จากเหตุการณ์ระเบิดโรงงานโฟมในซอยกิ่งแก้วที่สร้างความเสียหายให้กับหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง เกิดมลพิษที่มีความอันตรายไปทั่วพื้นที่ในเขตรัศมีไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร ทำให้เกิดข้อสงสัยของตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนและโรงงานที่อยู่ใกล้กัน เกิดคำถามต่อการจัดการของผังเมืองซึ่งเป็นเครื่องมือการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ปลอดภัย และคุ้มค่า
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 จะอาศัยอยู่ภายในเมือง ที่เป็นแหล่งรวมสิ่งต่างๆ ทั้งแหล่งงาน เทคโนโลยี ความสะดวกสบายและความบันเทิง และโอกาสทางการศึกษา …การเพิ่มขึ้นของจำนวนและความหนาแน่นของประชากร จะส่งผลให้หน้าตาของเมืองเปลี่ยนแปลงไป ตึกระฟ้าทะยานสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ทำงาน
ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำงานเท่านั้นที่เปลี่ยนจากการขยายตัวทางแนวนอนเป็นแนวตั้ง แม้แต่พื้นที่สีเขียวก็จำเป็นต้องอยู่ในแนวตั้ง และทะยานสูงขึ้นเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่จำกัด และเมื่อคนจำนวนมากที่อยู่ในตึกสูงๆ ไหลลงสู่ถนนเพื่อเคลื่อนย้ายและใช้ชีวิต แต่ถนนยังคงมีขนาดเท่าเดิม ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนารูปแบบการขนส่งสาธารณะเสริมขึ้นมาทั้งใต้ดินและลอยฟ้า
ปัจจุบัน เส้นทางขนส่งสาธารณะกลายเป็นตัวกำหนดการขยายเมืองไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะเส้นทางของรถไฟฟ้าทำให้รูปแบบการขยายตัวเปลี่ยนไปจากการกระจุกตัวเป็นย่านล้อมรอบศูนย์กลาง (Concentric Zone Mode) ไปสู่การขยายตัวตามแนวรถไฟฟ้า (Linear Settlement) ในอนาคต…เราอาจจะเห็นคอนโดสูง 30 ชั้นตั้งอยู่กลางทุ่งนาในย่านชานเมือง ตราบใดที่มีรถไฟฟ้าไปถึง และเราอาจได้เห็นสถานบันเทิงอยู่ใกล้กับวัด หมู่บ้านที่อยู่บนทางน้ำหลาก หรือโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นไปได้ หากยังไม่มีการวางแผนที่ดีหรือการบังคับใช้ผังเมืองอย่างจริงจัง
สิ่งที่เล่ามา คือ แนวโน้มการเติบโตของเมืองกับพฤติกรรมการใช้งานของคนในเมืองปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราลองย้อนกลับไปดูว่า เมืองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? มีปัญหาอะไรที่เรายังมองข้ามไปอีก? เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเมืองในอนาคต เราอาจจะเริ่มตั้งคำถามแรก ด้วยการคิดถึงที่ตั้งของเมือง (Location)
แน่นอนว่า ไม่มีใครคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า ที่ตั้งของชุมชนจะกลายเป็นเมืองแบบไหนในอนาคต ส่วนมาก การเลือกที่ตั้งเมืองจะเริ่มจากความต้องการพื้นฐาน นั่นคือ การหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกสร้างอาหาร มีแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อดำรงชีวิต รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางสำคัญในการค้าขาย …ก่อนหน้านี้ เมืองเกษตรกรรมจึงมีความสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งเมืองส่วนใหญ่ในไทย
จากนั้น เราทำเกษตรกรรมจนมีการค้าขาย จึงดึงดูดผู้คนเข้ามาเรื่อย ๆ เริ่มมีที่พักอาศัยมากขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมจึงถูกผลักออกจากศูนย์กลางของเมือง ซึ่งกลายเป็นย่านเศรษฐกิจ และสเตปต่อไป เมื่อเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่ที่อยู่อาศัยก็ยังย้ายออกจากเมืองไปอยู่ชานเมือง เพื่อให้เมืองเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างเต็มตัว ขณะเดียวกันก็เพื่อหาพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน
แต่…ชานเมืองไม่ใช่แค่พื้นที่รองรับ “คน” และ “พื้นที่สีเขียว” เพราะ “โรงงาน” ก็ตามมาด้วย เหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงงานอยู่นอกเมือง คือ พื้นที่ที่ห่างจากเมืองมีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่า มีคนอยู่อาศัยน้อยกว่าจึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม แต่เรามักจะลืมไปว่า นิคมอุตสาหกรรมจะกลายเป็นแหล่งงานและชุมชนที่เกิดขึ้น เพราะแรงงานในโรงงานนั้นจะอาศัยอยู่ที่ไหนได้ หากไม่ใช่บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรม
การย้ายชุมชนไปตามแหล่งงาน และพัฒนาพื้นที่เป็นเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงจุดเริ่มต้น ธรรมชาติของพื้นที่ รวมทั้งสิ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่…อาจเป็นก้าวแรกของการ “พังเมือง” เพราะเมืองมักจะถูกพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้ง ๆ ที่จุดเริ่มต้นกับสถานะปัจจุบันของเมืองมันไปด้วยกันไม่ได้ หลายครั้งเราสร้างชุมชนทับบนเส้นทางน้ำ ที่ควรถูกใช้ในการเพาะปลูกและสัญจร แต่คลองถูกถมเพื่อสร้างอาคาร จนในที่สุด เมืองที่สร้างบนเส้นทางน้ำก็จะเจอปัญหาน้ำท่วม หรือเมืองทรุดตัวเป็นประจำ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำตามธรรมชาติได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเพราะแหล่งน้ำไม่ได้รับการเอาใจใส่ จนไปถึงปัญหาใหญ่อย่าง “เมืองจมน้ำ” ซึ่งอาจเกิดได้กับวอชิงตันและนิวออลีนส์ของสหรัฐอเมริกา ปักกิ่งของจีน ลากอสของไนจีเรีย จาการ์ตาของอินโดนีเซีย และกรุงเทพมหานคร เพราะเมืองเหล่านี้เจอปัญหาเมืองทรุดตัวจากการก่อสร้าง ประกอบกับเจอความแปรปรวนของสภาพอากาศ และปัญหาโลกร้อน
ย้อนกลับไปที่ข้อสงสัยของเราตั้งแต่แรก โรงงานโฟมไปตั้งอยู่ตรงนั้นเพราะอยู่นอกเมือง แต่เมืองก็ตามไปอยู่กับโรงงานเพราะคนตามไปอยู่ใกล้แหล่งงานและที่อยู่อาศัย คำถามต่อไป คือ เราจะอยู่ยังไงในสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลง เพราะไม่ว่าเมืองจะพัฒนาไปในทิศทางใด…เรายังคงต้องอาศัยอยู่ในเมืองกันต่อไป
ไม่ว่าจะต้องเผชิญอีกกี่ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเมือง ก็อยากขอให้เรายังมีความหวังว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนาระบบและสร้างเครืองมือใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้การขยายตัวของเมืองมั่นคงขึ้นได้ อาจจะเริ่มจากการคิดถึงการสร้างเมืองเพื่อให้คนหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ ตั้งแต่พนักงานทำความสะอาด แม่ค้า พนักงานบริษัท จนถึงผู้บริหาร และเมื่อมีคำว่า “อยู่ร่วมกัน” แล้ว จะมีอะไรสำคัญไปกว่า…การทำความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน เพราะเมืองไม่ใช่สถานที่ที่จะเอาตัวรอดได้ด้วยตัวคนเดียว ระบบสังคมได้ผูกพันธ์และสร้างให้คนในเมืองต้องพึ่งพากัน ต้องปฏิบัติตามกฎเพื่อความเป็นระเบียบตามแนวทางที่เหมาะสม จนกลายเป็นการสร้างรูปแบบสังคมเฉพาะประจำเมือง หรือเป็นวัฒนธรรมต่อไป
ดังนั้น หากเราทอดทิ้งเมือง ทอดทิ้งกฎระเบียบ และทอดทิ้งวัฒนธรรม สักวัน…เราอาจจะเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าของอารยธรรมเมืองที่ล่มสลายไปแล้วเท่านั้น
————————————————————