ราชอาณาจักรบาห์เรน
Kingdom of Bahrain
ราชอาณาจักรบาห์เรน
Kingdom of Bahrain
เมืองหลวง มานามา
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 26-27 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 50-51 องศาตะวันออก โดยเป็นหมู่เกาะในอ่าวอาหรับ/อ่าวเปอร์เซีย ทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย มีพื้นที่ 760 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 188 ของโลก และเล็กกว่าไทยประมาณ 700 เท่า
อาณาเขต ไม่มีพรมแดนทางบกติดต่อกับประเทศใด เนื่องจากเป็นหมู่เกาะ โดยมีชายฝั่งทะเลยาวทั้งสิ้น 161 กม. อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย 24 กม. (มี King Fahd Causeway ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมบาห์เรน-ซาอุดีอาระเบีย ระยะทาง 25 กม. เปิดใช้งานเมื่อปี 2529 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้าง King Hamad Causeway ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมแห่งที่ 2 โดยสร้างขนานไปกับ King Fahd Causeway) และห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันตกของกาตาร์ 27 กม. (กำลังก่อสร้าง Friendship Causeway สะพานเชื่อมบาห์เรน-กาตาร์ ระยะทางกว่า 40 กม. ถือเป็น Causeway ที่สร้างขึ้นในทะเลที่ยาวที่สุดในโลกคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565)
ภูมิประเทศ เป็นหมู่เกาะในอ่าวอาหรับ/อ่าวเปอร์เซีย ประกอบด้วย เกาะต่าง ๆ 33 เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุด คือ เกาะบาห์เรน รองลงมา ได้แก่ เกาะ Umm an Nasan และเกาะ Sitrah ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย จึงมีพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกเพียง 2.1% จุดที่สูงที่สุดของประเทศอยู่ที่ภูเขา Al Dukhan ซึ่งมีความสูง 135 ม. ภัยธรรมชาติที่พบบ่อย ได้แก่ ภัยแล้ง และพายุฝุ่น
วันชาติ 16 ธ.ค. (บาห์เรนได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 15 ส.ค.2514 แต่เป็นอิสระจากการเป็นรัฐอารักขาของสหราชอาณาจักรเมื่อ 16 ธ.ค.2514)
มกุฎราชกุมารซัลมาน บิน ฮะมัด บิน อีซา อาลเคาะลีฟะฮ์
His Royal Highness Crown Prince Salman bin Hamad Al Khalifa
(นรม.)
ประชากร 1,526,929 คน (ประมาณการ ก.ค.2564) เป็นชาวบาห์เรน 46% เอเชีย 45.5% อาหรับอื่น ๆ 4.7% แอฟริกัน 1.6% ยุโรป 1% และอื่น ๆ 1.2% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 18.45% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 78.19% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.36% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 79.67 ปี เพศชายประมาณ 77.39 ปี เพศหญิงประมาณ 82.02 ปี อัตราการเกิด 12.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 2.81 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.9% (ประมาณการ ปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ ราชวงศ์อาลเคาะลีฟะฮ์เข้าไปมีอำนาจในบาห์เรน ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี 2326 และปกครองบาห์เรนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรนและรัฐรอบอ่าวอื่น ๆ อีก 8 รัฐ (กาตาร์ และอีก 7 รัฐที่กลายเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปัจจุบัน) ถูกกดดันให้ลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับกับสหราชอาณาจักร ส่งผลให้รัฐเหล่านี้ รวมทั้งบาห์เรน ซึ่งสหราชอาณาจักรเรียกว่า Trucial Sheikhdoms หรือ Trucial States มีสถานะกลายเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร แต่การที่สหราชอาณาจักรประกาศเมื่อปี 2511 ว่าจะถอนตัวจากรัฐรอบอ่าวทั้งหมดภายในปี 2514 สร้างความกังวลแก่เจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรนอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งกรณีอิหร่านอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบาห์เรนด้วยการออกร่างกฎหมายเมื่อปี 2500 ประกาศให้บาห์เรนเป็นจังหวัดที่ 14 ของอิหร่าน แต่หลังจากที่อิหร่านยกเลิกการอ้างสิทธิเหนือบาห์เรน เพื่อแสดงการยอมรับต่อผลการสำรวจความเห็นของชาวบาห์เรนที่สหประชาชาติจัดทำขึ้น พ.ค.2513 ซึ่งชาวบาห์เรนส่วนใหญ่เห็นว่า บาห์เรนเป็นรัฐ ที่มีเอกราชสมบูรณ์จากอิหร่าน ทำให้บาห์เรนไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมหารือกับ Trucial States เกี่ยวกับการจัดตั้งประเทศใหม่ หลังจากได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรและเลือกที่จะประกาศตัวเป็นรัฐเอกราชแทน โดยบาห์เรนได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 15 ส.ค.2514 ต่อมาเมื่อปี 2545 เชค ฮะมัด บิน อีซา อาลเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นเจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรนต่อจากพระราชบิดาเมื่อปี 2542 ทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์แรกของบาห์เรน และเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “รัฐบาห์เรน” เป็น “ราชอาณาจักรบาห์เรน” จนถึงปัจจุบัน
