นิวซีแลนด์
New Zealand
นิวซีแลนด์
New Zealand
เมืองหลวง เวลลิงตัน
ที่ตั้ง ภาคพื้นแปซิฟิกตอนใต้ กึ่งกลางระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกใต้ ห่างจากออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2,000 กม. และอยู่ห่างจากประเทศไทยประมาณ 9,857 กม.
ภูมิประเทศ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเกาะ อยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกประกอบด้วย
2 เกาะใหญ่ คือ เกาะเหนือและเกาะใต้ (คั่นกลางด้วยช่องแคบคุก) และเกาะเล็กอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่ อยู่ในแนวเขตภูเขาไฟ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่เสมอ นิวซีแลนด์มีพื้นที่รวม 268,021 ตร.กม. (ขนาดใกล้เคียงกับอิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร)
วันชาติ 6 ก.พ. (วันลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ)
นางจาซินดา เคท ลอเรลล์ อาร์เดิร์น
Jacinda Kate Laurell Ardern
(นรม.นิวซีแลนด์ คนที่ 40)
ประชากร ประมาณ 5,122,600 คน (30 มิ.ย.2564) เชื้อชาติยุโรป 70.2% ชนพื้นเมืองเมารี 16.5% ชาวเอเชีย 15.1% ชาวเกาะในแปซิฟิก 8.1% อื่น ๆ 1.5% อายุขัยเฉลี่ย 82.8 ปี (ชาย 80.3 ปี หญิง 83.9 ปี) ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะเหนือ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเขตอุตสาหกรรม ความหนาแน่นของประชากร 18 คนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม.
การก่อตั้งประเทศ ชาวพื้นเมืองเมารีเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม นักเดินเรือชาวดัตช์ชื่อ Abel Tasman ล่องเรือเลียบมาทางออสเตรเลียและพบเกาะนิวซีแลนด์เมื่อปี 2185 และตั้งชื่อว่า Nieuw Zeeland หรือ New Zealand ต่อมา กัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษเดินทางมาถึงเมื่อปี 2312 และสำรวจชายฝั่งเกือบทั้งหมด เมื่อปี 2383 หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ของชาวเมารีลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ (Treaty of Waitangi) ยอมรับการปกครองของสหราชอาณาจักร แลกกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรของชาวเมารี หลังจากนั้นชาวยุโรปหลั่งไหลไปตั้งรกรากในนิวซีแลนด์มากขึ้น และเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 26 ก.ย.2450
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อยู่ในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร
มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 เป็นประมุข และมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของรัฐบาลนิวซีแลนด์ (คนปัจจุบันคือ Dame Cindy Kiro ตั้งแต่ 21 ต.ค.2564) อยู่ในตำแหน่งวาระ 5 ปี มีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่บัญญัติถึงระบบการเมืองการปกครอง แต่จะมีกฎหมายอื่น ๆ หลายฉบับมาประกอบกัน เช่น Constitution ACT 1986 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่รวบรวมหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายมาบัญญัติไว้ด้วยกัน
ฝ่ายบริหาร : ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ แต่งตั้ง นรม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมาก และแต่งตั้ง ครม.โดยคำแนะนำของ นรม. มีจำนวนไม่เกิน 24 คน ทำหน้าที่รายงานและให้คำปรึกษาแก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ด้านนโยบายสำคัญ บุคคลใน ครม.จะต้องมาจาก ส.ส. การบริหารงานของ ครม. กระทำผ่านคณะกรรมการ ส่วนกระบวนการกำหนดนโยบายสำคัญภายในนั้น ครม.กระทำโดยการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีชั้นความลับ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีฉันทามติเนื่องจาก ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันและต้องมีท่าทีอันเป็นเอกภาพ
นรม.คนปัจจุบันของนิวซีแลนด์ คือ นางจาซินดา อาร์เดิร์น หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ดำรงตำแหน่ง นรม.นิวซีแลนด์สมัยที่ 2 วาระ 3 ปี (ปี 2563-2565) หลังจากพรรคเลเบอร์ชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 17 ต.ค.2563 โดยพรรคเลเบอร์ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ในจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 120 ที่นั่ง พรรคเลเบอร์ได้ 64 ที่นั่ง พรรคเนชั่นแนล 35 ที่นั่ง พรรค ACT New Zealand 10 ที่นั่ง พรรคกรีน 10 ที่นั่ง และพรรคเมารี 1 ที่นั่ง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเป็นระบบสภาเดี่ยวมี ส.ส.จำนวน 120 คน จัดการเลือกตั้งทุก 3 ปี (เลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 17 ต.ค.2563) ประชาชนที่มีอายุครบ 18 ปี มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ : ศาลที่สำคัญ 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นอกจากนั้น มีศาลอื่น ๆ อีกเช่น ศาลคดีเด็กและเยาวชน (พิจารณาคดีเกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี) ศาลที่ดินของชาวเมารี ทุกศาลมีอำนาจตัดสินคดีทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา รวมถึงมีคณะอนุญาโตตุลาการด้วย
เศรษฐกิจ มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก พึ่งพาการผลิตในภาคการเกษตร และ
ป่าไม้เป็นหลัก ผลผลิตดังกล่าวมักประสบปัญหาราคาตกต่ำในตลาดโลก ทำให้นิวซีแลนด์ต้องปฏิรูปผลผลิตให้มีคุณภาพสูงเพื่อให้แข่งขันได้ มีการส่งเสริมการลงทุนและภาคบริการให้ทันสมัย ปรับนโยบายการเงินและ
การคลัง เพื่อตอบรับกระแสเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันสูงและต้องเผชิญวิกฤติการเงินโลก นิวซีแลนด์เสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับ 2 ของโลก เมื่อปี 2564 (Index of Economic Freedom) รองจากสิงคโปร์ เศรษฐกิจนิวซีแลนด์มีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2564 หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2563 อันเป็นผลกระทบจากโรค COVID-19 ทำให้ GDP ลดลงเหลือ -2.1%
นิวซีแลนด์พยายามขยายตลาดการค้าให้กว้างขวางขึ้น โดยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย กลุ่มอาเซียน ทำให้นิวซีแลนด์ เพิ่มปริมาณการค้าและการส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ นิวซีแลนด์บรรลุความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area-AANZFTA) เมื่อ 27 ก.พ.2552 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้การสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership-TPP) และเป็นประเทศที่สองที่ให้สัตยาบันในความตกลง TPP เมื่อ พ.ค.2560 รวมถึงนิวซีแลนด์ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) เมื่อ 2 พ.ย.2564 ควบคู่กับออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ใน 1 ม.ค.2565
สกุลเงิน : ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZ$)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.42 ดอลลาร์นิวซีแลนด์
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ : 23.10 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 247,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.1%
รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี : 41,330 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 16,458 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 205,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 3%
แรงงาน : 2.83 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 4.3%
มูลค่าการส่งออก : 39,541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลไม้ น้ำมันดิบ ไวน์
มูลค่าการนำเข้า : 42,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลไฟฟ้า สิ่งทอ
คู่ค้าสำคัญ : จีน ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
การทหาร นิวซีแลนด์จัดสรรงบประมาณทางทหารจำนวน 4,600 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ สำหรับปีงบประมาณ 2563-2564 กองทัพนิวซีแลนด์ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. มีกำลังพลประจำการ 9,400 นาย กำลังสำรอง 2,650 นาย มีกำลังป้องกันประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นประเทศเล็กมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ห่างไกลในซีกโลกใต้ ซึ่งศัตรูที่มีขีดความสามารถทางทหารเท่านั้นจึงจะเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์สามารถให้การสนับสนุนภารกิจในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ อาทิ การส่งทหารไปปฏิบัติการทั่วโลก อาทิ อียิปต์ ตะวันออกกลาง ซูดานใต้ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยดำเนินการผ่านข้อตกลง ANZUS, ARF และ Five Power Defence Arrangements
ความสัมพันธ์ไทย-นิวซีแลนด์
สถาปนาความสัมพันธ์เมื่อ 26 มี.ค.2499 และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดมา มีการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และต่างให้การสนับสนุนบทบาทของกันและกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในด้านความมั่นคง มีความร่วมมือกันในด้านต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น โดยเป็นผลจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (มีผลเมื่อปี 2549) ชาวนิวซีแลนด์เดินทางมาท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2563 จำนวน 15,690 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (19 เม.ย.2548) ข้อตกลงโครงการตรวจลงตราท่องเที่ยวและทำงาน (19 เม.ย.2548) ข้อตกลงด้านแรงงาน (19 เม.ย.2548) ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม (19 เม.ย.2548) ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-นิวซีแลนด์ (14 พ.ย.2548) ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (1 มิ.ย.2550)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
นิวซีแลนด์ยังคงเผชิญเหตุผู้ก่อการร้ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State-IS) ส่งผลให้รัฐบาลนิวซีแลนด์เร่งแก้ไข พ.ร.บ.ปราบปรามการก่อการร้าย ปี 2545 (Terrorism Suppression Act 2002) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการก่อการร้ายมากขึ้น ทำให้ดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยและลดความเสี่ยงของการก่อการร้าย นิวซีแลนด์อาจเผชิญความตึงเครียดในภูมิภาคระหว่างออสเตรเลียกับจีนมากขึ้น ภายหลังออสเตรเลียตั้งกลุ่ม AUKUS ร่วมกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยในปัจจุบันนิวซีแลนด์ไม่แสดงท่าทีต่อต้านจีนที่ชัดเจนเท่าออสเตรเลีย อีกทั้งนิวซีแลนด์ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership- RCEP) มีผลใน 1 ม.ค.2565 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์หลังวิกฤติ COVID-19 เฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งออก