ในซอยเล็ก ๆ กลางไทเป ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าซ่งเจียงหนานจิง เป็นที่ตั้งของรูปปั้นเทพเจ้าฮินดู สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียที่กำลังมีบทบาทต่อการเสริมสร้างพลังใจให้ชาวใต้หวัน โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว
พื้นที่เล็ก ๆ บริเวณหัวมุมถนนคลุมไว้ด้วยเต๊นท์ผ้าใบสีแดงสด ปิดบังบรรยากาศภายในไว้ด้วยกระถางใส่ดอกไม้สดนับร้อยช่อ และพวงมาลัยเจ็ดสีหลายศอกแขวนยาวเป็นพืด ให้อารมณ์เหมือนเป็นร้านขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาดผสมกับศาลใต้ต้นไทรท้ายซอย ต้องเดินผ่านประตูรั้วและมองทะลุควันธูปเข้าไป จึงจะเห็นว่าเป็น “พระพรหม” ที่ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ข้างในนั้น ตามที่ชื่อสถานที่บอกไว้ว่าที่แห่งนี้คือ “Changchun Phra Phrom” หรือศาลพระพรหมฉางชุน
ผมเจอสถานที่แห่งนี้โดยบังเอิญบน Google Map ขณะเดินเล่นที่ไต้หวัน สิ่งที่เตะตาจนสงสัยและถึงกับต้องตามไปดูของจริงก็ด้วยการสะกดคำว่าพระพรหมตามแบบราชบัณฑิตไทยว่า “Phra Phrom” ซึ่งต่างจากการสะกดว่า “Brahma” ตามแบบสากล ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นพระพรหมที่ไต้หวันได้อิทธิพลมาจากไทยมากกว่าอินเดีย ก็เลยสงสัยขึ้นมาถึงที่มาที่ไปว่าพระพรหมของไทยมาโผล่อะไรเอาตรงนี้
ในซอยเล็กริมถนนใหญ่ที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญของไทเป เมื่อเดินหลุดผ่านรั้วเข้าไปในศาลพระพรหมฉางชุน เหมือนกับว่าผ่านประตูทะลุมิติโผล่ที่ไทย บรรยากาศบ้านเมืองแบบไต้หวันที่เคยรายรอบหายไป แทนที่ด้วยสิ่งแวดล้อมคุ้นตา พระพรหมสี่หน้า กระถางธูป ดอกดาวเรือง เครื่องทองเหลือง ฯลฯ ประกอบกันแล้วเหมือนเป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ในมุมหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
มีเพียงชาวไต้หวันเป็นสิ่งยืนยันว่าตอนนี้ยังอยู่บนแผ่นดินไต้หวัน ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่นั่น ศาลเล็ก ๆ แห่งนี้มีชาวไต้หวันที่ศรัทธาเดินเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ประมาณด้วยสายตาแล้วส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาววัยทำงานหรือกำลังเรียน และวิธีการสักการะแบบยกธูปขึ้นจรดหน้าผากแล้วไหว้ปลก ๆ แบบที่เคยเห็นคุ้นตาตามศาลเจ้าจีนของพวกเขานั่นเองที่ย้ำเตือนว่าที่นี่คือไต้หวัน
บทความในเว็บไซต์นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ตอบคำถามและย้ำให้ผมมั่นใจว่าพระพรหมองค์นี้เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากไทย” บทความนั้นให้ข้อมูลว่า ศาลพระพรหมแบบนี้มีอยู่ประมาณ 100 แห่งทั่วไต้หวัน จากการที่ชาวไต้หวันนิยมบินไปสักการะและศรัทธาศาลพระพรหมเอราวัณที่ไทย (เหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2558 มีชาวไต้หวันบาดเจ็บด้วย 3 คน) โดยศาลพระพรหมฉางชุนแห่งนี้คือแห่งแรกที่อัญเชิญพระพรหมจากไทยมาประดิษฐานที่ไต้หวันเมื่อปี 2527 โดยนายจวง ฝู ผู้ก่อตั้งบริษัท Leofoo ที่เป็นบริษัทด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และสวนสนุกขนาดใหญ่ของไต้หวัน
ศาลพระพรหมฉางชุนมีขนาดเล็กก็จริง แต่สถานที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากไทยแห่งนี้ส่งอิทธิพลต่อชุมชนรอบข้างพอสมควร ร้านค้ารอบข้างหลายร้านประกอบธุรกิจจำหน่ายดอกไม้สดเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับสักการะพระพรหมแห่งนี้โดยเฉพาะ บ่งบอกถึงความจริงจังในการสักการะของชาวไต้หวัน ที่ศรัทธาว่าศาลพระพรหมฉางชุนมีพลานุภาพดลบันดาลให้สมหวังด้านการเงิน การงาน การเรียน ความรัก และครอบครัว ส่วนผู้ที่สมประสงค์ตามเป้าหมายก็จะแก้บนด้วยการถวายรำไทย ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีกลิ่น “ความเป็นไทย” ติดอยู่อย่างสัมผัสได้
นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน มุ่งหมายกระชับสัมพันธ์รอบด้านกับประเทศทางตอนใต้ของไต้หวัน 18 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ซึ่งถ้าว่ากันในแง่ของวัฒนธรรมร่วมสมัย ชาไข่มุกของไต้หวันดูจะเป็น Brand ระดับแนวหน้าที่ทำหน้าที่ได้ดีทีเดียวในการช่วยให้ชาวไทยมีภาพจำด้านดีต่อไต้หวัน ส่วนไทยเราก็มีพระพรหมที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยสู่ชาวไต้หวันอย่างแข็งขันเช่นเดียวกัน
————————————————————————————–