สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
Arab Republic of Egypt
สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์
Arab Republic of Egypt
เมืองหลวง ไคโร
ที่ตั้ง ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 22-31 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 25-38 องศาตะวันออก โดยตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมตะวันออกกลางกับแอฟริกา มีพื้นที่ 1,001,450 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 31 ของโลก และใหญ่กว่าไทย 2 เท่า มีชายแดนทางบกยาว 2,612 กม. และมีชายฝั่งยาว 2,450 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศใต้ ติดกับซูดาน (1,276 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ (13 กม.) อิสราเอล (208 กม.) และทะเลแดง
ทิศตะวันตก ติดกับลิเบีย (1,115 กม.)
ภูมิประเทศ เป็นที่ราบสูงและทะเลทรายกว้างใหญ่ มีแม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านกลางประเทศและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พื้นที่ทางตะวันออกเป็นที่ราบสูง โดยเฉพาะคาบสมุทรไซนาย มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,629 ม. ส่วนทางตะวันตกเป็นทะเลทรายลิเบีย ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 133 ม. โดยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เพาะปลูกมีเพียง 2.87%
วันชาติ 23 ก.ค. (Revolution Day เมื่อปี 2495)
นายอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี
Abdel Fattah El Sisi
(ประธานาธิบดีอียิปต์)
ประชากร 106,437,241 คน (ก.ค.2564)
รายละเอียดของประชากร เป็นชาวอียิปต์ 99.7% (ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ คือ Fallaheen, Bedouin และ Nubian) และอื่น ๆ 0.3% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ (ปี 2563) : วัยเด็ก (0-14 ปี) 33.62% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 61.94% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.44% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 74.01 ปี อายุเฉลี่ยเพศชายประมาณ 72.54 ปี อายุเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 75.57 ปี อัตราการเกิด 26.44 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4.36 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 2.17%
การก่อตั้งประเทศ อียิปต์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี ก่อตั้งเป็นอาณาจักรตั้งแต่ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะตกอยู่ใต้การปกครองของทั้งกรีก โรมัน และไบแซนไทน์ จนกระทั่งในยุคสมัยใหม่อียิปต์ถูกสหราชอาณาจักรเข้ายึดครองเมื่อ ก.ค.2425 และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรประกาศให้อียิปต์เป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอียิปต์เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช และได้รับเอกราชเมื่อปี 2465 ในระยะแรกที่เป็นเอกราชอียิปต์ปกครองโดยราชวงศ์มุฮัมมัด อะลี ที่สืบเชื้อสายจากสุลต่านแห่งอียิปต์ โดยสุลต่านฟูอาดได้สถาปนาพระองค์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีฟูอาดที่ 1 หลังจากนั้นมีกษัตริย์ปกครองอีกสองพระองค์ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีฟารูกที่ 1 และสมเด็จพระราชาธิบดีฟูอาดที่ 2 ก่อนที่ระบอบกษัตริย์จะสิ้นสุด โดยถูกรัฐประหารและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ตั้งแต่ มิ.ย.2496 จนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และ นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยการออกเสียงลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 ระหว่าง 19-22 เม.ย.2562 ครอบคลุมการขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิม 4 ปี เป็น 6 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 สมัย ส่วน นรม. มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และเป็นผู้จัดตั้ง ครม. โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี ผู้ทำรัฐประหาร เมื่อ 3 ก.ค.2556 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งต่อเนื่อง 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 1 เมื่อ 8 พ.ค.2557 และสมัยที่ 2 เมื่อ 2 เม.ย.2561 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2567) นรม.คนปัจจุบัน คือนายมุศเฏาะฟา มัดบูลี ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 7 มิ.ย.2561
