นานาชาติยังคงจับตาความคืบหน้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสและกองกำลัง Palestine Islamic Jihad อย่างใกล้ชิด แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะหยุดยิงกันอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้วเมื่อ 21 พ.ค.64 หลังจากที่สู้รบกันอย่างดุเดือดจนสร้างความตึงเครียดไปทั่วโลกระหว่าง 10-21 พ.ค.64
ที่ยังคงต้องติดตาม เพราะทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะอ่อนข้อให้กัน ต่างฝ่ายต่างอยู่ในสภาพพร้อมยิงตอบโต้ และต่างฝ่ายต่างประกาศว่าได้รับชัยชนะ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยผู้นำอิสราเอลระบุว่าอิสราเอลมีศักยภาพในการป้องกัน ตอบโต้ และทำลายการโจมตีของกลุ่มฮะมาส ขณะที่โฆษกกลุ่มฮะมาสประกาศว่านี่เป็นช่วงเวลาต้องยินดีกับชัยชนะ เพราะความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ทำให้โลกเห็นแล้วว่า กลุ่มฮะมาสมีศักยภาพด้านการทหารที่เข้มแข็ง เฉพาะอย่างยิ่งการประกอบจรวดพิสัยใกล้แบบ home-made ที่กลุ่มฮะมาสใช้ยิงอิสราเอลไปมากกว่า 4,000 ลูก
แม้ว่าจะยังไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่สะสมมาอย่างยาวนานระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ได้ อย่างไรก็ดี การหยุดยิงมีความสำคัญ เพราะเป็นการยับยั้งความเสียหาย และเปิดโอกาสให้นานาชาติ รวมทั้ง NGO ได้เร่งเข้าไปบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการสู้รบ เฉพาะอย่างยิ่งในฉนวนกาซาที่มีผู้เสียชีวติอย่างน้อย 248 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,900 คน รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวจากพื้นที่ฉนวนกาซาไปยังพื้นที่อื่น ๆ และไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้จังหวะแบบนี้ระดมปลุกความคิดเกลียดชังและยั่วยุให้ลุกขึ้นสู้…นานาชาติประเมินแล้วว่าปล่อยให้สถานการณ์การสู้รบดำเนินต่อไปไม่ได้ สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีบางประเทศใช้ “การทูตแบบปิดเงียบ” หรือ Quiet Diplomacy เพื่อ “ไกล่เกลี่ย” ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮะมาสให้ยุติความรุนแรง และหยุดยิง
ผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรือ Mediator ในสถานการณ์ครั้งนี้ ได้แก่ อียิปต์ สหรัฐฯ และกาตาร์
อียิปต์ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทหลัก และประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงของภูมิภาค อียิปต์มีช่องทางติดต่อกับทั้งผู้นำอิสราเอลและกลุ่มฮะมาส ขณะเดียวกันก็ได้รับการประสานงานและสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในห้วงที่ความขัดแย้งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ด้วย โดย ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์เป็นผู้หารือกับกลุ่มฮะมาสและกองกำลัง Palestine Islamic Jihad ควบคู่กับหารือกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สหรัฐฯ ฝากอียิปต์ไปบอกกลุ่มฮะมาส คือ “ต้องการให้หยุดยิง”
การดำเนินการครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออียิปต์ เนื่องจากเป็นเพื่อนที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากขึ้น แม้ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลจะห่างเหินเพราะผู้นำอียิปต์มาจากการรัฐประหาร ขณะเดียวกัน สถานการณ์การสู้รบที่คลี่คลายลงก็เป็นผลดีต่อความมั่นคงของอียิปต์ด้วย พร้อมกันนี้ ยังเป็นหลักฐานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ดำเนินการอะไรแบบ “ทำคนเดียว” หรือโฉ่งฉ่างอีกต่อไป แต่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ สหรัฐฯ คุยกับกลุ่มฮะมาสโดยตรงไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับอียิปต์
ขณะเดียวกันยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน กำลังแสดงให้เห็นว่าไม่ดำเนินนโยบายต่ออิสราเอลซ้ำรอยแบบประธานาธิบดีโอบามา ที่ต่อว่าอิสราเอลจนทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมโทรม หรือประธานาธิบดีทรัมป์ที่เข้าข้างอิสราเอลเต็มที่ เพราะเขามีสไตล์ของเขาเองที่ชอบใช้ Quiet Diplomacy หรือการทูตดำเนินการอย่างไม่ต้องเปิดเผย แต่เป็นทางการ มีการยื่นข้อเสนอที่ปฏิบัติได้จริง และตรงไปตรงมามากขึ้น เพราะประธานาธิบดีไบเดนมีประสบการณ์
สำหรับการดำเนินการของสหรัฐฯ ที่มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับอิสราเอล ได้มีการหารือกับผู้นำอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้กดดันอิสราเอลให้หยุดยิง ซ้ำยังยืนยันอย่างชัดเจนว่าอิสราเอลมีสิทธิที่จะป้องกันตนเอง อย่างไรก็ดี เมื่อการสู้รบยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ท่าทีของสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อ 19 พ.ค.64 ผู้นำสหรัฐฯ เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องยุติการสู้รบ จึงคุยกับผู้นำอิสราเอลว่า สหรัฐฯ สนับสนุนการหยุดยิง ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลเช่นกัน
ด้านกาตาร์ มีบทบาทสำคัญเพราะมีช่องทางหารือกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา รวมทั้งประธานาธิบดีแห่งรัฐปาเลสไตน์และประธานองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ในเขตเวสก์แบงค์ ที่ผ่านมา กาตาร์เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มฮะมาสมากกว่าปีละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูฉนวนกาซาให้มั่นคงและปลอดภัย จึงค่อนข้างได้รับความไว้วางใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินการทูตแบบปิดเงียบให้สำเร็จ
ความสัมพันธ์ใกล้ชิด + ความไว้วางใจ + การสื่อสารอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมา เป็นปัจจัยที่ทำให้อียิปต์ สหรัฐฯ และกาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ และช่วยทำให้การสู้รบครั้งล่าสุดยุติลงได้ โดยไม่ได้ใช้การขู่คุกคาม หรือแทรกแซงด้วยกำลังทหาร จากนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาของการให้ความช่วยเหลือ โดยนานาประเทศจะได้แสดงบทบาท เฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบประปา ไฟฟ้า และถนน ซึ่งองค์การสหประชาชาติประเมินว่าต้องใช้ความช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ทั้ง 3 ประเทศก็ยังคงเดินหน้าหารือและเจรจากับแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืดเวลาการหยุดยิงครั้งนี้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ และอาจหาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบระยะยาวต่อไป
ในอนาคต อาจจะมีประเทศหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่บานปลายจะเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้น นานาชาติอาจผลักดันการพูดคุยเกี่ยวกับหลักการสองรัฐ หรือ Two-State Solution อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูฉนวนกาซา ทั้งนี้ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในฉนวนกาซาก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ หากคิดเล่น ๆ ว่าอิสราเอลอาจยังไม่โจมตีอีกพักใหญ่ และฉนวนกาซามีเวลามากพอ ใครจะเป็นผู้ออกแบบและใครจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน เพราะในกรณีที่โครงสร้างพื้นฐานได้รับการออกแบบมาอย่างดี ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาปลอดภัยมากขึ้นในระยะยาว
—————————————————————–