สาธารณรัฐโมซัมบิก
Republic of Mozambique
สาธารณรัฐโมซัมบิก
Republic of Mozambique
เมืองหลวง มาปูโต
ที่ตั้ง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา และอยู่ระหว่างแอฟริกาใต้กับแทนซาเนีย มีพื้นที่ 799,380 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นดิน 786,380 ตร.กม. และพื้นน้ำ 13,000 ตร.กม. มีชายแดนทางบกยาว 4,783 กม. และชายฝั่งทะเลยาว 2,470 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดแทนซาเนีย (840 กม.)
ทิศใต้ ติดแอฟริกาใต้ (496 กม.) และเอสวาตินี (108 กม.)
ทิศตะวันออก ติดมหาสมุทรอินเดีย (2,470 กม.)
ทิศตะวันตก ติดมาลาวี (1,498 กม.) แซมเบีย (439 กม.) และซิมบับเว (1,402 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกเป็นที่ราบชายฝั่ง มีที่ราบสูงในตอนกลางและทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีภูเขาในทางตะวันตก
ภูมิอากาศ ร้อนชื้น เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือ ม.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 22-31 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศเย็นที่สุด คือ มิ.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 13-24 องศาเซลเซียส
ศาสนา คริสต์โรมันคาทอลิก 27.2% อิสลาม 18.9% คริสต์ Zionist 15.6% โปรเตสแตนต์ 17% (นิกาย Evangelical/Pentecostal 15.3% และ Anglican 1.7%) อื่น ๆ 4.8% ไม่นับถือศาสนา 13.9% และไม่สามารถระบุได้ 2.5% (ปี 2560)
ภาษา ภาษา Emakhuwa 26.1% และภาษาโปรตุเกส 16.6% เป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่น ได้แก่ Xichangana 8.6% Cinyanja 8.1% Cisena 7.1% Elomwe 7.1% Echuwabo 4.7% Cindau 3.8% Xitswa 3.8% ภาษาโมซัมบิกอื่น ๆ 11.8% ภาษาอื่น ๆ 0.5% และไม่สามารถระบุได้ 1.8% (ปี 2560)
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 56%
วันชาติ 25 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันได้รับเอกราชจากโปรตุเกส เมื่อปี 2518
นายฟิลิปปิ จาซินตู นยูซี
Filipe Jacinto Nyusi
(ประธานาธิบดีโมซัมบิก)
ประชากร 126.32 ล้านคน (ปี 2563)
รายละเอียดประชากร จำนวนประชากรญี่ปุ่นเมื่อปี 2563 มีมากเป็นอันดับ 11 ของโลก แต่มีแนวโน้มลดลง อย่างต่อเนื่องจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญกับสภาวะขาดแคลนแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งแรงงานภาคการบริการและภาคเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างประเทศมากขึ้น โดยปรับปรุงกฎหมายขยายระยะเวลาการพำนักอยู่ญี่ปุ่นแก่แรงงานต่างชาติเมื่อปี 2561 เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 345,000 คนในปี 2568 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง (Womenomics) โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและ เพิ่มโอกาสการเติบโตทางการทำงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
การก่อตั้งประเทศ
โมซัมบิกตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาเกือบ 5 ศตวรรษ จนกระทั่ง นายเอดูอาร์โด มอนเลน ก่อตั้งแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยโมซัมบิก (Liberation Front of Mozambique-Frelimo) ต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐบาลโปรตุเกส จนได้รับชัยชนะและประกาศเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อ 25 มิ.ย.2518 ซึ่ง Frelimo ได้กลายเป็นพรรครัฐบาล และนายซาโมรา มาเชล เป็นประธานาธิบดีคนแรกของโมซัมบิก
โมซัมบิกกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และการเมืองได้รับผลกระทบจากสงครามเย็นอย่างมาก โดยทศวรรษที่ 1980 ฝ่ายตะวันตกและแอฟริกาใต้เข้าแทรกแซงด้วยการสนับสนุนกลุ่ม Mozambique National Resistance (Renamo) ก่อสงครามกลางเมือง ต่อมา เมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 สหภาพโซเวียต
ล่มสลาย แอฟริกาใต้ยุติการสนับสนุน Renamo และ UN เข้าช่วยเจรจาเกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่าง Frelimo กับ Renamo เมื่อปี 2535 เพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 16 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ต่อมา มีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าว และเพิ่งมีการลงนามข้อตกลงสันติภาพประวัติศาสตร์ระหว่าง Frelimo กับ Renamo เมื่อ 1 ส.ค.2562
