สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาเลีย
Somalia Democratic Republic
สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาเลีย
Somalia Democratic Republic
เมืองหลวง โมกาดิชู
ที่ตั้ง ทางแอฟริกาตะวันออก ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเอธิโอเปีย บริเวณเส้นละติจูด 10 องศาเหนือและเส้นลองจิจูด 49 องศาตะวันออก พื้นที่รวม 637,657 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอ่าวเอเดนและจิบูตี 61 กม.
ทิศใต้ ติดกับเคนยา 684 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย 3,025 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับเอธิโอเปีย 1,640 กม.
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบก่อนยกตัวสูงขึ้นเป็นเนินและภูเขาขนาดเล็กทางตอนเหนือ
วันชาติ 1 ก.ค. 2503 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชจากอิตาลี
นายโมฮัมเหม็ด อับดุลลาฮี โมฮัมเหม็ด
Mohamed Abdullahi Mohamed
(ประธานาธิบดีโซมาเลีย)
ประชากร 12,094,640 คน (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร ชาวโซมาเลีย 85% ชาวบันตู (Buntu) และเผ่าอื่น ๆ 15% (รวมถึงชาวอาหรับ ประมาณ 30,000 คน) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 42.38% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 55.35% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.27% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 55.32 ปี เพศชาย 53.02 ปี เพศหญิง 57.7 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 18.5 ปี เพศชาย 18.7 ปี เพศหญิง 18.3 ปี อัตราการเกิด 38.25 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 11.82 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 2.35%
การก่อตั้งประเทศ ดินแดนที่เป็นประเทศโซมาเลียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของแอฟริกา โดยเป็นจุดค้าขายสินค้าที่มีค่า ได้แก่ ยางสน ยางไม้หอม และเครื่องเทศ ประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับ ต่อมาสหราชอาณาจักรยึดครองดินแดนโซมาเลียได้เมื่อปี 2463 และมีดินแดนบางส่วนอยู่ในการปกครองของอิตาลีเมื่อปี 2484 สหราชอาณาจักรบริหารจัดการด้านการทหารในพื้นที่ตอนเหนือของโซมาเลีย ส่วนดินแดนทางใต้มีสถานะเป็นดินแดนในอารักขา สหราชอาณาจักรถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวเมื่อปี 2503 และยินยอมให้ดินแดนในปกครองของตนรวมกับดินแดนที่อยู่ภายใต้ การดูแลของอิตาลี จัดตั้งรัฐใหม่โดยใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาเลีย
ปัญหาภายในโซมาเลียเกิดขึ้นภายหลังการรวมประเทศ โดยเกิดการแย่งชิงอำนาจเมื่อปี 2512 ซึ่งนายพล Said Barre เป็นผู้นำปฏิวัติการปกครองและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี แม้ว่าในระหว่างการบริหารประเทศจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยสามารถจัดระเบียบการปกครอง การพัฒนาอาชีพและการศึกษาให้แก่ประชาชนโซมาเลีย แต่การพัฒนาหยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างโซมาเลียกับเอธิโอเปียเมื่อปี 2520-2521 (สงคราม Ogaden) ซึ่งเกิดจากการที่โซมาเลียพยายามรวมประเทศและขอดินแดนที่เคยเป็นของโซมาเลียก่อนถูกแบ่งโดยประเทศมหาอำนาจในอดีตคืนจากเอธิโอเปีย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงมีการใช้กำลังทหาร โดยเอธิโอเปียได้รับการช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์จากรัสเซียและกลุ่มประเทศสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ในทางตรงข้าม โซมาเลียไม่ได้ปรึกษากับประเทศพันธมิตรของตนจึงไม่มีประเทศใดให้การสนับสนุน ทำให้โซมาเลียต้องแพ้สงครามและสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก จนปี 2521 รัฐบาลทหารไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ประกอบกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากเอธิโอเปียเข้ามาก่อกวนภายในประเทศ รัฐบาลจึงหันไปใช้ระบบการปกครองแบบเผด็จการจนเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2533 จนกระทั่งปี 2534 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารของประธานาธิบดี Said Barre และแต่งตั้งนาย Ali Mahdi Muhammaad ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ ทำให้สงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ
สงครามกลางเมืองและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโซมาเลีย ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศได้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จึงอนุมัติให้จัดตั้ง United Nations Operation in Somalia 1 (UNOSOM I) เมื่อปี 2535 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ให้กองกำลังรักษาสันติภาพสามารถใช้อาวุธเพื่อการป้องกันตนเองได้เท่านั้นเเละไม่สามารถใช้อาวุธในการช่วยเหลือประชาชนได้ ทำให้กลุ่มต่อต้านไม่เกรงกลัวกำลังของสหประชาชาติแต่อย่างใด จนกระทั่ง ธ.ค.2535 สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารหน่วย United Task Force (UNITAF) เข้าไปในโซมาเลียตอนใต้ โดยมีภารกิจปกป้องและรักษาสิทธิมนุษยชน และตั้งชื่อยุทธการว่า “ยุทธการฟื้นฟูความหวัง” (Operation Restore Hope) ซึ่งดูแลความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนโซมาเลียได้ในระดับหนึ่ง และสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังออกไปเมื่อ พ.ค.2536 โดยแปรสภาพหน่วย UNITAF มาเป็นภารกิจของสหประชาชาติอีกครั้งหนึ่งในชื่อ UNOSOM II และเรียกชื่อยุทธการว่า “Operation United Shield” ซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ได้เพียง 2 ปี แต่สูญเสียกำลังทหารรักษาสันติภาพจำนวนมากจึงได้ถอนกำลังออกจากโซมาเลียเมื่อ 3 มี.ค.2538 เนื่องจากไม่สามารถรักษาสันติภาพภายในโซมาเลียได้
ปี 2546 การประชุม the Somalia National Peace Conference (SNPC) ที่จิบูตี กำหนดตั้งรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศ (Transitional National Government-TNG) แต่ไม่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลเคนยาภายใต้การสนับสนุนของ the Intergovernmental Authority on Development (IGAD) เลือกให้นาย Abdullahi Yusuf ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของโซมาเลีย โดยรัฐบาลชุดนี้เรียกว่า Transitional Federal Government (TFG) จนกระทั่งปี 2551 นาย Abdullahi Yusuf ลาออกจากตำแหน่ง สหประชาชาติจัดการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลชั่วคราวกับกลุ่ม Alliance for the Re-Liberation of Somalia (ARS) ที่จิบูตี ทำให้มีการตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง TFG กับ ARS ต่อมาเมื่อ ธ.ค.2549 รัฐบาลชั่วคราวเกิดความแตกแยกกับพรรค Islamic Courts Union (ICU) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านจนพรรค ICU ถอนตัวออกจากรัฐบาลชั่วคราว
เมื่อ ม.ค.2552 รัฐสภาโซมาเลียเลือกนาย Sheikh Sharif Sheikh Ahmed ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมกับประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และขยายวาระของรัฐบาลชั่วคราวออกก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดใน ก.ย.2555 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดยุคของรัฐบาลชั่วคราว
เมื่อ 8 ก.พ.2560 มีการเลือกตั้งทั่วไป นาย Mohamed Abdullahi Mohamed ชนะการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 9 เมื่อ 16 ก.พ.2560 วาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดเมื่อ 8 ก.พ.2564 แต่เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในและยังไม่ได้ข้อยุติ จึงเลื่อนการเลือกตั้งออกไป (ยังไม่กำหนดวัน) โดยมีนาย Mohamed Abdullahi Mohamed ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการไปพลางก่อน ต่อมาเมื่อ 1 พ.ค.2564 มีการเปลี่ยนแปลงให้เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาแบบทางอ้อม
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และ นรม. เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Mohamed Abdullahi Mohamed จากพรรค Tayo Political Party (TPP) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 ก.พ.2560 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการต่อ หลังครบวาระเมื่อ 8 ก.พ.2564 ส่วน นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Mohamed Hussein Roble ดำรงตำแหน่งเมื่อ 23 ก.ย.2563 แทนนาย Hassan Ali Khayre ที่ถูกขับออกจากสภา ด้วยการลงคะแนนไม่ไว้วางใจ เมื่อ 25 ก.ค.2563 ทั้งนี้ เมื่อ 1 พ.ค.2564 โซมาเลียเปลี่ยนแปลงให้เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาแบบทางอ้อม
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยรัฐสภา โดยต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสาม และมีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 8 ก.พ.2560 ประธานาธิบดี Mohamed Abdullahi Mohamed “Farmaajo” จากพรรค TPP ได้รับคะแนนเสียง 184 เสียง และนาย Hassan Sheikh Mohamud จากพรรค PDP ได้รับคะแนนเสียง 97 เสียง ซึ่ง นรม.มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและต้องผ่านการอนุมัติของรัฐภา การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดจัดใน 8 ก.พ.2564 แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้งภายในโซมาเลีย การเลือกตั้งจึงถูกเลื่อนออกไป ประธานาธิบดี Mohamed Abdullahi Mohamed จึงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการไปพลางก่อน
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาสูง (Upper House) มีสมาชิก 54 คน โดยได้รับเลือกจากสภาแห่งรัฐ (state assemblies) มีวาระ 4 ปี ส่วนสภาผู้แทนราษฎร (House of the People) มีสมาชิก 275 คน ได้รับเลือกจากผู้แทนส่วนภูมิภาค มีวาระ 4 ปี ทั้งนี้ โซมาเลียเคยใช้ระบบสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร เริ่มมีครั้งแรกเมื่อ ก.ย.2555 คัดเลือกโดยผู้อาวุโสของแต่ละเผ่า ต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบสองสภา โดยการเพิ่มสภาสูงเมื่อปี 2559 การเลือกตั้งสภาสูงล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 10 ต.ค.2559 ส่วนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 23 ต.ค.-10 พ.ย.2559 โดยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง (สมาชิกสภาสูง 41 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 242 คน) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 27 ธ.ค.2559 การเลือกตั้งสภาสูงครั้งต่อไปกำหนดจัดระหว่าง 1-10 ธ.ค.2563 แต่เนื่องจากเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ให้สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ 5 แห่ง เลือกสมาชิกสภาสูง 54 คน จึงยังไม่กำหนดวัน ส่วนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปกำหนดจัดระหว่าง 10-27 ธ.ค.2563 แต่ไม่ได้จัดตามกำหนด เนื่องจากความขัดแย้งภายในและการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง โดยให้ผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ กว่า 30,000 กลุ่มเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 275 คน จึงเลื่อนเป็น 1 พ.ย.2564
ฝ่ายตุลาการ : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ (ประกอบด้วยผู้พิพากษา 5 คน) ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ ส่วนในระดับภูมิภาคมีการกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ โดยใช้กฎหมายจารีตประเพณี และกฎหมายอิสลาม ผู้พิพากษาแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ตามคำแนะนำของคณะกรรมการตุลาการ
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Peace and Development Party พรรค Tayo และพรรค For Justice and Development
เศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลโซมาเลียไม่มีเสถียรภาพ และยังไม่สามารถจัดการเรื่องรายได้และหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะสูงถึง 77% ของ GDP เมื่อปี 2560 โดยภาคการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงสุด ปศุสัตว์มีสัดส่วน 40% ของ GDP และคิดเป็นมากกว่า 50% ของรายได้จากการส่งออก โดยชนเผ่าเร่ร่อนและกึ่งเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ปัญหาการก่อการร้ายในประเทศส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซมาเลีย เมื่อปี 2560 อยู่ที่ 1.8% และประมาณการว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซมาเลียในปี 2561 จะฟื้นตัวเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคปศุสัตว์และผลิตผลทางการเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมของโซมาเลียมีขนาดเล็กและส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แต่มักเผชิญปัญหาปล้นสะดมเครื่องจักรถูกถอดไปขายเป็นเศษเหล็ก
บริษัทโทรคมนาคมให้บริการสื่อสารไร้สายเฉพาะในเมืองใหญ่ และมีอัตราค่าโทรต่ำที่สุดในทวีป ส่วนโรงแรมดำเนินกิจการโดยมีกลุ่มติดอาวุธรักษาความปลอดภัยให้รัฐบาลโซมาเลีย ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ในประเทศได้และพึ่งพา IMF เพิ่มขึ้น โมกาดิชู ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ครอบคลุมในเขตพื้นที่นอกเมืองหลวงเนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคง
โซมาเลียเข้าร่วมโครงการ Heavily-Indebted Poor Countries (HIPC) เมื่อ 25 มี.ค.2563 โดย HIPC เป็นโครงการสำหรับช่วยเหลือประเทศยากจนที่เป็นหนี้อย่างหนักให้สามารถจัดการหนี้สิน ลดภาระหนี้ที่ไม่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถลดหนี้ของประเทศลงได้ ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารโลก IMF เจ้าหนี้พหุภาคี และเจ้าหนี้ทวิภาคีต่าง ๆ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการ HIPC จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้โซมาเลียสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั่วไปได้ โดยโซมาเลียจะต้องลดหนี้ต่างประเทศให้เหลือ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 78% ของ GDP ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อมาเมื่อ 31 มี.ค.2563 โซมาเลียบรรลุข้อตกลงกับ Paris Club ในการบรรเทาหนี้ และจะตกลงกับเจ้าหนี้รายอื่นในลักษณะเดียวกัน รวมถึงเริ่มชำระหนี้ที่ค้างอยู่กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (AfDB) และสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association-IDA) โดยทั้งหมดนี้โซมาเลียต้องรักษานโยบายเศรษฐกิจมหภาค และดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อลดความยากจน ตามแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 9 (the Ninth National Development Plan – NDP9) อย่างน้อย 1 ปี และกำหนดมาตรการเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความยากจน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Somali Shilling หรือ SOS
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 584 Somali Shilling
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 17.83 Somali Shilling (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 5,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564 ของธนาคารโลก)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.4% (ปี 2564 ของธนาคารโลก)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 309.4 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 4,065,924 คน (ปี 2564 ของธนาคารโลก)
อัตราการว่างงาน : 13.1% (ปี 2564 ของธนาคารโลก)
อัตราเงินเฟ้อ : 4.59% (ปี 2564 สำนักงานสถิติโซมาเลีย)
ผลผลิตทางการเกษตร : กล้วยหอม ข้าวฟ่าง ข้าวโพด มะพร้าว ข้าว อ้อย มะม่วง เมล็ดงา ถั่ว ปศุสัตว์ แกะ แพะ และปลา
ผลผลิตอุตสาหกรรม : การแปรรูปน้ำตาล สิ่งทอและอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 2,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
มูลค่าการส่งออก : 54.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
สินค้าส่งออก : ปศุสัตว์ แร่มีค่า พืชผัก ยานพาหนะ เคมีภัณฑ์
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30.5% โอมาน 29.5% ซาอุดีอาระเบีย 15.1% บัลแกเรีย 3.43% และจีน 3.28%
มูลค่าการนำเข้า : 2,332 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
สินค้านำเข้า : อาหาร เครื่องจักร พืชผัก สิ่งทอ โลหะ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30.7% จีน 19.1% อินเดีย 12.8% โอมาน 6.62% ตุรกี 5.4%
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน จีน ซาอุดีอาระเบีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ยูเรเนียม สินแร่ เหล็ก ดีบุก ยิปซัม แร่อะลูมิเนียม ทองแดง เกลือ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณด้านการทหารเมื่อปี 2560 มีมูลค่า 6,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากกองทัพโซมาเลียแล้ว ยังมีกองกำลังรักษาสันติภาพของสหภาพแอฟริกา (African Union Mission in Somalia-AMISOM) ประจำการอยู่ในโซมาเลียด้วย กำลังพลรวม : ทหาร 19,800 นาย เป็น ทบ. ทั้งหมด ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่ม al-Shabaab
นอกจากนี้ ยังมีรัฐที่แยกตัวเป็นอิสระในโซมาเลีย ซึ่งมี กกล.ของตนเอง เช่น รัฐ Somaliland มีกำลังพลประมาณ 12,500 คน และรัฐ Puntland มีกำลังพลประมาณ 3,000 คน
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) รุ่น AT-105 Saxon จำนวนอย่างน้อย 25 คัน รุ่น Bastion APC จำนวน 13 คัน รุ่น Fiat 6614 ไม่ปรากฏจำนวน รถลาดตระเวนหุ้มเกราะ (PPV) รุ่น Casspir รุ่น MAV-5 รุ่น Mamba Mk5 และรุ่น RG-31 Nyala จำนวนรวมอย่างน้อย 9 คัน และยานยนต์อเนกประสงค์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Tiger 4×4 จำนวน 12 คัน
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) การก่อการร้ายจากกลุ่ม al-Shabaab ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งแม้ว่า กลุ่มจะสูญเสียฐานที่มั่นในกรุงโมกาดิชูตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังควบคุมพื้นที่หลายเเห่งของโซมาเลียและก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโมกาดิชู ขณะที่เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในโซมาเลียยังเป็นเป้าหมายของกลุ่มด้วย ทั้งนี้ ทบ.โซมาเลียเร่งปราบปรามกลุ่ม al-Shabaab โดยปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังของสหภาพแอฟริกา (African Union Mission in Somalia-AMISOM) ตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบัน AMISOM มีกำลังพลประมาณ 22,000 นาย อย่างไรก็ดี AMISOM เตรียมถอนกำลังออกจากโซมาเลียภายใน ธ.ค.2564 และจะส่งมอบให้ ทบ.โซมาเลียดูแลด้านความมั่นคงในโซมาเลีย แต่ที่ผ่านมายังคงมีการโจมตีจากกลุ่ม al-Shabaab ทุกปี โดยในปี 2564 เมื่อ 15 เม.ย.2564 กลุ่ม al-Shabaab โจมตีรถมินิบัสที่เดินทางระหว่างเมือง ผู้เสียชีวิต 17 คน ขณะที่กองกำลังของ AMISOM ปะทะกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในโซมาเลีย เมื่อ 24 ต.ค.2564 มีผู้เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บ 40 คน
2) ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของโซมาเลีย ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ
3) ความตึงเครียดของรัฐบาลที่พยายามจะนำระบบสหพันธรัฐมาใช้ เนื่องจากโซมาเลียมีรัฐที่แยกตัวเป็นอิสระ เช่น Somaliland และ Puntland ทางตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้เป็นเขตการปกครองของรัฐบาลโซมาเลียและบางส่วนอยู่ในการยึดครองของกลุ่ม al-Shabaab แต่รัฐบาลดำเนินการได้ช้ามาก และยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและการแบ่งเขตแดน ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจและเริ่มเกิดความตึงเครียด จนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
4) การสร้างสมดุลในการแข่งขันอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่พยายามเข้ามามีบทบาทในโซมาเลีย เช่น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ตุรกี กาตาร์ และ UAE
5) ปัญหาผู้อพยพออกจากโซมาเลียและปัญหาความอดอยาก สถานการณ์ความไม่มั่นคง ในโซมาเลีย และความต้องการการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน
ความสัมพันธ์ไทย-โซมาเลีย
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยและโซมาเลียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 1 พ.ย.2527 ไทยมอบหมายให้ สอท. ไนโรบี/เคนยา มีเขตอาณาครอบคลุมโซมาเลีย และโซมาเลียมอบหมายให้ สอท.โซมาเลีย/ปักกิ่ง จีน ดูแลไทย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังไม่เเน่นเเฟ้น โดยยังไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนระดับสูงระหว่างกัน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2563 การค้าระหว่างไทย-โซมาเลีย มีมูลค่า 13.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (428.69 ล้านบาท) ไทยส่งออกให้โซมาเลีย 12.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (423.59 ล้านบาท) และนำเข้าจากโซมาเลีย 0.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.11 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าโซมาเลีย 12.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (418.48 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2564 การค้าไทย-โซมาเลีย มีมูลค่า 11.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (364.89 ล้านบาท) ไทยส่งออก 9.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (325.88 ล้านบาท) และนำเข้า 1.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (39.01ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปโซมาเลียเมื่อปี 2563 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2564 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์
สินค้าที่ไทยนำเข้าเมื่อปี 2563 ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2564 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ทั้งนี้ ปี 2564 มีคนไทยอาศัยอยู่ในโซมาเลียจำนวน 14 คน
ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2563 นักท่องเที่ยวโซมาเลียเดินทางมาไทย จำนวน 524 คน และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 คนสัญชาติโซมาเลียมาไทย (เพื่อการท่องเที่ยวและวัตถุประสงค์อื่น ๆ) มีจำนวน 76 คน ปี 2564 ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวโซมาเลียเดินทางมาไทย
ความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยกับโซมาเลีย มีความร่วมมือด้านการทหาร โดยกองทัพเรือไทยได้ส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติ (Combined Maritime Forces-CMF) ในการปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย จำนวน 2 ชุด ในบริเวณอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย ได้แก่ มปจ. ชุดที่ 1 ปฏิบัติงานระหว่าง 8 ก.ย.2553-22 ม.ค.2554 และ มปจ. ชุดที่ 2 ปฏิบัติงานระหว่าง 12 ก.ค.-28 พ.ย.2554
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การเลือกตั้งประธานาธิบดีโซมาเลียคนใหม่
2) การบริหารจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของโซมาเลีย ของรัฐบาลชุดใหม่ และประธานาธิบดีคนใหม่ของโซมาเลีย
3) ความคืบหน้าของรัฐบาลโซมาเลียในการนำระบบสหพันธรัฐมาปรับใช้
4) ท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาลโซมาเลียต่อรัฐที่แยกตัวเป็นอิสระ และการจัดการของรัฐบาลโซมาเลียต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในโซมาเลีย ที่มีการใช้อาวุธเผชิญหน้ากันอย่างต่อเนื่อง