สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
Federal Republic of Germany
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
Federal Republic of Germany
เมืองหลวง เบอร์ลิน
ที่ตั้ง ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติดกับทะเลบอลติกและทะเลเหนือ พื้นที่ประมาณ 357,022 ตร.กม. ระยะทางจากเหนือสุดถึงใต้สุด 876 กม. ระยะทางจากตะวันตกสุดถึงตะวันออกสุด 640 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเดนมาร์ก
ทิศใต้ ติดกับสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย
ทิศตะวันออก ติดกับสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์
ทิศตะวันตก ติดกับเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส
ภูมิประเทศ ภูมิประเทศมีความหลากหลาย มีแนวเขาสูงต่ำสลับกับที่ราบสูง ทะเลสาบ ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ตั้งแต่เหนือถึงใต้ แบ่งเป็น 5 เขตภูมิประเทศ ได้แก่ ที่ราบลุ่มตอนเหนือ เต็มไปด้วยเนินเขา ทุ่งหญ้า และท้องทุ่ง พุ่มไม้ปกคลุม พื้นที่อุดมสมบูรณ์ถึงแนวเทือกเขาตอนกลาง มีแนวอ่าวที่ราบต่ำ ชายฝั่งรัฐนีเดอร์ไรน์ เวสท์ฟาเลนและซัคเซนเธอริงเรนตอนเหนือและตอนใต้ แบ่งแยกด้วยแนวเทือกเขาตอนกลาง มีที่ราบลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนกลางกับที่ราบต่ำในรัฐเฮสเซน ตอนกลางมีแนวเขาฮาร์ซ แนวเขาไบริเชวัลด์ ฟิคเทล และแอร์ซ ป่าชวาซวัลด์ ซเปสซาร์ท และชเวบิเช แอลป์ เรียงรายตามชายที่ราบลุ่มของแม่น้ำไรน์ตอนบน ตอนใต้เต็มไปด้วยเนินเขาและทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ราบและพื้นที่เนินเขาในรัฐไบเอิร์นทางใต้ รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำดานูบ
วันชาติ 3 ต.ค.
นางอังเกลา แมร์เคล
Angela Merkel
(นรม.หญิงคนแรกของเยอรมนี)
ประชากร 79,903,481 คน (ก.ค. 2564)
รายละเอียดประชากร เยอรมัน 86.3% ตุรกี 1.8% โปแลนด์ 1% ซีเรีย 1% โรมาเนีย 1% และอื่น ๆ 8.9% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 12.89% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 64.13% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 22.99% อัตราการเกิด 8.63 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 12.22 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 81.3 ปี เพศชาย 78.93 ปี เพศหญิง 83.8 ปี
การก่อตั้งประเทศ ยุคสงครามเย็น เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกแยกออกจากกัน แต่ช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น เกิดการปฏิวัติอย่างสันติและการทำลายกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 9 พ.ย.2532 ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของโลกที่ยุติความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ของโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก และเป็นส่วนหนึ่งของการสิ้นสุดสงครามเย็น จนกระทั่งมีการรวมเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกเมื่อ 3 ต.ค.2533
การเมือง ปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประกอบด้วย 13 รัฐและ 3 รัฐอิสระที่ปกครองด้วยรัฐสภาและรัฐบาลของตนเอง มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการสรรหาของสมัชชาแห่งสหพันธรัฐ วาระ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Frank-Walter Steinmeier (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 19 มี.ค.2560) ระบบการปกครองมีพื้นฐานจากรัฐธรรมนูญปี 2492 หรือเรียกว่า Grundgesetz (กฎหมายหลัก)
ฝ่ายบริหาร : นรม. เป็นหัวหน้ารัฐบาลและมีอำนาจในการบริหาร ครม. แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามการเสนอของ นรม. ปัจจุบัน (ต.ค.2564) นางอังเกลา แมร์เคล สังกัดพรรค Christian Democratic Union (CDU) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ นรม.รักษาการ โดยเยอรมนีอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 27 ก.ย.2564
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภา 1) สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) 709 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 4 ปี ประธานสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่แทน นรม. ในกรณีที่ นรม. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 2) สภามลรัฐหรือสภาสูง (Bundesrat) เป็นผู้แทนจาก 16 รัฐ 69 ที่นั่ง แต่ละรัฐมีสิทธิออกเสียงตามจำนวนประชากร
ฝ่ายตุลาการ : ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ ตุลาการครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของ สภาผู้แทนราษฎร อีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของสภามลรัฐ
