สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)
สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)
ชื่อองค์กรอย่างเป็นทางการ สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อองค์กร อาเซียน
Organization Name Association of Southeast Asian Nations
Organization Name ASEAN
เว็บไซต์ http://www.asean.org/
สำนักงานอาเซียน 70A Jalan Sisingamangaraja
Jakarta, Indonesia 12110
โทรศัพท์ : (+6221) 7262991, 7243372
โทรสาร : (+6221) 7398234, 7243504
Email : [email protected]
วันก่อตั้ง 8 ส.ค.2510 (วันอาเซียน)
วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน
ประธานอาเซียน กัมพูชา (ปี 2565) อินโดนีเซีย (ปี 2566) ลาว (ปี 2567)
ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย
(Dato Paduka Lim Jock Hoi)
เลขาธิการอาเซียน คนที่ 14
วาระการดำรงดำแหน่ง ม.ค.2561–ธ.ค.2565
ประเทศสมาชิก บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์
สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ประชากร
661.8 ล้านคน ในปี 2564 (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.06% ต่อปี) มีประชากรรวมเป็นลำดับ 3 ของโลกรองจากจีน และอินเดีย
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security community-APSC)
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) มุ่งส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นการสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน อาทิ การแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และการกระชับความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เผชิญร่วมกัน ซึ่งปรากฏในเอกสาร APSC Blueprint 2025 ที่มีการดำเนินการในด้านการเมืองและความมั่นคงด้วยกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำและ
การส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยการเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบปกติ เช่น การปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือในการเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านยาเสพติด การค้ามนุษย์ ความมั่นคงไซเบอร์ การบริหารจัดการชายแดน และการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล เพื่อรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมของภูมิภาค
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มุ่งสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) โดยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี เพื่อแสวงโอกาสการแข่งขันทางการค้าและการดึงดูดการลงทุน รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา ซึ่งปรากฏในเอกสาร AEC Blueprint 2025 ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเป็น AEC อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค รวมถึงการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน โดยอาเซียนต้องปรับปรุงและกำหนดนโยบายที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและข้อได้เปรียบในการเพิ่มขีดความสามารถในการต่อรองกับภายนอก
สถานการณ์สำคัญของอาเซียนเมื่อปี 2563
1) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้อาเซียนยังคงดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางและปิดพรมแดนระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์ในภูมิภาคและประเทศคู่เจรจา เพื่อรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดโรค COVID-19 เฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูตามกรอบ
การฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework-ACRF) การระดมความช่วยเหลือภายใต้กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรค COVID-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) เพื่อจัดหา กระจาย และเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมให้เป็นสินค้าสาธารณะ ตลอดจนการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน
การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี อาเซียนมีสัญญาณการฟื้นตัวภาคการส่งออกสินค้า เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลัก (จีนและสหรัฐฯ) สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งอาเซียนมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ประชาคมดิจิทัล บนพื้นฐานของบรรทัดฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ท้าทายความร่วมมือของอาเซียน
2) การทำหน้าที่ประธานอาเซียนของบรูไน ในภาพรวมค่อนข้างประสบความสำเร็จ เนื่องจากบรูไนสามารถผลักดันประเด็นที่ริเริ่มให้สามารถบรรลุเป็นผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียนได้ เฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและการขับเคลื่อนการดำเนินงานของบรูไนในฐานะประธานอาเซียนอย่างจริงจัง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ด้านความมั่นคง บรูไนเผชิญความท้าทายในประเด็นสถานการณ์การเมืองเมียนมา ซึ่งเป็นประเด็นที่อาเซียนได้รับแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก กับทั้งบรูไนเผชิญความเห็นต่างกันภายในอาเซียนต่อการแสวงหาแนวทางการดำเนินการกับเมียนมา เฉพาะอย่างยิ่งฉันทามติการแต่งตั้ง ภารกิจ และหน้าที่ความรับผิดชอบ และห้วงเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้แทนพิเศษในสถานการณ์เมียนมา ซึ่งกัมพูชาประธานอาเซียนในปี 2565 จำเป็นต้องส่งเสริมความเป็นเอกภาพของอาเซียนเพิ่มขึ้น
3) สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ในห้วงปี 2564 ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สร้างความกังวลและหวาดระแวงต่อประเทศคู่พิพาท โดยสหรัฐฯ ยังคงมุ่งเน้นปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศ ส่งกองเรือรบมาลาดตระเวนในทะเลจีนใต้บ่อยครั้งขึ้นหรืออย่างน้อย 7 ครั้งในปี 2564 ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่พิพาทด้วยปฏิบัติการฝึก ซ้อมร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทหาร และการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมทางทะเล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทหาร
จีนมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารควบคู่ไปกับการดำเนินกลยุทธ์หลากหลาย
เพื่อคงอำนาจในพื้นที่อ้างกรรมสิทธิ์ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายฝ่ายเดียวครอบคลุมพื้นที่อ้างกรรมสิทธิ์
การใช้กองเรือประมงและเครื่องบินรบลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งบางครั้งรุกล้ำอาณาเขตของประเทศคู่พิพาท การฝึกซ้อมรบทางทหารและการเคลื่อนพลอย่างเป็นระบบ การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางจากแผ่นดินใหญ่ และการสร้างเกาะเทียม
บางประเทศสมาชิกอาเซียนพยายามเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถทางทะเล โดยกองทัพเรือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ฝึกซ้อมทวิภาคีกับสหรัฐฯ และพันธมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการทางทหาร หากเกิดกรณีการรุกล้ำอธิปไตย กับทั้งการจัดตั้งหน่วยทหารใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์
ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อบรรเทาข้อพิพาทในที่ประชุมอาเซียน ซึ่งอาเซียนมุ่งให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศในทะเลจีนใต้ ความห่วงกังวลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนย้ำจุดยืนการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติวิธีบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct-CoC) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าหรือการใช้กำลังระหว่างกัน
ทั้งนี้ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากการจัดทำ CoC ที่ล่าช้าจาก
การแพร่ระบาดโรค COVID-19 และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง CoC เป็นเพียงข้อตกลงในการบริหารจัดการพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ มิใช่ความตกลงในการแก้ไขปัญหาอำนาจอธิปไตยและอาณาเขต ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์
4) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership–RCEP) จะมีผลบังคับใช้ใน 1 ม.ค.2565 หลังจากที่สำนักเลขาธิการอาเซียนได้รับสัตยาบันสารในความตกลง RCEP ครบตามเกณฑ์ (สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และคู่เจรจาอย่างน้อย 3 ประเทศ) เมื่อ 2 พ.ย. 2564 ซึ่งประเทศที่ยื่นสัตยาบันสารในชั้นนี้ ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับคู่เจรจา 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ โดยสถาบันด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีน (Chinese Academy of International Trade and Economic Cooperation) ประเมินว่า RCEP จะทำให้ GPD ของภูมิภาคเพิ่มขึ้น 0.86% ในปี 2578
5) สถานการณ์การเมืองเมียนมา อาเซียนพยายามผลักดันให้สถานการณ์ในเมียนมากลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์เมื่อ 1 ก.พ.2564 โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในเมียนมาในวันเดียวกัน เพื่อแสดงความห่วงกังวลต่อเหตุการณ์ในเมียนมา ต่อมาได้จัดการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเมื่อ 24 เม.ย.2564 ซึ่งที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ ที่จะเป็นแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์การเมืองในเมียนมา ประกอบด้วย 1) การยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันทีและทุกฝ่ายต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ 2) การเจรจาเชิงสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 3) การแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ผ่านศูนย์ประสานงานการให้
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (AHA Centre) และ 5) ผู้แทนพิเศษและคณะจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการดำเนินงานตามฉันทามติของอาเซียนนั้น อาเซียนจัดการประชุมเพื่อระดม
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากประเทศ
ผู้บริจาค รวมถึงแต่งตั้งดาโต๊ะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนคนที่สอง เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน เมื่อ ส.ค.2564 อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของผู้แทนพิเศษยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากเผชิญอุปสรรคในการเข้าพบผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะอองซานซูจี ทำให้อาเซียนกดดันเมียนมาด้วยการตัดสินใจเชิญบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในทางการเมืองจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 ระหว่าง 26-28 ต.ค.2564 แทนผู้นำรัฐบาลภายใต้สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administrative Council-SAC) สร้างความไม่พอใจให้กับเมียนมาที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมสมาชิกอื่น ๆ ส่งผลให้เมียนมาไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
6) ความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก อาเซียนมีมติรับรองให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศคู่เจรจา ลำดับที่ 11 ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อ ส.ค.2564 หลังจากที่สหราชอาณาจักรยื่นขอสถานะดังกล่าวเมื่อ มิ.ย. 2563 ถือเป็นประเทศแรกที่ได้รับสถานะดังกล่าวในรอบ 25 ปี โดยสหราชอาณาจักรเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ในฐานะคู่เจรจาเป็นครั้งแรก เมื่อ ก.ย.2564 และได้รับรองปฏิญญา ซึ่งระบุแนวทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน สำหรับความสัมพันธ์กับคู่เจรจาอื่น ๆ อาเซียนเห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์กับจีนและออสเตรเลียไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (comprehensive strategic partnership-CSP) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39