ราชอาณาจักรกัมพูชา
- เมืองหลวง ราชธานีพนมเปญที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 10-14 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 102-107 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 181,035 ตร.กม. (ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 90 ของโลก)
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับไทย (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์) และลาว
ทิศใต้ ติดกับอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม
ทิศตะวันตก ติดกับไทย (จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด)
ภูมิประเทศ ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่ตอนกลางประเทศเป็นที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำบาสัคและมีทะเลสาบขนาดใหญ่อันอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทิศเหนือและตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบสูงป่าโปร่ง ป่าทึบและเทือกเขาสลับซับซ้อนเสมือนเป็นขอบกระทะ
วันชาติ 9 พ.ย. (วันประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส 9 พ.ย.2496)
สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน
(Samdech Akka Moha Sena Padei Techo Hun Sen)
นรม. และประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)
ประชากร ประมาณ 17.04 ล้านคน (พ.ย.2564) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเขมร 97.6% รองลงมาคือ ชาวจาม (มุสลิม) 1.2% จีน 0.1% เวียดนาม 0.1% ที่เหลือเป็นชาวเขา และไทย 0.9% สัดส่วนประชากรจำแนกตามอายุ:
วัยเด็ก (0-14 ปี) 30.18% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.23% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.59% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 66.27 ปี เพศชายประมาณ 63.7 ปี เพศหญิงประมาณ 68.95 ปี อัตราการเกิด 20.84 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 7.15 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.34%
การก่อตั้งประเทศ มีวิวัฒนาการมาจาก 3 อาณาจักรโบราณ คือ ฟูนัน เจนละ และจามปา (พุทธศตวรรษที่ 6-14) จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ปี 1345-1395) ก่อตั้งอาณาจักรขอมได้สำเร็จ และต่อมาสามารถขยายอำนาจได้กว้างขวางถึง 1 ใน 3 ของภูมิภาคอินโดจีนรวมระยะเวลาประมาณ 400 ปี จากนั้นเริ่มเสื่อมอำนาจเนื่องจากทุ่มเททรัพยากรก่อสร้างศาสนสถานจำนวนมาก ประกอบกับอาณาจักรข้างเคียงเข้มแข็งขึ้นจึงเสียดินแดนบางส่วนให้สุโขทัย หลังจากนั้นอีกประมาณ 300 ปีตกอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา เวียดนาม และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในฐานะประเทศราชสลับกับมีเอกราชช่วงสั้น ๆ ก่อนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (ปี 2406-2496) ในยุคล่าอาณานิคม
กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศและระบบการปกครองรวม 5 ครั้ง ซึ่งเกือบตลอดระยะนั้นเป็นช่วงที่กัมพูชาไร้เสถียรภาพและเกิดสงครามกลางเมือง ดังนี้ ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี 2491-2513 สาธารณรัฐเขมร ปี 2513-2518 กัมพูชาประชาธิปไตย ปี 2518-2522 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ปี 2522-2532 รัฐกัมพูชา ปี 2532-2534 สิ้นสุดยุคสงครามกลางเมือง สหประชาชาติจัดตั้ง United Nations Advance Mission in Cambodia (UNAMIC) ก่อนปรับเป็น United Nations Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาควบคุมดูแลการหยุดยิงโดยสมัครใจของฝ่ายต่าง ๆ และเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ช่วงปี 2534-2536 ซึ่งนำมาสู่การปกครองในระบอบปัจจุบันตั้งแต่ปี 2536
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามีกษัตริย์ (สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี)
เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (สภาราชบังลังก์คัดเลือกกษัตริย์)
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล : หลังการเลือกตั้งทั่วไปพรรคเสียงข้างมากหรือพรรคต่าง ๆ ร่วมกันเสนอชื่อ นรม. ให้สภาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร) รับรองด้วยเสียงเกินครึ่งและกษัตริย์ทรงลง
พระปรมาภิไธยแต่งตั้ง
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : ประกอบด้วย 2 สภาคือ 1) วุฒิสภา (62 คน วาระ 6 ปี ชุดปัจจุบันปี 2561-2566) มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ 2 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาแห่งชาติ 2 คน และมาจากสมาชิกสภาตำบล 58 คน และ 2) สภาแห่งชาติ (125 คน วาระ 5 ปี ชุดปัจจุบันปี 2561-2566) มาจากการเลือกตั้งทั่วไป
ฝ่ายตุลาการ : เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ สถาบันสูงสุดคือสภาผู้พิพากษาสูงสุดซึ่งมีกษัตริย์เป็นประธาน ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้พิพากษา ระบบศาลประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง
แต่ละจังหวัด/กรุง/ราชธานีมีศาลของตนเอง
พรรคการเมืองสำคัญ : ได้แก่ 1) พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party-CPP) ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกสภาแห่งชาติ 125 คน สมาชิกวุฒิสภา 58 คน 2) พรรคฟุนซินเปค (Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif-FUNCINPEC) ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party-CNRP) ฝ่ายค้าน (เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกพรรคซัมรังสีกับพรรคสิทธิมนุษยชน) ถูกยุบพรรคเมื่อ 16 พ.ย.2560
ในห้วง พ.ย.2564 กัมพูชาปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาว่าจะต้องถือเฉพาะสัญชาติกัมพูชา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมผู้ดำรงตำแหน่ง นรม. ประธานสภาแห่งชาติ ประธานวุฒิสภา และประธานศาลรัฐธรรมนูญ
