องค์การความร่วมมืออิสลาม
(Organisation of Islamic Cooperation-OIC)
องค์การความร่วมมืออิสลาม
(Organisation of Islamic Cooperation-OIC)
เว็บไซต์ www.oic-oci.org
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ นครญิดดะฮ์ (เมืองเจดดาห์) ซาอุดีอาระเบีย
เลขาธิการ นายฮุเซน อิบรอฮีม ฏอฮา (ชาวชาด)
วัตถุประสงค์/ภารกิจ มาตรา 1 บทที่ 1 ของกฎบัตร OIC (มี 18 บท 39 มาตรา) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2551 ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง OIC ไว้ 20 ประการ สาระสำคัญดังนี้
1) ส่งเสริมภราดรภาพและเอกภาพในหมู่สมาชิก
2) พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐสมาชิกในการเผชิญกับปัญหาท้าทายต่อโลกอิสลามและประชาคมระหว่างประเทศ
3) เคารพสิทธิในการกำหนดใจตนเอง และไม่แทรกแซงกิจการภายใน อธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐสมาชิก
4) สนับสนุนการสถาปนาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนโดยสมบูรณ์ของรัฐสมาชิกที่ถูกใช้กำลังเข้ายึดครอง
5) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของรัฐสมาชิกในกระบวนการตัดสินใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในเวทีโลก
6) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบนพื้นฐานของความยุติธรรม ความเคารพต่อกัน และความเป็นมิตรประเทศที่ดี เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง และความสมานฉันท์ในโลก
7) ยืนยันการส่งเสริมสิทธิของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตามบทบัญญัติของกฎบัตร UN และกฎหมายระหว่างประเทศ
8) สนับสนุนการมีสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการกำหนดใจตนเองเพื่อสถาปนารัฐอธิปไตยที่มีอัลกุดส์ (เยรูซาเลม) เป็นเมืองหลวง
9) ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในโลกอิสลามที่จะนำไปสู่การจัดตั้งตลาดร่วมอิสลาม (Islamic Common Market)
10) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของรัฐสมาชิกอย่างรอบด้านและยั่งยืนเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
11) ส่งเสริมการเผยแผ่คำสอนของศาสนาอิสลามตามแนวทางสายกลาง
12) ปกป้องคุ้มครองภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของศาสนาอิสลาม และต่อสู้กับการกระทำที่ทำให้ภาพลักษณ์อิสลามต้องเสื่อมเสีย ตลอดจนส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนาและอารยธรรม
13) ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยระหว่างรัฐสมาชิก
14) ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตามหลักการของศาสนาอิสลาม
15) ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม
16) พิทักษ์สิทธิ เกียรติภูมิ และอัตลักษณ์ของชุมชนมุสลิมและชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐที่มิใช่สมาชิก OIC
17) รักษาการมีจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในเวทีโลก
18) ร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ รวมทั้งขบวนการอาชญากรรม การค้ายาเสพติด การทุจริตการฟอกเงิน และการค้ามนุษย์
19) ร่วมมือกันในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
20) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และข้อมูลข่าวสารระหว่างรัฐสมาชิก
นายฮุเซน อิบรอฮีม ฏอฮา (ชาวชาด)
เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)
สมาชิก มี 57 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในทวีปเอเชีย (27 ประเทศ) ได้แก่ อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บรูไน กาตาร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คาซัคสถาน คูเวต คีร์กีซสถาน เลบานอน มาเลเซีย มัลดีฟส์ โอมาน ปากีสถาน ปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ทาจิกิสถาน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน และเยเมน ประเทศในทวีปแอฟริกา (27 ประเทศ) ได้แก่ แอลจีเรีย เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน ชาด คอโมโรส โกตดิวัวร์ จิบูตี อียิปต์ กาบอง แกมเบีย กินี กินีบิสเซา ลิเบีย มาลี มอริเตเนีย โมร็อกโก โมซัมบิก ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดาน โตโก ตูนิเซีย และยูกันดา ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ (2 ประเทศ) ได้แก่ กายอานา และซูรินาเม ประเทศในทวีปยุโรป (1 ประเทศ) ได้แก่ แอลเบเนีย นอกจากนี้ ยังมีประเทศและองค์กรที่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ อีก 5 ประเทศและ 8 องค์กร/สถาบัน ได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รัสเซีย และรัฐตุรกีแห่งไซปรัสหรือไซปรัสเหนือ (ทวีปยุโรป) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (ทวีปแอฟริกา) ไทย (ทวีปเอเชีย) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (MNLF) ในฟิลิปปินส์ สหภาพรัฐสภาแห่งรัฐสมาชิก OIC (PUOICM) ที่ประชุมเยาวชนอิสลามเพื่อการสานเสวนาและความร่วมมือ (ICYF-DC) สหประชาชาติ (UN) กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) สันนิบาตอาหรับ (AL) สหภาพแอฟริกา (AU) และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECO)
