เครือรัฐออสเตรเลีย
Commonwealth of Australia
เครือรัฐออสเตรเลีย
Commonwealth of Australia
เมืองหลวง แคนเบอร์รา
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในซีกโลกใต้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของไทย โดยอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิประเทศ เป็นเกาะทวีปทำให้ออสเตรเลียเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เป็นทวีปที่เล็กที่สุดในโลก พื้นที่ทางตะวันตกและตอนกลางของประเทศเป็นเขตแห้งแล้ง เขตที่ราบแคบ ๆ สำหรับเพาะปลูกอยู่ทางฝั่งตะวันออก
ภูมิอากาศ พื้นที่มากกว่าหนึ่งในสามของออสเตรเลียอยู่เหนือเส้น Tropic of Capricorn ภูมิอากาศจึงแตกต่างกันไป คือ อากาศร้อนทางเหนือ อบอุ่นทางตะวันออกเฉียงใต้ และแห้งแล้งตอนใจกลางทวีป มี 4 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูใบไม้ร่วง (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูหนาว (มิ.ย.-ส.ค.) และฤดูใบไม้ผลิ (ก.ย.-พ.ย)
ศาสนา ไม่มีศาสนาประจำชาติ มีผู้นับถือคริสต์ 49.9% ออร์โธดอกซ์ 2.3% พุทธ 2.4% อิสลาม 2.6% ฮินดู 1.9% อื่น ๆ 1.3% ไม่นับถือศาสนา 30.1% ไม่ระบุ 9.6%
ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ
การศึกษา การศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-10 (ระหว่างอายุ 6-16 ปี) มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาทุกระดับเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
วันชาติ 26 ม.ค.
นายสก็อตต์ มอร์ริสัน
Scott Morrison
(นรม.)
ประชากร 25,704,340 คน (สำนักงานสถิติออสเตรเลีย มี.ค.2564) เชื้อชาติยุโรป 74.3% เอเชีย 4.5%
ชนพื้นเมืองและอื่น ๆ 15.8% ไม่ระบุ 5.4% (ประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ระบุว่ามี 2 เชื้อชาติ) อัตราการเกิด
12.4 คน ต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ย 81.2 ปี (ชาย 81.2 ปี หญิง 85.3 ปี)
การก่อตั้งประเทศ กัปตันเจมส์ คุก นำคณะนักสำรวจจากสหราชอาณาจักรขึ้นฝั่งด้านตะวันออกของออสเตรเลียเมื่อ 20 เม.ย.2313 อ้างสิทธิครอบครองในนามสหราชอาณาจักร (รัชกาล King George ที่ 3) และตั้งชื่อประเทศว่า Australia (มาจากภาษาละติน Aus-trales ซึ่งแปลว่าลมใต้) ต่อมากัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิป แห่ง ทร.สหราชอาณาจักร คุมขบวนเรือบรรทุกนักโทษอพยพจากอังกฤษและไอร์แลนด์รุ่นแรกไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลีย โดยนำเรือเข้าสู่ Port Jackson หรือ Sydney Cove เมื่อ 26 ม.ค.2331 ต่อมาเมื่อ 1 ม.ค.2444 ออสเตรเลียได้เปลี่ยนฐานะจากอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร มีการปกครองตนเองเรียกชื่อประเทศว่า Commonwealth of Australia
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ เป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor-General) ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี คนปัจจุบัน ชื่อ General David John Hurley (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 ก.ค.2562) มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 18 พ.ค.2562 ซึ่งพรรคแนวร่วมลิเบอรัล-เนชั่นแนล นำโดยนายสกอตต์ มอร์ริสัน เป็นฝ่ายชนะพรรคเลเบอร์ด้วยเสียงข้างมาก 77 ต่อ 68 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 151 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) และผู้สมัครอิสระ 6 ที่นั่ง และได้จัดตั้งรัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ซึ่งมีนายมอร์ริสันเป็น นรม. ทั้งนี้ การชนะการเลือกตั้งของนายมอร์ริสันทำให้การสานต่อการบริหารประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้สถานะและภาพลักษณ์ผู้นำของนายมอร์ริสันมีความเข้มแข็งขึ้น ประกอบกับการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ยังส่งผลให้รัฐบาลออสเตรเลียมีเสถียรภาพและสามารถผลักดันนโยบายของพรรคให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะจัดเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในห้วงกลางปี โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 151 ที่นั่ง และวุฒิสมาชิกกึ่งหนึ่ง 38 ที่นั่ง รวมถึง นรม.ออสเตรเลีย
ฝ่ายบริหาร : อยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มี ครม.เป็นองค์กรบริหาร โดยมี นรม.เป็นหัวหน้า ครม. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เลือก ครม.จาก ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยคำแนะนำของ นรม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภา เป็นระบบ 2 สภา 1) สภาผู้แทนราษฎร 151 ที่นั่ง วาระ 3 ปี 2) วุฒิสภา 76 ที่นั่ง วาระ 6 ปี กึ่งหนึ่งของวุฒิสมาชิก (38 ที่นั่ง) จะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 3 ปี การออกพระราชบัญญัติทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบของทั้งสองสภา ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ : อำนาจตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ไม่มีอำนาจถอดถอน ศาลสูง (High Court of Australia) มีอำนาจสูงสุดในการตีความและตัดสินคดีกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติระดับรัฐและระดับสหพันธ์ และคดีในระดับระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ ส่วน Federal Court of Australia มีอำนาจตัดสินคดีแพ่ง
การปกครองในระบบสหพันธรัฐของออสเตรเลีย ประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ รัฐ Western Australia, South Australia, Queensland, New South Wales, Tasmania และ Victoria และมีอาณาเขตปกครองตนเอง 2 อาณาเขต ได้แก่ Northern Territory และ Australian Capital Territory ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง (แคนเบอร์รา) ในแต่ละรัฐมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ระดับรัฐ (Governor) มีรัฐบาลและมุขมนตรีทำหน้าที่บริหาร โดยมีสภานิติบัญญัติ 2 สภา ยกเว้นรัฐ Queensland ซึ่งมีเพียงสภาเดียว ทั้งนี้ รัฐและอาณาเขตต่าง ๆ มีระบบศาลของตนเอง
พรรคการเมืองที่สำคัญ : พรรคเลเบอร์ (Australian Labor Party) พรรคลิเบอรัล (Liberal Party) พรรคเนชั่นแนล (National Party) และพรรคกรีนส์ (Australian Greens)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีซึ่งมีข้อจำกัดที่ไม่มากนักในการนำเข้าสินค้าและบริการ ส่งผลให้เศรษฐกิจออสเตรเลียในภาพรวมมีความยืดหยุ่นและมีพลวัต ออสเตรเลียยังมีบทบาทที่สำคัญใน WTO APEC กลุ่ม G20 และองค์กรด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ออสเตรเลียมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับ 3 ของโลกเมื่อปี 2564 (Index of Economic Freedom) รองจากสิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปี 2563 นอกจากนี้ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 13 ของโลก และมี GDP ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก เมื่อปี 2564 (IMF) มีอัตราการว่างงาน 5.2% และอัตราความยากจนที่ต่ำ สำหรับตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (Australian Securities Exchange) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก เมื่อปี 2564 (World Federation of Exchange) รายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีทางอ้อมโดยนำการจัดเก็บ Goods and Services Tax (GST) 10% มาใช้
ปัจจุบัน เศรษฐกิจภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว การศึกษา และการบริการทางการเงิน ทำรายได้คิดเป็น 72.9% ของ GDP ขณะที่การทำเหมืองแร่ทำรายได้ 10.2% และภาคอุตสาหกรรมทำรายได้ 6% ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และอินเดีย ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และไทย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดอลลาร์ออสเตรเลีย (A$)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.37 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย: 23.97 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.5% (IMF)
รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี : 53,730 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 57,324 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 1.57 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 2.5%
แรงงาน : 12.84 ล้านคน
อัตราว่างงาน : 5.2%
มูลค่าการส่งออก : 266,377 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : แร่เหล็ก ถ่านหิน ทองคำ ก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์ อะลูมิเนียม ข้าวสาลี
มูลค่าการนำเข้า : 221,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงาน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคม น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยา
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อินเดีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี และไทย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็กกล้า และอัญมณี
การทหารและความมั่นคง
ออสเตรเลียดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงโดยยึดถือสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด โดยดำเนินการผ่านสนธิสัญญา ANZUS (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ) นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะผ่านที่ประชุม ASEAN Regional Forum และ Pacific Islands Forum รวมทั้งที่ประชุม East Asia Summit (ออสเตรเลียเป็นสมาชิกเมื่อปี 2548) และความตกลง Five Power Defence Arrangements (ข้อตกลงด้านความมั่นคง ประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และสิงคโปร์)
นายสกอตต์ มอร์ริสัน นรม.ออสเตรเลีย ประกาศตั้งหุ้นส่วนความมั่นคงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ในนามกลุ่ม AUKUS เมื่อ 16 ก.ย.2564 สหรัฐฯ และ
สหราชอาณาจักรจะสนับสนุนให้ออสเตรเลียเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย
8 ลำ ภายในระยะเวลา 18 เดือน (มี.ค.2566) โดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความสามารถปฏิบัติการร่วมกัน (Interoperability) มีลักษณะร่วม (Commonality) และคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ออสเตรเลียมีขีดความสามารถทางทะเลแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีขีดความสามารถเหนือกว่าเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล/ไฟฟ้า ที่ยากต่อการตรวจพบ มีความเร็วและพิสัยทำการไกล เป็นผลให้ออสเตรเลียประกาศยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำชั้น Attack จำนวน 12 ลำ จากบริษัท DCNS ของฝรั่งเศส เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่มีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอิทธิพลของจีน ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ กลุ่ม AUKUS จะร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และขีดความสามารถใต้ทะเล
ออสเตรเลียยังเพิ่มขีดความสามารถการโจมตีระยะไกลผ่านการพัฒนาขีปนาวุธติดตั้งบนเครื่องบินและเรือรบ เช่น จรวด Tomahawk ติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้น Hobart เพื่อโจมตีเป้าหมายบนบกได้แม่นยำมากขึ้น ขีปนาวุธอากาศสู่พื้นติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F/A-18 A/B Hornets และเครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning II ขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกลติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ F/A-18 F Super Hornet และจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Missile) รวมทั้งจัดหาขีปนาวุธโจมตีอย่างแม่นยำทำลายเป้าหมายในระยะมากกว่า 400 กม. ให้กองทัพบก และจะเร่งลงทุนในหน่วยงานผลิตอาวุธในประเทศ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทั้งนี้ ออสเตรเลียให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการพัฒนา ขีดความสามารถทางทะเล
ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียประกาศทบทวนนโยบายด้านการป้องกันประเทศปี 2563 (2020 Defence Strategic Update) และแผนการปรับวางกำลัง ปี 2563 (2020 Force Structure Plan) เมื่อ 1 ก.ค.2563 ซึ่งเป็นการปรับนโยบายจากสมุดปกขาวด้านการป้องกันประเทศปี 2559 (2016 Defence White Paper) เนื่องจากสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคมีความท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขัน เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยจัดลำดับความสำคัญให้แก่ พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินี ติมอร์เลสเต จนถึง ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ผลการทบทวนนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ออสเตรเลียปรับปรุงให้กองทัพพึ่งพาตนเองในการป้องปราม โดยจะเพิ่มการจัดหาอาวุธโจมตีระยะไกล และปรับปรุงขีดความสามารถทางไซเบอร์ รวมทั้งขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหา Grey-zone activities และเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ ความพร้อมในการประจำการทหารและยุทโธปกรณ์ทั่วโลก และพัฒนาบทบาทของกองทัพในการสนับสนุนพลเรือนเพื่อรับมือภัยธรรมชาติและวิกฤติด้านต่าง ๆ
กองทัพออสเตรเลีย มีกำลังพลรวม 88,7000 นาย แบ่งเป็นกำลังประจำการ จำนวน 58,600 นาย ประกอบด้วย ทบ. 29,500 นาย ทร. 14,700 นาย ทอ. 14,400 นาย และกำลังสำรอง 30,100 นาย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารตามพิธีการ และเป็นผู้แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chief of the Defence Force-CDF) ซึ่งมาจาก 1 ในผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่า ตามคำแนะนำของรัฐบาล งานปฏิบัติการประจำอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้นำกองทัพ ส่วนงานบริหารและนโยบายป้องกันอยู่ภายใต้อำนาจของ รมว.กระทรวงกลาโหม
งบประมาณด้านการป้องกันประเทศ ในปี 2564-2565 มีจำนวน 44,618 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็น 2.1% ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563-2564 จำนวน 42,042 คิดเป็น 4.4%)
ในจำนวนดังกล่าว เป็นการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยข่าวกรองทางการสื่อสารออสเตรเลีย (Australian Signals Directorate-ASD) จำนวน 1,058 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยรัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับงบประมาณด้านการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ เป็นสัญญาณของการเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องของออสเตรเลีย เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
ปัญหาด้านความมั่นคง
ด้านความมั่นคงเน้นการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะการป้องปรามและเฝ้าระวังมิให้เกิดการก่อการร้ายที่เกิดจากคนออสเตรเลียในพื้นที่ (Homegrown terrorists) รวมทั้งออสเตรเลียตื่นตัว
อย่างมากต่อการเดินทางของนักรบต่างชาติจากภูมิภาคตะวันออกกลางกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพราะเป็น ภัยคุกคามที่สำคัญต่อออสเตรเลียและภูมิภาค การรับมือกับการลักลอบเข้าเมืองทางทะเล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของออสเตรเลีย โดยแสวงหาความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ ออสเตรเลีย ให้ความสำคัญมากขึ้นต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ กองทัพออสเตรเลียได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่า หน่วยสงครามทางไซเบอร์ เมื่อ 1 ก.ค.2560 โดยมีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ 1) ปกป้องการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเป้าหมายทางการทหาร 2) รวบรวมข่าวกรอง และ 3) พิสูจน์ทราบเป้าหมายต่างชาติและการปฏิบัติการโจมตีกลับ
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 19 ธ.ค.2495 ความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยทั้งสองประเทศยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) เมื่อ 13 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นรม.ออสเตรเลีย ลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลีย (Joint Declaration on the Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and Australia) ซึ่งจะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา สาธารณสุข การเกษตร สิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
ด้านเศรษฐกิจการค้าดำเนินการผ่าน Thailand-Australia Free Trade Agreement หรือ TAFTA (มีผลเมื่อ 1 ม.ค.2548) ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทยเมื่อปี 2563 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 409,022 ล้านบาท ลดลงจาก 441,550.83 ล้านบาท เมื่อปี 2562 หรือลดลง 7.37% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า (สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของออสเตรเลียเมื่อปี 2563 สินค้าที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยทั่วไปชาวออสเตรเลียมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย เมื่อปี 2563 มีชาวออสเตรเลียเดินทางมาประเทศไทย จำนวน 123,598 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยและออสเตรเลียสนับสนุนบทบาทในเวทีการเมือง ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งออสเตรเลียให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยด้วยดี ในด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไทยในด้านดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการปฏิบัติการร่วม
ข้อตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ได้แก่ ความร่วมมือในการต่อต้านการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและการลักลอบค้ามนุษย์ (ปี 2544) ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ปี 2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือของตำรวจ (ปี 2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปี 2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง (ปี 2547) ความตกลงการค้าเสรี (ปี 2547) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปี 2547) ความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (ปี 2549) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและพัฒนาความร่วมมือของตำรวจเมื่อปี 2553 และเมื่อปี 2554 มีการร่วมลงนามความร่วมมืออีกครั้งกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนทวีความตึงเครียดทั้งมิติการเมืองและเศรษฐกิจ
เพิ่มมากขึ้นตลอดปี 2564 หลังจีนใช้มาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจกับออสเตรเลียด้วยการชะลอการนำเข้าเนื้อวัวและขึ้นภาษีนำเข้า ข้าวบาร์เลย์ ปัญหาพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวสู่ความขัดแย้งด้านอื่นมากขึ้น โดยออสเตรเลียเพิกถอนข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการระงับกิจกรรมภายใต้ความตกลงการเจรจาเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์จีน-ออสเตรเลีย (China-Australia Strategic Economic Dialogue) และอาจเพิ่มมาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อออสเตรเลียในอนาคต นอกจากนั้น การตั้งกลุ่ม AUKUS และการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย ที่มีนัยต่อต้านอิทธิพลจีนในภูมิภาค ส่งผลให้จีนไม่พอใจ และเกิดความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันสะสมอาวุธในภูมิภาค รวมถึงอาจพัฒนาสู่การแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความใกล้ชิดระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ ที่มากขึ้น
ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ และการต่อต้านการ จารกรรมในออสเตรเลียยังเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้านการโจมตีทางไซเบอร์จากต่างชาติ ออสเตรเลียตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบของภัยคุกคามทางไซเบอร์มีพัฒนาการและดำเนินการอย่างเปิดเผยมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware) เพื่อใช้แสวงประโยชน์ในการแทรกแซงกิจการภายในของออสเตรเลีย นอกจากนั้น ออสเตรเลียประเมินว่า สถาบันอุดมศึกษาและงานวิจัยเป็นสาขาหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติเพราะเกี่ยวข้องกับนโยบาย การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ จึงต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยขึ้นบัญชีรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญและงานวิจัยสาขาที่มีการทำงานร่วมกับต่างชาติและมีข้อมูลอ่อนไหว