พรรคการเมือง : พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Christian Democratic Union (CDU) มีนาย Armin Laschet เป็นหัวหน้าพรรค 2) พรรค Christian Social Union of Bavaria (CSU) มีนาย Markus Soder เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรค CSU มีฐานะเป็นพรรค sister party ที่จะร่วมมือกับพรรค CDU เสมอ 3) พรรค Social Democratic Party (SPD) มีนาง Saskia Esken และนาย Norbert Walter-Borjans เป็นหัวหน้าพรรค 4) พรรค Free Democratic Party (FDP) มีนาย Christian Lindner เป็นหัวหน้าพรรค 5) พรรค The Left (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพรรค LINKE) มีนาง Susanne Hennig-Wellsow และ น.ส.Janine Wissler เป็นหัวหน้าพรรค 6) พรรค The Greens (หรือพรรค Alliance 90) มีนาง Annalena Baerbock และนาย Robert Habeck เป็นหัวหน้าพรรค
เศรษฐกิจ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น) และอันดับ 1 ในยุโรป เยอรมนีมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เป็นฐานด้านอุตสาหกรรมของโลก อาทิ ยานยนต์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.16 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.87 บาท (ต.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 3,806,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -4.9%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 45,723 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 43.38 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 4.3%
อัตราเงินเฟ้อ : 0.5%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 266,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 1,380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และแผงวงจรไฟฟ้า
มูลค่าการนำเข้า : 1,170,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง คู่ค้าสำคัญ : เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส จีน เบลเยียม อิตาลี สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ
การทหาร มีกำลังพลประจำการรวม 183,500 นาย (แยกเป็น ทบ. 63,400 นาย ทร. 16,600 นาย ทอ. 27,600 นาย หน่วยสนับสนุนร่วม 27,800 นาย หน่วยร่วมบริการทางการแพทย์ 19,800 นาย ไซเบอร์ 13,300 นาย และอื่น ๆ 15,000 นาย) นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรอง 30,050 นาย (แยกเป็น ทบ. 6,850 นาย ทร. 1,200 นาย ทอ. 3,400 นาย หน่วยสนับสนุนร่วม 11,950 นาย หน่วยร่วมบริการทางการแพทย์ 3,650 นาย ไซเบอร์ 1,150 นาย และอื่น ๆ 1,850 นาย) ภารกิจหลัก คือ ปกป้องอธิปไตย ป้องกันการรุกรานจากภายนอกประเทศ ปฏิบัติภารกิจร่วมระหว่างประเทศ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งช่วยเหลือตำรวจกรณีเกิดความไม่สงบภายใน งบประมาณทางการทหาร 1.4% ของ GDP
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) เยอรมนีให้น้ำหนักกับกลุ่มแนวคิดขวาจัดและกลุ่มต่อต้านชาวยิว ว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนีระบุว่า มีผู้ฝักใฝ่แนวคิดขวาจัดห้วงปี 2563 เพิ่มขึ้น 3.8% เป็น 33,300 คน ในจำนวนนี้เกือบ 40% มีความเสี่ยงจะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ขณะที่มีรายงานสถิติอาชญากรรมโดยฝีมือกลุ่มขวาจัดห้วงปี 2563 จำนวน 23,604 ครั้ง เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2562 และเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544 อนึ่ง กลุ่มขวาจัดมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ คนต่างชาติต่างศาสนา และคัดค้านการ บูรณาการยุโรป (Eurosceptic)
2) หน่วยข่าวกรองเยอรมนีประเมินว่ากลุ่ม Islamic State (IS) ยังคงมีศักยภาพในการ ก่อเหตุ แม้กลุ่มจะสูญเสียแกนนำสำคัญ และสูญเสียฐานที่มั่นในซีเรียและอิรัก โดยเชื่อว่ากลุ่ม IS ได้ปรับตัวด้านกลยุทธ์ทางทหาร การเงิน และพยายามขยายแนวร่วมให้กว้างขวาง โดยหน่วยข่าวกรองคาดการณ์ว่าอาจเกิดการก่อเหตุโจมตีในเยอรมนีได้ทุกเมื่อ และระยะหลัง เยอรมนีเพิ่มความห่วงกังวลมากขึ้นต่อความเสี่ยงจากผู้ก่อเหตุที่ลงมือโดยลำพัง (lone wolf) ที่บ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต
ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 7 ก.พ.2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรีการค้าและการเดินเรือระหว่างกัน ไทยมีสถานกงสุลใหญ่ในเยอรมนี 1 แห่ง อยู่ที่แฟรงค์เฟิร์ต และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในเยอรมนี 4 แห่ง คือ ที่มิวนิก ฮัมบูร์ก ดึสเซลดอร์ฟ และชตุทท์การ์ท ขณะที่เยอรมนีมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในไทย 3 แห่ง คือ ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และเมืองพัทยา ทั้งนี้ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เยอรมนีและการจัดตั้งหอการค้าไทย-เยอรมนีครบวาระ 50 ปีไปเมื่อปี 2555 ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เยอรมนีดำเนินไปด้วยความราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยทั้งสองฝ่ายต้องการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่เยอรมนีเชี่ยวชาญ อาทิ พลังงานทดแทน การเกษตร เทคโนโลยีการรับมือกับภัยพิบัติ
