สาธารณรัฐเวเนซุเอลา
Bolivarian Republic of Venezuela
สาธารณรัฐเวเนซุเอลา
Bolivarian Republic of Venezuela
เมืองหลวง การากัส
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่ 912,050 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (2,800 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับโคลอมเบีย (2,341 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับกายอานา (789 กม.)
ทิศใต้ ติดกับบราซิล (2,137 กม.)
ภูมิประเทศ รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม แบ่งเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ Maracaibo Lowlands ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือมีภูเขาทอดยาวตั้งแต่พรมแดนโคลอมเบีย ทางตะวันตกไปถึงชายฝั่งทะเลแคริบเบียน ทางตะวันออกของประเทศ เทือกเขาในภาคเหนือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา Andes จุดที่สูงที่สุดอยู่ที่ภูเขา Pico Bolívar (4,979 ม.) เขต Central Venezuela ในตอนกลางของประเทศ และที่ราบสูง Guiana ทาง ตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ในภาคใต้ มีที่ราบสูง Guiana ตั้งอยู่ระหว่างลุ่มน้ำแอมะซอนและน้ำตก Angel ซึ่งเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในโลก และภูเขา Tepuis (ซึ่งมีรูปร่างเหมือนโต๊ะ) ตอนกลางของประเทศ (Llanos) เป็นที่ราบกว้างจากพรมแดนโคลอมเบียทางตะวันตก ไปถึงสามเหลี่ยมแม่น้ำ Orinoco ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินตะกอนแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำ Caroní และ Apure เป็นแม่น้ำสำคัญ
วันชาติ 5 ก.ค. (วันที่ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2354)
Nicolás MADURO Moros
(ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา)
ประชากร 29,069,153 คน (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร ชาวสเปน อิตาลี โปรตุเกส อาหรับ เยอรมัน แอฟริกา และชาวอินเดียนพื้นเมือง โครงสร้างอายุของประชากร : อายุ 0-14 ปี 25.66% อายุ 15-64 ปี 66.16% อายุ 65 ปีขึ้นไป 8.18% อัตราการเพิ่มของประชากร -0.18% อัตราการเกิด 17.92 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเสียชีวิต 7.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 71 ปี เพศชาย 67.50 ปี เพศหญิง 74.70 ปี
การก่อตั้งประเทศ ในช่วงปี 2041-2042 นาย Christopher Columbus และนาย Alonso de Ojeda มาเยือนเวเนซุเอลาซึ่งเป็นถิ่นที่ชาว Carib, Arawak และ Chibcha อาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อปี 2064 เป็นยุคที่สเปนเริ่มต้นการล่าอาณานิคมทางด้านชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเวเนซุเอลา ปี 2292 เกิดกบฏขึ้นครั้งแรกเพื่อต่อต้านการปกครองของอาณานิคมสเปน ปี 2353 ผู้รักชาติชาวเวเนซุเอลาได้แสวงประโยชน์จากการที่ Napoleon Bonaparte บุกสเปนประกาศเอกราชเมื่อปี 2354 โดยมีการลงนามใน Independence Act และต่อมาเมื่อปี 2372-2373 เวเนซุเอลาได้แบ่งแยกดินแดนออกจาก Gran Colombia (เวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เกิดจากการล่มสลายของ Gran Colombia เมื่อปี 2373 ส่วนอีก 2 ประเทศคือ เอกวาดอร์และ New Granada ซึ่งต่อมาคือโคลอมเบีย) และกลายเป็นสาธารณรัฐอิสระโดยมีการากัสเป็นเมืองหลวง
การเมือง รูปแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล วาระ 6 ปี และไม่จำกัดวาระ (พรรคฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติพยายาม ปรับลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลงเหลือ 4 ปี)
(ตั้งแต่ 25 ม.ค.2562 นาย Juan Gerardo Guaidó Márquez ประธานสภาผู้แทนราษฎรเวเนซุเอลา ประกาศตนเป็นรักษาการประธานาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าตนเป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรมของเวเนซุเอลา ทำให้ปัจจุบันสถานะของเวเนซุเอลา มีรัฐบาลสองชุดคือ รัฐบาลของประธานาธิบดี Maduro และรัฐบาลของนาย Guaidó ที่ตั้งตนเป็นรัฐบาลรักษาการ)
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารและแต่งตั้ง ครม. วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Nicolas Maduro Moros (ตั้งแต่ 19 เม.ย.2556) การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 20 พ.ค.2561 ผลการเลือกตั้งนาย Nicolas Maduro Moros ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 68% การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2567
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเดี่ยววาระ 5 ปี (Asamblea Nacional หรือ National Assembly) มีสมาชิก 167 ตำแหน่ง (ในจำนวนนี้ 3 ตำแหน่ง สงวนไว้สำหรับคนพื้นเมืองของประเทศ) การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 6 ธ.ค.2563
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายของเวเนซุเอลาเป็นระบบประมวลกฎหมายแพ่ง (Civil Law System) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูง (Supreme Tribunal of Justice) ผู้พิพากษาจำนวน 32 คน ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภา วาระ 12 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ : ได้แก่ พรรค United Socialist Party of Venezuela มีนาย Nicolás Maduro เป็นหัวหน้าพรรค Justice First มีนาย Tomás Guanipa เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Democratic Action มีนาย Rubén Antonio Limas Telles เป็นหัวหน้าพรรค พรรค A New Era มีนาย Omar Barboza เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Popular Will มีนาย Leopoldo López เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Radical Cause มีนาย Andrés Velásquez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Movement of Venezuela มีนาย Simon Calzadilla เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Project Venezuela มีนาย Henrique Salas Römer เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Communist Party of Venezuela มีนาย Óscar Figuera เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Advance มีนาย Henri Falcon เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง : กลุ่มสหภาพแรงงาน Bolivarian and Socialist Workers’ Union (กลุ่มก่อตั้งพรรคแรงงงาน) กลุ่ม Confederacion Venezolana de Industriales (Coindustria) กลุ่ม Consejos Comunales (Pro-Government Local Communal Councils) Federation of Chambers and Associations of Commerce and Production of Venezuela (FEDECAMARAS) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่ม Union of Oil Workers of Venezuela (FUTPV) กลุ่ม Venezuelan Confederation of Workers (CTV) กลุ่มตรงข้ามกับกลุ่มสหภาพแรงงาน รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน
เศรษฐกิจ เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก (รายได้หลักของการส่งออกและประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐ) เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติพลังงานเวเนซุเอลาได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อสิ้นปี 2558 GDP ลดลงถึง 10% อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 275% เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภครุนแรง ทั่วประเทศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว
การลดลงของราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอยู่ในภาวะวิกฤต ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากเวเนซุเอลาหรือลดกำลังการผลิตสินค้า เนื่องจากปัญหาในการโอนเงินทุน (ซึ่งเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ) การควบคุมราคาสินค้า กฎหมายแรงงานที่เข้มงวด บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (PDVSA) ขาดแคลนเงินลงทุน เป็นผลทำให้การผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาลดลงไปด้วย
รัฐบาลของประธานาธิบดี Maduro เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเศรษฐกิจและกล่าวโทษภาคเอกชนว่าเป็นต้นเหตุทำให้สินค้าในท้องตลาดขาดแคลน เมื่อ 17 ก.พ.2559 รัฐบาลประกาศปรับกลไกการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาคเอกชนและนักลงทุน ซึ่งกำหนดตามความสำคัญในการนำเข้าสินค้าของรัฐบาล โดยอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับนำเข้าสินค้าและยารักษาโรคอยู่ที่ 10 Bolivars/ดอลลาร์สหรัฐ (จาก 6.3 Bolivars/ดอลลาร์สหรัฐ) และอัตราแลกเปลี่ยนแบบที่สองปรับลอยตัว ซึ่งกลับทำให้ปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐรุนแรงมากขึ้นจนไม่มีเงินทุนพอสำหรับการนำเข้าสินค้าจำเป็น เมื่อ ส.ค.2559 รัฐบาลเวเนซุเอลาพยายามแก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าด้วยการให้กองทัพเวเนซุเอลารับผิดชอบในการแจกจ่ายสินค้า ออกคำสั่งเกณฑ์ลูกจ้างในภาคธุรกิจเอกชนออกไปทำงานเกษตร ขณะที่ประชาชนแก้ปัญหาด้วยการเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโคลอมเบีย เพื่อหาซื้ออาหาร ยารักษาโรคและสินค้าอุปโภคบริโภค
ความผิดพลาดในการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Maduro และการถูกสหรัฐฯ แทรกแซงทางเศรษฐกิจทำให้วิกฤติเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาทวีความรุนแรงอย่างมาก รัฐบาลกล่าวโทษภาคเอกชนว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค รัฐบาลต้องการถือเงินตราต่างประเทศสำรองเพื่อใช้สำหรับจ่ายหนี้สินต่างประเทศ จนทำให้ภาคเอกชนประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือทำธุรกิจ นโยบายควบคุมเงินตราและอัตราแลกเปลี่ยนที่เข้มงวด ทำให้เกิดปัญหาการค้าค่าเงินเพื่อเอากำไร คอร์รัปชันและตลาดมืดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ปี 2560 การส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาลดลงต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี จนกระทั่งปี 2562เมื่อสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา ทำให้ปัจจุบันเวเนซุเอลามีกำลังผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลดลงอย่างมาก โดยเมื่อ ก.ค.2562 เวเนซุเอลาสามารถส่งออกน้ำมันได้เพียงประมาณ 770,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกได้สูงถึง 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อ มิ.ย.2562 หลังสหรัฐฯ ประกาศจะลงโทษทางเศรษฐกิจ รวมถึงอาจคว่ำบาตรประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา ประเทศที่ยังคงนำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลาอย่างเปิดเผยมีเพียงรัสเซีย และจีน
เมื่อปี 2563 เศรษฐกิจเวเนซุเอลาหดตัวลงเล็กน้อย แม้ว่าน้ำมันมีราคาตกต่ำแต่เวเนซุเอลาพยายามผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชนลดลง ขณะที่มาตรการกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และปัญหาด้านสาธารณสุขส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลง
เวเนซุเอลาประสบภาวะค่าเงินถดถอยต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ
การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง ค่าแรงตกต่ำ และเกิดภาวะขาดดุลงบประมาณ ธนาคารกลางเวเนซุเอลาจึงพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรสกุลเงินโบลิวาร์เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อระหว่างปีอยู่ที่ 2,665% ณ ม.ค.2564
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Bolivars (Venezuelan Bolivar Fuerte-VEF)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 442,483 Bolivars (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 0.0000738 Bolivars (พ.ย.2564) แต่อัตราแลกเปลี่ยนมีความ
ผันผวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในเวเนซุเอลา
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -20.00%
ทุนสำรองต่างประเทศ : 6,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 420.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,541 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 14.21 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 9.14%
อัตราเงินเฟ้อ : 2,900%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : -15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 50,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันและผลผลิตน้ำมันแปรรูป แร่บอกไซต์และอะลูมิเนียม แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตร
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : อินเดีย 28.1% จีน 19.4% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 12.4% สหรัฐฯ 10.1%
มูลค่าการนำเข้า : 65,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ วัตถุดิบต่างๆ เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถขนาดใหญ่สำหรับขนส่งสินค้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าที่แปรรูปจากน้ำมัน ยารักษาโรค เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : จีน 22% สหรัฐฯ 13.2% อินเดีย 5.7% บราซิล 5.5% เม็กซิโก 5.4%
การทหาร ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังพล 123,000 นาย ประกอบด้วย ทบ. 63,000 นาย ทร. 25,500 นาย ทอ. 11,500 นาย กองกำลังรักษาประเทศ 23,000 นาย กำลังรบกึ่งทหาร 220,000 นายและกำลังพลสำรอง 8,000 นาย งบประมาณด้านการทหาร 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์สำคัญประกอบด้วย รถถัง 485 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 338 คัน รถถังปืนใหญ่อัตตาจร 60 คัน ปืนใหญ่ชนิดลาก 104 กระบอก เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 36 กระบอก เครื่องบิน 279 เครื่อง เครื่องบินโจมตี/สกัดกั้น 39 เครื่อง เครื่องบินโจมตี 39 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง 54 เครื่อง เครื่องบินฝึก 98 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 86 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี 13 เครื่อง เรือ 50 ลำ เรือฟรีเกต 6 ลำ เรือ Corvette 4 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ เรือต่อต้านเรือดำน้ำ 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 90 ลำ
ความสัมพันธ์ไทย–เวเนซุเอลา
ไทยและเวเนซุเอลาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 27 ส.ค.2525 โดย ออท. ณ ลิมา เปรู มีเขตอาณาดูแลเวเนซุเอลา ต่อมาเมื่อปี 2536 ไทยได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเวเนซุเอลา ขณะที่ สอท.เวเนซุเอลา ณ กัวลาลัมเปอร์ มีเขตอาณาดูแลไทย ทั้งนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาได้ขอเปิด สอท.ประจำไทยโดยรัฐบาลไทยได้มีมติอนุมัติคำขอดังกล่าวแล้วเมื่อ 27 เม.ย.2549
ความร่วมมือด้านการค้า ปี 2563 มูลค่าการค้ารวม 477 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกของไทย 241 ล้านบาท และนำเข้า 236 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 5 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ผ้าผืน ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม การรักษาเสถียรภาพรัฐบาลของประธานาธิบดี Nicolás Maduro Moros ซึ่งขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและความสามารถในการควบคุมกระแสต่อต้านรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขปัญหาการถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทั้งด้านการส่งออกน้ำมัน การเงิน และการทำเหมืองแร่ นอกจากนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลาต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และจัดการปัญหาการนำเข้าอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ส่วนการยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบยังไม่น่าจะเกิดขึ้น สถานะของประธานาธิบดี Maduro น่าจะเข้มแข็งมากขึ้น จากการที่กลุ่มฝ่ายค้านมีท่าทีเอนเอียงอยู่ร่วมกับรัฐบาล มากกว่าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาจากการที่ฝ่ายค้านจะยุติการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และเข้าร่วมการเลือกตั้งระดับภูมิภาคใน 21 พ.ย.2564 ขณะที่ความไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายค้านบางกลุ่ม กับนาย Guaidó ที่ตั้งตนเป็นรัฐบาลรักษาการและมีจุดยืนปฏิเสธเข้าร่วมการเลือกตั้ง เพราะมองว่าไม่เสรีและยุติธรรม น่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อประธานาธิบดี Maduro เช่นกัน เพราะบ่งชี้ถึงการสูญเสียอิทธิพลของนาย Guaidó