สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Lao People’s Democratic Republic
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Lao People’s Democratic Republic
เมืองหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Capital)
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 14-23 องศาเหนือ กับลองจิจูดที่
100-108 องศาตะวันออก เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชม. (เช่นเดียวกับไทย) มีพื้นที่ประมาณ 236,800
ตร.กม. (ประมาณครึ่งหนึ่งของไทย) เป็นพื้นดิน 230,800 ตร.กม. พื้นน้ำ 6,000 ตร.กม. ลาวเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked Country) ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนกับไทยและเมียนมา
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีน 508 กม.
ทิศใต้ ติดกับไทย 1,835 กม. และกัมพูชา 535 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม 2,337 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับเมียนมา 236 กม.
ภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตภูเขาสูง อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศ เขตที่ราบสูง พื้นที่ ตอ.ต. ของประเทศ มีที่ราบสูงขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ราบสูงเมืองพวน ที่ราบสูงนากาย และที่ราบสูงบอละเวน และ เขตที่ราบลุ่ม เป็นเขตที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ลาวมีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสำคัญ ระยะทาง 1,898 กม. มีความสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม ประมง การผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคม และเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างลาวกับเพื่อนบ้าน
วันชาติ 2 ธ.ค.
นายพันคำ วิพาวัน
PHANKHAM VIPHAVANH
(นายกรัฐมนตร)
ประชากร ประมาณ 7.57 ล้านคน (ปี 2564) ประกอบด้วย 50 ชนเผ่า ทางการลาวใช้คำกลางเรียกคนลาวทั่วไปว่า “คนสัญชาติลาว ชนเผ่าลาว” ความหนาแน่น 30 คนต่อ ตร.กม. ประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 31.25% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 64.62% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.13 % อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 66 ปี อัตราการเติบโตของประชากร 1.46% (ปี2564)
การก่อตั้งประเทศ เมื่อปี 1896 พระเจ้าฟ้างุ้ม (มหาราชองค์แรกของลาว) รวบรวมดินแดนก่อตั้งเป็นอาณาจักรล้านช้าง ศูนย์กลางอยู่เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ต่อมาย้ายเมืองหลวงมายังนครเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างรุ่งเรืองราว 450 ปี และเริ่มเสื่อมลงในศตวรรษที่ 18 จากการแย่งชิงอำนาจ ทำให้อาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วน คือ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และล้านช้างจำปาสัก ก่อนตกเป็นของไทยตั้งแต่ปี 2321 (สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ต่อมาเมื่อปี 2365 เจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์ (วีรบุรุษของลาว) พยายามกอบกู้เอกราชแต่ทำไม่สำเร็จ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ส่งกองทัพไปตีนครเวียงจันทน์ ขณะที่อาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยส่งทูตไปอ่อนน้อมต่อเวียดนามเมื่อปี 2374 ทำให้ฝรั่งเศสซึ่งยึดครองเวียดนามใช้เป็นข้ออ้างในการรุกเข้าครอบครองลาว ส่งผลให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส รวมระยะเวลาที่ลาวอยู่ภายใต้การปกครองของไทยประมาณ 115 ปี (ระหว่างปี 2321-2436)
ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2536 ต่อมาประชาชนลาวรวมตัวต่อสู้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน (ก่อตั้งปี 2473) และฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามอินโดจีนครั้งแรก ที่เมืองเดียนเบียนฟู เวียดนาม เมื่อปี 2497 ลาวจึงได้รับเอกราช รวมระยะเวลาที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส 61 ปี (ปี 2436-2497) และหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสตามข้อตกลง Geneva Accord ปี 2497 อาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 แห่ง ถูกผนวกเข้าเป็นราชอาณาจักรลาวมีเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เป็นกษัตริย์ แต่การเมืองลาวยังไร้เสถียรภาพเพราะการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำลาวซึ่งแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายขวา ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายซ้าย รวมถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านเวียดนาม จากนั้นลาวฝ่ายซ้ายซึ่งมีเจ้า สุพานุวงและพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นแกนนำยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จและเปลี่ยนระบอบการปกครองลาวเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ใช้ชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” (สปป.ลาว) เมื่อ 2 ธ.ค. 2518
การเมือง ปกครองในระบอบสังคมนิยม มีประธานประเทศเป็นประมุข และจอมทัพภายใต้การควบคุมของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.)
ฝ่ายบริหาร : ประกอบด้วย 1) ประธานประเทศ ดำรงตำแหน่งประมุขรัฐและจอมทัพ วาระ 5 ปี มีหน้าที่ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายแต่งตั้ง/ถอดถอน นรม. และ ครม. รวมทั้งเจ้าแขวงและตำแหน่งสำคัญในกองทัพ โดยคำแนะนำของ นรม. ให้สัตยาบันหรือยกเลิกสัญญาที่ทำกับรัฐอื่นโดยความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ โดยทั่วไปประธานประเทศเป็นบุคคลเดียวกับผู้นำพรรค ปัจจุบัน คือ ดร.ทองลุน สีสุลิด และ 2) ครม. มีหน้าที่บริหารประเทศตามนโยบายพรรคฯ ครม.ชุดปัจจุบันจัดตั้งเมื่อ มี.ค.2564 มี ดร.พันคำ วิพาวัน(สมาชิกกรมการเมืองอันดับ 2) เป็น นรม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติสมาชิก 164 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 21 ก.พ.2564 วาระ 5 ปี ประชุมสามัญปีละ 2 ครั้ง มีหน้าที่ออกกฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายตุลาการ รับรองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งประธานประเทศ นรม. ครม. ประธานสภา และอัยการประชาชนสูงสุด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญลาวฉบับปี 2558 ระบุให้มีสภาประชาชนระดับแขวง (สมาชิก 492 คน) ทำหน้าที่พิจารณา รับรองนิติกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น ติดตามตรวจตราการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายขององค์กรระดับท้องถิ่น
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ระบบศาลมี 3 ชั้น คือ ศาลประชาชนเขตหรือศาลชั้นต้น ศาลประชาชนแขวง/นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และศาลประชาชนสูงสุดหรือศาลฎีกา
พรรคการเมือง : มีพรรคเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.) เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด บริหารประเทศตั้งแต่ปี 2518 มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ทุกด้านของประเทศ ภายใต้หลักการ “พรรคนำพา รัฐคุ้มครอง ประชาชนเป็นเจ้าของ” รวมถึงคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและกองทัพ อาทิ ประธานประเทศ นรม. และ ครม. โดย ดร.ทองลุน สีสุลิด ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ตั้งแต่ปี 2564
โครงสร้างพรรคที่สำคัญ ได้แก่ 1) กรมการเมืองศูนย์กลางพรรค (Politburo) เป็นคณะบริหารงานสูงสุด ทำหน้าที่ตัดสินใจประเด็นสำคัญ มีสมาชิก 13 ตำแหน่ง ชุดปัจจุบันได้รับเลือกเมื่อ ม.ค.2564 โดย ดร.ทองลุน สีสุลิด เป็นกรมการเมืองลำดับที่ 1 พร้อมดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ พปปล.
2) กรรมการศูนย์กลางพรรค (Central Committee) เป็นองค์กรนำสูงสุดเมื่อสมัชชาพรรคไม่อยู่ในสมัยประชุม ทำหน้าที่ดูแลตรวจสอบระบบการทำงานและการเงินของพรรค รวมทั้งการปฏิบัติตามมติพรรค กำหนดประชุมสมัยสามัญ 2 ครั้งต่อปี มีสมาชิก 71 คน และสำรอง 10 คน และ 3) สมัชชาพรรค เป็นองค์กรนำสูงสุดทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของพรรค รวมทั้งเลือกตั้งคณะผู้บริหารพรรค ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศจำนวน 758 คน วาระการประชุมใหญ่ 5 ปีต่อครั้ง ล่าสุดจัดเมื่อ ม.ค.2564 เป็นสมัยที่ 11 (การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นในปี 2569)
เศรษฐกิจ ลาวปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบกลไกตลาดตามนโยบายจินตนาการใหม่ (New Economic Mechanism-NEM) ตั้งแต่ปี 2529 เน้นเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการค้าเสรี เป้าหมายสำคัญเพื่อให้หลุดพ้นจากสถานะการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ภายในปี 2567 และเป็นประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 โดยมีทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ คือ การเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาค (Battery of Asia) การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Land-linked country) ปัจจุบันลาวใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 9 (ปี 2564-2568) รัฐบาลกำหนดชัดเจนในการส่งเสริมกสิกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ และให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 4 ต่อปี
ปัญหาทางเศรษฐกิจของลาว อาทิ การขาดดุลงบประมาณภาครัฐ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจำกัด หนี้สาธารณะสูง อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลลาวพยายามกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดการรายจ่ายและรายรับของรัฐ เข้มงวดโครงการลงทุนของภาครัฐ ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : กีบ (LAK)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 10,561 กีบ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : ประมาณ 322 กีบ : 1 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 18,653 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0.4 (ปี 2563) และคาดว่าจะเป็น 2% ในปี 2564
