สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
Federal Republic of Nigeria
สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย
Federal Republic of Nigeria
เมืองหลวง อาบูจา
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ละติจูดที่ 10 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 8 องศาตะวันออก มีพื้นที่รวม 923,768 ตร.กม. เส้นเขตแดนทางบกยาว 4,477 กม. เส้นแนวชายฝั่งทะเลยาว 853 กม. แบ่งออกเป็น 36 รัฐ และ 1 ดินแดน
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับไนเจอร์ (1,608 กม.) และชาด (85 กม.)
ทิศใต้ ติดกับอ่าวกินี (853 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับแคเมอรูน (1,975 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับเบนิน (809 กม.)
ภูมิประเทศ เป็นเขตที่ราบต่ำในภาคใต้ และยกตัวขึ้นเป็นที่ราบสูงและเนินในภาคกลาง ทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตภูเขา และเป็นที่ราบในภาคเหนือ จุดสูงสุดของประเทศอยู่ที่เทือกเขา Chappal Waddi ที่ระดับความสูง 2,419 ม. มีอาณาเขตทางบก 910,768 ตร.กม. และอาณาเขตทางทะเล 13,000 ตร.กม.
วันชาติ 1 ต.ค.2503 ซึ่งเป็นวันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร
พล.ต. มูฮัมมาดู บูฮารี
Muhammadu Buhari
(ประธานาธิบดีไนจีเรีย)
ประชากร 219,463,862 (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ประกอบด้วย ชนเผ่ามากกว่า 250 เผ่า แต่ชนเผ่าที่มีจำนวนมากและมีอิทธิพลทางการเมือง ได้แก่ ชนเผ่า Hausa และ Fulani 29% Yoruba 21% Igbo (Ibo) 18% Ijaw 10% Kanuri 4% Ibibio 3.5% และ Tiv 2.5% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 41.7% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 55% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.3% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 60.87 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 59.07 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 62.78 ปี อัตราการเกิด 34.38 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 8.89 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการเพิ่มของประชากร 2.53%
การก่อตั้งประเทศ ดินแดนที่เป็นไนจีเรียในปัจจุบันเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าทาสเมื่อศตวรรษที่ 18 และสหราชอาณาจักร ซึ่งยึดเมืองท่าลากอสเมื่อปี 2394 ได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนโดยรอบเมืองท่าลากอสและลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Royal Niger Company ซึ่งมีการบริหารทางการเมืองของตนเอง จนถึง 1 ม.ค.2443 บริษัทฯ ได้โอนดินแดนให้อยู่ในการปกครองของสหราชอาณาจักร และได้จัดตั้ง “อาณานิคมและรัฐในอารักขาแห่งไนจีเรีย” เมื่อปี 2457
ไนจีเรียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 1 ต.ค.2503 และเป็นสาธารณรัฐเมื่อ 1 ต.ค.2506 หลังจากนั้น เกิดรัฐประหารเมื่อ 15 ม.ค.2509 และเกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติกับภูมิภาคนิยม เนื่องจากชนเผ่า Hausa ทางเหนือของประเทศ เกรงว่าจะถูกครอบงำโดยชนเผ่า Igbo ทางตะวันออกของประเทศ จึงตัดสินใจถอนตัว และจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐแห่งไบอาฟรา (Republic of Biafra) เมื่อ พ.ค.2510 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ
ชาวไนจีเรียเรียกร้องให้ปกครองโดยพลเรือน แต่ฝ่ายทหารขัดขวาง พล.อ.Sani Abacha ซึ่งเป็นผู้นำของไนจีเรียตั้งแต่ พ.ย.2536 ให้คำมั่นว่าจะจัดการถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้รัฐบาลพลเรือน
ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อ ต.ค.2541 แต่ต่อมา พล.อ.Sani Abacha เสียชีวิตเมื่อ
8 มิ.ย.2541 คณะมนตรีปกครองชั่วคราว (Provisional Ruling Council) จึงได้เลือก พล.อ.Abdulsalam Abubakar เสนาธิการทหาร เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งใช้นโยบายผ่อนปรนและประนีประนอม มีการปล่อยนักโทษการเมือง หนึ่งในบรรดานักโทษการเมืองที่สำคัญที่ได้รับการปลดปล่อย คือ พล.อ.Olusegun Obasanjo หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party (PDP) ซึ่งต่อมาชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้น นอกจากนี้ พรรค PDP ได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย พล.อ.Olusegun Obasanjo สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไนจีเรียเมื่อ 29 พ.ค.2542 นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในรอบ 15 ปี
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และ ผบ.ทหารสูงสุด
ไนจีเรียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี โดยผู้สมัครจากพรรค PDP ได้รับชัยชนะจนถึงปี 2554 แม้ว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2546 และ 2550 มีรายงานการใช้ความรุนแรงบ้าง แต่ถือว่าเป็นช่วงที่การปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือนยาวนานที่สุดของไนจีเรียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร พรรค PDP เปลี่ยนสถานะเป็นฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไนจีเรีย เมื่อ มี.ค.2558 ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ นายมูฮัมมาดู บูฮารี จากพรรค All Progressive Congress (APC) ซึ่งเป็นพรรคที่รวมตัวมาจากพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค โดยนายมูฮัมมาดู บูฮารี มียศเป็น พล.ต. (เกษียณ) ในกองทัพไนจีเรีย เคยเป็นผู้นำทางทหารที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจในช่วงปี 2526-2528 และลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีมา 3 สมัย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นายมูฮัมมาดู บูฮารี ชูภาพลักษณ์ว่าเป็นคนมือสะอาด ต่อต้านคอร์รัปชัน และเป็นผู้นำทางการทหารที่เด็ดขาด และใช้นโยบาย “Change” ในการหาเสียง โดยเน้นการปราบปรามคอร์รัปชันและ
มุ่งปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย Boko Haram รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.Olusegun Obasanjo ประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งยังคงมีอิทธิพลทางการเมือง
ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ 23 ก.พ.2562 โดยให้คำมั่นจะปราบปรามการคอร์รัปชัน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่ม Boko Haram ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ความขัดแย้งจากการ
แย่งชิงพื้นที่ทำกินระหว่างคนเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรทางตอนกลางของประเทศ และปัญหากลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ทางเหนือและทางใต้ของประเทศ อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งจากปัญหาด้านสุขภาพ และการเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 25% ใน 24 รัฐ จากทั้งหมด 36 รัฐ วาระละ 4 ปี จำกัดไม่เกิน 2 สมัย การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อ 23 ก.พ.2562 นายมูฮัมมาดู บูฮารี ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 56% และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 29 พ.ค.2562 โดยมีนาย Oluyemi Yemi Osinbajo เป็นรองประธานาธิบดี การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน ก.พ.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีเช่นกัน วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 109 คน จากรัฐต่าง ๆ 36 รัฐ รัฐละ 3 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่งจากอาบูจา (Federal Capital Territory) สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวน 360 คน การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดจัดเมื่อ 23 ก.พ.2562 ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปของทั้งสองสภา
จะมีขึ้นใน 23 ก.พ.2566
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา
โดยการเสนอแนะของสภาตุลาการแห่งชาติ และสมาชิกศาลยุติธรรมอิสระจากรัฐบาลกลางและเขตรัฐ 23 คน ส่วนการแต่งตั้งผู้พิพากษาต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภา ผู้พิพากษาสามารถดำรงตำแหน่งได้จนถึงอายุ 70 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค All Progressives Congress (APC) พรรครัฐบาล และพรรค Peoples Democratic Party (PDP)
เศรษฐกิจ ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และยังมีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา คิดเป็น 47% ของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรวัยทำงานมากที่สุดของโลก ทำให้ไนจีเรียเป็นฐานผู้บริโภคและฐานแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ ไนจีเรียยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ดีบุก แร่เหล็ก ถ่านหิน หินปูน ตะกั่ว และสังกะสี โดยมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองในทวีปแอฟริกา (รองจากลิเบีย) ประมาณ 37,450 ล้านบาร์เรล และเป็นผู้ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของทวีปแอฟริกาประมาณ 1.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในแอฟริกาประมาณ 5.48 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร
เมื่อ มี.ค.2560 ไนจีเรียริเริ่มการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Economic Recovery and Growth Plan-ERGP) และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบหลากหลาย โดยเพิ่มการสนับสนุนด้านการลงทุนและ
การดำเนินธุรกิจของเอกชน และขับเคลื่อนทั้งด้านอุตสาหกรรมน้ำมันและภาคการเกษตร ส่งผลให้ไนจีเรียสามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาคการเกษตร ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไนจีเรียสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนภาคการเกษตรยังประสบปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงพื้นที่ทำกินระหว่างคนเลี้ยงปศุสัตว์และเกษตรกรทางตอนกลางของประเทศ และปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่ม Boko Haram ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ทั้งนี้ คาดว่า GDP ของไนจีเรียจะฟื้นตัวประมาณ 2.4% ในช่วงปี 2564 โดยจะได้รับแรงหนุนจากภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน ส่วนผลผลิตทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะลดลงอีก 7.4% เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตลง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : Nigerian Naira-NGN
