พลังอำนาจสื่อสังคมออนไลน์มีที่มาจากคุณสมบัติหลักใน 2 มิติ คือความเร็ว (ส่งสาร-รับสารได้ในทันที) และความกว้าง (ทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ไร้ข้อจำกัด) ทำให้เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการรวมกลุ่มผู้คนที่มีความคิดความเห็นในแบบเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน อำนาจของรัฐต่อการจัดตั้งกลุ่ม (ทั้งในด้านการเป็นผู้ตั้ง และเป็นผู้ควบคุม ภาพตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือกฎหมายการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม บริษัท พรรคการเมือง ฯลฯ) ถูกท้าทายและค่อย ๆ เสื่อมคลายลง สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นประดิษฐกรรมสำคัญในการลดทอนอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้ปัจเจก
ความพิเศษของทวิตเตอร์คือการเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ออกแบบมาทั้งเพื่อเป็น “สื่อ” และเพื่อใช้สำหรับกระบวนการ “สื่อสาร” ทวิตเตอร์ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่ตัวกลางให้กับผู้ที่ต้องการเป็น “สื่อ” ถ่ายทอดเรื่องราว (content) ไปยังผู้รับสาร (และมีฟังก์ชัน “retweet” สำหรับการกระจายสารให้ไกลออกไป) ขณะที่ในมิติของกระบวนการการสื่อสาร ทวิตเตอร์ก็เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนระหว่างกันด้วยเช่นกัน (ผ่านฟังก์ชันอย่าง “reply” และ “DM”)
ลักษณะเช่นนั้นของทวิตเตอร์ ทำให้การรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง (social movement) ผ่านทางทวิตเตอร์ กลายเป็นเทคโนโลยีทางสังคมที่โดดเด่นมากในห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ขับเคลื่อนอย่าง #MeToo (การคุกคามทางเพศ) และ #BlackLivesMatter (สิทธิคนดำ) ขยายตัวจนสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ก็ด้วยคุณสมบัติของทวิตเตอร์ที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นพื้นที่ที่ปัจเจกสามารถหยิบยกเรื่องราวที่ตนเองสนใจมานำเสนอได้โดยไม่ต้องให้รัฐ (หรือใครหน้าไหน) ใช้อำนาจอนุมัติ พร้อมกับที่เป็นพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจในเรื่องราวนั้นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกัน เกิดกลายเป็นกลุ่มที่มีค่านิยมร่วมกัน ช่วยกันผลิตซ้ำค่านิยมนั้น และเพิ่มพูนพลังจนขับเคลื่อนสังคมได้
ความ “นิรนาม” เป็นคุณลักษณะเด่นอีกอย่างของทวิตเตอร์ที่ชนะใจคนรุ่นใหม่ ในขณะที่เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่ชีวิตส่วนตัว ตอบสนองความต้องการอัพเดทชีวิตตัวเองต่อญาติมิตร ทวิตเตอร์กลับมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้ดีกว่ากับคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว (จากการเติบโตมากับค่านิยมปัจเจกชนนิยม หรือ individualism ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเอกเทศ) คนรุ่นใหม่หลบหนีจากพ่อแม่ญาติพี่น้องในเฟซบุ๊ก มาสร้างโลกใหม่ในทวิตเตอร์ ที่ไม่ได้เรียกร้องให้ใช้ชื่อจริง ไม่เอื้อต่อการเผยแพร่เรื่องราวและภาพเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวในแต่ละวัน (เพราะไม่มีใครสนใจ) จึงเป็นพื้นที่สำหรับการทำความรู้จักคนใหม่ ๆ โดยมีเกณฑ์สำหรับการรู้จักกัน (ผ่านฟังก์ชัน follow) คือการมีประเด็นที่สนใจร่วมกัน ไม่ต้องจำยอมรับแอดและฝืนทนอ่านโพสต์และคอมเมนท์จากญาติพี่น้องที่มีทัศนคติขัดกับตนเหมือนในเฟซบุ๊ก
ความนิรนามในพื้นที่ที่ไม่มีคนรู้จักในชีวิตจริง เสริมแรงด้วยการที่คนที่มา follow ล้วนแต่เห็นด้วยในทัศนคติแบบเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องสุงสิงกับคนที่มีความคิดเห็นตรงกันข้าม ทำให้ชาวทวิตเตอร์พูดทุกอย่างออกมาอย่างที่ใจคิด ความสัมพันธ์ในทวิตเตอร์จึงเป็นความสัมพันธ์กึ่งรู้จักกึ่งไม่รู้จัก กล่าวคือรู้จักกันผ่านความคิดที่เปิดเปลือยยิ่งกว่าที่เปิดเผยกับญาติมิตร แต่แทบไม่รู้จักตัวตนในโลกจริง
สำหรับในมิติของเนื้อหา ความนิรนามของทวิตเตอร์ก็เอื้อต่อการพูดถึงประเด็นต้องห้าม (taboo) ที่พูดได้ยากในชีวิตจริง จึงเหมาะกับการใช้เป็นช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่โดยธรรมชาติของการเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการต่อสู้กับอำนาจของค่านิยมดั้งเดิมที่ลงหลักปักฐานในสังคม ทวิตเตอร์ให้ทั้งความเป็นนิรนาม และให้พื้นที่สำหรับนักเคลื่อนไหวเผยแพร่เนื้อหาและค่านิยม หรือพูดอีกอย่างคืออำนวยความสะดวกต่อการช่วงชิงเอาอำนาจในการกำหนด “ความจริง” ที่รัฐเคยผูกขาดอำนาจนี้ไว้ ด้วยการตัดสินว่าอะไร “จริง” หรือ “ไม่จริง” ผ่านการควบคุมสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ
กระบวนการ Media Democratization ในแบบที่ว่า ส่งผลให้เกิดการกระจายอำนาจในการกำหนดความจริง ซึ่งผลข้างเคียงอันเป็นอาการปกติของระบอบประชาธิปไตย ก็คือความสับสนอลหม่านจากการที่ไม่มีอำนาจรวมศูนย์ในการสร้างความเป็นระเบียบ การที่ทุกคนสามารถใช้ทวิตเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์อื่นเป็นพื้นที่ส่งต่อข่าวสาร โดยไม่มีตัวกลางใดทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกได้ว่า “อำนาจยิ่งใหญ่ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น”
จดหมายลูกโซ่ของพระครูวิจิตรธรรมโชติ บอกให้เรารู้ว่าปัญหาจากการสร้างและส่งต่อ “เฟกนิวส์” ใม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นจากการที่คลิกส่งต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาเลียแสตมป์และเดินไปหยอดตู้เหมือนกับจดหมายลูกโซ่ และการที่รัฐไม่ได้ผูกขาดและแทบสูญสิ้นอำนาจในการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ยากมากที่จะปราบปรามเฟกนิวส์
รัฐไม่ใช่ผู้เสียหายเดียวของเฟกนิวส์ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ถูกบ่อนทำลายจากเฟกนิวส์ด้วยเช่นเดียวกัน ในขณะที่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมใช้ประโยชน์จากทวิตเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์อื่น พร้อมกันนั้นก็สามารถถูกฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งก็คือผู้สูญเสียจะเสียอำนาจจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม) สร้างเฟกนิวส์เพื่อสร้าง “ความจริง” ชุดที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของขบวนการได้เช่นเดียวกัน
การต่อสู้กับเฟกนิวส์ จึงเป็นสงครามในการกำหนด “ความจริง” ที่จะวัดผลแพ้ชนะกันที่ว่าฝ่ายใดจะสามารถทำให้สาธารณชนเชื่อความจริงชุดของตนเองได้มากกว่า และการต่อสู้กับ “ข่าวลือ” ก็วัดผลกันที่ความสามารถในการขจัด “ความไม่รู้” และ “ความไม่แน่นอน” ให้เร็วที่สุด ซึ่งรัฐดูจะไม่มีแสนยานุภาพสำหรับสงครามนี้สักเท่าไหร่ จากความเทอะทะของระบบราชการที่ทำให้ขาดความเร็วและความคล่องตัว อันเป็นคุณสมบัติที่ตัดสินการแพ้ชนะของกระบวนการสื่อสารในยุคดิจิทัล ภาพที่ออกมาจึงเป็นว่า รัฐไม่สามารถแก้ข่าวได้เร็วพอ และไม่สามารถแก้ข่าวให้ทั่วถึงสู่กลุ่มเป้าหมายได้ รวมทั้งการแก้ข่าวด้วยท่าทีที่มุ่งเน้นการกล่าวโทษ มากกว่าการทำความเข้าใจ ที่ยิ่งผลักให้ประชาชนมีอคติและไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม
ปรากฎการณ์ทางสังคมที่รัฐถูกท้าทายอำนาจในการกำหนดความจริง และประชาชนไม่เชื่อความจริงของรัฐ คงจะเป็นความท้าทายต่อไปในระยะยาว จุดเปลี่ยนจะอยู่ที่ว่าทำอย่างไรรัฐจึงจะสามารถหลุดพ้นจากกรอบของการ “พูดในสิ่งที่รัฐต้องการให้ประชาชนเชื่อ” ไปสู่การทำความเข้าใจและปรับเอากระบวนทัศน์ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายมาใช้อธิบายข้อเท็จจริง
——————————————————————————–