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 2,567 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
แรงงาน : 3.8 ล้านคน (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : 0.95 (ปี 2563)
อัตราเงินเฟ้อ : 3.81% (ส.ค.64)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
มูลค่าการส่งออก : 6,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้าส่งออก : ผลิตภัณฑ์จากไม้ ไม้แปรรูป แร่ธาตุ (ทองคำ ทองแดง สังกะสี เงิน และถ่านหิน) พลังงานไฟฟ้า กาแฟ และสินค้าเกษตร
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน เวียดนาม และไทย
มูลค่าการนำเข้า : 5,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้านำเข้า : น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป รถยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้ไฟฟ้า
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ไทย จีน และเวียดนาม
การทหาร กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) ขึ้นตรงต่อกระทรวงป้องกันประเทศ (เทียบเท่า กห.) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้ชี้นำและกำหนดนโยบายป้องกันประเทศ ทปล. มีกำลังพลทั้งสิ้น 64,600 นาย แบ่งเป็น กำลังทางบก 60,000 นาย กำลังทางอากาศ 4,000 นาย และกำลังทางเรือ (ปัจจุบันขึ้นตรงต่อกระทรวงป้องกันความสงบ (ปกส.) ประมาณ 600 นาย
กำลังทางบก แบ่งออกเป็น 1) กำลังรบหลัก (ทหารประจำการ) ประมาณ 28,000 นาย ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงปฏิบัติงานทุกพื้นที่ และ 2) กำลังประจำถิ่นประมาณ 23,000 นาย เป็นกำลังเคลื่อนที่เร็วของท้องถิ่น ใช้กองหลอนเป็นผู้นำ ปัจจุบันมี 17 บก.ทหารแขวง 1 บก.ทหารนครหลวง และกรมทหารชายแดน (กทด.) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการรักษาอธิปไตยทั้งเขตแดนทางบกและทางน้ำ ปัจจุบัน ทปล.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารกับกองทัพรัสเซียในการฝึกร่วมกับรัสเซีย รหัส “LAROS-2021” เมื่อ 9-19 ส.ค.2564 ที่รัสเซีย
ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ : ปพ. 6.33 มม. (MAKAROF) ปลย.AK-47 ปตอ. 12.7 มม. ปตอ.37-2 จรวดสแตนล่า ถ.T-34 ถ.T-72 B1MS ยานยนต์หุ้มเกราะ BTR-152 ป.85 D4 ป.อัตตาจร ขนาด 152 มม. จรวดหลายลำกล้อง BM-21 (40 ท่อยิง) บ.ฝึก/โจมตีขนาดเบา Yak-130 และ ฮ.ลำเลียง รวมทั้งเรือตรวจการณ์ในแม่น้ำโขงซึ่งได้รับมอบจากจีนตามแผนปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในแม่น้ำโขง
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาการปักปันเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนทั้งทางบกและทางน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับไทยและกัมพูชา ไทย การปักปันเขตแดนทางบกคืบหน้ากว่าร้อยละ 96 ขณะที่เขตแดนทางน้ำยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ กัมพูชา การปักปันเขตแดนทางบกคืบหน้าร้อยละ 86 มีพื้นที่คงค้างกว่า 9 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังเน้นแนวทางการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนอย่างสันติวิธี โดยส่งเสริมพื้นที่ชายแดนเป็นชายแดนแห่งสันติภาพ
ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง ลาวเป็นทั้งประเทศต้นทาง (กัญชา) ทางผ่าน (ยาบ้า ยาไอซ์ และเฮโรอีนจากเมียนมา) แหล่งพักคอย และปลายทางของขบวนการลักลอบค้ายาเสพติด รวมถึงเป็นเส้นทางลำเลียงสารตั้งต้นเข้าสู่พื้นที่ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ และลำเลียงผ่านไปยังประเทศที่ 3 ทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย
ปัญหาขบวนการต่อต้านรัฐบาลลาว (ขตล.) หรือกลุ่มคนบ่ดี ที่บางส่วนอาจลักลอบใช้พื้นที่ชายแดนไทยเป็นทางผ่านหรือหลบซ่อนตัว นอกจากนี้ พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ ทั้งในไทย ยุโรป และสหรัฐฯ โดยกลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลลาวผ่าน สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อทำลายภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลลาว
ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง ลาวยังยึดมั่นในเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้าของภูมิภาค โดยผลักดันการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามแผน อาทิ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนซะนะคาม ซึ่งสร้างความกังวลให้ประชาชนใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อผลกระทบข้ามแดน
ความสัมพันธ์ไทย-ลาว
