ภาพวาด “Les femmes d’Alger” ของ “ปาโบล ปิกัสโซ” จิตรกรชาวสเปน เป็นภาพวาดที่มีผู้ประมูลด้วยมูลค่าสูงที่สุดในโลกคือ 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การประมูลครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เกือบครึ่งศตวรรษหลังการเสียชีวิตของปิกัสโซ
ปิกัสโซเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2516 ไม่มีโอกาสได้ภาคภูมิใจในวันที่ภาพวาดภาพเดียวของเขามีมูลค่าพอกับงบประมาณก่อสร้างตึกสูง แต่ปิกัสโซไม่ได้มีชีวิตที่ยากจนข้นแค้น จะเรียกว่ามหาเศรษฐีก็ยังได้ ถ้าพิจารณาว่าตอนสิ้นลมหายใจเขามีทรัพย์สมบัติในการครอบครองเป็นเงิน 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทองมูลค่า 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และงานศิลปะล้ำค่าอีกหลายหมื่นชิ้น
งานศิลปะสร้างความสุนทรีย์ แล้วก็สร้างความร่ำรวยให้กับศิลปิน ภาพวาด “Les femmes d’Alger” ของปิกัสโซ่มีมูลค่าหลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพวาด “ทิพยสถานในจิต” ของ อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มีผู้ประมูลไปด้วยราคา 2.2 ล้านบาท ฯลฯ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้งานศิลปะเหล่านั้นมีมูลค่าขึ้นมาก็เพราะ “ความมีชิ้นเดียวในโลก” ไม่สามารถผลิตซ้ำได้อีก เวลาผ่านนานไปจึงมีแต่จะหายากและทวีมูลค่าขึ้นเรื่อย ๆ นักสะสมจึงสามารถใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือรักษามูลค่า (Store of Value) ในลักษณะเดียวกับทองคำ โดยไม่ด้อยค่าลงทุกวันดังเช่นเงิน
แต่ในยุคสมัยนี้ที่งานศิลปะเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลแล้ว เช่น การวาดภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานแอนิเมชัน งานคอมพิวเตอร์กราฟิก ฯลฯ ปัญหาก็คือ ศิลปินในโลกดิจิทัลจะสร้างมูลค่าให้กับงานศิลปะของตนเหมือนกับปิกัสโซและอาจารย์เฉลิมชัยได้อย่างไร ในเมื่อผู้ชื่นชอบสามารถคลิกขวากดเซฟงานศิลปะดิจิทัลไว้ได้ง่าย ๆ ส่งไลน์ไปจ่ายแจกให้เพื่อน ๆ ได้อีกต่างหาก งานศิลปะในโลกดิจิทัลจึงไม่สามารถสร้างมูลค่าด้วยคุณลักษณะของการมีชิ้นเดียวในโลกที่ไม่สามารถผลิตซ้ำได้อีกเหมือนกับภาพวาดของศิลปินบนผืนผ้าใบ
ปัญหานั้นกำลังจะหมดไป ด้วยการมาถึงของสิ่งที่เรียกว่า NFT (Non-fungible token หรือสิ่งของที่ไม่สามารถทำซ้ำได้) ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (เทคโนโลยีเดียวกับที่อยู่เบื้องหลังบิทคอยน์ และเงินดิจิทัลหยวนของจีน) แก้ไขปัญหา “การผลิตซ้ำ” เพื่อให้งานศิลปะแต่ละชิ้น “มีเพียงชิ้นเดียวในโลก”
การเกฺ็บภาพหรืองานศิลปะอื่น ๆ ไว้ในลักษณะ NFT บนบล็อกเชน ทำให้งานแต่ละชิ้นเหมือนกับมีลายเซ็นเฉพาะตัวที่ไม่มีทางซ้ำกัน ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าใครคือผู้ถือกรรมสิทธิ์งานศิลปะชิ้นนั้นอยู่ ดังนั้น แม้ว่าคุณจะก็อปปี้ภาพส่งเข้าไลน์กลุ่มมากมายเพียงใด ก็เป็นได้เพียงแค่ของก็อป ส่วนของจริงมีเพียงชิ้นเดียวที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ครอบครองไว้ และเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็สามารถนำไปขายเปลี่ยนมือกันไปได้เรื่อย ๆ NFT จึงทำให้ศิลปะดิจิทัลมีความสามารถในการรักษามูลค่าเช่นเดียวกับภาพวาดของปิกัสโซและอาจารย์เฉลิมชัย
NFT มีมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เพิ่งเริ่มเป็นกระแสโด่งดังเมื่อต้นปี 2564 จากการที่งานศิลปะดิจิทัลในรูปแบบ NFT จำหน่ายได้ในราคาสูงหลายชิ้น โดยเฉพาะงานที่แพงที่สุดคือ ภาพ “Everydays – The First 5000 Days” ของ Beeple ศิลปินชาวอเมริกันที่มีผู้ประมูลในราคาถึง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วของ NFT ส่งผลให้ในตอนนี้มีมูลค่าตลาดรวมถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดที่เปิดให้ศิลปินนำงานไปวางขายหรือเปิดให้นักสะสมประมูล เช่น OpenSea หรือ Rarible
งานศิลปะ NFT ไม่จำเป็นต้องเป็นรูป จะอยู่ในลักษณะอื่นก็ได้ เป็นวีดีโอที่คุณถ่าย เปฺ็นไฟล์ PDF ของนวนิยายที่คุณเขียน เป็นเนื้อเพลง หรืออะไรก็ได้ อย่างเช่น Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ นำทวีตแรกของโลกที่เขาเองทวีตไว้เมื่อปี 2549 ว่า “just setting up my twttr” ออกมาทำเป็น NFT แล้วประมูลขายได้ถึง 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศล
ส่วนในไทยมีกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวไทยผู้สร้างสรรค์งาน NFT มีสมาชิกแล้วถึง 11,000 คน บรรยากาศในกลุ่มคึกคักทีเดียวและสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อศิลปินชาวไทยเริ่มขายงาน NFT ได้มากขึ้นในราคาที่ค่อนข้างสูงทีเดียว กรณีที่เป็นข่าวโด่งดังคือหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” เปิดประมูลภาพดิจิทัลของหน้าปกขายหัวเราะเล่มแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2516 พร้อมลายเซ็น บก.วิธิต อุตสาหจิต ได้เงินไปถึง 34,492 ดอลลาร์สหรัฐ หรือล้านกว่าบาทเลยทีเดียว
นวัตกรรม NFT คือตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อแก้ปัญหา ถ้ากระแสนี้ยั่งยืนต่อไปในระยะยาว ก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับศิลปินที่มีช่องทางทำรายได้เพิ่มมากขึ้น อาจจะช่วยลบภาพจำของคำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” หรืออาจทำให้ศิลปินไทยมีมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลานมหาศาลเหมือนปิกัสโซก็เป็นได้
——————————————————————————