านคน ภายในปี 2573 และปี 2593 ตามลำดับ
การก่อตั้งประเทศ อินเดียตกอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด และการรณรงค์เรียกร้องเอกราชโดยสันติวิธีที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2463 นำโดยมหาตมะ คานธี และยาวาหะราล เนรูห์ จนประสบความสำเร็จและได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 15 ส.ค.2490 และสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียเมื่อ 26 ม.ค.2493
การเมือง เป็นสาธารณรัฐปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งการปกครองออกเป็น 28 รัฐ และ
8 ดินแดนสหภาพ (Union Territories) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี
มาจากการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ดำรงตำแหน่ง
ได้ไม่เกิน 2 วาระ รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญของอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) กับรัฐบาลแห่งรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน
ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ขณะที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเลือกโดยสมาชิกพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรายงานโดยตรงต่อสภาผู้แทนราษฎร
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบ 2 สภา คือ 1) วุฒิสภา (ราชยสภา) ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน วาระ 6 ปี ในจำนวนนี้ 12 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งทุก 2 ปี และที่เหลือ 233 คน เลือกโดยสภา นิติบัญญัติแห่งรัฐหรือดินแดนสหภาพ และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) สมาชิก 545 คน วาระ 5 ปี ในจำนวนนี้ 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (ผู้แทนรัฐ 530 คน และผู้แทนดินแดนสหภาพ 13 คน) ผู้แทน Anglo Community 2 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
ฝ่ายตุลาการ มีอำนาจอิสระ ทำหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกามีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ในระดับรัฐมีศาลสูงสุดของรัฐและศาลทั่วไป ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
พรรคการเมือง ระบบหลายพรรค ปัจจุบันคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศอินเดีย คือ กลุ่ม National Democratic Alliance (NDA) ซึ่งมีพรรคภารติยะ ชนตะ (Bharatiya Janata Party-BJP) เป็นแกนนำ ภายหลังได้รับเลือกตั้ง ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 จำนวน 353 ที่นั่ง (เมื่อ พ.ค.2562) พรรคการเมืองสำคัญนอกเหนือจากพรรค BJP ได้แก่ พรรคคองเกรส ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พรรคชนตะดาล และพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย
สถานการณ์ทางการเมือง
รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ นรม.นเรนทรา โมดิ และพรรค BJP ยังคงมีเสถียรภาพ หลังการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่เมื่อ ก.ค.2564 ซึ่งช่วยลดกระแสวิจารณ์การบริหารจัดการสถานการณ์โรค COVID-19 ของรัฐบาล และปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย เพื่อสร้างคะแนนนิยมกับคนรุ่นใหม่ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งระดับรัฐในปี 2564-2565 และการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในปี 2567
อย่างไรก็ดี อินเดียถูกวิจารณ์ถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ถดถอยลง โดยในรายงาน Freedom in the World 2021 ของ Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของสหรัฐฯ ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีเสรีภาพ จัดอินเดียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพบางส่วน (Partly Free) ในปี 2564 โดยได้คะแนน 67 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากปี 2563 ซึ่งได้ 71 คะแนน จากการที่รัฐบาลของ นรม.โมดิ ซึ่งมีความเป็นฮินดูชาตินิยมเข้มข้น ดำเนินนโยบายกดดันองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คุกคามนักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และกลุ่มศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิม ตลอดจนจำกัดสิทธิของประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
วิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอก 2 ซึ่งเริ่มเมื่อ ก.พ.2564 ทำให้รัฐบาลอินเดียถูกโจมตีว่าล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดระลอกแรก ปี 2563 โดยวิกฤตโรค COVID-19 ระลอก 2 เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นที่แพร่ระบาดก่อนหน้า และภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อรา (Fungal Infection) ชนิด Mucormycosis หรือเชื้อราดำ (BlackFungus) ในผู้ป่วยโรค COVID-19 ทำให้อินเดียประสบวิกฤตขาดแคลนออกซิเจนเหลวทางการแพทย์ ยารักษาโรค และเตียงสำหรับผู้ป่วยและฌาปนสถานสำหรับผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของ นรม.โมดิ โดยการสำรวจคะแนนนิยม Mood of the Nation ของ สนข.India Today ของอินเดีย พบว่า คะแนนนิยมของ นรม.โมดิ ลดลงเป็น24% ใน ส.ค.2564 จากเดิม 66% เมื่อ ส.ค.2563 สอดคล้องกับการสำรวจคะแนนนิยมของบริษัท Morning Consult ของสหรัฐฯ พบว่า คะแนนนิยมของ นรม.โมดิ ลดลงเป็น 69% ใน 1 พ.ย.2564 จากเดิม 76% เมื่อ 1 ม.ค.2564
เศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนา เดิมใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เน้นพึ่งพาตนเอง ประชากรอินเดียเป็นเกษตรกรถึง 44% ของจำนวนแรงงานในประเทศ และประสบปัญหาความยากจน อินเดียเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2534 โดยเริ่มเปิดตลาดภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเป็นลำดับ ปัจจุบัน เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัว และเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกภายใน 10-15 ปี เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียในปัจจุบันเป็นวัยแรงงานที่มีทักษะ กับทั้งรัฐบาลอินเดียยังเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ เฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปกฎหมายการเงินและการธนาคาร กฎหมายจ้างงาน กฎหมายที่ดิน กฎหมายการเกษตร พร้อมกับเร่งดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน อินเดียยังมีธุรกิจเกิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กว่า 21 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียยังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปี 2563-2564 ที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งจากการที่รัฐบาลอินเดียเริ่มเปิดประเทศ ควบคู่กับที่ภาคธุรกิจอินเดียสามารถรื้อฟื้นการผลิต และเร่งการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India-RBI) เปิดเผยประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ของอินเดียในปีงบประมาณ 2564-2565 (1 เม.ย.2564-31 มี.ค.2565) จะขยายตัวเฉลี่ย 9.5% โดยแบ่งเป็นรายไตรมาส ดังนี้ ขยายตัว 18.5% ในไตรมาสที่ 1 (เม.ย.-มิ.ย.2564) ขยายตัว 7.9% ในไตรมาสที่ 2 (ก.ค.-ก.ย.2564) ขยายตัว 7.2% ในไตรมาสที่ 3 (ต.ค.-ธ.ค.2564) และขยายตัว 6.6% ในไตรมาสที่ 4 (ม.ค.-มี.ค. 2565) ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank-WB) ประเมินว่าเศรษฐกิจอินเดียในปีงบประมาณ 2564-2565 จะขยายตัว 8.3% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund-IMF) เห็นว่า เศรษฐกิจอินเดียในปีงบประมาณ 2565 จะขยายตัว 12.5%
รัฐบาลอินเดียเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาชนบท และระบบสุขภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรค COVID-19 พร้อมดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนในห้วงวิกฤตโรค COVID-19 ผ่านมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การผ่อนคลายนโยบายการเงิน การให้สภาพคล่องทางการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงิน รวมถึงการปฏิรูปแรงงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อาทิ อนุมัติเงินเยียวยาให้กับเกษตรกร แรงงานในพื้นที่ชนบท แรงงานก่อสร้าง และแรงงานนอกระบบ มอบสิ่งของอุปโภคบริโภค เช่น แก๊สหุงต้ม และข้าวสารให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยทุกราย มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกราย และอุดหนุนราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร
สกุลเงินตัวย่อสกุลเงิน : รูปี (INR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 74.05 รูปี
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 2.26รูปี (พ.ย. 2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 2,622,983.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ: -8.0%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 471.7 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 7.1%
อัตราเงินเฟ้อ : 6.6%
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าว ผลิตภัณฑ์นม ข้าวสาลี มะม่วง ฝรั่ง อ้อย ฝ้าย กล้วย มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วลิสง ผักกระเจี๊ยบ หัวหอม และถั่วลูกไก่
ผลผลิตอุตสาหกรรม : ผ้า อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า ซอฟท์แวร์ เหมืองแร่ พลังงาน และประมง