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แบ่งออกเป็น 10 จังหวัด ได้แก่ Cabo Delgado, Gaza, Inhambane, Manica, Maputo, Nampula, Niassa, Sofala, Tete และ Zambezia และ 1 เมือง (cidade) คือ Cidade de Maputo มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมี นรม. เป็นผู้นำรัฐบาล ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 21 ธ.ค.2547 ปรับแก้ไขเมื่อปี 2550 และปี 2562
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และหากเสียงที่ได้รับไม่เกินกึ่งหนึ่ง จะต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2 วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน มีอำนาจแต่งตั้ง นรม. และ ครม. การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ต.ค.2562 ปรากฏว่า นาย Filipe Jacinto Nyusi (พรรค Frelimo) ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียง 73% เหนือนาย Ossufo Momade คู่แข่งจากพรรค Renamo ได้คะแนนเสียง 21.9% โดยสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 15 ม.ค.2563 ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน 15 ต.ค.2567 ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง ครม. และ นรม. โดย นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Carlos Agostinho Do Rosario เข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองเมื่อ 18 ม.ค.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบสภาเดียว (Republic หรือ Assembleia da Republica) ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา 250 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งระบบสัดส่วนหรือระบบบัญชีรายชื่อ จาก 11 เขตเลือกตั้ง 248 ที่นั่ง และสมาชิก 2 ที่นั่ง เป็นตัวแทนชาวโมซัมบิกที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงด้วยคะแนนเสียงข้างมาก มีวาระ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ต.ค.2562 พรรค Frelimo (พรรครัฐบาล) ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 73% ตามด้วยพรรค Renamo 21.9% พรรค MDM 4% รวมพรรค Frelimo มี 184 ที่นั่ง พรรค Renamo มี 60 ที่นั่ง และพรรค MDM มี 6 ที่นั่ง ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2567
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายของโมซัมบิกเป็นไปตามระบบกฎหมายแพ่งของโปรตุเกส และกฎหมายจารีตประเพณีของโมซัมบิก ประกอบด้วย ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งประธานศาลฎีกาและรองประธานศาลฎีกา โดยได้รับคำปรึกษาจากประธานสภาสูงตุลาการ (Higher Council of the Judiciary-CSMJ) และต้องให้รัฐสภาให้สัตยาบัน ส่วนผู้พิพากษาต้องได้รับเลือกจากรัฐสภา มีวาระ 5 ปี สำหรับผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี 1 คน รัฐสภา 5 คน และ
CSMJ 1 คน มีวาระ 5 ปี ต่ออายุได้โดยไม่จำกัดวาระ นอกจากนี้ ยังมีศาลอื่น ๆ อาทิ ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลศุลกากร ศาลการคลัง ศาลทางทะเล และศาลแรงงาน
พรรคการเมืองที่สำคัญ : 1) พรรค Front for the Liberation of Mozambique (Frelimo) โดยประธานาธิบดี Filipe Nyusi เป็นหัวหน้าพรรค มีที่นั่งในสภา 184 ที่นั่ง 2) พรรค Mozambique National Resistance (Renamo) โดยนาย Ossufo Momade เป็นหัวหน้าพรรค มีที่นั่งในสภา 60 ที่นั่ง และ 3) พรรค Democratic Movement of Mozambique (MDM) โดยนาย Daviz Simango เป็นหัวหน้าพรรค มีที่นั่งในสภา 6 ที่นั่ง