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสองสภา คือ วุฒิสภา (Majlis Al-Shiyoukh) ) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 300 คน ที่มาจาก 1) การเลือกตั้งระบบแบ่งเขต 100 คน 2) การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และ 3) การแต่งตั้งของประธานาธิบดี 100 คน ทั้งนี้ อียิปต์รื้อฟื้นการมีวุฒิสภาอีกครั้งจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 และได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ มิ.ย.2563 หลังจากยกเลิกเมื่อปี 2555 เนื่องจากเกิดเหตุประท้วงในช่วงอาหรับสปริงโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก เมื่อปี 2554
สภาผู้แทนราษฎร (Majlis al-Nowaab) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 596 คน มีที่มา 3 ประเภท คือ 1) การเลือกตั้งระบบแบ่งเขต 448 คน 2) เลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ 120 คน โดยมีการกำหนดโควตาที่สงวนไว้สำหรับสตรี เยาวชน ชาวคริสต์ และแรงงาน และ 3) มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 28 คน
วาระดำรงตำแหน่งของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.คราวละ 5 ปี โดยการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 จัดขึ้นเมื่อ ส.ค.-ก.ย.2563 ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2568 และการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ ต.ค.-พ.ย.2563 ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 จะลดจำนวนที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎรจากปัจจุบัน 596 ที่นั่ง เหลือ 450 ที่นั่ง และกำหนดสัดส่วนให้สตรีเป็น ส.ส.ได้ไม่เกิน 25% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
ฝ่ายตุลาการ : ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการศาลทั้งหมดในอียิปต์ อัยการสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลที่สำคัญ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด (Supreme Constitutional Court-SCC) ประกอบด้วยประธานศาลและผู้พิพากษา 10 คน มีอำนาจในการชี้ขาดว่ากฎหมายและคำพิพากษาของศาลต่าง ๆ สอดคล้องหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Court of Cassation-CC) ประกอบด้วยประธานศาลและผู้พิพากษา 550 คน โดยการพิจารณาคดีจะประกอบด้วยคณะผู้พิพากษา 5 คน มีอำนาจตัดสินคดีแพ่งและอาญาทั่วไป และศาลปกครองสูงสุด (Supreme Administrative Court-SAC) มีอำนาจในการในการพิจารณาคดีปกครองต่าง ๆ ส่วนศาลอื่น ๆ ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลครอบครัว และศาลพิเศษ เช่น ศาลทหาร และศาลคดีความมั่นคง
พรรคการเมือง ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในรัฐสภาทั้งสิ้น 19 พรรค ในจำนวนนี้มีพรรคที่สำคัญ เช่น Free Egyptians Party ซึ่งมี ส.ส. 65 คน (มากที่สุดในรัฐสภา) Nation’s Future Party 53 คน New Wafd Party (36 คน) Homeland’s Protector Party (18 คน) Republican People’s Party (13 คน) Congress Party (12 คน) Al Nour Party (11 คน) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มการเมืองนอกสภาที่สำคัญ คือ National Alliance to Support Legitimacy ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี ประมาณ 40 กลุ่ม โดยมีกลุ่ม Muslim Brotherhood เป็นแกนนำ แต่ปัจจุบันกลุ่ม Muslim Brotherhood ถูกทางการอียิปต์ประกาศขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายและกลายเป็นกลุ่มนอกกฎหมายเมื่อ ธ.ค.2556
เศรษฐกิจ รัฐบาลอียิปต์เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรี เมื่อปี 2532 ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปี 2547-2551 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 อย่างไรก็ดี ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ยังยากจน ขณะที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบภายในประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว จึงทำให้รัฐบาล ชุดปัจจุบันต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ และรัฐรอบอ่าวอาหรับ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอียิปต์พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว การส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ การส่งเงินกลับมาประเทศของชาวอียิปต์ที่ไปทำงานในต่างประเทศ และการเก็บค่าผ่านทางของคลองสุเอซ