การเมือง ระบอบราชาธิปไตยกึ่งรัฐสภา สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นพระประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากรับรองรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศเมื่อ 14 ก.พ.2545 อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจที่สำคัญยังคงขึ้นอยู่กับสมเด็จพระราชาธิบดี และ นรม.เป็นหลัก
ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการแต่งตั้งหรือถอดถอน นรม. และ ครม. โดยสมาชิกพระราชวงศ์อาลเคาะลีฟะฮ์มักได้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน ครม. เฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงด้านความมั่นคง นรม.บาห์เรนคนปัจจุบัน คือ มกุฎราชกุมารซัลมาน บิน ฮะมัด บิน อีซา อาลเคาะลีฟะฮ์ (พระชนมมายุ 53 พรรษา/ปี 2565) พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮะมัด บิน อีซา อาลเคาะลีฟะฮ์ (พระชนมพรรษา 72 พรรษา/ปี 2565) เจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรนพระองค์ปัจจุบัน ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นรม.บาห์เรน เมื่อ 11 พ.ย.2563 หลังจากเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อาลเคาะลีฟะฮ์ นรม.บาห์เรน (พระชันษา 85 ปี/ปี 2563) สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าวันเดียวกัน ทั้งนี้ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ อดีต นรม.บาห์เรน ทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระราชาธิบดีฮะมัด ทรงดำรงตำแหน่ง นรม. มาตั้งแต่ปี 2514 โดยได้รับการบันทึกว่า ทรงเป็น นรม.ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในโลก (49 ปี/ปี 2563)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบ 2 สภา ประกอบด้วย 1) สภาที่ปรึกษา (Consultative Council/ Majlis al Shura) หรือวุฒิสภา มีสมาชิก 40 คน มาจากการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี การแต่งตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ ธ.ค.2561 และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (Council of Representatives/Majlis al Nuwab) มีสมาชิก 40 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ ต.ค.2545 ครั้งล่าสุดเมื่อ ธ.ค.2561 และครั้งถัดไป ปี 2565 ทั้งนี้ แม้บาห์เรนมีกฎหมายห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ก็อนุญาตให้มีการจัดตั้งกลุ่มการเมือง (political societies) ได้ โดยกลุ่มการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ 1) กลุ่ม Al Wefaq ของชาวชีอะฮ์เคร่งจารีต แต่ศาลสูงบาห์เรนมีคำสั่งยุบกลุ่มเมื่อ มิ.ย.2559 จากข้อกล่าวหาของรัฐบาลบาห์เรนว่า กลุ่ม Al Wefaq พยายามเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาล สร้างความแตกแยกในสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีแนวคิดหัวรุนแรงและก่อการร้าย 2) กลุ่ม Waad (National Democratic Action Society) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวซุนนีกับชาวชีอะฮ์ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเคร่งจารีต และเป็นพันธมิตรของกลุ่ม Al Wefaq ทั้งนี้ ศาลสูงบาห์เรนมีคำสั่งยุบ กลุ่ม Waad เมื่อ พ.ค.2560 จากข้อกล่าวหาของรัฐบาลบาห์เรนว่า กลุ่ม Waad เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย และ 3) กลุ่ม Al Asalah กับกลุ่ม Al Menbar ของชาวซุนนีเคร่งจารีต
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายมีพื้นฐานมาจากกฎหมายอิสลาม และกฎหมายของสหราชอาณาจักรรวมกัน ไม่ยอมรับการบังคับคดีของศาลระหว่างประเทศ คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้รับแต่งตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ขณะที่ประธานและคณะผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งโดยสภาตุลาการสูงสุด ซึ่งมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประธาน และสมาชิกมีวาระ 9 ปี ได้แก่ ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ผู้พิพากษาศาลชะรีอะฮ์ และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
