นับตั้งแต่เกิดการระบาดโรค COVID-19 รัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลาง (FED) เร่งอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเยอรมนี ฮังการี ซิมบับเว รวมถึงเวเนซุเอลา โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อประจำเดือน เม.ย.64 ว่าดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 12 ปี จึงเป็นสัญญาณเตือนและยิ่งตอกย้ำความกังวลว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น
แม้ว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคอาจมีสาเหตุจากฐานดัชนีที่ค่อนข้างต่ำเมื่อปีก่อนซึ่งเศรษฐกิจอยู่ภายใต้มาตรการ Lockdown เพื่อจำกัดการระบาดของโรค COVID-19 อีกทั้งการเกิด Hyperinflation ในสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากลักษณะเฉพาะตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด และรัฐบาลมีศักยภาพในการกู้เงินจำนวนมหาศาลผ่านการออกพันธบัตรซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน
นอกจากนี้ การยอมปล่อยให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่สามารถควบคุมได้อาจเป็นทางออกของปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเมื่อ 27 ส.ค. 63 นาย Jerome Powell ประธาน FED ออกแถลงการณ์ปรับนโยบายการเงินจากแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นการกำหนดเป้าหมายแบบ “Average Inflation Target” ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสามารถอยู่ในระดับที่สูงกว่าเพดานปกติของ FED ที่ร้อยละ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวบ่งชี้ว่าการเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่ยังสามารถควบคุมได้อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ จำยอมให้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า FED อาจปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่มากกว่าระดับร้อยละ 4
โดยการขยายเพดานเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อส่งผลให้ FED มีช่องว่างในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ภายหลังการฟื้นตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค COVID-19 ได้ผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.64 พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 0.93 สู่ระดับร้อยละ 1.635 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 1.66 สู่ระดับร้อยละ 2.34 ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ FED จำเป็นต้องคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 0 – 0.25 รวมถึงคงระดับปริมาณเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อรักษาสภาพคล่อง และยังช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลซึ่งประธานาธิบดี Joe Biden ที่เพิ่งออกมาตรแผนการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังพิจารณาแผนลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกปัญหาสำคัญที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญคือปริมาณหนี้สินในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยหลังการระบาดของโรค COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ซึ่งจากรายงาน The 2021 Long-Term Budget Outlook ของสำนักงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office-CBO) คาดว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 102 ของ GDP ในปี 2564 สู่ระดับร้อยละ 202 ของ GDP ในปี 2594 อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง โดยมีดอกเบี้ยจ่ายจากหนี้สาธารณะเป็นรายจ่ายหลักของภาครัฐในอนาคต ซึ่งทาง CBO คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 1 ของ GDP สู่ระดับร้อยละ 9 ของ GDP ในปี 2594 ส่งผลต่อความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ (Sovereign Default) ในอนาคต และการเบี้ยวหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมสร้างวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก
การลดปริมาณหนี้ลงจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยแนวทางการลดปริมาณหนี้มีการถกเถียงกันอยู่ 3 วิธี ได้แก่ 1) การเพิ่มอัตราภาษี 2) การลดรายจ่ายภาครัฐ และ 3) การสร้างภาวะเงินเฟ้อ โดยแนวทาง 1) และ 2) เป็นวิธีการที่จะสร้างผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค COVID-19 ขณะที่ การสร้างภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีมากขึ้น โดยที่หนี้สินและรายจ่ายดอกเบี้ยยังคงเดิม จึงเป็นแนวทางในการลดปริมาณหนี้สาธารณะเพียงทางเดียวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ และ FED มีแนวโน้มคงระดับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและปล่อยให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่การกระทำดังกล่าวโดยไม่มีมาตรการควบคุมได้ทันเวลาก็อาจสร้างภาวะ Hyperinflation รวมถึงฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่สาหัสกว่าเดิม จึงเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของสหรัฐฯ
————————————–
เรียบเรียงจาก
https://www.cnbc.com/2021/05/12/consumer-price-index-april-2021.html
https://www.cbo.gov/system/files/2021-03/56977-LTBO-2021.pdf
https://www.cbo.gov/publication/57038