ด้านการค้า : เมื่อปี 2563 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของไทยในตลาดโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป มูลค่าการค้ารวม 290,085.42 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 126,137.76 ล้านบาท ไทยนำเข้ามูลค่า 163,947.66 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 37,809.89 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ก๊อก วาวล์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เลนซ์ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ
ด้านการลงทุน : เมื่อปี 2563 เยอรมนีลงทุนในไทยผ่าน BOI จำนวน 17 โครงการ รวมมูลค่า 3,162 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวเยอรมนีที่เดินทางมาไทยเมื่อปี 2563 มีจำนวน 230,598 คน จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 852,432 คน
ข้อตกลงสำคัญ : สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (24 มิ.ย.2545) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (5 มี.ค.2505) อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน (10 ก.ค.2510) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (17 ก.พ.2513) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (24 มี.ค.2526) สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (26 พ.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (31 ก.ค.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ (31 มี.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่น (7 พ.ค.2546) ความตกลงด้านการเงินเพื่อเป็นกรอบความตกลงสำหรับการให้กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร Kreditanstalt fuer Wiederaufbau (KfW) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (30 ก.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ความร่วมมือแก่ประเทศที่สาม (5 มิ.ย.2551) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในสาขาการบริหารจัดการภัยพิบัติ (20 ก.ย.2555) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทย-เยอรมนี ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (16 พ.ค.2556) แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงค์ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration ofIntent on the Further Development of the Cooperation in the Field of Railways) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (23 พ.ย.2559) ปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนง (Joint Declaration of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงอาหารและเกษตรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเรื่องการส่งเสริมด้านการเกษตร (26 ส.ค.2563)
อนึ่ง นรม.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยือนเยอรมนีเมื่อห้วง 27-28 พ.ย.2561 โดยได้เข้าพบ นรม.อังเกลา แมร์เคล ของเยอรมนี ประเด็นที่มีการหารือ อาทิ การพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรม 4.0 ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ SMEs การอาชีวศึกษา
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
รัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนี (อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล) กำลังเผชิญปัญหาท้าทายในการรับมือ ได้แก่ 1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรค COVID-19 2) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิรูประบบบำนาญภาครัฐ และการพิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์การรับผู้อพยพเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงาน 3) การเร่งพัฒนาด้านดิจิทัล โดยผลสำรวจของ European Center for Digital Competitiveness ในกรุงเบอร์ลิน เผยแพร่เมื่อห้วง ก.ย.2564 ระบุว่าการพัฒนาด้านดิจิทัลของเยอรมนีอยู่ในอันดับ 18 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด 20 ประเทศในกลุ่ม G-20 4) การแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปทานชิป (chips) เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