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของอียิปต์ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของอียิปต์ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 หดตัวลงจากปี 2562 เล็กน้อย โดยในห้วงปี 2563 ประธานาธิบดีซีซี เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการผลิต การธนาคาร การสำรวจและผลิตพลังงาน รวมทั้งมีมาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาล และปรับปรุงรูปแบบการจัดเก็บภาษี
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์อียิปต์ (Egyptian Pound-EGP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 15.73 EGP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.47 EGP (ธ.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 363,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,547.9 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 29,077,255 คน
อัตราการว่างงาน : 10.5%
อัตราเงินเฟ้อ : 5.7%
ผลผลิตการเกษตร : ฝ้าย ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่ว ผลไม้ ผัก และปศุสัตว์
ผลผลิตอุตสาหกรรม : สิ่งทอ อาหารแปรรูป การท่องเที่ยว เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ไฮโดรคาร์บอน การก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ โลหะ และอุตสาหกรรมเบา
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 32,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 40,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผักและผลไม้ ฝ้าย สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ และอาหารแปรรูป
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อิตาลี 12.8% สหรัฐฯ 9% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 7.5% สหราชอาณาจักร 6.6% อินเดีย 4.9% เยอรมนี 4.1% และตุรกี 3.1% (ปี 2562)
มูลค่าการนำเข้า : 72,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และเชื้อเพลิง
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน 9.1% ซาอุดีอาระเบีย 7.2% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.9% สหรัฐฯ 5% เยอรมนี 4.5% และรัสเซีย 4.3% (ปี 2562)
ทรัพยากรธรรมชาติ : ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่เหล็ก ฟอสเฟต แมงกานีส หินปูน แร่ทัลก์ แร่ใยหิน ตะกั่ว แร่หายาก และสังกะสี
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณทางทหารเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 4,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.49% ของ GDP อียิปต์มีขนาดกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา กองทัพอียิปต์ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กำลังพลรวม 438,500 นาย ทบ. 310,000 นาย ทร. 18,500 นาย ทอ. 30,000 นาย หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ 80,000 นาย นอกจากนี้ อียิปต์มีกองกำลังกึ่งทหาร 397,000 นาย และทหารกองหนุน 479,000 นาย (ทบ. 375,000 นาย ทร. 14,000 นาย ทอ. 20,000 นาย และหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ 70,000 นาย)
อียิปต์ส่งกำลังร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ได้แก่ ภารกิจ MINUSCA ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ภารกิจ MONUSCO ในคองโก ภารกิจ MINUSMA ในมาลี ภารกิจ UNMISS ในเซาท์ซูดาน ภารกิจ UNAMID ในซูดาน ภารกิจ MINURSO ใน Western Sahara และส่งเครื่องบินขับไล่รุ่น F-16C Fighting Falcon 6 เครื่อง ร่วมปฏิบัติการ Operation Restoring Hope ในซาอุดีอาระเบีย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ
ทบ. ได้แก่ รถถัง (MBT) 2,480 คัน (รุ่น M1A1 Abrams 1,130 คัน รุ่น M60A1 300 คัน รุ่น M60A3 850 คัน และรุ่น T-62 200 คัน) ยานหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) 412 คัน (รุ่น BRDM-2 300 คัน และรุ่น Commando Scout 112 คัน) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) 690 คัน (รุ่น YPR-765 25mm 390 คัน และรุ่น BMP-1 300 คัน) ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะมากกว่า (APC) มากกว่า 5,244 คัน ยานหุ้มเกราะอเนกประสงค์ (AUV) มากกว่า 95 คัน (รุ่น Panthera T6 และรุ่น Sherpa Light Scout มากกว่า 95 คัน) ยานหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) มากกว่า 367 คัน สะพานปล่อยรถหุ้มเกราะ (VLB) รุ่น KMM รุ่น MTU และรุ่น MTU-20 ยานกู้ภัยทุ่นระเบิด (MW) รุ่น Aardvark JFSU Mk4 ยานหุ้มเกราะติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) มากกว่า 358 คัน ปืนใหญ่ 4,468 กระบอก (ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) มากกว่า 492 เครื่อง ปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) 962 เครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิด (MRL) 450 เครื่อง และปืนครก (MOR) 2,564 เครื่อง) ขีปนาวุธผิวพื้นสู่ผิวพื้นมากกว่า 42 ลูก (ขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) รุ่น FROG-7 9 ลูก รุ่น Sakr-80 24 ลูก และรุ่น Scud-B 9 ลูก) อากาศยานไร้คนขับรุ่น R4E-50 Skyeye และรุ่น ASN-209 เครื่องยิงอาวุธต่อสู้อากาศยาน (จรวดต่อสู้อากาศยานพื้นสู่อากาศ (SAM) มากกว่า 45 ลูก ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) 160 กระบอก และปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) 700 กระบอก)
ทร. ได้แก่ เรือดำน้ำโจมตี (SSK) 7 ลำ (รุ่น Type-033 (PRC Romeo) 4 ลำ และรุ่น Type-209/1400 3 ลำ) เรือฟริเกต 8 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิด 14 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า 20 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 24 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบิน 585 เครื่อง เช่น เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน และเครื่องบินรวบรวมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ เฮลิคอปเตอร์มากกว่า 287 เครื่อง เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตี รุ่น AH-64D และเฮลิคอปเตอร์รวบรวมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์รุ่น Commando Mk2E อากาศยานไร้คนขับอย่างน้อย 5 เครื่อง (รุ่น Wing Loong และรุ่น R4E-50 Skyeye) ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ-AAM (เช่น รุ่น R-3 รุ่น R-550 Magic) ขีปนาวุธอากาศสู่พื้นผิว-ASM (เช่น รุ่น AASM รุ่น HOT รุ่น 9M120 Ataka) อาวุธปล่อยนำวิถีร่อนโจมตีภาคพื้นดิน (LACM) รุ่น SCALP EG ขีปนาวุุธต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น AGM-84L Harpoon Block II และรุ่น AM39 Exocet ขีปนาวุธต่อต้านการแผ่รังสี (ARM) รุ่น Armat และรุ่น Kh-25MP และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่น GBU-10/12 Paveway II
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ปัญหาทางการเมืองภายในจากการที่กองทัพยึดอำนาจจากอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี เมื่อ 3 ก.ค.2556 กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวร่วมกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี รวมตัวกัน ในนาม National Alliance to Support Legitimacy (NASL) โดยมีกลุ่ม Muslim Brotherhood เป็นแกนนำดำเนินกิจกรรมเพื่อต่อต้านกองทัพจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กองทัพและรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามและดำเนินมาตรการทางกฎหมายเพื่อยุบกลุ่ม Muslim Brotherhood และขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย เมื่อ ธ.ค.2556 อย่างไรก็ดี การดำเนินการเหล่านี้ทำให้ Muslim Brotherhood หันไปดำเนินกิจกรรมในทางลับ และสมาชิกบางส่วนหันไปใช้แนวทางรุนแรงในการต่อสู้
ประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี เผชิญแรงกดดันจากชาวอียิปต์จากปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาเศรษฐกิจ ที่ไม่พอใจรัฐบาลอียิปต์ที่ใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด โดยมีชาวอียิปต์เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อีกทั้งการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่มีการขยายเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปี 2573 อาจนำไปสู่ระบอบอำนาจนิยมของประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี ทำให้ชาวอียิปต์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอับดุลฟัตตาห์ อัซซีซี ลาออกจากตำแหน่ง ในหลายเมืองของอียิปต์รวมถึงไคโร ระหว่าง 20-27 ก.ย.2562 โดยทางการจับกุมผู้ประท้วงรวมกว่า 2,000 คน ปัจจุบันการจัดการประท้วงในอียิปต์มีขึ้นไม่มากและไม่รุนแรง เนื่องจากกองทัพอียิปต์เข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จัดในวันสำคัญทางการเมือง เช่น วันครบรอบการรัฐประหาร
2) ปัญหาการก่อการร้าย อียิปต์ยังคงประสบปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่ม Islamic State (IS) กลุ่ม Hasm เกี่ยวข้องกับกลุ่ม Muslim Brotherhood กลุ่มติดอาวุธ Ansar Bait al-Maqdis (ABM) ประกาศให้สัตยาบันว่าภักดีต่อกลุ่ม IS ปัจจุบันรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Wilayah Sinai และกลุ่ม Ajnad Misr (Soldiers of Egypt) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวใกล้ไคโร โดยปัญหาการก่อการร้ายของอียิปต์ที่สำคัญอยู่บริเวณทางเหนือของคาบสมุทรไซนาย นับแต่เหตุการณ์อาหรับสปริงโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก เมื่อปี 2554 และเพิ่มความรุนแรงขึ้นหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี เมื่อปี 2556
กลุ่มก่อการร้ายมีแนวโน้มก่อเหตุมากขึ้นในห้วงปี 2564 มุ่งโจมตีเป้าหมาย จนท.ด้านความมั่นคงและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนจากกลุ่ม IS ในคาบสมุทรไซนาย ส่วนการก่อเหตุทางเหนือของคาบสมุทรไซนายลดลง หลังจากกองทัพอียิปต์ส่งทหารเข้าประจำการในพื้นที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561
ความสัมพันธ์ไทย-อียิปต์
ไทยกับอียิปต์สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.ย.2497 โดยอียิปต์เป็นประเทศแรกในกลุ่มอาหรับที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยดีตลอดมา โดยต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างกันเมื่อปี 2563 มีมูลค่า 890.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปอียิปต์มูลค่า 877.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอียิปต์มูลค่า 13.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 864.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 การค้าระหว่างไทย-อียิปต์ มีมูลค่า 954.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปอียิปต์มูลค่า 935.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอียิปต์มูลค่า 18.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 917.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่
มีผู้ที่เดินทางจากอียิปต์มาไทยเมื่อปี 2563 จำนวน 7,453 ลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 34,214 คน ส่วนคนไทยอาศัยอยู่ในอียิปต์มีประมาณ 4,137 คน (มิ.ย.2563) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือด้านการศึกษากับอียิปต์ เฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัรที่สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส อีกทั้งส่งอาจารย์มาช่วยสอนในสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามของไทยมากว่า 20 ปี และสนับสนุนทุนการศึกษาผ่านรัฐบาลไทยปีละ 60-80 ทุน กับทุนของรัฐบาลอียิปต์อีกปีละ 2 ทุน
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับอียิปต์ ได้แก่ 1) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ลงนามเมื่อ 13 พ.ย.2519 2) ความตกลงทางการค้า ลงนามเมื่อ 26 พ.ค.2527 3) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ครั้งที่ 10 (UNCTAD X) ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.พ.2543 4) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อียิปต์ (Thai-Egypt Joint Commission) จัดตั้งเมื่อ ก.ย.2532 และ จัดประชุมครั้งแรกเมื่อ 30 ม.ค.2546 5) ความตกลงเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อ 29 ม.ค.2549 และ 6) บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับสถาบันการต่างประเทศอียิปต์ ตามโครงการแลกเปลี่ยนข้าราชการไทย-อียิปต์ ลงนามเมื่อ 18 เม.ย.2550
