คณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ
(Gulf Cooperation Council-GCC)
คณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ
(Gulf Cooperation Council-GCC)
เลขาธิการ ดร.นาอีฟ ฟะลาฮ์ มุบาร็อก อัลฮัจญ์ร็อฟ (ชาวคูเวต)
ภารกิจ GCC หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า คณะมนตรีความร่วมมือเพื่อรัฐอาหรับในภูมิภาคอ่าว (Cooperation Council for the Arab States of the Gulf-CCASG) เป็นองค์การความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในตะวันออกกลาง ประกอบด้วยรัฐรอบอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ก่อตั้งขึ้นตามกฎบัตร GCC ซึ่งลงนามในที่ประชุมระดับประมุขของรัฐรอบอ่าวอาหรับทั้ง 6 ประเทศ ที่อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อ 25 พ.ค.2524 ก่อนลงนามในความตกลงทางเศรษฐกิจร่วมกัน (Unified Economic Agreement) ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 11 พ.ย.2524 และมีพัฒนาการความร่วมมือระหว่างกันมาโดยลำดับ เฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ GCC มีมติเมื่อ พ.ค.2554 ตอบรับคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจอร์แดนและโมร็อกโก ซึ่งทั้งสองประเทศมีที่ตั้งอยู่นอกอนุภูมิภาค แต่จนถึงปัจจุบันสมาชิก GCC กับจอร์แดนและโมร็อกโกยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาเกี่ยวกับรูปแบบสมาชิกภาพของจอร์แดนและโมร็อกโกใน GCC ขณะเดียวกันเยเมนซึ่งเป็นประเทศในอนุภูมิภาค แสดงความสนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก
มาตรา 4 ของกฎบัตร GCC ปี 2524 ระบุวัตถุประสงค์การจัดตั้ง GCC ไว้ดังนี้
– ส่งเสริมการประสานงาน การบูรณาการ และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐสมาชิกในทุก ๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเอกภาพในหมู่สมาชิก
– เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประชาชนของรัฐสมาชิกในด้านต่าง ๆ
– เพื่อจัดทำกฎระเบียบให้สอดคล้องกันในด้านเศรษฐกิจและการเงิน การค้า ศุลกากร การสื่อสาร การศึกษา และวัฒนธรรม
– ส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การเกษตร การพัฒนาทรัพยากรและปศุสัตว์ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (joint ventures) และส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความกินดีอยู่ดีของประชาชนในรัฐสมาชิก
ส่วนการจัดโครงสร้างองค์กรตามมาตรา 6-16 ของกฎบัตร GCC กำหนดให้องค์กรหลักของ GCC ประกอบด้วย หน่วยงานที่สำคัญ 3 หน่วยงาน ได้แก่
ในการประชุมสุดยอด GCC ครั้งที่ 19 ที่อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปี 2541 คณะมนตรีสูงสุดมีมติเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษา (Consultative Commission) คั่นกลางระหว่างการประชุมสุดยอด 2 ครั้ง เป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิของรัฐสมาชิก 6 ประเทศ ประเทศละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี รับผิดชอบการศึกษาประเด็นต่าง ๆ ที่คณะมนตรีสูงสุดมอบหมายให้ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมาธิการอีกคณะที่อยู่ในกำกับของคณะมนตรีสูงสุดคือ คณะกรรมาธิการระงับข้อพิพาท (Commission for the Settlement of Disputes) ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นชั่วคราว เพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่าง ๆ เป็นกรณีไป
โครงสร้างของสำนักเลขาธิการ ประกอบด้วย
3.1 เลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร โดยเป็นพลเมืองของรัฐสมาชิก GCC ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะมนตรีสูงสุด โดยการแนะนำของคณะมนตรีรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เพียง 2 สมัย
3.2 ผู้ช่วยเลขาธิการ ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 คน และแต่ละคนอาจได้รับมอบหมายหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบกิจการด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ความมั่นคง มนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย สื่อ วัฒนธรรม การเงินและการบริหาร และการเจรจา นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการจะรวมหัวหน้าคณะผู้แทน GCC ประจำบรัสเซลส์ เบลเยียมด้วย โดยทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีรัฐมนตรีตามที่เลขาธิการเสนอ และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี
3.3 ผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ในกำกับของสำนักเลขาธิการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการ ได้แก่ ฝ่ายกิจการการเมือง ฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ ฝ่ายกิจการด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกิจการทหาร ฝ่ายกิจการความมั่นคง ฝ่ายกิจการด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการ ฝ่ายกิจการการคลังและการบริหาร สำนักงานคุ้มครองสิทธิบัตร หน่วยพัฒนาด้านการบริหาร หน่วยตรวจสอบภายใน ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนถาวร GCC ประจำบรัสเซลส์ เบลเยียม และสำนักงานโทรคมนาคมในบาห์เรน
การจัดตั้ง GCC ในระยะแรกเป็นความพยายามสร้างระบบพันธมิตรทางการเมืองและความมั่นคงร่วมกันเป็นหลัก โดยอาศัยการฝึกซ้อมการป้องกันภัยทางอากาศ การพัฒนามาตรฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกซ้อมการเคลื่อนพลเร็วสำหรับกรณีฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ถูกโจมตี เฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้ง กกล.ร่วมที่เรียกว่า “กกล.โล่พิทักษ์คาบสมุทร” (Peninsula Shield Force) เมื่อปี 2527 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความอยู่รอดปลอดภัยจากภัยคุกคาม 2 ประการ ได้แก่ 1) การประกาศนโยบายส่งออกการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน หลังจากอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ มูซาวี โคมัยนี สามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์และสถาปนาการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลามขึ้นมาแทนเมื่อปี 2522 และ 2) สงครามอิรัก-อิหร่านเมื่อปี 2523 ที่ยืดเยื้อถึง 8 ปี ก่อนจะยุติลงเมื่อปี 2531 ปัจจุบัน กกล.ดังกล่าวมีกำลังพลเกือบ 40,000 นาย ประจำการอยู่ที่ฐานทัพถาวรใน King Khalid Military City (KKMC) ใกล้เมือง Hafar al-Batin ทางภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย โดยที่ผ่านมามีการส่ง กกล.ดังกล่าวไปปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐสมาชิก 3 ครั้ง ได้แก่ สงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2534 สงครามอิรักปี 2546 และการส่ง กกล.ไปรักษาความสงบในบาห์เรนจากเหตุวุ่นวายทางการเมืองเมื่อ มี.ค.2554
ความร่วมมือของ GCC ในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมของ GCC ค่อนข้างประสบความสำเร็จโดดเด่นกว่าความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหารอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area-FTA) เมื่อปี 2526 และมีการยกระดับความร่วมมือเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เมื่อปี 2546 จนปัจจุบันกลายเป็นตลาดร่วม (Common Market) ตั้งแต่ 1 ม.ค.2551 นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพการเงิน (Monetary Union) และเริ่มใช้เงินตราสกุลเดียว (single currency) ให้ได้ในอนาคต หลังจากมีการจัดตั้งคณะมนตรีการเงิน (Monetary Council) ที่ริยาด ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ มี.ค.2553 อย่างไรก็ดี การบังคับใช้ข้อตกลงจัดตั้งสหภาพศุลกากรของ GCC จากเดิมที่กำหนดจะเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ถูกเลื่อนบังคับใช้มาตลอด เนื่องจากประเทศสมาชิกไม่สามารถเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ การทุ่มตลาด และการปกป้องตลาด เฉพาะอย่างยิ่งการจัดแบ่งภาษีเงินได้ระหว่างประเทศสมาชิก ส่งผลให้การบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ม.ค.2558
ดร.นาอีฟ ฟะลาฮ์ มุบาร็อก อัลฮัจญ์ร็อฟ (ชาวคูเวต)
เลขาธิการ
สมาชิก รัฐรอบอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ
ก่อตั้งเมื่อ 25 พ.ค.2524
ความสัมพันธ์ไทย-GCC
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ GCC มีทั้งในลักษณะทวิภาคีและพหุภาคี โดยไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสมาชิก GCC เป็นรายประเทศ ทั้ง 6 ประเทศ และมีการเยือนระหว่างกันทั้งในระดับทางการและไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2549 ที่มีประมุขและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงของ รัฐรอบอ่าวอาหรับเข้าร่วมครบทุกประเทศ (ยกเว้นซาอุดีอาระเบียที่ยังคงมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยจากกรณีโจรกรรมเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียและกรณีฆาตกรรมนักการทูตและนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียในไทย) นอกจากนี้ สมาชิก GCC หลายประเทศ อาทิ บาห์เรน ยังมีบทบาทสนับสนุนและช่วยไทยในการทำความเข้าใจกับโลกมุสลิม เฉพาะอย่างยิ่งในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากความพยายามต้องการแบ่งแยกดินแดน มิใช่ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบายกดขี่คนไทยมุสลิม
ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ GCC เป็นแหล่งนำเข้าพลังงานและตลาดแรงงานที่สำคัญของไทย ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ประชาชนใน GCC ให้ความสนใจในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและประเทศที่ให้บริการทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงและมีคุณภาพ ทั้งนี้ การที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันดังกล่าว จะส่งผลให้สามารถกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดต่อไปได้อีกในอนาคต
ความสัมพันธ์ในกรอบพหุภาคี ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนพยายามกระชับความสัมพันธ์กับ GCC ผ่านกรอบการหารือระหว่างอาเซียน-GCC ที่พัฒนามากขึ้น หลังจากนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน พบหารือกับนายอับดุรเราะห์มาน อัลอะฏียะฮ์ เลขาธิการ GCC ที่สำนักเลขาธิการ GCC ในริยาด ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ ก.ย.2551 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงพิจารณาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-GCC อย่างเป็นทางการนอกรอบการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ รวมทั้งอาจจัดการประชุมอย่างเป็นทางการในประเทศสมาชิกของแต่ละฝ่าย โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพในอนาคต
ข้อตกลงดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน-GCC ครั้งที่ 1 ที่มานามา บาห์เรน เมื่อ 30 มิ.ย.2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-GCC ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ ระหว่าง 31 พ.ค.-1 มิ.ย.2553 ที่ประชุมมีมติรับรองแผนปฏิบัติการ 2 ปี (ปี 2553-2555) ของอาเซียน-GCC ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบการดำเนินกิจกรรมและมาตรการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในห้วงดังกล่าว ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน-GCC ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่มานามา บาห์เรน เมื่อ 26 พ.ย.2556 ที่ประชุมมีมติให้ทั้ง 2 ฝ่ายส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ภายใต้กรอบการทำงาน 6 สาขา ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน 2) การศึกษา 3) วัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร 4) ความมั่นคงด้านอาหารและการลงทุนในภาคเกษตร 5) พลังงาน และ 6) การท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีมติยอมรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของเมียนมา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน-GCC ครั้งที่ 4 ในปี 2557 แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้จัดการประชุมตามที่กำหนดไว้ในปี 2557 ต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers Meeting-AMM) เมื่อ 28 เม.ย.2560 ที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ เห็นชอบในหลักการให้ไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-GCC ดำเนินการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ASEAN–GCC ครั้งที่ 4 ที่ไทย ภายในปี 2560 แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก GCC กรณีซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ เมื่อ มิ.ย.2560 ทำให้ไทยไม่สามารถจัดการประชุมได้ อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงแสดงความสนใจจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ GCC โดยที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 39 ผ่านระบบประชุมทางไกลเมื่อ 22 ก.พ.2564 ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียน มีการหารือแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาคที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า GCC ยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นคู่เจรจา FTA กับอาเซียนในอนาคต