เศรษฐกิจ แบบทุนนิยม มีนโยบายเปิดเสรีเต็มที่ ยังคงอยู่ในสถานะประเทศยากจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ
จากต่างประเทศเฉลี่ยปีละประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในห้วงปี 2547–2550 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 10% จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป การเกษตรและการก่อสร้าง แต่เมื่อปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวลดลงเหลือ 7% และหดตัว 2.0% เมื่อปี 2552 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลังจากนั้นเมื่อปี 2553-2555 เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% 6.9% และ 7.3% ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและการท่องเที่ยว ในห้วงปี 2556-2561 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวระหว่าง 6.8-7% โดยมีการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเกษตร การท่องเที่ยว รวมถึงการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ห้วงการแพร่บาดของ โรค COVID-19 และกรณีสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้ากัมพูชาบางส่วนตั้งแต่ ส.ค.2563 ทำให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัวอยู่ที่ระหว่าง 1.9% ถึง 2.5%
ก่อนกลับมาเติบโตระหว่าง 4.8% ถึง 5.5% ในปี 2565 ทั้งนี้ กัมพูชาตั้งเป้าหมายการพัฒนาเป็นประเทศ
ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 และประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2593
นโยบายการพัฒนาประเทศคือ “จัตุโกณ” (ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม) ประกอบด้วย 1) ปฏิรูปการเกษตร
2) ฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3) สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนและสร้างการจ้างงาน และ
4) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ปัจจุบันกัมพูชามุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสนามบิน ถนนและเส้นทางรถไฟ ควบคู่กับปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมกิจกรรทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการเชื่อมต่อทางการเงินดิจิทัลกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศโดยการทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับนานาประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การหาตลาดใหม่ และการชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างโรงสีข้าวเพื่อบรรลุเป้าหมายส่งออกข้าวสารให้ได้ปีละ 1 ล้านตัน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวในเร็ววันเพราะขาดแคลนเงินทุนก่อสร้างโรงสีและยุ้งฉางเก็บข้าวที่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันเพื่อการพาณิชย์จากแหล่งน้ำมันบนบก และอ่าวไทยที่กัมพูชาคาดหวังให้เป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่บริษัทเอกชนของสิงคโปร์ ซึ่งได้สัมปทานการขุดเจาะน้ำมัน ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ประกอบกัมพูชายังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ และต้องพึ่งพิงเทคโนโลยี เครื่องจักรและเงินทุนในการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เรียล (Riel)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4.071 เรียล (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 124.334 เรียล (พ.ย.2564) แต่ชาวกัมพูชานิยมใช้เงิน
สกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินบาทไทยสามารถใช้ซื้อขายสินค้าตามท้องตลาดของกัมพูชา
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 30,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 12,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,841 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 9.1 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 0.31%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.9% (พ.ย.2564)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 3,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2564)
มูลค่าการส่งออก : 11,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2564)
สินค้าส่งออก : สิ่งทอ จักรยาน เฟอร์นิเจอร์ ยาง ขนสัตว์ อุปกรณ์การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน สายไฟ ผลผลิตทางการเกษตร อาทิ กล้วย มันสำปะหลัง มะม่วง และน้ำตาล
มูลค่าการนำเข้า : 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2564)
สินค้านำเข้า : ผ้า วัสดุก่อสร้าง น้ำมัน
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทยและเวียดนาม
การทหารและความมั่นคง
การทหาร กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. และ Royal Gendarmerie of Cambodia ขึ้นตรงต่อ บก.ทหารสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยควบคุมบังคับบัญชาและสังกัดอยู่ใน กห. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยมี นรม.เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด กำลังพล (ปี 2563) 103,803 นาย แบ่งเป็น กห. 10,099 นาย บก.ทหารสูงสุด 27,855 นาย ทบ. 60,580 นาย ทร. 3,719 นาย และ ทอ. 1,500 นาย การประกอบกำลังยึดหลักนิยมของประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกับกองทัพเวียดนาม แบ่งเขตรับผิดชอบเป็น 6 ภูมิภาคทหาร กำลังพลส่วนใหญ่วางกำลังในภูมิภาคทหารที่ 4 และ 5 ด้านชายแดนไทยรวมประมาณ 22,672 นาย งบประมาณด้านการทหารปี 2562 กัมพูชาตั้งงบประมาณด้านการทหารและความมั่นคง 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 15.82% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 การเกณฑ์ทหาร ชายอายุ 18-30 ปีต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 18 เดือน ประชากรที่สามารถเกณฑ์เป็นทหารชาย 3.88 ล้านคน
หญิง 4 ล้านคน (ปี 2553)
