รัฐอิสราเอล
State of Israel
รัฐอิสราเอล
State of Israel
เมืองหลวง เทลอาวีฟ
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรปใต้ ระหว่างเส้นละติจูด 29-34 องศาเหนือ และลองจิจูด 34-36 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 20,770 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 154 ของโลก และเล็กกว่าไทยเกือบ 25 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 6,900 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเลบานอน (81 กม.)
ทิศใต้ ติดกับอ่าวอะกาบา บนชายฝั่งทะเลแดง
ทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์ (330 กม.) จอร์แดน (307 กม.) แม่น้ำจอร์แดน และทะเลสาบเดดซี (Dead Sea)
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับซีเรีย (83 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ (59 กม.)
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ (208 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ครึ่งหนึ่งของอิสราเอลเป็นภูเขา ที่เหลือทางตอนใต้เป็นที่ราบสูงและทะเลทรายแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ อิสราเอลแบ่งพื้นที่ออกเป็น
1) ที่ราบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแนวขนานไปกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประกอบด้วย หาดทรายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าครึ่งของประเทศ
2) ที่ราบสูงจูเดีย-กาลิลี (Judean-Galilee Highland) ประกอบด้วย ที่ราบสูงโกลาน (Golan) ที่ราบสูงจูเดีย (Judean) และที่ราบสูงกาลิลี (Galilee) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอาหรับส่วนใหญ่ในอิสราเอล บริเวณที่ราบสูงกาลิลี มีภูเขาเมรอน (Meron) เป็นภูเขาสูง และจุดที่สูงที่สุดของอิสราเอล (3,963 ฟุต หรือ 1,208 ม. เหนือระดับน้ำทะเล) รอบภูเขามีหุบเขาเล็ก ๆ หลายแห่งที่มีพืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบริเวณที่สวยงามที่สุดของอิสราเอล ทางด้านตะวันออกของที่ราบสูงกาลิลีเป็นที่ราบสูงโกลาน ซึ่งอิสราเอลยึดครองมาจากซีเรียเมื่อปี 2510 ส่วนที่ราบสูงจูเดีย ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนใหญ่ที่อิสราเอลยึดครองมาจากจอร์แดนในปีเดียวกัน และยังเป็นที่ตั้งของเยรูซาเลม
3) หุบเขาจอร์แดน ริฟต์ วัลเลย์ (Jordan Rift Valley) เป็นหุบเขาที่มีแนวยาวตลอดนับจากตอนบนเกือบเหนือสุดของประเทศเรื่อยลงมาจนถึงใต้สุดของคาบสมุทรไซนาย ตอนกลางเป็นที่ราบ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยทะเลสาบเดดซีเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่มีความเค็มจัด อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,339 ฟุต (431 ม.) และเป็นจุดที่ต่ำสุดของโลก
4) ทะเลทรายเนเกฟ-ไซนาย (Negev-Sinai Desert) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นบริเวณที่แห้งแล้งสุดของอิสราเอล เพราะมีฝนตกน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่อิสราเอลแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้การชลประทานเข้าช่วย ด้วยการสูบน้ำจากทะเลสาบกาลิลี ส่งผ่านคลอง ท่อส่งน้ำ และอุโมงค์เป็นระยะทางยาว 88.5 ไมล์ (142 กม.)
วันชาติ 14 พ.ค. (วันที่นายเดวิด เบน-กูเรียน นรม.คนแรก ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2491)
นายเบนจามิน เนทันยาฮู
Benjamin Netanyahu
(นรม.อิสราเอล และประธานพรรค Likud)
ประชากร 8,787,045 คน ในจำนวนนี้รวมถึงประชากรที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงโกลานและเยรูซาเลมตะวันออก (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร เป็นชาวยิว 74.1% (เกิดที่อิสราเอล 78.1% ยุโรป/อเมริกา/และภูมิภาคโอเชียเนีย 15.2% แอฟริกา 4.3% และเอเชีย 2.4%) ชาวอาหรับ 21% และอื่น ๆ 4.9% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 26.76% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 61.27% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 11.96% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด 83.15 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 81.25 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 85.15 ปี อัตราการเกิด 17.52 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.06 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการเพิ่มของประชากร 1.45%
การก่อตั้งประเทศ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวก่อตั้งขบวนการไซออนนิสต์ มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนให้ชาวยิวอพยพกลับไปยังดินแดนปาเลสไตน์ โดยมีชาวยิวที่ร่ำรวยสนับสนุนด้านการเงิน นโยบายดังกล่าวทำให้ชาวยิวในประเทศต่าง ๆ อพยพกลับไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับไม่พอใจ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้อารักขาดินแดนปาเลสไตน์ในขณะนั้น พยายามแก้ไขปัญหาการวิวาทระหว่างยิวกับอาหรับโดยการแบ่งเขตการปกครอง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหประชาชาติแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้เป็นเขตอาศัยของชาวยิว อีกส่วนเป็นเขตอาศัยของชาวอาหรับ การแบ่งเขตดังกล่าวทำให้ชาวอาหรับรวมกลุ่มกันคัดค้าน และเมื่อสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ ประเทศอาหรับหลายประเทศ เช่น เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน อิรัก และอียิปต์ ส่งทหารเข้าโจมตีชาวยิวในปาเลสไตน์เมื่อปี 2491 แต่ชาวยิวได้รับชัยชนะ จึงถือโอกาสก่อตั้งประเทศอิสราเอล พร้อมกับยึดดินแดนของอาหรับเพิ่มอีก 30% อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2522 อิสราเอลลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับอียิปต์ และคืนคาบสมุทรไซนายให้อียิปต์เมื่อปี 2525 ต่อมาเมื่อปี 2537 อิสราเอลลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับจอร์แดน และเมื่อปี 2543 ได้ถอนการยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน แต่ยังคงยึดครองที่ราบสูงโกลานของซีเรีย รวมทั้งเขตเวสต์แบงก์ของ
ชาวปาเลสไตน์จนถึงปัจจุบัน
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ฝ่ายบริหารจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา และฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเป็นเอกเทศตามที่กฎหมายกำหนด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา มีวาระ 7 ปี แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดี Isaac Herzog ได้รับเลือกตั้งเมื่อ 2 มิ.ย.2564 เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 9 ก.ค.2564 (การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดในปี 2571) ส่วน นรม. เป็นผู้นำรัฐบาล มาจากการเลือกตั้งทั่วไป และต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา อิสราเอลจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 23 มี.ค.2564 โดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นาย Yair Lapid หัวหน้าพรรค Yesh Atid ซึ่งได้รับคะแนนสูงเป็นลำดับที่สอง มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล และสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคได้สำเร็จก่อนครบกำหนดเส้นตายเพียงเล็กน้อย เมื่อ 2 มิ.ย.2564 โดยกำหนดให้นายนัฟตาลี เบเนตต์ หัวหน้าพรรค Yamina ดำรงตำแหน่ง นรม. จนถึง ก.ย.2566 จากนั้นจึงเปลี่ยนให้นาย Lapid ดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระใน พ.ย.2568
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบสภาเดี่ยว รัฐสภา หรือ Knesset ประกอบด้วยสมาชิก 120 คน มีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ เมื่อ 23 มี.ค.2564 โดยพรรค Likud (แนวขวา) ของนายเบนจามิน เนทันยาฮู ได้ 30 ที่นั่ง พรรค Yesh Atid ของนาย Yair Lapid ได้ 17 ที่นั่ง พรรค Shas (เคร่งศาสนายิวออร์ธอดอกซ์) ได้ 9 ที่นั่ง พรรค Blue and White ของนาย Benny Gantz ได้ 8 ที่นั่ง พรรค Yamina ของนายนัฟตาลี เบเนตต์ ได้ 7 ที่นั่ง พรรคแรงงาน พรรค United Torah Judaism และพรรค Yisrael Beitenu ได้รับที่นั่งเท่ากัน คือ 7 ที่นั่ง และพรรคอื่น ๆ รวม 28 ที่นั่ง การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2568
ฝ่ายตุลาการ : อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ไม่ถูกควบคุมผูกมัดโดยฝ่ายอื่น ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการ ประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Likud (แนวคิดขวา) พรรค Yesh Atid (แนวคิดกลาง) พรรค Blue and White (แนวกลาง-ซ้าย) พรรค Yamina (แนวคิดขวา) พรรค Yisrael Beiteinu (แนวคิดขวา) พรรค Labor (แนวคิดซ้าย) และพรรค Shas (เคร่งศาสนายิวออร์ธอดอกซ์)
เศรษฐกิจ รัฐบาลอิสราเอลมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า รายได้หลักของประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการบิน โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ และเส้นใยนำแสง รองลงมา คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลผลิตการเกษตรสำคัญ ได้แก่ พืชตระกูลส้ม ผัก ฝ้าย และปศุสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ โพแทช ทองแดง ก๊าซธรรมชาติ หินฟอสเฟต แมกนีเซียม โบรมีน ดินเหนียว และเกลือจากทะเลสาบเดดซี สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและเครื่องจักร ซึ่งนำเข้าจากแอฟริกาและเอเชีย เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในประเทศและใช้ผลิตสินค้า
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Israeli new shekel (ILS)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 3.13 ILS
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.094 ILS (ธ.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 401,954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -2.44%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 43,610.5 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 4,136,200 คน
อัตราการว่างงาน : 4.33%s
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : -0.59%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ได้เปรียบดุลการค้า 17,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 113,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ เพชรเจียระไน สินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ สิ่งทอเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ 26% จีน 9% สหราชอาณาจักร 7%
มูลค่าการนำเข้า : 96,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : วัตถุดิบ ยุทโธปกรณ์ สินค้าทุน เพชรดิบ เชื้อเพลิง ธัญพืช และสินค้าอุปโภคบริโภค
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : สหรัฐฯ 12% จีน 11% เยอรมนี 7.5% สวิสเซอร์แลนด์ 7% ตุรกี 6%
การทหาร งบประมาณด้านการทหารเมื่อ ปี 2563 อยู่ที่ 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.2% ของ GDP) เป็นกองทัพที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาค มีประธานคณะเสนาธิการทหารเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพ มีหน่วยขึ้นตรง ทบ. ทร. ทอ. และกรมฝ่ายเสนาธิการ ได้แก่ กรมส่งกำลังบำรุงและเทคโนโลยี กรมข่าวทหาร กรมกำลังพลทหาร กรมยุทธการทหาร และกรมนโยบายและแผน
กำลังพลรวม 169,500 นาย ประกอบด้วย ทบ. 126,000 นาย ทร. 9,500 นาย และ ทอ. 34,000 นาย นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีกองกำลังกึ่งทหาร 8,000 นาย และกองกำลังสำรอง 465,000 นาย (ทบ. 400,000 นาย ทร. 10,000 นาย ทอ. 55,000 นาย)
ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) 490 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (APC) 1,360 คัน รถหุ้มเกราะอรรถประโยชน์ (AUV) รุ่น Ze’ev รถหุ้มเกราะวิศวกรรม (AEV) รถหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) รถถังทอดสะพาน (VLB) รถลำเลียงนิวเคลียร์ ชีวะ และเคมี (NBC) อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) ปืนใหญ่ประเภทอัตตาจร (SP) ลากจูง (TOWED) ยิงระเบิด (MRL) และปืนครก (MOR) รวม 530 กระบอก ขีปนาวุธผิวพื้นสู่ผิวพื้น (SSM) รุ่น Jericho 2 และขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานจากพื้นสู่อากาศ (SAM) รุ่น Machbet และ FIM-92 Stringer
ทร. ได้แก่ เรือดำน้ำโจมตี (SSK) 5 ลำ เรือคอร์เวต ชั้น Eilat (Sa’ar 5) 3 ลำ ยานลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถีจากพื้นสู่อากาศ (PCGM) ชั้น Hetz (Sa’ar 4.5) 8 ลำ เรือลาดตะเวนความเร็วสูง (PBF) 34 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่น Manta 3 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 1 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบินต่อสู้ 334 เครื่อง โดยเป็นเครื่องบินโจมตีพื้นดิน (FGA) 304 เครื่อง เครื่องบินด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) 6 เครื่อง เครื่องบินด้านข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT) 4 เครื่อง เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ (AEW) 4 เครื่อง เครื่องบินขนส่งน้ำมัน (TKR/TPT) 10 เครื่อง เครื่องบินขนส่ง (TPT) 65 เครื่อง เครื่องบินสำหรับการฝึก (TRG) 67 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) 43 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) 7 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) 12 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง (TPT) 80 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) มากกว่า 3 เครื่อง ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานจากพื้นสู่อากาศ (SAM) มากกว่า 40 ลูก ปืนลากจูงต่อสู้อากาศยาน (TOWED) ขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ (SAM) 24 ลูก ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ (AAM) ขีปนาวุธอากาศสู่พื้น (ASM) ขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาร์ (ARH) และระเบิดนำวิถีชนิดต่าง ๆ (ระบบสร้างภาพด้วยอินฟราเรด ระบบเลเซอร์ รวมทั้งระบบแรงเฉื่อยและจีพีเอส
ปัญหาด้านความมั่นคง ปัจจุบัน อิสราเอลยังต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงหลายด้าน เช่น
1) ปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคที่เกิดจากการยังไม่ได้ข้อยุติในการเจรจากรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้อิสราเอลยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่ออิหร่านและให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การเผ้าระวังและการโจมตีพันธมิตรของอิหร่าน เช่น ในซีเรีย และเลบานอน
2) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งมีการเผชิญหน้ารุนแรงข้ามพรมแดน เมื่อ 10 พ.ค.2564 ยาวนานประมาณ 10 วัน ก่อนจะเจรจาข้อตกลงหยุดยิงสำเร็จโดยมีอียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้ผลักดันที่สำคัญ แต่หลังจากนั้นยังคงมีการเผชิญหน้ากันรุนแรงภายในอิสราเอล โดยเกิดจากประเด็นต่าง ๆ เช่น ประเด็นที่สืบเนื่องมาจากกฎหมายการครอบครองพื้นที่ในนครเยรูซาเลมซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ชาวอิสราเอลมากกว่าชาวปาเลสไตน์ ประเด็นชาวอิสราเอลใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ในที่สาธารณะ และมีกรณีที่ชาวปาเลสไตน์ใช้ความรุนแรงต่อชาวอิสราเอลในที่สาธารณะเช่นกัน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้กันอย่างรุนแรง ปัจจุบันยังปรากฏความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในนครเยรูซาเลม บริเวณชายแดนและเขตนิคมชาวยิวในปาเลสไตน์ แต่จำกัดวงแคบและไม่รุนแรง
ความสัมพันธ์ไทย-อิสราเอล
ไทยและอิสราเอลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 12 มี.ค.2497 โดยอิสราเอลเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำไทยเมื่อปี 2500 ส่วนไทย เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ เทลอาวีฟ เมื่อ ม.ค.2539 ไทยและอิสราเอลมีกรอบการหารือทวิภาคีในลักษณะ Working Group Dialogue ในระดับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยี ความร่วมมือในกรอบองค์การระหว่างประเทศ และแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล
อิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับอิสราเอล เมื่อปี 2563 มีมูลค่า 1,023.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 595.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 428.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 166.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระหว่าง ม.ค.-ต.ค.2564 การค้าทั้งสองฝ่ายมีมูลค่า 1,005.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 635.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 369.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 265.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก นำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช
ด้านการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 มีชาวอิสราเอลเดินทางเข้าไทยทั้งสิ้น 31,802 คน
ด้านแรงงาน ชาวไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ปัจจุบัน มีคนไทยในอิสราเอล 26,641 คน (ข้อมูลจากกรมการกงสุล เมื่อ มิ.ย.2563) ในจำนวนนี้กว่า 22,000 คน
เป็นแรงงานภาคการเกษตร ซึ่งคิดเป็น 90% ของแรงงานเกษตรของอิสราเอลทั้งหมด ส่วนใหญ่กระจายอยู่
ตามชุมชนการเกษตร (Kibbutz หรือ Moshav) ทั่วอิสราเอล
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับอิสราเอล ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ก.ค.2503) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (มี.ค.2511) อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ม.ค.2539) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ส.ค.2540) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ก.พ.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอล สำหรับการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบอาศัยชลประทานบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ก.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาวัฒนธรรมและการศึกษา (ก.ค.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไทยกับสภาการอุดมศึกษาอิสราเอล (ก.ย.2550) ความตกลงระหว่างรัฐว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรของอิสราเอล (ธ.ค.2553) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และ Rambam Health Care Campus (พ.ค.2554) ความตกลงทางการค้า (พ.ค.2554) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรักษาความลับทั่วไประหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมอิสราเอล (มิ.ย.2555)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน อาจทำให้ผลประโยชน์ของอิสราเอลในต่างประเทศ รวมทั้งในไทย ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่มีความเชื่อมโยงกับอิหร่าน เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน และกองกำลัง Qods Force ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษในต่างประเทศของอิหร่าน รวมถึงท่าทีของอิสราเอลต่อการเจรจานิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งอิสราเอลมีแนวโน้มแข็งกร้าว
2) การบริหารจัดการของอิสราเอลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3) การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับประเทศอื่น ๆ ให้ใกล้ชิดมากขึ้น เช่น กรณีการเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในสหภาพแอฟริกา และการสานต่อนโยบายการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศมุสลิม