กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
International Monetary Fund (IMF)
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
International Monetary Fund (IMF)
เว็บไซต์ www.imf.org
ที่ตั้ง วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ
ผู้อำนวยการบริหาร
นาง Kristalina Ivanova Georgieva-Kinova หรือ Kristalina Georgieva นักเศรษฐศาสตร์
ชาวบัลแกเรีย ดำรงตำเเหน่งเมื่อ 1 ต.ค.2562 (วาระ 5 ปี)
ภารกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ก่อตั้งเมื่อ 22 ก.ค.2487 เป็นผลจากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือ Bretton Woods Conference ที่เบรตตันวูดส์ สหรัฐฯ มีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ และมีหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างสมดุล เสริมสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาด้านการเงิน
IMF จะเผยแพร่รายงานการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ในช่วง เม.ย. และ ต.ค. ของทุกปี พร้อมกับเสนอแนะนโยบายในการบริหาร นโยบายการเงิน และจัดการเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ ยังส่งผู้แทนเข้าศึกษาและประเมินเศรษฐกิจแต่ละประเทศในโครงการ Country Surveillance เป็นประจำทุกปี อีกทั้งจัดการประชุมระดับผู้บริหารกับธนาคารโลก (World Bank-WB) โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เข้าหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจโลกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วง เม.ย. และ ต.ค.
เมื่อปี 2562 เป็นปีแรกที่ IMF สอดแทรกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง อีกทั้งจะนำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวิเคราะห์และประเมินตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังกังวลต่อผลกระทบของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก และทำให้เศรษฐกิจโลกใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัว จึงเสนอให้แต่ละประเทศปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายการคลังมากกว่าการพึ่งพิงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนานทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
เมื่อปี 2563 IMF ให้เงินทุนช่วยเหลือให้กับประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับโรค COVID-19 โดยประเทศสมาชิกมีสิทธิเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน General Resources Account (GRA) ทั้งนี้ IMF จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแต่ละประเทศแตกต่างกันตามสภาวะเศรษฐกิจ อาทิ IMF สนับสนุนเงินทุนให้กับประเทศรายได้น้อยด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% จนถึง มิ.ย.2564 ผ่าน Poverty Reduction and Growth Trust (PRGT) และสนับสนุนเงินทุนให้ประเทศรายได้น้อยที่ต้องการเงินทุนสำหรับปรับโครงสร้างดุลการชำระเงินเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าผันผวนรุนแรง การเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ตลอดจนเกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจผ่านแหล่งเงินทุน Rapid Financing Instrument (RFI) ซึ่งจนถึงสิ้น ต.ค.2563 IMF ให้เงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แล้วมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของขีดความสามารถในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ IMF มีอยู่
สำหรับปี 2564 IMF ประสบความสำเร็จในการเพิ่มการจัดสรรสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights-SDRs) หรือสินทรัพย์ที่ IMF กำหนดขึ้น และถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศครั้งใหม่มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีผลบังคับใช้เมื่อ ส.ค.2564 โดยจะเป็นสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกด้วยการสนับสนุนทุนสำรองระหว่างประเทศ และช่วยลดภาระหนี้ระดับสูงให้กับสมาชิก อีกทั้งสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ให้กับสมาชิก โดย IMF ย้ำให้สมาชิกใช้ SDRs ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการกำกับดูแลที่เข้มงวดและโปร่งใส ซึ่ง IMF ได้สร้างกรอบการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคของการจัดสรร SDRs ครั้งใหม่ อาทิ การกำกับดูแล การประเมินผลดีต่อการสร้างความยั่งยืนด้านการกู้เงินและภาระหนี้ อีกทั้งมีการทบทวน ติดตามผล และรายงานการใช้ SDRs ทุก 2 ปี
อย่างไรก็ดี The Atlantic Council Think Tank ของสหรัฐฯ ระบุห้วง ส.ค.2564 ว่า รัฐบาลอัฟกานิสถาน เมียนมา และเวเนซุเอลา จะไม่ได้รับการจัดสรร SDRs ดังกล่าว ทำให้มีเพียง 187 ประเทศจาก 190 ประเทศที่ได้รับการจัดสรร เพราะ IMF ระงับสิทธิ SDRs ต่อเวเนซุเอลาเมื่อปี 2562 ส่วนรัฐบาลเมียนมาและอัฟกานิสถาน ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะอย่างเป็นทางการจากประชาคมระหว่างประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในช่วงปี 2564 นอกจากนี้ IMF ยังร่วมกับธนาคารโลก (World Bank-WB) เรียกร้องให้ประเทศเจ้าหนี้ผ่อนปรนการชำระหนี้ต่อประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 โดยระบุว่า เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้มีเงินทุนเพียงพอในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ IMF และ WB ได้ร่วมกันออกมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้เปล่าและให้กู้เงิน โดยมุ่งเน้นที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้ระดับสูง นอกจากนี้ IMF ยังเรียกร้องให้สมาชิก G-20 ให้ความช่วยเหลือคนจนและกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ทรงตัวได้
Kristalina Georgieva
(ผู้อำนวยการบริหาร)
สมาชิก 189 ประเทศ
ก่อตั้งเมื่อ 22 ก.ค.2487
ทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก
IMF เผยแพร่ผลสำรวจสัดส่วนทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ (Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves-COFER) เมื่อ 5 พ.ค.2564 ว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองลดต่ำลงเหลือ 59% เมื่อไตรมาส 4/2563 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกถือครองสกุลเงินอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 เฉพาะอย่างยิ่งสกุลเงินดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินหยวนของจีน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2552 จนรวมกันอยู่ที่ 9% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด ภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของดอลลาร์สหรัฐที่ลดลงในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากสัดส่วนถือครองเงินทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดต่ำลงมาก อาจกระทบตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตรทั่วโลก
นอกจากนี้ สัดส่วนการถือครองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลางทั่วโลกจะยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มจะมุ่งกระจายความเสี่ยงค่าเงิน เฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางรัสเซียที่ลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับสัดส่วนดังกล่าว แต่ IMF คาดว่า ดอลลาร์สหรัฐ จะยังคงเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากที่สุดในโลกต่อเนื่องในระยะยาว
ความสัมพันธ์กับไทย
ไทยสมัครเป็นสมาชิก IMF เมื่อ 3 พ.ค.2492 เป็นสมาชิกลำดับที่ 44 ไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ตามโครงการเงินกู้ Stand-by รวม 5 ครั้ง วงเงินรวม 4,431 ล้าน SDR (Special Drawing Right/ค่าเงินกลางของ IMF) โดยเมื่อปี 2521 กู้เงิน 45.25 ล้าน SDR ต่อมาในช่วงที่ไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2524-2529 ได้รับกู้เงิน 3 ครั้ง รวม 1,486 ล้าน SDR และเมื่อ ส.ค.2540 ไทยกู้เงิน 2,900 ล้าน SDR (วิกฤตต้มยำกุ้ง) อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถชำระคืนเงินกู้จาก IMF ได้ทั้งหมดเมื่อ ก.ค.2546 ซึ่งเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดถึง 2 ปี ทำให้ปัจจุบันไทยไม่มีภาระหนี้คงค้างกับ IMF และถือเป็นการประกาศเอกราชทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ ไทยได้รับการจัดสรรสิทธิพิเศษในการถอนเงิน หรือ SDRs จาก IMF เมื่อ ส.ค.2564 เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 140,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่มีต้นทุนด้านดอกเบี้ยที่ไทยต้องจ่าย