สหภาพยุโรปคือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของความพยายามสลายความเป็นรัฐชาติ การที่รัฐชาติในทวีปยุโรปหลายสิบรัฐยินยอมสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับองค์กรเหนือรัฐ (supranational organization) อย่างสหภาพยุโรป เป็นเรื่องที่เหนือจินตนาการพอสมควรถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของยุโรปที่ต่อยตีมีสงครามกันเองไม่เว้นว่างเพื่อรักษาไว้หรือขยายอำนาจของรัฐชาติ คำอธิบายอย่างหนึ่งก็คือประสบการณ์เลวร้ายจากภัยสงครามนั่นแหละที่ทำให้ชาวยุโรปเข็ดหลาบ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศยุโรปตีกันนัวเนีย จนยุโรปบอบช้ำทุกประเทศและศูนย์กลางอำนาจการเมืองโลกย้ายข้ามมหาสมุทรไปยังสหรัฐฯ ความเข็ดหลาบนั้นทำให้ชาวยุโรปอยากจะป้องกันไม่ให้มีสงครามแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นอีก ด้วยการสร้างยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเริ่มต้นด้วยการร่วมกันก่อตั้ง “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” เมื่อปี 2494 ให้เป็นเวทีสำหรับประเทศคู่ขัดแย้งสำคัญอย่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันให้จบ ๆ ไปจะได้ไม่ต้องลุกมาทำสงครามกันอีก และบูรณาการเรื่อยมาจนเป็นหนึ่งเดียวกันในแทบทุกมิติในลักษณะของสหภาพยุโรปในตอนนี้
แต่ภาพอนาคตของสหภาพยุโรปก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ศัตรูอันดับ 1 ตลอดกาลของสหภาพยุโรปไม่ได้มีตัวตนที่มองเห็นในเชิงกายภาพ หากแต่คือแนวคิดเรื่อง “รัฐชาติ” ที่องค์กรเหนือรัฐอย่างสหภาพยุโรปไปยึดเอาอำนาจบางส่วนมาเป็นของตัวเอง สหภาพยุโรปผ่านกระบวนการบูรณาการที่ยาวนาน จนขยายตัวทั้งในมิติของความกว้างที่ขยายจำนวนสมาชิกเป็น 27 ประเทศ และมิติของความลึกที่ประเทศสมาชิกรวมตัวเป็นสหภาพเดียวกันทั้งทางการค้า การเงิน และการเมือง แต่ก็ไม่ใช่ว่าการต่อสู้กับแนวคิดเรื่องรัฐชาติจะสิ้นสุดลงแล้ว แนวคิดเรื่องรัฐชาติยังเข้มแข็งในส่วนอื่นของโลก (หลายสิบปีผ่านไป ยังไม่มีภูมิภาคไหนในโลกที่รัฐชาติยอมสละอำนาจตัวเองในระดับเดียวกับยุโรป) ส่วนในสหภาพยุโรปก็โดนสั่นคลอนเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการถอนตัวของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ก็มีสาเหตุสำคัญจากลัทธิชาตินิยมที่หวงแหนความเป็นรัฐชาติ
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้สหภาพยุโรปไม่สามารถเอาชนะแนวคิดเรื่องรัฐชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มาจากการที่รัฐชาติมีจุดแข็งคือ“อัตลักษณ์ของคนในชาติ” กระบวนการสร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนอย่างรัฐชาติให้มีตัวตนขึ้นมาและจับต้องได้จริง ๆ จะต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันที่สัมผัสแล้วรู้ทันทีว่านี่คือพวกเดียวกัน อัตลักษณ์ที่ว่ามีหลากหลาย เช่น ภาษา ดนตรี อาหาร ค่านิยม พิธีกรรม ฯลฯ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ผู้มีอำนาจในรัฐจะสถาปนาสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์ของชาติได้ตามใจ ปัจจัยสำคัญคือต้องทำให้คนในชาติยอมรับด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถใช้บ่งบอกความเป็น “พวกเรา” และแบ่งแยกความเป็น “พวกเขา” ออกไปได้
อัตลักษณ์และการแบ่งพวกเราพวกเขา เป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการสร้างสิ่งสมมติอย่างรัฐชาติให้เข้มแข็ง จากการที่มันช่วยปลุกเร้าอารมณ์ให้ประชาชนในชาติปกป้องความเป็นชาติ ซึ่งนี่คือมิติที่สหภาพยุโรปยังขาดอยู่ สหภาพยุโรปยังไม่มีอัตลักษณ์ใดที่จะทำให้ประชาชนที่มีลักษณะแตกต่างกันเหลือเกินในฝรั่งเศส โครเอเชีย ฮังการี สวีเดน ฯลฯ รู้สึกฮึกเหิมในใจว่าเป็นพวกเดียวกัน ให้อารมณ์เหมือนเป็นโรงเรียนช่างกลที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่จากการยุบรวมหลายโรงเรียนมารวมกัน ประวัติศาสตร์แต่ละโรงเรียนไม่มีจุดร่วม รุ่นพี่คนละคน เครื่องแบบยังไม่เหมือนกันเลย จะให้เป็นหนึ่งเดียวกันร่วมกันพลีชีพปกป้องโรงเรียนก็คงยังไม่ได้
เมื่อพินิจพิจารณามิติทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศในสหภาพยุโรป ฟุตบอลเป็นสิ่งที่พอจะเข้าเค้าว่าเป็นอัตลักษณ์ร่วมกันที่จับต้องได้ โดยเฉพาะมหกรรมฟุตบอลยูโร ที่การแข่งขันประจำทุก 4 ปีปัจจุบันเพิ่งจบลงไปเมื่อ 12 ก.ค.64 ด้วยตำแหน่งชนะเลิศของอิตาลี
มองจากมุมของคนภายนอกภูมิภาค ภาพจำของความเป็นยุโรป (แบบที่เป็นยุโรปทั้งทวีป ไม่ใช่ชาติใดชาติหนึ่ง) มีไม่เยอะนัก เงินสกุลยูโร วีซ่าเชงเก้น และฟุตบอลยูโร น่าจะเป็นภาพหลัก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัว สาเหตุที่ภาพของฟุตบอลเป็นภาพจำหลักของยุโรป คงเพราะสถานะความเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของโลกของฟุตบอล และสถานะความเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ในโลกฟุตบอลของยุโรป (ประเทศในยุโรปเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกมากที่สุด ลีกฟุตบอลยุโรปดังที่สุด ส่วนมหาอำนาจอื่นอย่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเพียงเด็กน้อยในโลกของฟุตบอล)
ฟุตบอลยูโรแข่งขันในสนามในยุโรปที่มีคนดูเพียงหลักหมื่นก็จริง แต่มีคนจากทุกมุมโลกเฝ้าดูการถ่ายทอดสดหลาย ๆ ล้านคน หรือต่อให้ไม่ใช่คนที่สนใจกีฬาฟุตบอลเลยก็ยากที่จะหลบหนีไปจากการรับรู้ถึงการมีอยู่ของฟุตบอลยูโร การที่ฟุตบอลยูโรมีห้วงเวลาแข่งขันจำกัดเพียง 1 เดือน และ 4 ปีจึงจะมีครั้งหนึ่ง จึงเป็นกิจกรรมที่สื่อมวลชนทั้งโลก (และโซเชียลมีเดีย) นำเสนอเป็นวาระแห่งโลก ภาพของการทำกิจกรรมร่วมกันของชาวยุโรปทั้งทวีปกิจกรรมนี้ จึงสามารถเป็นภาพที่ชาวยุโรปสามารถใช้เป็นอัตลักษณ์ของความเป็น “พวกเรา” ที่มีสถานะอำนาจ (ในทางฟุตบอล) สูงส่งกว่าประชาชนในทวีปอื่นทั่วโลก และ การที่ “พวกเขา” ในทวีปอื่น ติดตามดูกิจกรรมของชาวยุโรปนี้ด้วยความชื่นชม ก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นยุโรปได้ไม่ยาก
ฟุตบอลยูโร เป็นเวทีให้ชาวฝรั่งเศส โครเอเชีย ฮังการี สวีเดน ฯลฯ ได้มีความทรงจำร่วมกัน จริงอยู่ที่ว่าระหว่างการลงสนามแข่งขัน ชาวฝรั่งเศส โครเอเชีย ฮังการี สวีเดน ฯลฯ มีสถานะเป็นศัตรูกัน พวกเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันและพยายามเอาชนะกัน บางครั้งนักฟุตบอลฮึดฮัดใส่กัน บางทีแฟนบอลก็ตีกันเลือดตกยางออกบ้าง แต่การเป็นศัตรูในลักษณะนั้นนั่นเองที่ยิ่งช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันต่อมหกรรมฟุตบอลยูโรที่เป็นความพิเศษที่ผูกขาด (exclusive) สำหรับชาวยุโรป เฉพาะชาวยุโรปเท่านั้นจึงจะมีเอกสิทธิเข้ามาร่วมต่อสู้ในฟุตบอลยูโรอันทรงเกียรติได้ อารมณ์เดียวกับที่สถาบันการศึกษาพยายามจับคู่หรือจับกลุ่มกันแข่งขันกีฬาประเพณี และกีดกันไม่ให้สถาบันอื่นเข้าร่วมแข่งด้วย ก็เพื่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมและความภาคภูมิใจร่วมในลักษณะเดียวกันนั่นเอง
ว่าที่จริง กีฬาคือภาพจำลองของสงคราม จากลักษณะเฉพาะของกีฬาที่มีการห้ำหั่นแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะ-ผู้แพ้ และตัดสินกันด้วยความเหนือกว่าของทรัพยากรมนุษย์ (ความแข็งแกร่งทางกายภาพและสติปัญญา) แล้วบ่อยครั้งที่กีฬาก็นำมาสู่ความขัดแย้งจากลักษณะเฉพาะของกีฬาที่ต้องแบ่งพรรคแบ่งพวกเพื่อแข่งขันกัน (การทะเลาะวิวาทกันของแฟนฟุตบอลต่างสโมสรคือตัวอย่างที่ชัดเจน) จึงเป็นความย้อนแย้งที่น่าสนใจที่กลายเป็นว่ากีฬาฟุตบอลก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความขัดแย้งในยุโรปด้วย
——————————————————-