เศรษฐกิจ บาห์เรนเป็นประเทศแรกในรัฐรอบอ่าวอาหรับที่ขุดพบน้ำมันดิบตั้งแต่ปี 2475 และทำให้เศรษฐกิจของประเทศหันมาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลักแทนการค้าไข่มุกที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่การมีพื้นที่เล็กจึงทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองน้อยและลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลบาห์เรนจึงพยายามลดการพึ่งพารายได้จากทรัพยากรน้ำมันและหันไปเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ ส่งผลให้ปัจจุบันบาห์เรนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โทรคมนาคม การสื่อสาร การต่อเรือ การบิน และการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็พยายามลดอุปสรรคทางการค้า ด้วยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งบาห์เรนเป็นประเทศแรก ในรัฐรอบอ่าวอาหรับที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เมื่อ ส.ค.2549 นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ “Vision 2030” เพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของอ่าวอาหรับภายในปี 2573
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 124.6 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับที่ 67 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 50,000 บาร์เรล (ประมาณการปี 2562 ของ U.S. Energy Information Administration) อนึ่ง กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจแห่งชาติบาห์เรน เผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2564 ของบาห์เรน เมื่อ ก.ย.2564 ว่าห้วง เม.ย.-มิ.ย.2564 บาห์เรนมีกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 188,433 บาร์เรล เป็นการผลิตจากแหล่งน้ำมันบนบกวันละ 42,742 บาร์เรล และการนำเข้าจากแหล่ง Abu Safah นอกชายฝั่งใกล้อ่าวเปอร์เซียที่บาห์เรนถือครองร่วมกับซาอุดีอาระเบียวันละ 157,937 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 92,030 ล้านลูกบาศก์เมตร (มากเป็นอันดับที่ 53 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 230,283 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อ เม.ย.2561 บาห์เรนค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในชั้นหินดินดานจากแหล่ง Khaleej Al Bahrain บริเวณชายฝั่งตะวันตกของบาห์เรน คาดว่ามีปริมาณน้ำมันดิบสำรองไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาร์เรล และปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองประมาณ 280,000-560,000 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศและในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันในบาห์เรนเมื่อปี 2475 นอกจากนี้ ยังมีแร่อะลูมิเนียม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 รองจากน้ำมัน และทรัพยากรทางทะเล
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนารบาห์เรน (Bahraini Dinar-BHD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 0.376 ดีนารบาห์เรน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 89.55 บาท : 1 ดีนารบาห์เรน (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 39,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 1,135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 1%
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี : 26,290 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 2,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อปี 2563 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 1,010,054 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2563 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 3.9% (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 1,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 14,066 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงน้ำมัน (69.9%) สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ (21.2%) ผลิตภัณท์ทางการเกษตร อาทิ อาหาร น้ำตาลทราย (3.4%) และอื่น ๆ (5.4%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐฯ โอมาน อียิปต์ จีน อินเดีย คูเวต เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์
มูลค่าการนำเข้า : 12,683 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : สินค้าอุตสาหกรรม (64.1%) อาทิ รถยนต์ เรือ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรศัพท์ เชื้อเพลิง แร่ รวมถึงน้ำมัน (19.8%) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร (14.4%) อาทิ ข้าว เนื้อสัตว์ปีก และอื่น ๆ (1.7%)
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหภาพยุโรป จีน ซาอุดีอาระเบีย บราซิล สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
การทหาร กองทัพบาห์เรนมีกำลังพลไม่มากนัก แต่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ งบประมาณด้านการทหารเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 1,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.08% ของ GDP) นอกจากนี้ บาห์เรนยังเป็นที่ตั้งกองเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ โดยอนุญาตให้กำลังพลสหรัฐฯ และพันธมิตรเข้าไปตั้งฐานทัพ ที่ Juffair ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 ปัจจุบันมีกำลังพลสหรัฐฯ จำนวน 4,700 นาย และกำลังพลสหราชอาณาจักร จำนวน 160 นาย ประจำการอยู่ในบาห์เรน รวมทั้งบาห์เรนได้รับสถานะเป็นพันธมิตรหลักนอกเนโต (Major Non-NATO Ally-MNNA) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2546 และอนุญาตให้สหรัฐฯ นำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธเข้าไปประจำการในบาห์เรนเมื่อ ก.พ.2553 ขณะที่สหราชอาณาจักรกับบาห์เรนบรรลุข้อตกลงขยายความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อ ธ.ค.2557 เพื่อตอบสนองภัยคุกคามความมั่นคงในตะวันออกกลาง โดยบาห์เรนอนุญาตให้สหราชอาณาจักรเข้ามาจัดตั้งฐานทัพถาวรบริเวณท่าเรือ Mina’ Salman เป็นเวลา 30 ปี เพื่อเป็นคลังอาวุธและเสริมกำลังแก่เรือทำลายทุ่นระเบิด 4 ลำของสหราชอาณาจักรที่ประจำการอยู่ที่ท่าเรือดังกล่าวอยู่แล้ว รวมทั้งเพื่อขยายภารกิจรักษาความมั่นคงในอ่าวเปอร์เซียของกองทัพเรือสหราชอาณาจักรอย่างถาวร โดยเฉพาะการส่งเรือขนาดใหญ่เข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งนี้ การก่อสร้างฐานทัพดังกล่าวแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ เม.ย.2561
กองทัพบาห์เรนมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังป้องกันประเทศบาห์เรน (Bahrain Defense Forces-BDF) อยู่ในกำกับของ กห. มีกำลังพลทั้งสิ้น 8,200 นาย ประกอบด้วย
– ทบ. มีกำลังพล 6,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง (MBT) รุ่น M-60A3 Patton จำนวน 180 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่น AML-90 จำนวน 22 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะ (IFV) รุ่น YPR-765 PRI จำนวน 25 คัน รุ่น AIFV-B-C25 จำนวน 42 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น M113A2 จำนวน 300 คัน รุ่น AIFV-B จำนวน 3 คัน รุ่น Arma (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL) รุ่น AIFV-B-Milan จำนวน 5 ลูก รุ่น HMMWV รุ่น BGM-71A TOW และรุ่น Kornet-EM (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) รุ่น M40A1 จำนวน 25 ลูก และรุ่น MOBAT จำนวน 6 ลูก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรุ่น M109A5 จำนวน 20 กระบอก รุ่น M110A2 จำนวน 62 กระบอก รุ่น L188 Light Gun จำนวน 8 กระบอก รุ่น M198 จำนวน 28 กระบอก รุ่น SR5 จำนวน 4 กระบอก รุ่น M270 MLRS จำนวน 9 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) รุ่น L16 จำนวน 12 เครื่อง รุ่น EIMOS จำนวน 20 เครื่อง รุ่น M113A2 จำนวน 12 เครื่อง ขีปนาวุธแบบผิวพื้นสู่ผิวพื้น รุ่น MGM-140A ATACMS (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบพื้นสู่พื้น (SRBM) รุ่น MGM-104A ATACMS (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านอากาศยาน (SAM) รุ่น MIM-23B I-HAWK จำนวน 6 ลูก (พิสัยใกล้) รุ่น Crotale จำนวน 7 ลูก (พิสัยกลาง) รุ่น 9K338 Igla FIM-92A รุ่น Stinger และรุ่น RBS-70 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่วิถีราบ (GUNS) รุ่น GDF-003/-005 จำนวน 12 กระบอก และรุ่น L/70 จำนวน 12 กระบอก
– ทร. มีกำลังพล 700 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือฟริเกต (FFGHM) ชั้น Sabha (เดิม คือ เรือ US Oliver Hazard Perry ของกองทัพเรือสหรัฐฯ) จำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์เร็วติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถี (PCFG) ชั้น Ahmed el Fateh จำนวน 4 ลำ เรือตรวจการณ์ติดตั้งอาวุธปล่อย (PCG) ชั้น Al Manama จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ (PB) ชั้น Al Jarim จำนวน 2 ลำ และชั้น Al Riffa จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์เร็ว (PBF) ชั้น Mk V SOC จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ชั้น Loadmaster จำนวน 1 ลำ ชั้น Mashtan จำนวน 4 ลำ และชั้น Dinar จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) ชั้น Sea Keeper จำนวน 2 ลำ นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียงรุ่น Bo-105 จำนวน 2 เครื่อง ประจำการใน ทร.