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
ประชาชนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 19 ธ.ค.2493 ความสัมพันธ์ค่อนข้างเปราะบาง
จากปัญหาเขตแดนและการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ
กัมพูชาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้งสาเหตุจากข้อพิพาท ครั้งที่ 1 เมื่อ 24 พ.ย.2501 สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนปี 2502 ครั้งที่ 2 เมื่อ 23 ต.ค.2504 สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนปี 2509
ไทยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเหลือเป็นระดับอุปทูต 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จากเหตุการณ์เผา สอท.ไทย/
ราชธานีพนมเปญ เมื่อ 30 ม.ค.2546 ความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติเมื่อ 31 พ.ค.2546 และครั้งที่ 2 เมื่อ 5 พ.ย.2552 กรณีแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและ
ที่ปรึกษาส่วนตัวของ นรม.ฮุน เซน ความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติเมื่อ 24 ส.ค.2553
การค้าทวิภาคีไทย-กัมพูชาเมื่อปี 2563 มีมูลค่า 224,078.35 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562
คิดเป็น 23.29% โดยไทยส่งออก 188,341.59 ล้านบาท ลดลง 14.79 % และนำเข้า 35,736.76 ล้านบาท ลดลง 49.74% โดยไทยได้ดุลการค้า 152,604.83 ล้านบาท สำหรับในห้วง ม.ค.-ก.ย.2564 มีมูลค่า 185,240.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.94% ไทยส่งออก 163,847.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.31% และนำเข้า 21,392.93 ล้านบาท ลดลง 28.38% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 142,454.52 ล้านบาท
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้านำเข้าสำคัญ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รองเท้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อปี 2563 มีมูลค่า 156,127.26 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 คิดเป็น 3.15% โดยไทยส่งออก 133,121.46 ล้านบาท ลดลง 4.94% และไทยนำเข้า 23,005.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.63% ไทยได้ดุลการค้า 110,115.67 ล้านบาท สำหรับในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่า 114,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากห้วงเดียวกันเมื่อปี 2563 คิดเป็น 3.65% โดยไทยส่งออก 93,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.55% และไทยนำเข้า 21,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.94% ซึ่งไทยได้ดุลการค้า 71,916 ล้านบาทสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ ผ้าผืนและด้าย สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีอื่น ๆ สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล ที่หุ้มฉนวน ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรม มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฯผลไม้อื่น ๆ และของปรุงแต่งจากผลไม้
การลงทุน ตั้งแต่กัมพูชามีกฎหมายการลงทุนเมื่อปี 2537 จนถึง ปี 2564 ไทยลงทุนในกัมพูชาทั้งสิ้น 1,046.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 9
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทย-กัมพูชา : การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ
ทวิภาคี (1 ม.ค.2537) การจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน (29 ก.ย.2538) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (6 พ.ค.2541) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (14 มิ.ย.2543)
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน (18 มิ.ย.2544) บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (31 พ.ค.2546) พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือ
เดินทางราชการ (8 ก.พ.2549) การโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับใช้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาในคดีอาญา (5 ส.ค.2552) ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา
(17 พ.ย.2553) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ธ.ค.2553 ความตกลงการตรวจลงตราเดียวตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Single Visa) ระหว่างกัมพูชากับไทย (26 ธ.ค.2555)
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 ธ.ค.2555 โดยผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราเดียวจากกัมพูชาหรือไทยจะเดินทางเข้าได้ทั้งกัมพูชาและไทย ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (11 ก.ค.2558) และความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
(7 ก.ย.2560) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2561
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
- การเป็นประธานอาเซียนและเจ้าภาพการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2565
- การเลือกตั้งท้องถิ่นใน มิ.ย.2565
3) ความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านกัมพูชาในต่างประเทศ ซึ่งที่อาจใช้พื้นที่ของไทยเคลื่อนไหว หรือเป็นเส้นทางผ่านในการเดินทางเข้ากัมพูชา
4) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหมิ่นสถาบันฯ และกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองของไทยในกัมพูชา
5) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ แรงงานผิดกฎหมาย การลักลอบตัดไม้ ยาเสพติด และสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดน
6) บทบาทของมหาอำนาจในกัมพูชาทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและ การป้องกันประเทศ
7) การแก้ปัญหาพิพาทเขตแดนระหว่างกัมพูชากับเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว และเวียดนาม) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา