สาธารณรัฐอิตาลี
Italian Republic
สาธารณรัฐอิตาลี
Italian Republic
เมืองหลวง โรม
ที่ตั้ง ยุโรปตอนใต้ มีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นออกไปกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีพื้นที่ 301,340 ตร.กม. ขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 72 ของโลก โดยแบ่งเป็นพื้นแผ่นดิน 294,140 ตร.กม. และน่านน้ำ 7,200 ตร.กม. ระยะทางชายแดนรวม 1,899.2 กม. (ด้านออสเตรีย 430 กม. ฝรั่งเศส 488 กม. นครรัฐวาติกัน 3.2 กม. ซานมารีโน 39 กม. สโลวีเนีย 199 กม. และสวิตเซอร์แลนด์ 740 กม.) ระยะทางชายฝั่งรวม 7,600 กม. อิตาลีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เนื่องจากอยู่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสามารถเดินทางไปยังยุโรปตะวันออก โดยทางทะเล (ตอนใต้) และทางอากาศได้
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย
ทิศใต้ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลไอโอเนียน
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลอาเดรียติก (อยู่ตรงข้ามกับสโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
มอนเตเนโกร และแอลเบเนีย)
ทิศตะวันตก ติดกับฝรั่งเศสและทะเลไทเรเนียน
ภูมิประเทศ พื้นที่ 75% เป็นภูเขาและที่ราบสูง จุดที่สูงที่สุดของประเทศ คือ Mont Blanc de Courmayeur ระดับความสูง 4,748 ม.
วันชาติ 25 เม.ย.
นายจูเซปเป คอนเต
Giuseppe Conte
(นรม.อิตาลี)
ประชากร 62,390,364 คน (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 13.45% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 64.47% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 22.08% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 82.67 ปี อายุขัยเฉลี่ยของชาย 80.01 ปี อายุขัยเฉลี่ยของหญิง 85.49 ปี อัตราการเกิด 8.37 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 10.7 คนต่อประชากร 1,000 คน
การก่อตั้งประเทศ
บริเวณที่เป็นอิตาลีในปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล และถูกรวมอยู่ในอาณาจักรโรมันตะวันตกในระหว่างศตวรรษที่ 1-5 จากนั้นกลายเป็นสมรภูมิในความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างสันตะปาปาที่กรุงโรมกับจักรพรรดิของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในศตวรรษที่ 11 ดินแดนภาคกลางและภาคเหนือของอิตาลีเริ่มรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางการค้า หลังศตวรรษที่ 16 จึงเสื่อมลงแต่ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 อิตาลีเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวิทยาการ ตลอดจนวรรณกรรมที่เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตะวันตกยุคต่อมา
เมื่อปี 2404 กษัตริย์ Victor Emanuel ที่ 2 ได้รวบรวมรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลีและเกาะซิซิลีสถาปนาเป็นประเทศอิตาลี ต่อมาในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แต่กลับสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงเกือบสิ้นสุดสงครามเมื่อปี 2458 จึงได้รับดินแดนบางส่วนของออสเตรียมาอยู่ใต้การปกครองของอิตาลี ต่อมาในห้วงปี 2465-2486 อิตาลีปกครองระบอบฟาสซิสต์โดย Benito Mussolini มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐแต่เพียงในนาม ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีอยู่ฝ่ายอักษะ แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยึดเกาะซิซิลีได้เมื่อปี 2486 กษัตริย์อิตาลีได้ปลด Mussolini จากตำแหน่งและแต่งตั้งนายพล Pietro Badaglio ขึ้นเป็น นรม.แทน และอิตาลีหันไปประกาศสงครามกับเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐในระบอบประชาธิปไตย (2 มิ.ย.2489) และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 1 ม.ค.2491 ซึ่งยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้นได้แก่ 1) Abruzzo 2) Basilicata 3) Calabria 4) Campania 5) Emilia-Romagna 6) Friuli-Venezia Giulia 7) Lazio 8) Liguria9) Lombardy (Lombardia) 10) Marche 11) Molise 12) Piemonte 13) Puglia 14) Sardinia (Sardegna) 15) Valle d’Aosta (Valléed’Aoste) 16) Tuscany (Toscana) 17) Trentino-Alto Adige 18) Umbria 19) Sicily (Sicilia) และ 20) Veneto โดยแคว้น Friuli-Venezia Giulia, Sardegna, Sicilia, Trentino-Alto Adige และ Valléed’Aoste มีอำนาจปกครองตนเอง และ 110 จังหวัด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดี Sergio Mattarella เป็นประมุข โดยประธานาธิบดี Mattarella (อายุ 81 ปี/ปี 2565) ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 12 ของอิตาลีเมื่อ 3 ก.พ.2558 ประธานาธิบดีอิตาลีได้รับการเลือกตั้งโดยรัฐสภา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 630 คน และวุฒิสภา 321 คน) ร่วมกับผู้แทนภูมิภาค (จำนวน 58 คน ซึ่งมาจากเขตการปกครองทั้ง 20 แคว้นร่วมกันแต่งตั้ง) ประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี เช่น การเป็นประธานในงานพิธีต่าง ๆ การแต่งตั้ง นรม. การคัดค้านการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ การยุบสภา ขณะที่ นรม.เป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาลโดยความเห็นชอบจากประธานาธิบดี
นรม.อิตาลีคนปัจจุบัน คือ นาย Mario Draghi เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 13 ก.พ.2564 ต่อจากอดีต นรม. Giuseppe Conte ที่ลาออก เนื่องจากเผชิญวิกฤติรัฐบาลผสมขาดเสถียรภาพเสียงข้างมาก หลังพรรค Italia Viva ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จากความขัดแย้งในประเด็นการรับมือของรัฐบาลต่อสถานการณ์โรค COVID-19 และแผนการใช้เงินกองทุนฟื้นฟูของสหภาพยุโรป (EU) โดยภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ นรม. Mario Draghi คือ การจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอิตาลีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา วาระการดำรงตำแหน่งของทั้ง 2 สภา คือ 5 ปี การเลือกตั้งเป็นการลงคะแนนเสียงผสมระหว่างแบบเสียงข้างมาก 75% และแบบสัดส่วน 25% โดยจะเลือกตั้งพร้อมกันทั้ง 2 สภา การบัญญัติกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 630 คน โดย 618 คน มาจากการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งภายในประเทศ และอีก 12 คนมาจากหน่วยเลือกตั้งในต่างประเทศ
วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 321 คน มากจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแคว้นต่าง ๆ 315 คน และวุฒิสมาชิกตลอดชีพที่มาจากการแต่งตั้งจากบุคคลชั้นนำในสังคมจำนวน 6 คน
ฝ่ายตุลาการ : ฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา) และศาลชำนัญพิเศษ
พรรคการเมือง : พรรคการเมืองที่สำคัญ พรรคฝ่ายรัฐบาล เช่น 1) พรรค Five Star Movement (M5S) มีนาย Giuseppe Conte เป็นหัวหน้าพรรค 2) พรรค League หรือ Lega Nord มีนาย Umberto Bossi เป็นหัวหน้าพรรค 3) พรรค Democratic Party มีนาง Valentina Cuppi เป็นหัวหน้าพรรค พรรคฝ่ายค้าน เช่น 1) พรรค Fretelli d’Italia หรือ Brothers of Italy มีนาง Giorgia Meloni เป็นหัวหน้าพรรค 2) พรรค L’Alternativa c’e มีนาง Andrea Colletti เป็นหัวหน้าพรรค
เศรษฐกิจ อิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรป มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มีอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐาน โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นแกนขับเคลื่อนหลักของภาคอุตสาหกรรม สินค้าของอิตาลีได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูงจึงสามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับบนหรือตลาดที่เน้นเป้าหมายกลุ่มลูกค้าระดับสูง
อุตสาหกรรม : ท่องเที่ยว เครื่องจักรกล เหล็กและโลหะ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป สิ่งทอ รถยนต์ เสื้อผ้า รองเท้า
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.16 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.87 บาท (ต.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 1,886,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -8.9%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 31,676 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 25.08 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 9.3%
อัตราเงินเฟ้อ : -0.1%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 69,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 496,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องประดับอัญมณี เลนส์ แว่นตาและส่วนประกอบ
มูลค่าการนำเข้า : 422,879 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง ปลาหมึกมีชีวิต สด แช่เย็น และแช่แข็ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางพารา รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม
คู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐฯ และจีน
การทหาร กำลังพลประจำการรวม 165,500 นาย (แยกเป็น ทบ. 96,700 นาย ทร. 28,850 นาย ทอ. 39,950 นาย และ กกล.สารวัตรทหาร 175,750 นาย) นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรองอีก 18,300 นาย (แยกเป็น ทบ. 13,400 นาย และ ทร. 4,900 นาย) งบประมาณด้านการทหารร้อยละ 1.6 ของ GDP
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) การก่อเหตุจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยหน่วยข่าวกรองอิตาลีประเมินว่ากลุ่ม Islamic State (IS) ยังมีศักยภาพและยังคงมีแรงจูงใจต่อการก่อเหตุในยุโรป ทั้งความเสี่ยงจากกลุ่มผู้ที่เคยเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่ม IS ในซีเรียและเดินทางกลับสู่ยุโรป และปัจจัยเสี่ยงจากการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงภายในประเทศ ได้แก่ การเผยแพร่แนวคิดผ่านเครือข่ายออนไลน์ การถูกปลูกฝังแนวคิดขณะถูกคุมขัง และงานกิจกรรมที่มีการรวมตัวของชาวมุสลิมจำนวนมาก ทั้งนี้ ทางการเน้นการผลักดันบุคคลที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนแนวทางญิฮาดออกนอกอิตาลีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อห้วงปี 2561-2563 ได้ผลักดันผู้ต้องสงสัยจำนวน 283 คนออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มาจากตูนิเซีย โมร็อกโก และประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาเหนือ
2) การจัดการปัญหาผู้อพยพ การที่อิตาลีมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประเทศที่มีชายฝั่งและท่าเทียบเรือ จึงกลายเป็นประเทศด่านหน้าที่ต้องรับผู้อพยพจำนวนมากที่โดยสารเรือมาจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง และประสบปัญหาการจัดการค่ายผู้อพยพที่แออัด ทั้งนี้ อิตาลี (รวมถึงประเทศชายฝั่งอื่น ๆ ที่เป็นด่านหน้ารองรับผู้อพยพเช่นกัน อาทิ สเปน กรีซ มอลตา) ต้องการให้ชาติสมาชิกประเทศอื่น ๆ ใน EU ร่วมแบ่งเบาภาระการรองรับผู้อพยพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี :
ไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานตั้งแต่ 3 ต.ค.2411
ด้านการเมือง ไทยและอิตาลีไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินมาโดยราบรื่น
ด้านการค้า เมื่อปี 2563 อิตาลีเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 25 ในตลาดโลกและอันดับที่ 3 ในตลาดกลุ่ม EU มูลค่าการค้ารวม 112,005.72 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 44,078.59 ล้านบาท ไทยนำเข้ามูลค่า 67,927.12 ล้านบาท ไทยขาดดุล 23,848.53 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา ปลาหมึก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณีส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักร
ด้านการลงทุน เมื่อปี 2563 อิตาลีลงทุนในไทยผ่าน BOI จำนวน 11 โครงการ มูลค่ารวม 782 ล้านบาท
การท่องเที่ยว เมื่อปี 2563 มีนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีเดินทางมาไทย 60,104 คน ลดลงจากเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวน 272,310 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (30 ธ.ค.2498) ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ (10 ก.พ.2526) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี (28 ก.พ.2527) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงทหารไทย-อิตาลี (ปี 2537) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน (22 เม.ย.2531) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-อิตาลี ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับ Italian Trade Commission กระทรวงการค้าอิตาลี (มี.ค.2535) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลีระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี-CONFINDUSTRIA (14 มี.ค.2537) ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและเทคโนโลยีระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย กับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลี (27 มี.ค.2542) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (22 ก.ย.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (22 ก.ย.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลี (10 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจของอิตาลีในต่างประเทศระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับสถาบันการเงินของอิตาลี (10 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในเรื่องการส่งเสริมและการตลาดอาหารไทยและอิตาลี ในระดับระหว่างประเทศระหว่างสถาบันอาหารของไทยกับสถาบันเพื่อการค้าต่างประเทศของอิตาลีหรือ ICE (10 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสินค้า OTOP และ SMEs ระหว่างหอการค้าไทย-อิตาลีกับบริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอีจำกัดหรือ STP (10 พ.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วย การขยายความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี (1 ต.ค.2553) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ (7 มิ.ย.2554)
การเยือนอิตาลีครั้งล่าสุดของผู้นำไทย คือ เมื่อปี 2557 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. เยือนเมืองมิลาน อิตาลีเมื่อห้วง 16-17 ต.ค.2557 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 10
ความร่วมมือด้านวิชาการ : ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านพลังงาน บางส่วนเกี่ยวข้องกับการเกษตร คมนาคม สาธารณูปโภค อาชีวศึกษาและการแพทย์ ปัจจุบันไทยได้รับบริการข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม COSMO-Skymed ของอิตาลีเพื่อประโยชน์ด้านพลเรือนในการติดตามและประเมินภัยพิบัติต่าง ๆ การวิเคราะห์ด้านการเกษตร และการสำรวจทางวิศวกรรม
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
2) อิตาลีให้น้ำหนักกับแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้ครอบคลุม ว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยทางการประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะเติบโต 6% ดีขึ้นกว่าเมื่อปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว -8.9% และคาดหวังว่าภายในห้วงกลางปี 2565 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอยู่เหนือระดับการเติบโตช่วงก่อนหน้าการเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ ขณะที่หนี้สาธารณะปี 2564 จะอยู่ที่ 153.5% ของ GDP ลดลงจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 155.6% ของ GDP