ความยุติธรรม เป็นเป้าหมายที่ทุกสังคมต้องการให้เกิดขึ้น แต่ปัญหาก็คือความยุติธรรมของแต่ละสังคมมักแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งในประเด็นของวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม และผลลัพธ์ ที่ยังต้องถกเถียงกันว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “ยุติธรรม”
รัฐ คือสิ่งสมมติที่ประชาชนทั้งหลายยินยอมมอบอำนาจให้เพื่อจัดการปกครองอันจะนำมาสู่ความอยู่ดีมีสุข เพราะฉะนั้น หน้าที่ของรัฐคือการปกครองพลเมือง สิ่งที่ประชาชนคาดหวังก็คือรัฐต้องปกครองเพื่อให้เกิดความยุติธรรม อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนตามที่ประชาชนมั่นหมายไว้เมื่อแรกที่ยอมสละอำนาจให้รัฐ
ถ้าแยกส่วนโลกออกเป็นสองส่วนคือตะวันตกกับตะวันออก ทั้งสองสังคมมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันมาอย่างยาวนาน แม้โลกาภิวัตน์จะทำให้ความต่างนั้นลดน้อยลง แต่วิวัฒนาการที่แตกต่างทำให้ความคิดความเชื่อของคนในทั้งสองสังคมยังแตกต่างกันอย่างหยั่งลึก ซึ่งรวมถึงเรื่องการปกครองของรัฐที่สองสังคมมีแนวคิดที่ต่างกัน แม้ว่าเป้าหมายจะอยู่ที่ความยุติธรรมในสังคมเช่นเดียวกัน แต่วิธีการที่จะได้มาซึ่งความยุติธรรมนั้นต่างกันออกไป
หลักใหญ่ใจความที่ทำให้เกิดความต่างนั้น น่าจะอยู่ที่ “จุดเน้น” ของปรัชญาหลักของสองอารยธรรม หากเราจะถือเอาว่า อารยธรรมกรีกคือพื้นฐานของอารยธรรมของตะวันตก เมื่อกลับไปพิจารณารูปแบบการปกครองของกรีกในอดีต รวมถึงความคิดความเชื่อของนักปรัชญากรีก จะเห็นได้ว่า เวลาพูดถึงการปกครองให้เกิดความยุติธรรม กรีกจะมีจุดเน้นที่ตัวปัจเจกชนมากกว่ารัฐ ตรงกันข้าม เมื่อมองไปที่ปรัชญาขงจื้อที่เป็นพื้นฐานอารยธรรมตะวันออก จะพบว่า ลัทธิขงจื้อจะเน้นตัวรัฐมากกว่าปัจเจกชน
ความเสมอภาคของประชาชนคือสิ่งที่กรีกเน้นและภาคภูมิใจ ความเสมอภาคของแต่ละคนทำให้ทุกคน (ที่กรีกให้สถานะเป็นพลเมือง) มีเสรีภาพทั้งเสรีภาพในชีวิตส่วนตัวและเสรีภาพทางการเมือง รัฐมีหน้าที่ออกกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอไม่ให้เสียเปรียบจากการใช้เสรีภาพของผู้อื่น ดุลยภาพระหว่างอำนาจทางกฎหมายของรัฐและสิทธิของปัจเจกชนคือสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาไว้ เป็นพื้นฐานของแนวคิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าลักษณะการปกครองในอุดมการณ์ของกรีกที่กล่าวมาจะมุ่งเน้นไปที่ตัวปัจเจกชน กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าประชาชนจะต้องเป็นอย่างไร มีสิทธิ์มีเสียงอะไร รวมถึงกำหนดสิทธิและบทบาทของประชาชนไว้มากกว่าของรัฐ ความยุติธรรมในสังคมกรีกจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันและมีเสรีภาพ
ลัทธิขงจื้อของตะวันออกนั้นต่างออกไป จุดเน้นของขงจื้อจะเน้นไปที่ตัวผู้ปกครองคือรัฐมากกว่า ลัทธิขงจื้อสั่งสอนให้ผู้ปกครองทำตัวเป็นผู้ปกครองที่ดีเพราะการปกครองคือการทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ผู้ปกครองต้องทำให้ประชาชนเชื่อและศรัทธา ผู้มีอำนาจต้องมีความเด็ดขาด รู้จักใช้อำนาจ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชน เพื่อประชาชนจะได้ไม่กล้าทำสิ่งผิด ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็มีหน้าที่ที่จะเคารพเชื่อฟังผู้ปกครอง รวมถึงสายการบังคับบัญชาและผู้อาวุโส เน้นการปฏิบัติตนและทำหน้าที่ให้ตรงตามสถานะของตน
ลักษณะที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ลัทธิขงจื้อมีจุดเน้นที่ตัวผู้ปกครองมากกว่าผู้ถูกปกครอง รัฐที่ดีและการปกครองที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ปกครองที่ดี ไม่เกี่ยวกับตัวประชาชน เพราะประชาชนที่ไม่ดีรัฐก็สามารถมีวิธีจัดการได้ จึงกล่าวได้ว่า ในความคิดของลัทธิขงจื้อ ความยุติธรรมจะเกิดได้ก็เมื่อมีผู้ปกครองที่ดีเท่านั้น
ไม่ใช่แค่วิธีการที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์คือความยุติธรรมก็แตกต่างกันด้วย ความยุติธรรมของตะวันตกจะมองไปที่แต่ละตัวบุคคลมากกว่า การที่แต่ละคนจะได้รับความยุติธรรมก็คือการที่ไม่ถูกรัฐหรือคนอื่นในรัฐกดขี่ข่มเหง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีอิสรภาพและเสมอภาคกับบุคคลอื่น แต่กับสังคมตะวันออก ความยุติธรรมคือความยุติธรรมของสังคม สังคมที่ดีคือเป้าหมายสูงสุด ส่วนตัวปัจเจกชนนั้นมีหน้าที่ที่จะร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาโดยต้องยอมให้ตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมบ้างเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อสังคมในภาพรวม
รากฐานความคิดเรื่องความยุติธรรมที่แตกต่างกันระหว่างตะวันตก-ตะวันออก อาจจะใช้เป็นหนึ่งคำอธิบายสาเหตุของความขัดแย้งและการแข่งขันอำนาจของสหรัฐฯ–จีน ที่ครอบงำบรรยากาศของการเมืองระหว่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ปมขัดแย้งเรื่องความคิดความเชื่อต่าง ๆ ก็มักมาจากต้องการให้เชื่อตาม … ?
———————————————————–