ค่าตอบแทนจาก ความสัมพันธ์ แบบ partnership
ขณะที่พายเรือในคลองเล็กๆ แม้จะเป็นเรือเล็กที่ไม่เเข็งแรงก็ยังรู้สึกปลอดภัย เพราะยังมองเห็นตลิ่งทั้งสองฝั่ง แต่เมื่อเรือลอยลำสู่มหาสมุทรที่มองไม่เห็นฝั่ง สิ่งที่ทำให้อุ่นใจ คือ เรือลำข้างเคียงที่คอยนำทางไปสู่จุดหมาย …อ่านดูแล้วได้ฟิลโรแมนติกแบบคู่รัก แต่ในอีกบางมุม..ความปลอดภัย,อบอุ่น… ก็ทำให้นึกถึง บทบาทของ “ที่ปรึกษา” ที่จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาแนะนำผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ผู้ประกอบการจะสามารถหาที่ปรึกษาที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยเฉพาะงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษานั้นมักเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย และเอาเงินไปลงทุนกับต้นทุนทางด้านอื่นแทน ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่ให้ที่ปรึกษา (Consult) เข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจรับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ได้จากการขยายธุรกิจในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ตามที่มีการตกลงกันไว้ การคิดค่าตอบแทนจากผลแบ่งกำไร เป็นที่นิยมกันในการร่วมกันดำเนินกิจการระหว่างบริษัท ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ผู้ร่วมลงทุนมีหน้าที่ดำเนินกิจการได้อย่างเต็มที่ เผชิญความเสี่ยงร่วมกัน จึงผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการหรือธุรกิจให้เกิดความสำเร็จได้ ทั้งนี้ การ่วมลงทุนจะต้องเป็นการดำเนินกันระหว่างนิติบุคคลเท่านั้น และกรมสรรพากร ได้ส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อร่วมค้า (joint venture) ด้วยมาตรการทางด้านภาษีที่ไม่รวมรายได้ของกิจกรรมที่เกิดจากการร่วมทุนเป็นรายได้ของบริษัท แตกต่างจากการค้าร่วม (Consortium) ที่เป็นการจ้างระบุขอบเขตของการทำงานที่ชัดเจน และได้ผลตอบแทนเป็นค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ การลงทุนนี้ไม่ได้ครอบคลุมแค่เฉพาะการร่วมลงทุนเฉพาะเงินทุน แต่ยังรวมถึงการให้เทคโนโลยี ทรัพยากร แรงงาน หรือการให้สัมปทาน ตามที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการร่วมกันแบบ PPP (Public Private Partnership) เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดในด้านของเงินทุน เทคโนโลยี หรือลักษณะของการดำเนินงาน ที่แตกต่างจากภาคเอกชน…