– ทอ. มีกำลังพล 1,500 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินโจมตีเร็ว (FTR) รุ่น F-5E Tiger II จำนวน 8 เครื่อง รุ่น F-5F Tiger II จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินขับไล่แบบโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-16C จำนวน 16 เครื่อง รุ่น F-16D จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง (TPT) รุ่น C-130J จำนวน 2 เครื่อง รุ่น B-727 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น B-747 จำนวน 2 เครื่อง รุ่น Gulfstream II จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Gulfstream IV จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Gulfstream 450 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น Gulfstream 550 จำนวน 1 เครื่อง และรุ่น BAe-146 จำนวน 3 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี (ATK) รุ่น AH1-E Cobra จำนวน 16 เครื่อง และรุ่น AFH1-1F Cobra จำนวน 12 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียง (TPT) รุ่น S-70A Black Hawk จำนวน 3 เครื่อง รุ่น 1 S-92A จำนวน 1 เครื่อง รุ่น UH-60L Black Hawk จำนวน 1 เครื่อง รุ่น UH-60M Black Hawk จำนวน 8 เครื่อง รุ่น Bell 212 (AB-212) จำนวน 11 เครื่อง และรุ่น Bo-105 จำนวน 3 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น (AAM) รุ่น AGM-65D/G Maverick รุ่น AIM-9P Sidewinder รุ่น AIM-7 Sparrow รุ่น AIM-120 AMRAAM รุ่น TOW และระเบิดนำวิถีทำลายภาคพื้นดิน (BOMBS) รุ่น GBU10/12 Paveway II (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของ กห. ได้แก่
– กองกำลังความมั่นคงพิเศษ หรือ ตร.ปราบจลาจล อยู่ในกำกับของ มท. มีกำลังพลประมาณ 9,000 นาย กำลังพลส่วนใหญ่มาจากประเทศอาหรับอื่น ๆ และปากีสถาน มียานยนต์หุ้มเกราะและเฮลิคอปเตอร์ประจำการจำนวนหนึ่ง
– กองกำลังป้องกันชายฝั่ง อยู่ในกำกับของ มท. มีกำลังพลประมาณ 260 นาย มีการประจำการเรือตรวจการณ์ (PBF และ PB) ชั้นต่าง ๆ จำนวนรวม 55 ลำ และเรือระบายพลขนาดใหญ่ (LCU) ชั้น Load-master II จำนวน 1 ลำ
– กองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ที่ก่อตั้งโดยพระบรมราชโองการของเชค อีซา อดีตเจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรน เมื่อปี 2540 มีกำลังพลประมาณ 2,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นกำลังพลต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวปากีสถาน
ปัญหาด้านความมั่นคง
การที่บาห์เรนเป็นประเทศขนาดเล็ก เป็นปัจจัยที่ทำให้บาห์เรนเลือกดำเนินนโยบายสายกลางและถ่วงดุลโลกอาหรับมุสลิมกับมหาอำนาจตะวันตกมาตลอด อย่างไรก็ดี ความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ จากการเป็นที่ตั้งกองเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ และการมีสถานะเป็นพันธมิตรหลักนอกเนโตของสหรัฐฯ ส่งผลให้บาห์เรนเสี่ยงตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย ตามที่เคยปรากฏรายงานว่า เครือข่ายอัลกออิดะฮ์ (Al Qaida-AQ) พยายามจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการในบาห์เรน โดยอาจมีเป้าหมายเพื่อโจมตีกองเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็อาจถูกอิหร่านหวาดระแวงว่า เตรียมร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อโจมตีอิหร่านได้เช่นกัน
ปัญหากรณีอิหร่านอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบาห์เรน แม้ว่ายุติไปตั้งแต่ปี 2513 เมื่ออิหร่านยอมรับผลการสำรวจความคิดเห็นชาวบาห์เรนที่สหประชาชาติจัดทำขึ้น ซึ่งระบุว่าชาวบาห์เรนส่วนใหญ่เห็นว่าบาห์เรนเป็นรัฐที่มีเอกราชอย่างสมบูรณ์จากอิหร่าน แต่จนถึงปัจจุบันรัฐบาลบาห์เรนยังหวาดระแวงว่า อิหร่านอาจพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในบาห์เรนด้วยการแทรกแซงผ่านชุมชนชาวชีอะฮ์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (ประมาณ 42% ของประชากรทั้งหมด) หลังจากมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวชีอะฮ์ในบาห์เรนเมื่อ ก.พ.-มี.ค.2554 จนเป็นเหตุให้รัฐบาลบาห์เรนต้องร้องขอให้คณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) ส่ง กกล.โล่พิทักษ์คาบสมุทร (Peninsula Shield) เข้าไปช่วยรักษาความสงบในบาห์เรน และเป็นการป้องปรามไม่ให้อิหร่านขยายอิทธิพลเข้าสู่บาห์เรน ทั้งนี้ กกล.ดังกล่าวยังคงประจำการอยู่ในบาห์เรนจนถึงปัจจุบัน
การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของชาวอาหรับชีอะฮ์ในบาห์เรนนับจากห้วงปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ยังปรากฏอยู่เป็นระยะ โดยปัจจุบันการชุมนุมมุ่งเรียกร้องให้รัฐบาลบาห์เรนยุติการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะการจับกุมและลงโทษผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการเพิกถอนสัญชาติบาห์เรน ประหารชีวิต และจำคุกเป็นเวลาสูงสุด 15 ปี ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นการลอบวางระเบิดขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลบาห์เรนสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุและสืบสวนพบว่า ผู้ก่อเหตุได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการฝึกอาวุธจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps -IRGC) ของอิหร่าน และกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน เช่น การจับกุมสมาชิกข่ายงานก่อการร้ายจำนวน 116 คน ที่ IRGC เข้ามาจัดตั้งในบาห์เรน เมื่อ มี.ค. 2561 การทำลายแผนก่อเหตุโจมตีในบาห์เรนของกลุ่มก่อการร้ายที่ IRGC ให้การสนับสนุนเมื่อ ก.ย. 2563 และครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ย.2564 กระทรวงมหาดไทยบาห์เรนจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง (ไม่มีการเปิดเผยสัญชาติ) ข้อหาวางแผนก่อการร้ายในบาห์เรน พร้อมยึดอาวุธและวัตถุระเบิด โดยอ้างว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายในอิหร่าน ทั้งนี้ ห้วงปี 2559-2563 รัฐบาลบาห์เรนดำเนินมาตรการลงโทษขั้นรุนแรงต่อผู้ก่อเหตุและผู้ต้องสงสัยที่มีความเชื่อมโยงกับอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ เช่น การออกคำสั่งเนรเทศชาวเลบานอนจำนวนหนึ่งออกจากบาห์เรนเมื่อ มี.ค.2559 เนื่องจากตรวจพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ การตัดสินลงโทษจำเลย 51 คนซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2562 ข้อหาจัดตั้งและเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายที่มี IRGC อยู่เบื้องหลังเมื่อ พ.ย.2563
ความสัมพันธ์ไทย-บาห์เรน
บาห์เรนกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 17 ม.ค.2520 โดยไทยให้ สอท. ณ ริยาด มีเขตอาณาครอบคลุมถึงบาห์เรน ต่อมา ครม.มีมติเมื่อ 12 ธ.ค.2532 ให้บาห์เรนอยู่ใต้เขตอาณาของ สอท. ณ คูเวตซิตี ก่อนการเปิด สอท. ณ มานามา เมื่อ 14 ก.พ.2547 และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ บาห์เรนเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศหลักที่สนับสนุนไทยอย่างแข็งขันในการแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต่อองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และเป็นสื่อกลางในการพยายามปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย
เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ อดีต นรม.บาห์เรน ทรงชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งทรงโปรดประเทศไทยและอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ทรงเสด็จฯ เยือนไทยเป็นประจำทั้งที่เป็นทางการและเป็นการส่วนพระองค์ โดยการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุดของอดีต นรม.บาห์เรน ระหว่าง 8-10 ต.ค.2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Summit) ครั้งที่ 2 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และทรงเสด็จฯ เข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ 26 ต.ค.2560 ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีบาห์เรนเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อ 18-20 เม.ย.2556
การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนฝ่ายไทยครั้งหลังสุด คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เยือนบาห์เรน ระหว่าง 11-13 ม.ค.2563 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพบหารือ ทวิภาคีกับเชค คอลิด บิน อะห์มัด บิน มุฮัมมัด อาล เคาะลีฟะฮ์ รมว.การกระทรวงการต่างประเทศบาห์เรน ส่วนการเยือนของผู้แทนฝ่ายบาห์เรนครั้งหลังสุด คือ เชค คอลิด รมว.กระทรวงการต่างประเทศบาห์เรน เยือนไทย เพื่อลงนามในภาคยานุวัติสารสำหรับการเข้าเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia-TAC) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 2-3 พ.ย.2562 และเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าไทย-บาห์เรน เมื่อปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 350.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,992.34 ล้านบาท) ลดลงจากเมื่อปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 525.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,422.26 ล้านบาท) โดยเมื่อปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 125.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,899.50 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 224.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,092.84 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 98.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,955.23 ล้านบาท) ขณะที่การค้า ไทย-บาห์เรน ห้วง ม.ค.-ต.ค. 2564 มีมูลค่าประมาณ 310.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9,838.92.44 ล้านบาท) ไทยส่งออกมูลค่า 87.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,709.76 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 223.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,129.16 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ คอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้าที่ไทยนำเข้าจากบาห์เรน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลิตภัณฑ์โลหะ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานเพื่อชดเชยสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาดไป โดยบาห์เรนแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทย ในด้านการเกษตรผ่านการทำ contract farming ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายยังบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในบาห์เรน เพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดใน GCC แอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง และการเร่งผลักดันการจัดทำ FTA ในกรอบ GCC-อาเซียน แทนการจัดทำ FTA ไทย-บาห์เรนที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2545 ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็น่าจะส่งผลให้การค้าทวิภาคีขยายตัวยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีชาวไทยในบาห์เรนประมาณ 8,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ และพนักงานนวดสปา ประมาณ 3,000 คน ที่เหลือเป็นชาวไทยที่เป็นผู้พำนักผิดกฎหมายประมาณ 5,000 คน และคนไทยที่ประกอบกิจการร้านอาหารไทย ช่างทำผม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า นักศึกษาไทย คนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ
ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 มีชาวบาห์เรนเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 32,123 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวและผู้ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา จำนวนรวม 30,239 คน (ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวนรวม 34,160 คน) ขณะที่ห้วงปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยและบาห์เรนใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้มีชาวบาห์เรนเดินทางมาไทยลดลง อยู่ที่ 3,211 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวบาห์เรนเดินทางมาไทย รวม 709 คน
ข้อตกลงสำคัญ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (3 พ.ย.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเชิงพาณิชย์ (10 พ.ย.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกองเงินลงทุนในประเทศไทย (9 เม.ย.2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์กลางการค้าและการกระจายสินค้าในบาห์เรน (1 พ.ค.2545) ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (21 พ.ค.2545) ความตกลง ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง (High Joint Commission) ไทย-บาห์เรน (11 มิ.ย.2545) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบาห์เรน (31 ส.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างเอกชนไทยกับบาห์เรน (22 ก.ย.2547) ความตกลงการบินฉบับใหม่ (26 เม.ย.2549) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (11 ธ.ค.2550) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (24 ม.ค.2551) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบาห์เรน (29 มิ.ย.2552) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วม ไทย-บาห์เรน (31 มี.ค.2553) บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการจัดตั้งคลังสำรองอาหารและศูนย์กระจายสินค้าไทยในบาห์เรน (31 มี.ค.2553) บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือ ด้านความมั่นคงทางอาหาร การค้า และการลงทุนในผลิตภัณฑ์และโภคภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะอาหารฮาลาล บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (14 พ.ค.2555) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกิจการเทศบาลและผังเมืองแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับ University of Bahrain และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน เพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (25 เม.ย.2560) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจบาห์เรน (14 ก.พ.2561) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน (7 มี.ค.2561)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม