สหภาพแอฟริกา
(African Union-AU)
สหภาพแอฟริกา
(African Union-AU)
เว็บไซต์ http://www.au.int
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ แอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย
ประธานสมัชชาใหญ่ (Assembly) นาย Felix Tshisekedi ประธานาธิบดีของคองโก รับตำแหน่งเมื่อ 6 ก.พ.2564
วิสัยทัศน์ การหล่อหลอมรวมกัน ความมั่งคั่ง และสันติภาพในแอฟริกา ที่เกิดจากแรงผลักดันของประชาชนและแสดงให้เห็นเป็นพลังในโลก
วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการสร้างความเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประเทศ และระหว่างประชาชนในแอฟริกา
2) เพื่อปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกราชของประเทศสมาชิก
3) เพื่อเพิ่มการบูรณาการด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจภายในทวีปแอฟริกา
4) เพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของทวีปและประชาชนในทวีปแอฟริกา
5) เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
6) เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพภายในทวีปแอฟริกา
7) เพื่อส่งเสริมหลักการและสถาบันประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารจัดการที่ดี
8) เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามกฎบัตรแอฟริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับด้านสิทธิมนุษยชน
9) เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นให้สามารถมีบทบาทเหมาะสมในเศรษฐกิจโลกและการเจรจาระหว่างประเทศ
10) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการรวมตัวกันด้านเศรษฐกิจภายในทวีปแอฟริกา
11) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันในทุกด้านที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนแอฟริกา
12) เพื่อประสานและให้เกิดความสอดคล้องกันในนโยบายที่มีอยู่และของประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคในอนาคต
13) เพื่อสร้างความก้าวหน้าในแอฟริกาด้วยการส่งเสริมการวิจัยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
14) ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อกำจัดหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และส่งเสริมสุขภาพที่ดีในทวีปแอฟริกา
Felix Tshisekedi
(ประธานสหภาพแอฟริกา (AU) และประธานาธิบดีแอฟริกาใต้)
สมาชิก 55 ประเทศในทวีปแอฟริกา ครอบคลุมพื้นที่รวม 29,865,860 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 1,233 ล้านคน โดยโมร็อกโกกลับเข้าเป็นสมาชิกล่าสุดลำดับที่ 55 เมื่อ 30 ม.ค.2560 หลังจากถอนตัวออกจาก AU เมื่อปี 2527 นานถึง 33 ปี เนื่องจากไม่พอใจที่สมาชิกส่วนใหญ่ของ OAU (ขณะนั้น) ยอมรับเอกราชสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี (Sahrawi Arab Democratic Republic-SADR) ซึ่งควบคุมดินแดน Western Sahara ที่โมร็อกโกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของตน
สมาชิก 55 ประเทศ ประกอบด้วย 1. แอลจีเรีย 2. แองโกลา 3. เบนิน 4. บอตสวานา 5. บูร์กินาฟาโซ 6. บุรุนดี 7. เคปเวิร์ด 8. แคเมอรูน 9. แอฟริกากลาง 10. ชาด 11. คอโมโรส 12. คองโก 13. โกตดิวัวร์ 14. สาธารณรัฐคองโก 15. จิบูตี 16. อียิปต์ 17. อิเควทอเรียลกินี 18. เอริเทรีย 19. เอธิโอเปีย 20. กาบอง 21. แกมเบีย 22. กานา 23. กินี 24. กินีบิสเซา 25. เคนยา 26. เลโซโท 27. ไลบีเรีย 28. ลิเบีย 29. มาดากัสการ์ 30. มาลาวี 31. มาลี 32. มอริเตเนีย 33. มอริเชียส 34. โมร็อกโก 35. โมซัมบิก 36. นามิเบีย 37. ไนเจอร์ 38. ไนจีเรีย 39. รวันดา 40. สาธารณรัฐซาห์ราวี 41. เซาตูเมและปรินซิปี 42. เซเนกัล 43. เซเชลส์ 44. เซียร์ราลีโอน 45. โซมาเลีย 46. แอฟริกาใต้ 47. เซาท์ซูดาน 48. ซูดาน 49. เอสวาตินี 50. โตโก 51. ตูนิเซีย 52. ยูกันดา 53. แทนซาเนีย 54. แซมเบีย และ 55. ซิมบับเว
โดยมีประเทศผู้สังเกตการณ์ 8 ประเทศ ได้แก่ 1. เฮติ 2. คาซัคสถาน 3. ลัตเวีย 4. ลิทัวเนีย 5. ปาเลสไตน์ 6. เซอร์เบีย 7. ตุรกี และ 8. ยูเครน