ไทยกับลาว สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ตั้งแต่ 19 ธ.ค.2493 ภาพรวมความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานของการเคารพและผลประโยชน์ร่วมกัน นับเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีที่สุด โดยสถาบันกษัตริย์ไทยมีบทบาทช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี เช่นเดียวกับผู้นำลาวชุดปัจจุบันมีทัศนคติที่ดีต่อไทยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนลาวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะในห้วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในลาว นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังต้องการให้ไทยดูแลแรงงานลาวที่ทำงานอยู่ในไทย และต้องการให้ไทยกลับไปลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี อาทิ การปักปันเขตแดนทางบกและทางน้ำ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหมิ่นสถาบันฯ ไทยที่อยู่ในลาว และความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาวในไทย ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการลักลอบค้ายาเสพติด และขบวนการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ปัญหาจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและบทบาทของสื่อมวลชนไทย โดยต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรม
ด้านการค้า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาว และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของลาว ทั้งนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างไทย-ลาว ปี 2563 มีมูลค่ารวม 197,430 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 คิดเป็น 0.71 % โดยไทย
ส่งออก 104,003 ล้านบาท ลดลง 12.69% และนำเข้า 93,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.19% ไทยได้ดุลการค้า 10,576 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยและลาวตั้งเป้าหมายการค้าทวิภาคีให้เติบโตกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360,525 ล้านบาท) ภายในปี 2568
การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาว ปี 2563 มูลค่าการค้าชายแดนรวม 189,836 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 คิดเป็น 3.85% ไทยส่งออก 103,622 ล้านบาท ลดลง 12.10% และนำเข้า 86,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.37% ไทยได้ดุลการค้า 17,408 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์และอุปกรณ์ สินค้าปศุสัตว์ และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ ผักและของปรุงแต่งจากผัก เป็นต้น
สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ห้วง ม.ค.-ส.ค.64 มีมูลค่าการค้ารวม 140,142 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 81,715 ล้านบาท และนำเข้า 58,427 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 23,288 ล้านบาท สำหรับด่านการค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด (ทั้งการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน) คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร มูลค่าการค้ารวม 239,948 ล้านบาท
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ไทย เยือนลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อ ก.ย.2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 และ 29 ที่นครหลวงเวียงจันทน์
– ดร.ทองลุน สีสุลิด นรม.ลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ ต.ค.2559 เพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
– นายบุนยัง วอละจิด เลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และประธานประเทศลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ ต.ค.2560 เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ไทย พร้อมคณะ เยือนลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อ ธ.ค.2561 เพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat-JCR) ครั้งที่ 3
– ดร.ทองลุน สีสุลิด นรม.ลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ มิ.ย.2562 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการปัญหาหมอกควันร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยยึดหลัก “Two Countries One Destination”
– ดร.ทองลุน สีสุดลิด นรม.ลาว พร้อมภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 2-4 พ.ย.2562 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ
– นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รมว.กต.ลาว เยือนไทยระหว่าง 2-5 พ.ย.2564 เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission: JC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของชาติลาว ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 9 (ปี 2564-2568) ซึ่งมุ่งรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับร้อยละ 4 ต่อปี และการเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ 2) การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ความร่วมมือระหว่างลาวกับต่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน ที่ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในลาวอย่างมาก รวมถึงการรักษาสมดุลอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทั้งจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และไทยที่ต้องการแข่งขันอิทธิพลในลาวและพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง