มาเลเซีย
Malaysia
มาเลเซีย
Malaysia
เมืองหลวง กัวลาลัมเปอร์
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้เส้นศูนย์สูตรระหว่างเส้นละติจูดที่ 1.0-7.0 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 100.0-119.5 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 329,847 ตร.กม. (ประมาณ 2 ใน 3 ของไทย) ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก (อยู่ปลายแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย) และมาเลเซียตะวันออก (อยู่บนเกาะบอร์เนียว) มีทะเลจีนใต้คั่นกลาง พรมแดนทางบกโดยรอบประเทศ 2,742 กม. เป็นพรมแดนติดกับไทย 595 กม. อินโดนีเซีย 1,881 กม. และบรูไน 266 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดไทย
ทิศตะวันออก ติดทะเลซูลู และฟิลิปปินส์
ทิศใต้ ติดสิงคโปร์
ทิศตะวันตก ติดช่องแคบมะละกา และอินโดนีเซีย
ภูมิประเทศ มาเลเซียตะวันตกมีภูเขาทอดยาวทางตอนกลางเกือบตลอด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคม ขณะที่ที่ราบด้านตะวันตกซึ่งกว้างกว่าด้านตะวันออกเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ เขตปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ด้านมาเลเซียตะวันออกส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ราบสูงอยู่ทางตอนใน มีที่ราบย่อม ๆ อยู่ตามชายฝั่งทะเล
วันชาติ 31 ส.ค. เพื่อรำลึกถึงการได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 31 ส.ค.2500 และ “วันมาเลเซีย” ใน 16 ก.ย. เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งประเทศมาเลเซียเมื่อ 16 ก.ย.2506
ดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ซาบรี ยากบ
(DATO’ SRI ISMAIL SABRI YAAKOB)
ประชากร 33,519,406 ล้านคน (ก.ค.2564) เชื้อสายมาเลย์ 62.5% จีน 20.6% อินเดีย 6.2% และ
อื่น ๆ 0.9% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 26.8% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66.3% และวัยชรา (65 ปี ขึ้นไป) 6.9% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 75.87 ปี ชาย 74.24 ปี หญิง 77.62 ปี
(ปี 2564) อัตราการเกิด 14.72/1,000 คน อัตราการตาย 5.66/1,000 คน (ปี 2564) อัตราการเพิ่มของประชากร 1.76% (ปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ ชาวมาเลย์ในยุคแรก ๆ ตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ทางตอนเหนือของแหลมมลายูซึ่งดินแดนแถบนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งสหราชอาณาจักรได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรมลายูและยึดครองรัฐต่าง ๆ รวมถึง 4 รัฐมลายูของไทย คือ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เกดะห์) และปะลิส เมื่อปี 2452 บทบาทของไทยจึงยุติลง การจัดตั้งประเทศมาเลเซียมีพัฒนาการจากการปกครองสมัยอาณานิคมของสหราชอาณาจักร จนกระทั่งได้ก่อตั้ง “สหพันธรัฐมลายา” และได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2500 ประกอบด้วย รัฐมลายูเดิม 11 รัฐ ต่อมาเมื่อปี 2506 ได้รวมรัฐซาบาห์และซาราวักในเกาะบอร์เนียวเข้าไว้ด้วย และเปลี่ยนชื่อเป็น “มาเลเซีย” แต่เมื่อปี 2508 สิงคโปร์ได้แยกตัวจากมาเลเซีย
การเมือง ปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federation) มีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข โดยเจ้าผู้ครองรัฐ 9 รัฐ (เนกรีเซมบิลัน สลังงอร์ ปะลิส ตรังกานู เกดะห์ กลันตัน ปะหัง ยะโฮร์ และเประ) ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ส่วนรัฐที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐ 4 รัฐ (มะละกา ปีนัง ซาบาห์ และซาราวัก) สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งผู้ว่าการรัฐปฏิบัติหน้าที่ประมุขของแต่ละรัฐ โดยสมเด็จพระราชาธิบดี องค์ปัจจุบัน (องค์ที่ 16) คือ สุลต่าน อับดุลเลาะห์ รีอายาทุดดิน อัล มุสตาฟา บิลเลาะห์ ชาห์ แห่งรัฐปะหัง สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อ 31 ม.ค.2562 และเข้าพิธีราชาภิเษกเมื่อ 30 ก.ค.2562
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล : นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารทั้งหมด รวมถึงกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และเป็นผู้เสนอแต่งตั้ง รมต.และ ออท.ประจำประเทศต่าง ๆ โดย นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ ดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ซาบรี ยากบ
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : ใช้ระบบ 2 สภา คือ 1) วุฒิสภา สมาชิก 70 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 26 คน และการแต่งตั้ง 44 คน อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 6 ปี เลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 222 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ซาบรี ยากบ รองประธานพรรคอัมโน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รับช่วงการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากตัน ศรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ประธานพรรคเบอร์ซาตู ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 16 ส.ค.2564 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ใช้ดุลยพินิจยับยั้งการยุบสภาฯ ได้ และทรงเลือกดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ที่ได้รับเสียงข้างมากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อ 20 ส.ค.2564 ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะครบวาระในปี 2566
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลระดับสหพันธ์ คือ ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ส่วนในระดับรัฐจะประกอบด้วย ศาลสูง ศาลชั้นต้น ศาลแขวงและศาลพื้นบ้าน นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court) เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับชาวมาเลเซียมุสลิมโดยเฉพาะ
พรรคการเมืองสำคัญ ประกอบด้วย 4 กลุ่มการเมืองหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional-BN/กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล) ประกอบด้วย พรรคอัมโน (United Malays National Organization-UMNO) พรรคเอ็มซีเอ (Malaysian Chinese Association-MCA) พรรคเอ็มไอซี (Malaysian Indian Congress-MIC) พรรค Parti Bersatu Rakyat Sabah (PBRS) พรรค Gabungan Parti Sarawak (GPS) และพรรค Parti Bersatu Sabah (PBS) 2) กลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ (Perikatan Nasional-PN/กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล) ประกอบด้วย พรรคเบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia-PPBM) พรรคปาส (Parti Islam Se Malaysia-PAS) พรรค Parti Solidariti Tanah Airku Rakyat Sabah (STAR) 3) กลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง (Pakatan Harapan-PH/กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน) ประกอบด้วย พรรคเกอาดิลัน (Parti Keadilan Rakyat-PKR) พรรคดีเอพี (Democratic Action Party-DAP) พรรคอามานะห์ (Parti Amanah Negara-PAN) และพรรค United Progressive Kinabalu Organisation (UPKO) 4) กลุ่มพรรคฝ่ายค้านอิสระ ได้แก่ พรรค Pejuang Tanah Air และพรรค Malaysian United Democratic Alliance (MUDA)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด รัฐบาลพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการบริการ ผลผลิตการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน โกโก้ และข้าว อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ดีบุก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ
นโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียภายใต้การนำของรัฐบาลดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ที่มีหลักการ “มาเลเซียที่มั่งคั่ง มีส่วนร่วม และยั่งยืน” ซึ่งมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงส่งเสริมความสามัคคีของชาติผ่านแนวคิด Malaysia Family เพื่อเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงและพัฒนาแล้วภายในปี 2568 นอกจากนี้ มาเลเซียจัดทำแผน National Trade Blueprint ระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออก โดยขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12
ปีงบประมาณ ตามปีปฏิทิน (ม.ค.-ธ.ค.) งบประมาณประจำปี 2564 เท่ากับ 322,500 ล้าน
ริงกิต หรือ 2,547,527 ล้านบาท
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ริงกิต (MYR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4.16 ริงกิต
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ริงกิต : 7.90 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : ~359,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.3%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 16.03 ล้านคน (มิ.ย.2564)
อัตราการว่างงาน : 4.8%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.2%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 14,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 176,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
มูลค่าการส่งออก : 889,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
สินค้าส่งออก : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางพารา น้ำมันปาล์ม เคมีภัณฑ์
มูลค่าการนำเข้า : 712,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
สินค้านำเข้า : อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ โลหะ
คู่ค้าสำคัญ : จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ และไต้หวัน
การทหาร กองทัพแห่งชาติมาเลเซีย ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. มีกำลังพลประจำการประมาณ 115,000 นาย และกำลังพลสำรองประมาณ 51,600 นาย กองทัพมาเลเซียปรับปรุงและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 14 ก.ย.2564 ทร.มาเลเซียได้รับมอบเรือปฏิบัติการชายฝั่ง (Littoral Mission Ship-LMS) ลำที่ 3 จากจีน จากทั้งหมด 4 ลำ โดยลำสุดท้ายน่าจะได้รับมอบใน ธ.ค.2564 นอกจากนี้ ทอ.มาเลเซียมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Multirole Combat Aircraft (MRCA) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตามแผนพัฒนาอาวุธและความสามารถทางทหารระยะยาวของมาเลเซียจนถึงปี 2598 (Capability 55 blueprint-CAP55) ซึ่งระบุความต้องการด้านยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ของ ทอ.ด้วย เช่น เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล เครื่องบินแบบไร้คนขับ ขีปนาวุธภาคพื้นดินและเรดาร์ โดย ทอ.มาเลเซียมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ 36 เครื่อง โดยอาจจัดซื้อเครื่องบินรุ่น T-50 Golden Eagle ของเกาหลีใต้ AK-130, Leonardo M-346FA, BAE Systems Hawk ของรัสเซีย Tejas ของอินเดีย หรือ JF-17 Thunder ของปากีสถาน ที่ผ่านมา กองทัพมาเลเซียประสบปัญหาความล่าช้าในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ จากข้อจำกัดด้านการเมืองและงบประมาณ แต่คาดว่า งบประมาณของกองทัพจะได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กห. งบประมาณด้านการทหารและความมั่นคง :
ปี 2564 กห.ได้รับการจัดสรรงบจำนวน 15,860 ล้านริงกิต (125,242 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 15,600 ล้านริงกิต (123,188 ล้านบาท)
ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 31 ส.ค.2500 และมี สอท./กัวลาลัมเปอร์ สถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ สกญ./ปีนัง และ สกญ./โกตาบารู ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซีย ได้แก่ ทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ แรงงาน และประสานงานตำรวจ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ ขณะที่มาเลเซียมี สอท.มาเลเซีย/กรุงเทพฯ สถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย/สงขลา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่ง CIMB Bank Berhad ของมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
กลไกส่งเสริมและแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในระดับทวิภาคี ได้แก่
1) คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission-JC)
2) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy-JDS) 3) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee-GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee-RBC) 4) คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน มีการจัดตั้งสมาคมไทย-มาเลเซีย และสมาคมมาเลเซีย-ไทย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือกันในกรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle IMT-GT) และอาเซียนด้วย
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของมาเลเซีย มูลค่าการค้าปี 2564 ประมาณ 17,317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 8,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 8,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทย
ขาดดุลการค้า 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้านำเข้าจากมาเลเซีย : คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยาม-อังกฤษ (4 มี.ค.2454) ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกของการเดินรถไฟ (ปี 2465) ความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดน (ปี 2483) ความตกลงว่าด้วยการคมนาคมและขนส่งทางบก (1 ม.ค.2497) ความตกลง ว่าด้วยการเดินรถไฟร่วม (20 พ.ค.2497) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต และราชการ (24 ต.ค.2505) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (18 พ.ย.2509) ความตกลงว่าด้วย การศุลกากร (9 พ.ค.2511) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (12 ม.ค.2513) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง (16 ม.ค.2514) ความตกลงว่าด้วยการสำรวจและปักปันเขตแดน (8 ก.ย.2515) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทย (21 ก.พ.2522) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (26 ก.พ.2522) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล/ทะเลอาณาเขต (24 ต.ค.2522) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีป (24 ต.ค.2522) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ (24 พ.ย.2522) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าไป-กลับระหว่างฝั่งตะวันออกกับ ฝั่งตะวันตกของมาเลเซียผ่านแดนไทยโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (19 เม.ย.2523) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (29 มี.ค.2525) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา ลุ่มน้ำโก-ลก (พ.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย (29 มิ.ย.2530) ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือข้ามฟากบริเวณปากแม่น้ำโก-ลก (26 ก.ค.2533) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (25 พ.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (10 ก.พ. 2538) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยางพารา (17 ก.ย.2542) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดน
(18 พ.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี (6 ต.ค.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำ Bilateral Payment Arrangement (Account Trade) (27 ก.ค.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ 3 ฝ่าย ด้านยางพารา อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (8 ส.ค.2545) บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้าน พิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า (28 ก.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยกับมาเลเซีย (28 ก.ค.2546) ความตกลงโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เชื่อมบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน (14 ต.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษา (21 ส.ค.2550)
นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร “General Consensus on Peace Process” ระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทย (ลมช.) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อ 28 ก.พ.2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ของไทย โดยรัฐบาลมาเลเซียได้แต่งตั้งให้ ดาโต๊ะ ซรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าว ขณะที่ไทยภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยฯ เมื่อปลายปี 2557 ซึ่งมีคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ 1) คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี นรม.เป็นประธานกรรมการ 2) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นรม.มอบหมาย พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษา นรม.เป็นผู้แทนหัวหน้าคณะพูดคุย และ 3) คณะประสานงานระดับพื้นที่ มี ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะประสานงาน
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซียซึ่งการเมืองมาเลเซียมีการเปลี่ยนขั้วครั้งแรกในรอบ 61 ปี อดีตรัฐบาล PH ซึ่งชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยฯ โดยปรับเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่เป็นตัน ศรี อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นูร์ อดีต ผบ.ตร. และอดีต ผบ.ตร.ส. เมื่อ 30 ส.ค.2561 ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบันยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
แนวโน้มการกลับมาเปิดประเทศรับแรงงานต่างชาติ มาเลเซียมีแนวโน้มเปิดรับแรงงานต่างชาติอีกครั้ง หลังจากที่ปิดรับตั้งแต่ห้วง มิ.ย.2564 เพื่อสนับสนุนให้แรงงานท้องถิ่นได้รับการจ้างงาน ทดแทนแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศจำนวนมากในห้วงการแพร่ระบาดโรค COVID-19 เมื่อปี 2563 แต่การจ้างงานแรงงานท้องถิ่นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะกลุ่มคนดังกล่าวไม่นิยมทำงานทักษะต่ำ ทำให้มาเลเซียจำเป็นต้องผ่อนปรนเปิดรับแรงงานต่างชาติ โดยรับรอบแรกแล้วตั้งแต่ห้วง พ.ย.2564 และคาดว่า จะทยอยเปิดรับเพิ่มเติมอีกจำนวนมากหลังจากนี้