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี เฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Muslim Brotherhood เพื่อต่อต้านรัฐบาลและกองทัพอียิปต์ หลังจากอดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี เสียชีวิตกะทันหัน ขณะรับฟังการไต่สวนในศาลที่ไคโรเมื่อ 17 มิ.ย.2562 และมีแกนนำและสมาชิกกลุ่มถูกจับกุมจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังขึ้นบัญชีกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้ กลุ่ม Muslim Brotherhood ประกาศยุติกิจกรรมทางการเมืองในอียิปต์ตั้งแต่ปี 2562 และอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองอื่นได้ ส่วนผู้นำระดับสูงของกลุ่มส่วนใหญ่ลี้ภัยอยู่ในตุรกีและกาตาร์ เคลื่อนไหวด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอียิปต์ ต่อมาเมื่อ มี.ค.2564 รัฐบาลตุรกีเข้าเจรจากับกลุ่ม Muslim Brotherhood ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอียิปต์ลดลง เนื่องจากตุรกีต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอียิปต์
2) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม IS กลุ่ม Hasm กลุ่ม ABM และกลุ่ม Ajnad Misr ที่มุ่งก่อเหตุโจมตี โดยเฉพาะในคาบสมุทรไซนาย และไคโร โดยทางการปราบปรามอย่างหนักภายใต้รหัส “Operation Sinai 2018” ตั้งแต่ ก.พ.2561 สามารถสังหารสมาชิกหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้ายรวม 1,000 คน ปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของคาบสมุทรไซนาย บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ รวมทั้งทะเลทรายทาง ตต.ของหุบเขาไนล์ ทำให้กลุ่มก่อการร้ายก่อเหตุลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงสูงในการเกิดเหตุโจมตีเป้าหมายกองกำลังความมั่นคง และขบวนรถคุ้มกัน โดยเฉพาะบริเวณท่อส่งน้ำมัน ส่วนเส้นทางการลำเลียงและการจัดหาสมาชิกใหม่ของกลุ่ม IS ทำได้น้อยลง หลังจากอียิปต์ส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซามากขึ้น
3) ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาค ตลอดจนบทบาทของอียิปต์ในเวทีระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันอียิปต์มีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาวิกฤติลิเบีย สนับสนุนให้มีการการแก้ไขปัญหาการเมืองในลิเบีย และไม่ยอมรับการแทรกแซงทางทหารจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตุรกี ทั้งนี้ อียิปต์ UAE และรัสเซีย สนับสนุนฝ่าย Libyan National Army (LNA) ทางด้านเครื่องมือและการข่าวกรอง ต่อต้านฝ่ายรัฐบาลลิเบีย (Government of National Accord-GNA) ที่มีตุรกีและกาตาร์ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี อียิปต์เปลี่ยนจุดยืนจากการสนับสนุนฝ่าย LNA หลังจากกลุ่ม LNA ไม่สามารถโจมตียึดครองกรุงตริโปลีเมื่อ มิ.ย.2563 ได้ และเปลี่ยนไปมุ่งรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลเฉพาะกาลของลิเบียแทน รวมทั้งยังพิจารณาจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับลิเบีย นอกจากนี้ อียิปต์ยังมีบทบาทในฐานะคนกลางการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
4) ปัญหาข้อพิพาททางน้ำระหว่างอียิปต์ เอธิโอเปีย และซูดาน กรณีเอธิโอเปียสร้างเขื่อน Grand Ethiopian Renaissance Dam (GERD) มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแม่น้ำไนล์ตั้งแต่ปี 2554 (แม่น้ำไนล์ไหลจากเอธิโอเปียผ่านซูดาน และอียิปต์ ก่อนไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) โดยเขื่อน GERD จะเป็นเขื่อนและแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกา ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 6,000 เมกะวัตต์ โดยอียิปต์พึ่งพาแม่น้ำไนล์ในทางเศรษฐกิจ และเป็นประเทศปลายน้ำ ห่วงกังวลว่าเอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำจะกักเก็บน้ำจนทำให้อียิปต์ขาดแคลนน้ำใช้ โดยสหรัฐฯ เป็นคนกลางให้อียิปต์ ซูดานและเอธิโอเปียเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเขื่อนแม่น้ำไนล์ที่สหรัฐฯ ปัจจุบันปัญหาข้อพิพาทยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยเอธิโอเปียยังดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้อียิปต์และซูดานประณามว่าเป็นการกระทำเพียงฝ่ายเดียว และเรียกร้องให้ UNSC เข้ามาแทรกแซงและแก้ไขปัญหาดังกล่าว