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 96,816 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 276,467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เวชภัณฑ์ ไข่มุก หินอัญมณี รัตนชาติ เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องจักรและชิ้นส่วนของเครื่องจักร
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง และสิงคโปร์
สินค้านำเข้า : น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทองคำ ไข่มุก หินอัญมณี รัตนชาติ ถ่านหิน และถ่านโค๊ก
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน อิรัก ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐฯ
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ บังกลาเทศ เนปาล เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตำแหน่งโดยใช้อำนาจผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี นรม.และ รมว.กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบกระทรวงกลาโหม มีหน่วยงานสำคัญระดับกรมหรือเทียบเท่า 5 หน่วยงาน คือ กรมการป้องกันประเทศ กรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กรมสวัสดิการทหารผ่านศึก กรมกิจการทหาร และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ งบประมาณทางทหาร 64,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปีงบประมาณ 2564-2565) กำลังพลประจำการประมาณ 1,458,500 นาย และกำลังพลสำรอง 1,155,000 นาย
ทบ. มีกำลังพลประมาณ 1,237,000 นาย แบ่งเป็น กองบัญชาการ 6 ภาค ได้แก่ ภาคกลางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทบ. อินเดียมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนายุทโธปกรณ์ภายในประเทศ โดย ทบ.อินเดียพัฒนาขีดความสามารถรถถังให้ทันสมัยมากขึ้น มีสมรรถนะการยิงในเวลากลางคืน และนำขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรถถังมาใช้พร้อมกับผลิตรถถังและเรดาร์ (เพื่อใช้ป้องกันภัยทางอากาศ) ขึ้นใช้เอง รวมทั้งวิจัยและพัฒนาขีปนาวุธ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาระบบจรวดสมรรถนะสูงเพื่อทดแทนระบบยิงจรวดเดิมของ ทบ. อินเดีย ซึ่งเป็นจรวดขนาด 122 มม. สำหรับยิงจากรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้อง (จลก.) โดยมีระยะยิง 40 กม. และการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของขีปนาวุธของอินเดียให้มีระยะยิงไกล มีเสถียรภาพ และมีความแม่นยำมากขึ้น เช่น ขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศ Akash Prime ขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศ Akash-NG และขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่ภาคพื้น Agni-P ขณะเดียวกันอินเดียยังได้ร่วมมือกับฝรั่งเศสอิสราเอลและรัสเซียผลิตขีปนาวุธแบบต่าง ๆ ด้วย
ทร. มีกำลังพลประมาณ 69,050 นาย แบ่งเป็น กองบัญชาการ 3 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก
ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีกองเรือยุทธการ 2 กองเรือ รับผิดชอบดูแลน่านน้ำด้านทะเลอาหรับและ
อ่าวเบงกอล ปัจจุบัน ทร.อินเดียกำลังพัฒนาขีดความสามารถเพื่อมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์น่านน้ำทะเลลึก
(Blue-Water Navy) กับทั้งมุ่งเสริมสร้างกำลังรบด้วยการพึ่งพาตนเองมากกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
เฉพาะอย่างยิ่งเรือบรรทุกเครื่องบินเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และเรือดำน้ำดีเซล นอกจากนี้ ทร.อินเดีย
ยังพยายามยกระดับขีดความสามารถอย่างรอบด้าน เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการปรับใช้ Big Data และ Artificial Intelligence (AI) เพื่อบูรณาการการปฏิบัติการ ปัจจุบันอินเดียมีเรือรบประเภทต่าง ๆ 500 ลำ ที่สำคัญ ได้แก่เรือดำน้ำที่ต่อในอินเดีย ประกอบด้วย เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ INS Arihant ซึ่งมีขีดความสามารถในการติดตั้งขีปนาวุธ K-15 จำนวน 12 ลูก รวมถึงเรือดำน้ำดีเซล INS Khanderi ซึ่งมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการโจมตีเรือผิวน้ำ ต่อต้านเรือดำน้ำ ลาดตระเวน และรวบรวมข่าวสาร โดยมีระยะทำการ 12,000 กม. นอกจากนี้ ยังจัดซื้อ ฮ.อเนกประสงค์ รุ่น MH-60R จากสหรัฐฯ จำนวน 24 เครื่อง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของ ทร.อินเดีย โดยสหรัฐฯ ส่งมอบ ฮ. 2 เครื่องแรกให้อินเดีย เมื่อ 16 ก.ค.2564 ซึ่ง ทร.อินเดียจะนำไปปรับแต่งและติดตั้งยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในอินเดียเพิ่มเติม
ทอ. มีกำลังพลประมาณ 139,850 นาย แบ่งเป็น กองบัญชาการภาค 5 แห่ง ได้แก่ ภาคกลางภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทอ.อินเดียมีฝูงบินรบที่ทันสมัยหลายฝูงบิน
มี บ.รบทั้งจากรัสเซียและฝรั่งเศส บ.โจมตี Jaguar จากอังกฤษ บ.ลำเลียง IL-76 และ ฮ.อีกหลายประเภทอินเดียมีแผนปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพด้วยการจัดหาเครื่องบินแบบต่าง ๆ เข้าประจำการเพิ่มเติม รวมทั้งทดแทนเครื่องเดิมที่มีอายุการใช้งานเป็นระยะเวลานานอาทิ การจัดซื้อ บ.ขับไล่ที่ผลิตในอินเดีย จำนวน83 เครื่อง แบ่งเป็น บ.ขับไล่ LCA Tejas Mk-1A จำนวน 73 เครื่อง และ บ.ฝึก LCA Tejas Mk-1 จำนวน 10 เครื่อง โดยจะทยอยส่งมอบจนครบในปี 2572 การจัดซื้อ บ.ขับไล่ Rafaleจำนวน 36 เครื่อง จากฝรั่งเศส เมื่อ ก.ย.2559 เพื่อจัดตั้งเป็น 2 ฝูงบินโดยให้ทยอยส่งมอบจนครบในปี 2564 และการจัดซื้อ บ.ลำเลียง C-295MWจำนวน 56 เครื่อง จากสเปน เพื่อทดแทนเครื่องบินลำเลียงรุ่นเก่า
กองบัญชาการกองกำลังทางยุทธศาสตร์ (Strategic Forces Command-SFC) เป็นกองบัญชาการร่วมระหว่าง 3 เหล่าทัพ ทำหน้าที่อำนวยการประสานงานระหว่างหน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของ ทบ. ทร. และ ทอ. เพื่อดูแลอาวุธทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย เฉพาะอย่างยิ่งหัวรบนิวเคลียร์ และเครื่องส่งหัวรบรูปแบบต่าง ๆ โดยอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง มีโครงการพัฒนานิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการทหารและพลังงาน อินเดียเริ่มทดลองอาวุธนิวเคลียร์เมื่อปี 2517 และเมื่อปี 2541 อินเดียทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งสำคัญ และประกาศว่าเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ ปัจจุบันอินเดียมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 156 หัวรบ ซึ่งใกล้เคียงกับที่ปากีสถานมีประมาณ 165 หัวรบ ขณะที่จีนมีอยู่ 350 หัวรบ ทั้งนี้ อินเดียอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทัพขีปนาวุธ (Rocket Force) เพื่อปฏิรูปกองทัพและเสริมสร้างแสนยานุภาพให้กองทัพอินเดียสามารถรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ อินเดียยังมีกองกำลังป้องกันชายฝั่ง (Coast Guard) อีก 12,600 นาย และ
กำลังพลกึ่งทหาร (Paramilitary) อีก 1,585,950 นาย
นโยบาย Make in India ทำให้กองทัพอินเดียนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศลดลง 33%ระหว่างปี 2559-2563 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการนำเข้าอาวุธของอินเดียระหว่างปี 2554-2558 โดยในปี 2563 รัสเซีย ฝรั่งเศส และอิสราเอล เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธมายังอินเดียรายใหญ่ 3 ลำดับแรกคิดเป็น 49% 18% และ 13% ตามลำดับ ขณะเดียวกัน อินเดียยังมีสัดส่วนการส่งออกยุทโธปกรณ์ 0.2% ของมูลค่าการค้ายุทโธปกรณ์โลก โดยเมียนมา ศรีลังกา และมอริเชียส เป็นประเทศผู้นำเข้ายุทโธปกรณ์รายใหญ่จากอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 52% 24% และ 13% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี อินเดียยังคงเป็นประเทศที่นำเข้ายุทโธปกรณ์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 9.5% ของมูลค่าการนำเข้ายุทโธปกรณ์ทั่วโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย ที่มีมูลค่าการนำเข้า 11% ของมูลค่าการนำเข้ายุทโธปกรณ์ทั่วโลก
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) รัฐบาลพรรค BJP ภายใต้การนำของ นรม.โมดิ ยังคงได้รับความนิยมจากประชากรอินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียเผชิญกับความท้าทายจากการดำเนินนโยบายกดดันองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คุกคามนักวิชาการ ผู้สื่อข่าว ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมในดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ ตลอดจนการจำกัดสิทธิของประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และการชุมนุมต่อต้านกฎหมายปฏิรูปภาคการเกษตรของเกษตรกรอินเดีย โดยกลุ่มเกษตรกรอินเดียชุมนุมประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ย.2563
2) อินเดียเผชิญวิกฤติโรค COVID-19 ระลอก 2 ซึ่งเริ่มเมื่อ ก.พ.2564 รุนแรงกว่าระลอก 1ซึ่งเริ่มเมื่อ มี.ค.2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นที่แพร่ระบาดก่อนหน้า โดยในการแพร่ระบาดระลอก 2 อินเดียตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดมากกว่าวันละ 400,000 ราย แต่ปัจจุบันวิกฤตโรค COVID-19 ระลอก 2 ในอินเดียเริ่มคลี่คลาย โดยตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่าวันละ 20,000 ราย (พ.ย.2564) ทั้งนี้ อินเดียมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมมากกว่า 34 ล้านราย เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยมีผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 460,000 ราย ขณะที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้ประชาชนแล้วมากกว่า 1,100 ล้านโดส ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นวัคซีนโดสแรกประมาณ 750 ล้านโดส และวัคซีนโดสที่ 2 จำนวน 357 ล้านโดส (พ.ย.2564)
3) ความขัดแย้งกับปากีสถานที่เสื่อมทรามลงจากกรณีแคชเมียร์ โดยอินเดียเชื่อมั่นว่าปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคชเมียร์ปฏิบัติการบ่อนทำลายเสถียรภาพของอินเดีย รวมถึงกรณีผู้ก่อการร้ายใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) โจมตีฐานทัพอากาศจัมมู ดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ เมื่อ 27 มิ.ย.2564 ซึ่งอินเดียเชื่อว่าปากีสถานเป็นผู้ก่อเหตุหรือสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในการก่อเหตุ สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค ตลอดจนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจ อาทิ จีน และสหรัฐฯ พยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค
4) ความขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนที่ครอบคลุมพื้นที่หลายบริเวณ และยังไม่ยุติ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศ แม้จะมีการจัดการประชุมหน่วยทหารที่ประจำการบริเวณพรมแดนพิพาทของอินเดียและจีนแล้ว 13 ครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าประจำการต่อเนื่องโดยอินเดียอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองพันตำรวจตระเวนชายแดนอินเดีย-ทิเบต (Indo-Tibetan Border Police-ITBP)เพิ่ม 7 กองพัน รวมกำลังพลประมาณ 8,000 นาย เพื่อประจำการตามแนวเส้น Line of Actual Control (LAC) บริเวณรัฐอรุณาจัลประเทศ
5) การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การทหาร และความมั่นคง สร้างความกังวลให้อินเดียถึงการรุกคืบของจีนเข้ามาในพื้นที่ที่อินเดียถือเป็นเขตอิทธิพลของตน และยังมีแนวโน้มที่อินเดียอาจถูกปิดล้อมจากจีนได้ในระยะยาว ซึ่งจะบั่นทอนสถานะของอินเดียในการเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค
6) สถานการณ์ในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบัน อินเดียวิตกว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์จะได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มตอลิบัน รวมทั้งใช้พื้นที่อัฟกานิสถานเป็นแหล่งซ่องสุมและฐานปฏิบัติการโจมตีอินเดียอีกทั้งยังอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของอินเดียในอัฟกานิสถานจากการที่อินเดียเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอัฟกานิสถานจำนวนมาก อาทิ ทางหลวง Zaranj-Delaram ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อมต่อกับชายแดนอิหร่าน และเขื่อนมิตรภาพอัฟกานิสถาน-อินเดีย
ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย
ไทยและอินเดียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ1 ส.ค.2490 และยกสถานะขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2494 สอท.ประจำอยู่ที่นิวเดลีและมีสถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง ที่เมืองโกลกาตา มุมไบ และเจนไน ส่วนอินเดียมี สอท. ประจำกรุงเทพฯ และมีสถานกงสุลใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.สงขลา ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียพัฒนาใกล้ชิดขึ้นเป็นลำดับ ภายหลังอินเดียเริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2534 และดำเนินนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากขึ้น และปรับเปลี่ยนมาเป็นการดำเนินนโยบายรุกตะวันออก (Act East Policy) ในสมัย นรม.โมดิ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทย โดยที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ทั้งการเยือนอินเดียในระดับพระราชวงศ์ การเยือนระดับผู้นำประเทศ และการขยายความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โทรศัพท์หารือกับ นรม.โมดิ ของอินเดีย เมื่อ 1 พ.ค.2563 ยืนยันว่าอินเดียเป็นแหล่งนำเข้าเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ของไทย ขณะที่ นรม.โมดิเน้นย้ำว่า อินเดียมี ขีดความสามารถการผลิตเวชภัณฑ์เพียงพอสนับสนุนการสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศไทยและอินเดียยังหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีผ่านระบบการประชุมทางไกลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงแสดงท่าทีต้องการปรับดุลการค้ากับไทย ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้อินเดียได้เปรียบดุลการค้ามากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกจากนี้ อินเดียยังติดตามท่าทีของไทยเกี่ยวกับการขุดคลองไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากห่วงกังวลว่าจะส่งเสริมให้จีนขยายอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้น และประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่ออินเดียที่ต้องการคงอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดีย
ด้านเศรษฐกิจไทยให้ความสำคัญการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดีย
โดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดีย กลไกความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมทางการค้า (จัดตั้งเมื่อปี 2532) การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการลงนามในกรอบความตกลง
ว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดียเมื่อปี 2546 ซึ่งทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด
โดยการค้าทวิภาคีระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.2564 มีมูลค่า 7,064.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทย3,830.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย 3,233.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 597.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม กาแฟ ชา และเครื่องเทศ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทองแดงและของ ทำด้วยทองแดง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
วิกฤตโรค COVID-19 ทำให้การท่องเที่ยวของไทยกับอินเดียประสบภาวะชะงักงัน แต่การที่ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นอันดับต้น จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยหลังการเปิดประเทศ และในช่วงที่รัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก่อนวิกฤตโรค COVID-19 เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 1,995,516 คน สูงเป็นลำดับที่ 3 รองจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนสร้างรายได้รวมถึง 86,372.01 ล้านบาท ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเลของไทยที่สำคัญ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทั้งนิยมจัดงานฉลองมงคลสมรสที่ไทย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การดำเนินนโยบายฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค COVID-19 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูบทบาทของอินเดียในประชาคมระหว่างประเทศให้โดดเด่นขึ้นอีกครั้ง จากการดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนของอินเดีย
2) ความขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนที่ยังไม่สามารถยุติได้โดยง่าย และอินเดียมีแนวโน้มหวาดระแวงจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนยังคงรุกคืบเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ครองครองพื้นที่ที่เป็น กรณีพิพาท นอกจากนี้ จีนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียกระชับความร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตร แน่นแฟ้นขึ้น เพื่อช่วยต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค
3) ความขัดแย้งกับปากีสถาน จากการที่อินเดียยังคงดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อปากีสถาน และมีแนวโน้มที่จะใช้แสวงการหาความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี กดดันปากีสถานมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นว่าปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปฏิบัติการบ่อนทำลายเสถียรภาพของอินเดีย นอกจากนี้ การที่ปากีสถานมีความใกล้ชิดกับจีน และรัฐบาล ตอลิบันของอัฟกานิสถาน ทำให้อินเดียวิตกว่าปากีสถานจะมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น
4) การดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียกับประเทศมหาอำนาจ เฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ และการสานต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ตลอดจนความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคง (QUAD) ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ภายหลังจากที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ AUKUS
5) การดำเนินนโยบายของอินเดียต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมุ่งเน้นการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับทวิภาคีมากขึ้น เพื่อรักษาความเกี่ยวพันกับประเทศในภูมิภาคและไม่ให้บทบาทของอินเดียในภูมิภาคลดลงเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่น จากการที่อินเดียไม่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP)