การเป็นนักกิจกรรม หรือ Activist มีราคาที่ต้องจ่าย มนุษย์ผู้เปี่ยมอุดมการณ์สักคนอยากจะลุกมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง โดนโละทิ้งจากทีมเหมือนเมซุต โอซิล นักฟุตบอลอาร์เซนอลที่เรียกร้องสิทธิให้ชาวอุยกูร์ ติดคุกเหมือนโจชัว หว่อง แกนนำนักศึกษาฮ่องกง กระสุนเจาะหัวเหมือนมาลาลา ยูซาฟไซ ผู้เรียกร้องสิทธิการเรียนหนังสือของสตรีชาวปากีสถาน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือจ่ายด้วยชีวิตเหมือนคุณเจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำ
ต้นทุนเหล่านั้นเป็นความเสี่ยงที่ต้องจ่ายเมื่อเปิดหน้าสู้ จนกระทั่งนักกิจกรรมดูเหมือนจะมีช่องทางลดต้นทุนเมื่อโซเชียลมีเดียกำเนิดเกิดขึ้น โซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสามารถสถาปนาตัวเป็นนักกิจกรรมได้ด้วยปลายนิ้ว สื่อสารอุดมการณ์และคลุกคลีกับมวลชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัว และไม่ต้องลงพื้นที่ในภาพลักษณ์ผมยาว สะพายย่าม สวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ กับรองเท้ายาง เหมือนภาพจำในอดีต
บทบาทของโซเชียลมีเดียในระยะแรกเน้นไปที่การเป็นช่องทางสำหรับสื่อสาร ในลักษณะเดียวกับที่กลุ่มผู้ชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทาง เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “Arab Spring” เมื่อปี 2554 ที่ประชาชนในโลกอาหรับร่วมกันขับไล่ผู้นำ เป็นครั้งแรก ๆ ที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในครั้งนั้นประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากปกครองอียิปต์นานถึง 30 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนชุมนุมประท้วงกดดันทั่วประเทศ มีจุดเริ่มต้นจากกรุ๊ปใน Facebook ชื่อ “We are all Khaled Saeed” ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คาลีด ซาอีด ที่เสียชีวิตหลังตำรวจควบคุมตัว กรุ๊ปนั้นกลายเป็นช่องทางนัดหมายชุมนุมประท้วงตำรวจ และขยายไปสู่การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารักลาออกในที่สุด
บทบาทลักษณะดังกล่าวคือการเป็นเครื่องมือสนับสนุนเพื่อนำไปสู่ปลายทางคือการประท้วงในโลกจริงที่สำคัญกว่า ซึ่งสอดคล้องกับบริบทสังคมสมัยนั้นที่ชีวิตในโลกออนไลน์ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ส่วนใน พ.ศ. นี้ที่ลูกเล็กเด็กแดงจนถึงคนชราใช้เวลากับชีวิตในโลกออนไลน์จนสำคัญพอ ๆ กับโลกจริงแล้ว พัฒนาการของการขับเคลื่อนทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดียจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นเพียงช่องทางเชื่อมโยงไปสู่การประท้วงในโลกจริงเพียงอย่างเดียว แต่ตัวมันเองก็เป็น “พื้นที่เคลื่อนไหว” ที่สำคัญพอกัน
การที่มนุษย์ส่วนใหญ่กลายเป็นคนสองโลก ทำให้การเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัล (Digital Movement) มีพลังมากขึ้น การประท้วงในโซเชียลมีเดียจึงให้ผลสำเร็จได้เช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องเปิดหน้า หรือไม่ต้องเอาเท้าไปเหยียบถนนด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่ให้ภาพชัดเจนคือการเคลื่อนไหวด้วยแฮชแท็ก (Hashtag activism) ซึ่งกลายเป็นกระแสระดับโลกจนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมาย เช่น #MeToo (ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศสตรี) #BlackLivesMatter (เรียกร้องสิทธิคนผิวสี) และ #MilkTeaAlliance (เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านจีน)
ปรากฎการณ์ Hashtag activism ทำให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย สามารถเป็นแกนนำหรือมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวระดับโลกได้เพียงใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเล็ก ๆ การเป็น Hashtag activist ไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณมีอุดมการณ์อะไรสักอย่าง ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ LGBT ฯลฯ เพียงคุณคิดแฮชแท็กขึ้นมา ก็สามารถใช้แฮชแท็กเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวได้ในหลายวัตถุประสงค์ เช่น ส่งต่ออุดมการณ์ กำหนดเรื่องเล่า สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายของผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ฯลฯ
Hashtag activism ทำให้เยาวชนตื่นตัวทางสังคมและการเมืองมากขึ้น จากการที่เป็น Native Citizen ของโลกออนไลน์ (เกิดและเติบโตในยุคที่โลกออนไลน์เติบโตเต็มที่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้) ตัวอย่างสำคัญคือการที่กลุ่มเยาวชนแฟนคลับศิลปินเกาหลี ซึ่งเป็น Native Citizen ของโลกทวิตเตอร์ (พร้อมทักษะความเชี่ยวชาญในการปั่นแท็กสนับสนุนศิลปินที่รัก) เป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทวิตภพของไทย หรือการที่เหล่าเกมเมอร์ชาวฮ่องกงใช้เกม Animal Crossing (เกมจำลองชีวิตการใช้ชีวิตเป็นชาวชนบท) เป็นพื้นที่ประท้วงในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาดจนจัดการประท้วงไม่ได้
โซเชียลมีเดียและแฮชแท็กช่วยลดต้นทุนในการเคลื่อนไหว รวมทั้งเปิดโอกาสให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีลักษณะกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น อำนาจในการส่งเสียงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยแกนนำไม่กี่คนเช่นในอดีต ด้วยว่าใคร ๆ ก็สามารถตั้งตน ตั้งกลุ่ม ตั้งประเด็นขึ้นมาได้เอง
ในอีกทางหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขของการเป็น Digital Activist ที่ช่างง่ายดายเสียเหลือเกิน และแทบไม่มีต้นทุนอะไร จึงคงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องกลั่นกรองว่านักกิจกรรมหน้าใหม่ในโลกออนไลน์จะมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับประเด็นที่ตัวเองขับเคลื่อนได้มากแค่ไหน หรือเพียงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความปรารถนาทางอุดมการณ์ (Satisfy Ideological Desire) แล้วหนีหายหรือย้ายประเด็นไปเรื่อย ๆ ตามกระแสสังคม ปล่อยให้นักเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมที่ด้อยเสียงด้อยสื่อต้องโดดเดี่ยวและจ่ายต้นทุนด้วยชีวิตต่อไป
—————————————