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 410.2 NGN
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 12.28 NGN (ธ.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 432,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.8%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 2,097.09 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 61,384,184 คน
อัตราการว่างงาน : 9.00%
อัตราเงินเฟ้อ : 11.40%
ผลผลิตการเกษตร : โกโก้ ถั่วลิสง ฝ้าย น้ำมันปาล์ม ข้าวโพด ข้าว ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง มันเทศ ยางพารา ปศุสัตว์ แกะ แพะ สุกร ไม้ซุง และปลา
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม : น้ำมันดิบ ถ่านหิน ดีบุก แร่โคลัมไบต์ ผลผลิตจากยางพารา ไม้ หนังสัตว์ สิ่งทอ ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง อาหาร รองเท้า เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี สิ่งพิมพ์ เซรามิก และเหล็ก
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เสียเปรียบดุลการค้า 32,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 39,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 95% โกโก้ และยางพารา
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : อินเดีย 30.3% อินโดนีเซีย 7.4% จีน 6.9% ฝรั่งเศส 6.4% สเปน 6.3% สหรัฐฯ 5.9% และเนเธอร์แลนด์ 5.8%
มูลค่าการนำเข้า : 72,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การขนส่ง สินค้าอุตสาหกรรม อาหาร และสัตว์มีชีวิต
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน 23% สหรัฐฯ 10.3% เบลเยียม 7.1% อินเดีย 5.4% เนเธอร์แลนด์ 5.1% สหราชอาณาจักร 4.2% และเกาหลีใต้ 3.2%
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ดีบุก แร่เหล็ก ถ่านหิน หินปูน ตะกั่ว และสังกะสี
การทหารและความมั่นคง
การทหาร กองทัพไนจีเรีย ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. งบประมาณด้านการทหารเมื่อปี 2563 จำนวน 2,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.58% ของ GDP กำลังพลรวม ประจำการ 143,000 นาย (ทบ. 100,000 นาย ทร. 25,000 นาย ทอ. 18,000 นาย) และกำลังรบกึ่งทหาร 80,000 นาย รวมกำลังทั้งสิ้น 223,000 นาย
อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รวมมากกว่า 316 คัน รถถังเบา (LT TK) รุ่น FV101 Scorpion 154 คัน รถหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) รวม 385 คัน รถหุ้มเกราะทหารราบ (IFV) รวม 32 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (APC) รวมมากกว่า 601 คัน รถหุ้มเกราะอรรถประโยชน์ (AUV) รุ่น Cobra 107 คัน รถหุ้มเกราะกู้ภัย (ARV) รวม 17 คัน รถถังทอดสะพาน (VLB) รุ่น MTU-20 และรุ่น VAB อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) รุ่น Shershen ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังต่อสู้รถถัง (RCL) รุ่น Carl Gustav และรุ่น M40A1 ปืนใหญ่ประเภทอัตตาจร (SP) ลากจูง (TOWED) ยิงระเบิด (MRL) และปืนครก (MOR) รวมมากกว่า 518 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยานพื้นสู่อากาศ (SAM) และปืนต่อสู้อากาศยานประเภทอัตตาจร (SP) และลากจูง (TOWED) 104 กระบอก
ทร. ได้แก่ เรือฟริเกต 1 ลำ เรือลาดตระเวนและเรือรบชายฝั่ง 117 ลำ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก 4 ลำ เรือสนับสนุน 1 ลำ
ทอ. ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ (FTR) 12 เครื่อง เครื่องบินด้านข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT) 2 เครื่อง เครื่องบินด้านข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน (ISR) 1 เครื่อง เครื่องบินขนส่ง (TPT) 34 เครื่อง และเครื่องบินสำหรับการฝึก (TRG) 118 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) 16 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ (MRH) มากกว่า 11 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ขนส่ง (TPT) 23 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบเบา (Light) 11 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับมากกว่า 2 เครื่อง ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ (AAM) ขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้น (ASM) และระเบิดนำวิถีด้วยแรงเฉื่อยและจีพีเอส (Bombs–INS/GPS guided)
ไนจีเรียส่งกำลังร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ได้แก่ ภารกิจ MINUSCA ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง 3 นาย ภารกิจ MONUSCO ในคองโก 12 นาย ภารกิจ UNIFIL ในเลบานอน 1 นาย ภารกิจ MINUSMA ในมาลี 82 นาย ภารกิจ UNMISS ในเซาท์ซูดาน 10 นาย ภารกิจ UNISFA ในซูดาน 3 นาย และภารกิจ MINURSO ใน Western Sahara 3 นาย นอกจากนี้ ยังส่งกำลังร่วมในประชาคมเศรษฐกิจแห่ง
รัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ได้แก่ ภารกิจ ECOMIG ในแกมเบีย 197 นาย และภารกิจ ECOMIB ในกินีบิสเซา 100 นาย
ความสัมพันธ์ไทย-ไนจีเรีย
ไทยและไนจีเรียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 1 พ.ย.2505 ไทยเปิด สอท. และแต่งตั้ง ออท.ประจำที่ลากอส เมื่อปี 2506 นับเป็น สอท. แห่งแรกของไทยในทวีปแอฟริกา แต่เมื่อ 2 ก.ค.2539 ครม. มีมติปิด สอท. ณ ลากอส เป็นการชั่วคราว ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณและความปลอดภัย สอท. ณ ลากอส ได้ปิดทำการตั้งแต่ 30 พ.ย.2539 ต่อมา เมื่อ 18 ก.ค.2549 ครม. มีมติให้ปิด สอท. ณ ลากอส เป็นการถาวร และย้าย สอท. จากลากอสไปตั้งอยู่ ณ อาบูจา เมื่อ ธ.ค.2549
สำหรับไนจีเรียเคยมอบหมายให้ สอท. ไนจีเรียประจำฟิลิปปินส์ มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย ต่อมา เมื่อ ก.พ.2543 ไนจีเรียได้เปิด สอท. ที่กรุงเทพฯ
ไนจีเรียเคยเป็นตลาดนำเข้าข้าวที่สำคัญของไทย แต่ประกาศยกเลิกการนำเข้าข้าวจากไทยเมื่อ 1 ม.ค.2561 เพราะสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ จากการดำเนินโครงการ Presidential Fertilizer Initiative (PFI) โครงการ Anchor Borrowers และการสนันสนุนเงินกู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อผลิตข้าว อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถแสวงโอกาสผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร และการตั้งโรงสีข้าวในไนจีเรีย เนื่องจากไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านการเกษตรโดยเฉพาะข้าว อีกทั้งชาวไนจีเรียยังนิยมบริโภคข้าวไทยและให้การยอมรับในด้านการผลิตข้าว
เมื่อปี 2563 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรียมีมูลค่า 1,132.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 592.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังไนจีเรียมูลค่า 179.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 953.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 774.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีมูลค่าการค้า 1,024.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 231.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 793.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 562.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ด้ายและเส้นใย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ปัญหาเศรษฐกิจ ไนจีเรียมีสภาวะเศรษฐกิจหดตัว -6.1% ในไตรมาสที่สองของปี 2563 เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำทั่วโลก และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยการผลิตน้ำมันในไตรมาสที่สองของปี 2563 อยู่ที่วันละ 1.81 ล้านบาร์เรล ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่วันละ 1.98 ล้านบาร์เรล ขณะที่กิจกรรมภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมันลดลงโดยเฉลี่ย 6.05% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบเกือบสามปี
2) ปัญหาการก่อการร้าย ปัจจุบันกลุ่ม Islamic State West Africa Province (ISWAP) ซึ่งแยกออกมาจากกลุ่ม Boko Haram เป็นกลุ่มหลักที่เคลื่อนไหวในภูมิภาค ตอ.น.ของไนจีเรีย หลังจากสามารถสังหารนาย Abubakar Shekau หัวหน้ากลุ่ม Boko Haram เมื่อ 19 พฤษภาคม 2564 ทำให้ยึดครองพื้นที่ Sambisa Forest มาเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มได้ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการของกลุ่มที่ดีกว่าฐานที่มั่นเดิมซึ่งอยู่บริเวณทะเลสาบชาด รวมทั้งยังสามารถควบคุมหนึ่งในเส้นทางหลักไปยังเมือง Maiduguri รัฐ Borno
3) ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนและนักการเมืองบางส่วนว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีอายุมากเกินไปและ
มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะการปราบปรามกลุ่ม Boko Haram ปัญหาความรุนแรงในการแย่งที่ทำกินระหว่างกลุ่มชาวนากับกลุ่มคนเลี้ยงปศุสัตว์ ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาคอร์รัปชัน ตามที่ให้คำมั่นไว้
4) ปัญหาการประท้วงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบตำรวจ โดยเมื่อปี 2563 มีการประท้วงต่อต้านหน่วยการโจรกรรมพิเศษ (Special Anti-Robbery Squad-SARS) ซึ่งมีการกล่าวหาว่าหน่วย SARS เฆี่ยนตี สังหาร และรีดไถเงินจากประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน และเมื่อ ต.ค.2563 มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน ที่เมือง Lagos ทั้งนี้ แม้ว่าประธานาธิบดีบูฮารี ประกาศยุบหน่วย SARS และให้คำมั่นว่าจะปฏิรูประบบตำรวจอย่างครอบคลุม แต่ประชาชนยังคงประท้วงต่อไป เนื่องจากเคยมีการเรียกร้องลักษณะเดียวกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลมีการตอบรับจะปฏิรูปแล้วหลายครั้ง แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
5) ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไนจีเรียตกต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะปัจจุบันที่เผชิญปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่มีอัตราการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ประชากรต่ำ