เศรษฐกิจ โมซัมบิกเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอัญมณี ป่าไม้ ประมง โดยปี 2530 รัฐบาลเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคพร้อมกับรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติและการมีเสถียรภาพทางการเมืองตั้งแต่ปี 2537 ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น แต่ประชากรประมาณครึ่งหนึ่งยังอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยหน่วยข่าวกรองด้านเศรษฐศาสตร์ของโมซัมบิกคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นในช่วงปี 2561-2564 ในอัตราเฉลี่ย 5.1% ซึ่งต่ำกว่าช่วงปี 2548-2558 ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 7.3% และการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2561-2564 จะมุ่งที่การก่อสร้างและภาคบริการ ส่วนภาคการเกษตรไม่มีการขยายตัวมากนักเนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ และด้านพลังงาน ธนาคารโลกคาดว่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติ
ของโมซัมบิกจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 โดยแนะว่า 1) โมซัมบิกยังต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค 2) การสร้างความหลากหลายของภาคเศรษฐกิจ และ 3) การปรับปรุงการตรวจสอบ การเปิดเผย การจัดการหนี้สาธารณะ และความเสี่ยงด้านการคลัง ทั้งนี้ มีบริษัทจากต่างประเทศเข้าลงทุนด้านพลังงานในโมซัมบิก อาทิ บริษัท Anadarko และบริษัท Exxon Mobil ของสหรัฐฯ บริษัท Total ของฝรั่งเศส บริษัท Gigajoule ของแอฟริกาใต้ บริษัท Wentworth Resources ของแคนาดา และบริษัท Eni ของอิตาลี
นโยบายด้านเศรษฐกิจของโมซัมบิกเน้นแก้ไขปัญหาความยากจน กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งจะมีรายได้สูงขึ้นและความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น โดยโมซัมบิกมีมาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการให้สิทธิพิเศษที่แตกต่างไปตามเขตและประเภทของการลงทุน โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าประมาณ 50-80% โดยเฉพาะภาษีเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร และการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด Rapid Development Zone ในจังหวัดต่าง ๆ
ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิพิเศษด้านภาษีอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาษีการโอนที่ดิน เป็นต้น ทั้งนี้ โมซัมบิกมีอุปสรรคสำคัญ
คือ ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก ไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
อัตราการเติบโตทางเศษฐกิจของโมซัมบิกปี 2562 อยู่ที่ 2.2% ต่ำกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้ที่ 4.7% เนื่องจากเศรษฐกิจของโมซัมบิกได้รับผลกระทบจากเหตุพายุไซโคลน Idai และ Kenneth พัดถล่มโมซัมบิก มีการคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2563 จะหดตัว 2% เนื่องจากปัญหา COVID-19 การต้องฟื้นฟูประเทศหลังเหตุพายุไซโคลน และมีบางบริษัทระงับโครงการพัฒนาโครงการพลังงาน เพราะกังวลสถานการณ์การก่อการร้ายในโมซัมบิก โดย IMF อนุมัติความช่วยเหลือทางการเงินแก่โมซัมบิกมูลค่า 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ เม.ย.2563 เพื่อช่วยเหลือในการส่งเสริมด้านสาธารณสุข ด้านสังคม รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เมติคอลใหม่ (New Mozambican Metical : MZN)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 73.2674 MZN (ต.ค.2563)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท = 2.34535 MZN (ต.ค.2562)
ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ (ปี 2562)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 14,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 491.8 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 13,627,998 คน
อัตราการว่างงาน : 3.2%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.78%
ผลผลิตการเกษตร : ฝ้าย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อ้อย ชา มันสำปะหลัง ข้าวโพด มะพร้าว เส้นใยพืช ผลไม้ตระกูลส้ม และผลไม้เขตร้อนชื้น มันฝรั่ง ดอกทานตะวัน เนื้อวัว และสัตว์ปีก
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม : อะลูมิเนียม น้ำมัน เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สบู่ และสิ่งทอ ปูนซีเมนต์ แก้ว แร่ใยหิน ยาสูบ อาหาร และเครื่องดื่ม
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 4,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 5,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : อะลูมิเนียม กุ้ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฝ้าย น้ำตาล ผลไม้ตระกูลส้ม ไม้ และพลังงานไฟฟ้า
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อินเดีย 24.7% เนเธอร์แลนด์ 18.9% แอฟริกาใต้ 16.7% สิงคโปร์ 8.7% จีน 6.1% และสหรัฐฯ 2.5%
มูลค่าการนำเข้า : 10,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องบริโภค และสิ่งทอ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : แอฟริกาใต้ 24% อินเดีย 14.8% จีน 9.2% สิงคโปร์ 7.6% เนเธอร์แลนด์ 7% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6.3% และญี่ปุ่น 3.5%
ทรัพยากรธรรมชาติ : ถ่านหิน ไททาเนียม ก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ แทนทาลัม และแกรไฟต์
การทหารและความมั่นคง
การทหาร กองทัพของโมซัมบิกแบ่งเป็น ทบ. ทร. และ ทอ. รวมทั้งเสนาธิการทหาร ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายทางเหนือของโมซัมบิก กลุ่มกบฏ โจรสลัด ขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ และปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด โดยผู้ที่ได้รับการเกณฑ์ทหารจะต้องประจำการในกองทัพนาน 2 ปี ส่วนงบประมาณด้านการทหารของโมซัมบิกเมื่อปี 2562 มีจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.84% ของ GDP กำลังพลรวม 11,200 นาย ประกอบด้วย ทบ. 1,000 นาย
แบ่งตามภารกิจเป็น กกล.พิเศษ การซ้อมรบ การสนับสนุนการรบ และการสนับสนุนบริการการรบ ทร. 200 นาย และ ทอ. 1,000 นาย
อาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ : ทบ. ได้แก่ รถถังหลักรุ่น T-54 มากกว่า 60 คัน ยานลาดตระเวนรุ่น BRDM-1/BRDM-2 30 คัน ยานรบทหารราบหุ้มเกราะรุ่น BMP-1 40 คัน ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 326 คัน อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังรุ่น 9K11 Malyutka และรุ่น 9K111 Fagot ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อสู้รถถัง (ขนาด 75 mm ขนาด 82 mm รุ่น B-10 และขนาด 107 mm รุ่น B-12) ปืนต่อสู้รถถังรุ่น D-18 และรุ่น PT-56 รวม 18 เครื่อง ปืนใหญ่ 126 กระบอก (ปืนใหญ่ลากจูง 62 เครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิด 12 เครื่อง และ
ปืนครก 52 เครื่อง) ปืนใหญ่อัตตาจรต่อสู้อากาศยานรุ่น ZSU-57-2 20 เครื่อง ปืนใหญ่ลากจูงต่อสู้อากาศยานมากกว่า 270 เครื่อง
ทร. ได้แก่ เรือลาดตระเวนและเรือรบชายฝั่ง 12 ลำ และอากาศยานไร้คนขับ ISR รุ่น Light S-100 Camcopter 1 เครื่อง
ทอ. ได้แก่ บ.ขับไล่และโจมตีภาคพื้นดินแบบ MiG-21 bis Fishbed 6 เครื่อง และ MiG-21UM Mongol B 2 เครื่อง บ.ขนส่งแบบ FTB-377G Milirole 2 เครื่อง บ.ขนส่งขนาดเบาแบบ An-26 Curl 1 เครื่อง บ.Cessana 150B 2 เครื่อง บ.Cessana 172 1 เครื่อง บ.PA-34 Seneca 1 เครื่อง บ. Hawker 850XP 1 เครื่อง ฮ.โจมตีแบบ Mi-24 Hind 2 เครื่อง และ ฮ.ขนาดกลางแบบ Mi-8 Hip 2 เครื่อง และอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศแบบลากจูงรุ่น S-75 Dvina (SA-2 Guideline) และรุ่น S-125 Pechora SA-3 Goa
ความสัมพันธ์ไทย–โมซัมบิก
ด้านการทูต ไทยและโมซัมบิกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 16 เม.ย.2532
โดย สอท.ไทย ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีเขตอาณาครอบคลุมโมซัมบิก และข้อมูลจาก กต.ไทยระบุว่า ไทยแต่งตั้งนายคาร์ลอส อังโตนีโอ ดา คอนไซเซา ซิมบิเน เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำโมซัมบิก สำหรับฝ่ายโมซัมบิกมอบหมายให้ สอท.โมซัมบิก ประจำจาการ์ตา อินโดนีเซีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และแต่งตั้งนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์โมซัมบิกประจำประเทศไทย
ต่อมา เมื่อ มิ.ย.2559 กระทรวงการต่างประเทศไทยเปิด สอท. ณ กรุงมาปูโต ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อ 13 ม.ค.2558 และแต่งตั้งนายรัศม์ ชาลีจันทร์ เป็น ออท. ปัจจุบัน นายทศพร
มูลศาสตรสาทร ดำรงตำแหน่ง ออท.ไทย ประจำกรุงมาปูโต
ด้านเศรษฐกิจ โมซัมบิกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 85 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 15 ในภูมิภาคแอฟริกา โดยมูลค่าการค้าระหว่างโมซัมบิกกับไทยเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 175.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปโมซัมบิกมูลค่า 149.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 25.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 123.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 134.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปโมซัมบิกมูลค่า 112.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 21.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 91.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปโมซัมบิก ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ แผงสวิทซ์ และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผ้าผืนส่วน สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากโมซัมบิก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่
เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวโมซัมบิกมาไทยจำนวน 1,093 คน (ข้อมูลจาก สตม.) มีคนไทยในโมซัมบิก 100 คน (ข้อมูลกรมการกงสุลปี 2563)
ข้าวไทยยังเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังโมซัมบิก เนื่องจากเป็นอาหารหลักและเป็นที่ชื่นชอบของชาวโมซัมบิก โดยโมซัมบิกเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่นำเข้าข้าวสารจากไทยมากที่สุด โดยเมื่อปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปยังโมซัมบิก 272,964 ล้านตัน มูลค่า 3,507 ล้านบาท นอกจากนี้ โมซัมบิกยังเป็นประเทศที่ไทยลงทุนเป็นมูลค่าสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา ปัจจุบัน ไทยลงทุนในโมซัมบิกมูลค่ากว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสาขาสำคัญ อาทิ พลังงาน การก่อสร้าง โรงแรม และการท่องเที่ยว
ไทยและโมซัมบิกจัดตั้งคณะกรรมการร่วมการค้า (Joint Trade Committee-JTC) ปัจจุบัน มีการประชุมแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม JTC ไทย-โมซัมบิก ครั้งที่ 2 เมื่อ 20-23 พ.ค.2561 ณ กรุงมาปูโต เพื่อหารือแนวทางขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับโมซัมบิก และจะพิจารณาจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty-BIT) และความตกลงเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement-DTA) นอกจากนี้
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ อัญมณี พลังงาน การประมง การเกษตร และ
การท่องเที่ยว
ความตกลงสำคัญ ๆ ระหว่างไทยกับโมซัมบิก :ในส่วนภาครัฐ บันทึกความเข้าใจ (MoU) เรื่องความร่วมมือด้านทรัพยากรแร่ระหว่างไทยกับโมซัมบิก (8 ก.พ.2556) บันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ The Gemology and Lapidary Center of Nampula (รอลงนาม) ในส่วนภาคเอกชน บันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสมาคมผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไทยกับ Mozambique Mining Exploration Company (EMEM) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ (8 พ.ย.2555) นอกจากนี้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ดังนี้ โมซัมบิกอยู่ในโครงการหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course-AITC) ของไทย มีการให้ทุนฝึกอบรมและดูงาน
ด้านการพัฒนาในหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ในหลายสาขา อาทิ การท่องเที่ยว การบริหารจัดการชายฝั่งทะเล การเกษตรแบบยั่งยืน และสาธารณสุข โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านข้าว ระหว่างปี 2548-2549 โครงการพัฒนาประมงขนาดเล็กและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระหว่างปี 2548-2550 โครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการป้องกันโรคมาลาเรียและ HIV/AIDs ระหว่างปี 2548-2549 และโครงการมหาวิทยาลัยสัมพันธ์ร่วมกับมหาวิทยาลัย Eduardo Mondlane ของโมซัมบิกในปี 2553