เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
Hong Kong Special Administrative Region of the People’s Republic of China-HKSAR
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน ประกอบด้วย เกาะฮ่องกง เกาะลันเตา เกาลูน และ New Territories และเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะฮ่องกงกับเกาลูน 262 เกาะ มีอ่าววิคตอเรียกั้นระหว่างเกาะฮ่องกงและเกาลูน พื้นที่ประมาณ 1,106.66 ตร.กม. ความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 5,000 กม. จากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 5,500 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงและห่างจากมาเก๊า 60 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศใต้ ติดกับทะเลจีนใต้
ภูมิประเทศ เกาะฮ่องกงมีขนาด 80.30 ตร.กม. เกาลูนมีขนาด 46.71 ตร.กม. และ New Territories และเกาะอื่น ๆ มีขนาดรวม 969.62 ตร.กม. เป็นแนวเขาทอดตัวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ทิศใต้ที่ต่อจากจีน ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเขาไม่เหมาะสำหรับการเกษตร ฮ่องกงมีแม่น้ำมากกว่า 200 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำที่สั้นและไม่มีชื่อ แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ Shing Mun, Lam Tsuen และ Tuen Mun
ภูมิอากาศ อยู่ในเขตกึ่งเขตร้อน ฤดูร้อน (พ.ค.-ก.ย.) ฤดูมรสุม (ก.ค.-ก.ย.) ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-กลาง พ.ค.) ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-ธ.ค.) และฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุด 31 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 2,398 มม.
วันชาติ 1 ต.ค. (วันชาติจีน)
นางแคร์รี่ ลัม
Carrie Lam
(หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง)
ประชากร 7.39 ล้านคน ความหนาแน่น 6,830 ต่อ ตร.กม. ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน 92% เชื้อสายอื่น 8% ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 184,332 คน อินโดนีเซีย 168,871 คน และอินเดีย 31,989 คน ในปี 2564 ประชากรลดลง 1.2% ซึ่งลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2504
การก่อตั้ง หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เมื่อปี 2385 จีนส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ และหลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2403 จีนส่งมอบเกาลูนให้กับอังกฤษตามอนุสัญญากรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ จีนให้อังกฤษเช่าพื้นที่ New Territories และเกาะโดยรอบ 235 เกาะเป็นเวลา 99 ปี นับตั้งแต่ 1 ก.ค.2441 ภายหลังเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อปี 2480 ทำให้ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในฮ่องกงจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ชาวจีนในฮ่องกงลดลงเหลือ 650,000 คน จาก 1.9 ล้านคน ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จากปัญหาขาดแคลนอาหาร จากนั้นอังกฤษกลับมาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ชาวจีนอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานตามเดิม และเมื่อปี 2513 ฮ่องกงเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคเอเชีย หรือ “เสือของเอเชีย”
จีนและอังกฤษเริ่มเจรจาร่วมกันถึงอนาคตของฮ่องกง และออกแถลงการณ์ร่วม Sino-British Joint Declaration ว่าด้วยการส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนใน 1 ก.ค.2540 ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”และจีนอนุมัติกฎหมายพื้นฐานหรือ Basic Law ให้กับฮ่องกงเมื่อปี 2533 เพื่อเป็นธรรมนูญสูงสุดในการบริหารฮ่องกง
การเมือง ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนตามที่ระบุในกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ฮ่องกงคืนสู่การปกครองของจีนเมื่อปี 2540 กฎหมายนี้ระบุให้ฮ่องกงธำรงไว้ซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคม เป็นระยะเวลาอีก 50 ปี (ปี 2540-2590)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและฮ่องกง รัฐบาลกลางรับผิดชอบด้านการทหารและกิจการต่างประเทศ โดยตั้งสำนักงานในฮ่องกงเพื่อรับผิดชอบกิจการต่างประเทศ และให้อำนาจฮ่องกงดำเนินกิจการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ ขณะที่กองกำลังทหารของรัฐบาลกลางที่ประจำการในฮ่องกงเพื่อป้องกันคุกคามต่าง ๆ จะไม่แทรกแซงกิจการท้องถิ่น และปฏิบัติตามกฎหมายของฮ่องกง แต่รัฐบาลฮ่องกงสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากกองกำลังรัฐบาลกลางได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมและบรรเทาภัยพิบัติในกรณีจำเป็น
ฮ่องกงมีโครงสร้างทางการเมืองสำคัญ ดังนี้
1) หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกจากคณะกรรมการเลือกตั้ง และได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลจีนมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ต่อเนื่องไม่เกิน 2 วาระ มีหน้าที่ในการบริหารประเทศ การแก้ไขกฎหมายพื้นฐาน การลงนามในกฎหมายหรืองบประมาณ การประกาศใช้กฎหมายการกำหนดนโยบายและคำสั่ง การแต่งตั้งและรายงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสำคัญต่อรัฐบาลกลาง การแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาในทุกระดับตามขั้นตอนทางกฎหมาย การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการตามขั้นตอนทางกฎหมาย การปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ในประเด็นเกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศหรือความสัมพันธ์อื่น ๆ การอนุมัติญัตติเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายต่อสภานิติบัญญัติ การตัดสินใจเกี่ยวข้องผลประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ การให้อภัยโทษหรือเปลี่ยนแปลงบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดทางอาญา และการจัดการเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์จากประชาชน
2) คณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ดำเนินกิจการตามได้รับมอบหมาย จัดทำและเสนองบประมาณ ร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติ
3) สภานิติบัญญัติจีนปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงเมื่อ มี.ค.2564 ให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 90 คน จากเดิม 70 คน แต่ลดจำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจาก 35 คน เหลือ 20 คน สภานิติบัญญัติมีหน้าที่พิจารณาและร่างกฎหมาย อภิปรายในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ พิจารณางบประมาณและร่างกฎหมาย อนุมัติงบประมาณและการเก็บภาษี พิจารณาและอภิปรายนโยบายจากหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและถอดถอนหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
4) ฝ่ายตุลาการได้รับการคัดเลือกจากคุณสมบัติที่เหมาะสมตามหลักกฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ
5) สภาเขตฮ่องกงปัจจุบันมีสมาชิก 479 คน ใน 18 เขต มีหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ วัฒนธรรมของชุมชน และให้คำแนะนำรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน
เศรษฐกิจ ฮ่องกงมีความสำคัญจากการเป็นที่ตั้งท่าเรือเสรี และเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ มีลักษณะการค้าเสรี พึ่งพาการค้า และการเงินระหว่างประเทศในระดับสูง ฮ่องกงเป็นเขตชำระภาษีในอัตราต่ำและเขตปลอดภาษีสินค้านำเข้าที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงต่ำ ฮ่องกงได้รับการจัดอันดับให้มีเศรษฐกิจเสรีมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากการเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน มาตรการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และการทุจริตในระดับต่ำ นอกจากนี้ เศรษฐกิจฮ่องกงบูรณาการกับเศรษฐกิจจีนสูง ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกที่มีภูมิศาสตร์และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ทั้งในเรื่องความโปร่งใสและมาตรการที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
ฮ่องกงประสบปัญหาสูญเสียความเชื่อมั่นจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ยังมีจุดแข็งสำคัญคือ เป็นศูนย์กลางการเงินโลก เป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ มีการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง มีระบบธนาคารที่มีเสถียรภาพ มีระบบการคลังที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น มี ทุนสำรองระหว่างประเทศ 497,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2564) และมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เชื่อมกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Linked Exchange Rate System-LERS) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2526
ภาพรวมศักยภาพทางเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของฮ่องกงที่ไม่รุนแรง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโต 5.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 จากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวจากความสำเร็จในควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรปขยายตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญอุปสรรคด้านการขนส่งจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่การท่องเที่ยวยังคงชะงักงันจากมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน
ภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของ GDP ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผักสด สัตว์ปีก เนื้อหมู ปลา
ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของ GDP อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การค้า การขนส่ง การบริการ การเงิน การท่องเที่ยว การท่องเที่ยว และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 92.3% ของ GDP ได้แก่ การเงิน การท่องเที่ยวและเทคโนโลยีทางการเงิน
ฮ่องกงไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีภูมิศาสตร์เป็นเกาะและล้อมรอบด้วยทะเล แต่ทำให้ฮ่องกงมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับทำการค้ากับต่างประเทศ
สกุลเงิน : ดอลลาร์ฮ่องกง อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ฮ่องกง : 0.12 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง : 4.20 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 389,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.4% (ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 21.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
ดุลการค้า : ขาดดุล 42,391 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ก.ย.2564)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 48,755 ดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2564)
แรงงาน : 3.8 ล้านคน (ก.ย.2564)
อัตราการว่างงาน : 4.3% (ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 1.5% (ก.ย.2564)
มูลค่าการส่งออก : 441,815 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ก.ย.2564)
สินค้าส่งออกสำคัญ : สินค้าเบ็ดเตล็ด แร่โลหะ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และพลาสติก (ก.ย.2564)
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์ และไต้หวัน (ก.ย.2564)
มูลค่าการนำเข้า : 484,206 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ก.ย.2564)
สินค้านำเข้าสำคัญ : เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องจักรกลในโรงงาน สินค้าเบ็ดเตล็ด (ปี 2563)
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (ก.ย.2564)
การทหาร ฮ่องกงไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง แต่มีกองกำลังของกองทัพจีนประจำการประมาณ 10,000-12,000 นาย
ตำรวจ
ตำรวจฮ่องกงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการตำรวจ 1 นาย และรองผู้บัญชาการตำรวจ 3 นาย ซึ่งแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบด้านปฏิบัติการการจัดการกองกำลัง และความมั่นคงแห่งชาติ โครงสร้างตำรวจฮ่องกง แบ่งเป็น 6 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายอาชญากรรมและความมั่นคง ฝ่ายกำลังพลและการฝึกซ้อม ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายการเงินและการวางแผน และฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ
ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของตำรวจฮ่องกงเริ่มก่อตั้งเมื่อ 1 ก.ค.2563 หลังจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมีหน้าที่หลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ การวางแผนและประสานงาน การบังคับใช้มาตรการหรือปฏิบัติการเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ การสืบสวนผู้ต้องหาที่เป็นภยันอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ การปฏิบัติการต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติและทบทวนความมั่นคงแห่งชาติ การปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการป้องกันความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย
ตำรวจฮ่องกงจะกำกับดูแลกระจายทั่วพื้นที่สำคัญ 6 แห่ง คือ เกาะฮ่องกง เกาลูนตะวันออก เกาลูนตะวันตก New Territories เหนือ และ New Territories ใต้ และชายฝั่ง นอกจากนี้ ฮ่องกงมีตำรวจชายฝั่ง 114 นาย ซึ่งมีภารกิจลาดตระเวนพื้นที่ทางน้ำ 1,649 กม. รอบฮ่องกงและเกาะขนาดเล็ก จำนวน 261 แห่ง โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเฝ้าระวังทางชายฝั่ง ระบบเรดาร์ และบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเพื่อรักษาความปลอดภัยการขนส่งนานาชาติและความปลอดภัยของท่าเรือ
World Economic Forum จัดลำดับความน่าเชื่อถือของตำรวจฮ่องกงในลำดับที่ 6 ของโลกเมื่อปี 2562 ขณะที่สถาบัน Legatum เปิดเผยดัชนี The Legatum Prosperity Index 2020 จัดลำดับให้ตำรวจฮ่องกงอยู่ลำดับที่ 6 ของโลกในด้านความปลอดภัยและความมั่นคงเมื่อปี 2563 และธนาคารโลกจัดลำดับให้ตำรวจฮ่องกงอยู่ในลำดับที่ 18 ของโลกในด้านปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ
ปัญหาด้านความมั่นคง
- การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 30 มิ.ย.2563 ส่งผลให้สถานการณ์การชุมนุมในฮ่องกงที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2562 สงบลง กฎหมายดังกล่าวกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างอำนาจรัฐการก่อการร้าย และการสมคบคิดกับต่างชาติกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในกฎหมายดังกล่าว เช่น จัดตั้งคณะกรรมาธิการรักษาความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง โดยมีหัวหน้าคณะผู้บริหารของฮ่องกงเป็นประธาน และมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลจีน เพื่อพิจารณาสถานการณ์ความมั่นคง กำหนดนโยบายและแผน ประสานงานภารกิจด้านความมั่นคง จัดตั้งสำนักงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติของจีนประจำฮ่องกงทำหน้าที่รวบรวมข่าวกรอง วิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคง ให้ความเห็นและคำแนะนำด้านยุทธศาสตร์และนโยบายที่สำคัญ กำกับดูแล แนะนำ ประสานงาน และสนับสนุนทางการฮ่องกงในการปฏิบัติหน้าที่ และรับผิดชอบ คดีความมั่นคงที่มีความรุนแรงและซับซ้อน กฎหมายยังให้อำนาจหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีความมั่นคงแห่งชาติเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้กับบุคคลทุกสัญชาติ และครอบคลุมการกระทำทั้งในและนอกฮ่องกง โดยมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต
2. ฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับไต้หวัน หลังจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของชาวฮ่องกงและการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งไต้หวันวิจารณ์กฎหมายฉบับดังกล่าวและเปิดสำนักงานในไทเปเพื่อช่วยเหลือชาวฮ่องกงที่ต้องการเดินทางออกนอกฮ่องกง และฮ่องกงสั่งระงับการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมฮ่องกงประจำไทเป
- ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ฮ่องกงมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียเมื่อปี 2560 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจฮ่องกง 249,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี กับทั้งมีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 5 เท่าประมาณ 13,000 คดี เมื่อปี 2563 จาก 2,000 คดี เมื่อปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลมุ่งแก้ไขด้วยการส่งเสริมความตระหนักรู้ทางไซเบอร์ให้กับประชาชน ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์ “Cybersec Infohub” ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าใจกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น
4. ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในฮ่องกงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอัตราความไม่เสมอภาคทางรายได้ในภาคครัวเรือนเพิ่มจาก 0.429% เมื่อปี 2519 เป็น 0.537% เมื่อปี 2554 และอัตราความไม่เสมอภาคทางรายได้ระดับบุคคลเพิ่มจาก 0.411% เมื่อปี 2519 เป็น 0.487% เมื่อปี 2554 โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่ ภาคครัวเรือนมีรายได้ต่ำ สมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น การสร้างครอบครัวเดี่ยว และจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามีรายได้ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อการทำงาน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง
ฮ่องกงลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Free Trade Agreement : AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong Investment Agreement : AHKIA) เริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อ 12 ก.พ.2564 โดยความตกลงดังกล่าวครอบคลุมการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความช่วยเหลือทางเทคนิค กลไกระงับข้อพิพาทและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 อาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 ของฮ่องกง สำหรับการค้าสินค้าบริการเมื่อปี 2561 อาเซียนเป็นคู่ค้าสินค้าบริการใหญ่เป็นลำดับ 4 ของฮ่องกง
ข้อตกลงที่สำคัญ : อนุสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนไทย-ฮ่องกง (ปี 2548) ความตกลงการค้าเสรีฮ่องกง-อาเซียน (ปี 2562) และความตกลงด้านการลงทุนระหว่างรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลของประเทศสมาชิกประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปี 2562)
ฮ่องกงจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกง และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการไปลงทุนในฮ่องกง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือ GBA กรอบความร่วมมือในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และ BRI
ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย ในห้วง ม.ค.-ก.ย.2564 การค้าฮ่องกง-ไทยเพิ่มขึ้น 10.04%มูลค่ารวม 336,463 ล้านบาท ไทยส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงเพิ่มขึ้น 0.36% หรือมูลค่า 269,330 ล้านบาท และไทยนำเข้าสินค้าจากฮ่องกงเพิ่มขึ้น 0.36% หรือมูลค่า 67,134 ล้านบาท โดยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 202,196ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปฮ่องกง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายใน ลูกสูบและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ข้าวหอมมะลิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สินค้านำเข้าที่สำคัญจากฮ่องกงมาไทย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป นาฬิกา
ในปี 2564 ประมาณการจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในฮ่องกง 79 คน
1) สถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคงภายใน เช่น กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านจีน และการเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงในต่างประเทศ
2) การสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยจากชาติตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ
3) การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
4) ผลกระทบทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินของโลกจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
4) การบูรณาการเศรษฐกิจฮ่องกงกับเศรษฐกิจจีน
5) การฟื้นฟูเศรษฐกิจฮ่องกงจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
6) นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับไทย อาทิ การพัฒนา smart city การเชื่อมโยงในภูมิภาคภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)และGBA
7) การเลือกตั้งผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงใน 27 มี.ค.2565