ก่อตั้งเมื่อ สหภาพแอฟริกา (African Union-AU) เป็นองค์การระหว่างประเทศของทวีปแอฟริกา พัฒนามาจากองค์การเอกภาพแอฟริกา (Organization of African Unity-OAU) ที่ตั้งเมื่อ 25 พ.ค.2506 ซึ่งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของประเทศในทวีปแอฟริกาได้ออกปฏิญญา Sirte Declaration เมื่อ 9 ก.ย.2542 ก่อตั้งองค์การ AU ขึ้นเมื่อ 9 ก.ค.2545 แทนที่ OAU เพื่อเร่งกระบวนการหล่อหลอมภายในทวีปแอฟริกาให้สามารถมีบทบาทอย่างเหมาะสมทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ความสัมพันธ์ไทย-AU
ไทยเริ่มมีความร่วมมือกับ AU โดยการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำ AU โดยให้เอกอัครราชทูต ณ ไคโร อียิปต์ ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการ AU และไทยส่งกำลังเข้าร่วมในภารกิจ United Nations Mission in Dafur (UNAMID) 276 คน และภารกิจ United Nations Mission in South Sudan (UNMISS) 6 คน โดยมีกองกำลังรักษาสันติภาพของ AU เป็นกำลังหลัก นอกจากนี้ ไทยยังได้บริจาคเวชภัณฑ์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมไทยให้กับภารกิจ African Union Mission in Somalia (AMISOM) เพื่อใช้ในโรงพยาบาลในโมกาดิชู เมืองหลวงของโซมาเลีย เมื่อปี 2552 ทั้งนี้ ไทยยึดหลักการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่แอฟริกาตามแนวทางที่ผู้รับมีความเป็นเจ้าของ และกำหนดแนวทางการพัฒนาของตนขึ้นเอง
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การเปิดเขตการค้าเสรีแอฟริกา (African Continental Free Trade Area-AfCFTA) เข้าสู่ขั้นปฏิบัติการเมื่อ 7 ก.ค.2563 และมีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ที่กรุงอักกรา กานา เมื่อ 17 ส.ค.2563 ปัจจุบันมีประเทศในแอฟริกาลงนามในข้อตกลงแล้ว 54 ประเทศ จากทั้งหมด 55 ประเทศ (เอริเทรียยังไม่ลงนาม) และ มีประเทศให้สัตยาบันแล้ว 28 ประเทศ
การเปิด AfCFTA เพื่อมุ่งสร้างตลาดเดียวของแอฟริกาในด้านสินค้าและบริการ จะเป็นโอกาสสำคัญให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยในการเข้าขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับแอฟริกาที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานวัยทำงานที่มีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกผลผลิตทางการเกษตร เฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว และขยายความร่วมมือเทคโนโลยีการเกษตรที่ไทยมีศักยภาพสูง ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจขยายบทบาทด้านเศรษฐกิจในแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ และประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ อิหร่าน ทั้งนี้ AfCFTA เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับแต่ก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) จากการมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน และคาดการณ์ว่า AfCFTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าภายในทวีปแอฟริกา 60% ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 16% AfCFTA และ GDP รวมของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตามปี 2564
การเปิด AfCFTA มุ่งสร้างตลาดเดียวของแอฟริกาในด้านสินค้าและบริการ จะเป็นโอกาสสำคัญให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยในการเข้าขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับแอฟริกาที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานวัยทำงานที่มีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ AfCFTA เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนับแต่ก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) จากการมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน และคาดการณ์ว่า AfCFTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าภายในทวีปแอฟริการ้อยละ 60 ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันร้อยละ 16 AfCFTA และ GDP รวมของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มรายได้ให้กับชาวแอฟริกาภายในปี 2578 จำนวน 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7) เพิ่มการส่งออกของแอฟริกา จำนวน 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