ประวัติการก่อตั้ง OIC เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นการรวมตัวของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในโลกมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับความเป็นประชาชาติเดียวกัน (อุมมะฮ์) ภายใต้ชื่อว่า “องค์การการประชุมอิสลาม” (Organisation of the Islamic Conference) โดยจัดตั้งขึ้นตามมติ ที่ประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศมุสลิม 25 ประเทศ ที่ราบัต โมร็อกโก เมื่อ 25 ก.ย.2512 หลังเกิดเหตุอิสราเอลบุกยึดมัสญิดอัลอักศอ ในอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) ศาสนสถานสำคัญอันดับ 3 ของศาสนาอิสลามเมื่อปีเดียวกัน ต่อมาที่ประชุมระดับ รมว.กระทรวงการต่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม เมื่อปี 2513 มีมติให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการของ OIC ขึ้นที่ญิดดะฮ์ ซาอุดีอาระเบีย และออกกฎบัตร OIC ฉบับแรกเมื่อปี 2515 จากนั้นออกกฎบัตร OIC ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ ที่ประชุมระดับ รมว.กระทรวงการต่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม ครั้งที่ 38 ที่คาซัคสถาน เมื่อ มิ.ย.2554 มีมติให้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์และชื่อหน่วยงานเป็น “องค์การความร่วมมืออิสลาม” (Organisation of Islamic Cooperation-OIC) เพื่อสะท้อนถึงเจตนารมณ์ขององค์กรที่ต้องการเพิ่มการดำเนินการต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าการเป็นเพียงแค่เวทีปรึกษาหารือ
ความสัมพันธ์ไทย-OIC
กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย พยายามยกระดับปัญหาในพื้นที่เข้าสู่เวทีระดับโลก เฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปเคลื่อนไหวใน OIC ด้วยการผลักดันให้ที่ประชุม OIC พิจารณาปัญหามุสลิมในไทยและสนับสนุนการแยกตัวเป็นรัฐอิสระตั้งแต่ปี 2517 แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม เนื่องจากไทยใช้วิธีเคลื่อนไหวผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิก OIC ในการยับยั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวใน OIC และชี้แจงต่อที่ประชุม OIC แทน อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐบาลไทยแจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการที่จะเข้าเป็นสมาชิก OIC เมื่อ ก.พ.2541 และรณรงค์หาเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันก็ส่งผลให้ OIC มีฉันทามติรับไทยเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่ 1 ต.ค.2541 และทำให้ไทยสามารถเข้าไปชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้โดยตรง
การเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC เป็นโอกาสให้ไทยได้รับประโยชน์จากการที่ OIC เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแสวงหาเสียงสนับสนุนทางการเมืองในเวทีโลกของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้ไทยสามารถขยายความร่วมมือกับ OIC และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ OIC มากขึ้น เช่น ด้านเศรษฐกิจ อาทิ การที่สภาหอการค้าอิสลาม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม (ICCIA) ซี่งเป็นสถาบันสมทบของ OIC รับรองสมาคมนักธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยมุสลิม (TITIA) ของไทยในสถานะผู้สังเกตการณ์ใน ICCIA และการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง ICCIA กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (OSMEP) ของไทยเมื่อปี 2550 เพื่อร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะด้านอาหารและสินค้าฮาลาล อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าแฟชั่น อาจทำให้ไทยขยายตลาดการค้าในโลกมุสลิมได้ ด้านสังคมและอื่น ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IDB) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของ OIC ให้เงินสนับสนุน และเงินกู้ในการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเอกชนในไทยหลายแห่ง รวมถึงให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมศึกษาต่อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง และการที่สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (SMIIC) ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของ OIC ให้การรับรองสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ SMIIC เมื่อปี 2559
อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 และตามมาด้วยกรณีการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในมัสญิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในปีเดียวกัน OIC สนใจสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก็พยายามเชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา และอ้างความชอบธรรมเพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐปาตานีโดยอาศัยพื้นฐานความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติของประชาชนในพื้นที่
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับ OIC มากขึ้น ด้วยการเชิญคณะผู้แทน OIC ที่มีนายซัยยิด กอเซ็ม อัลมัศรี ที่ปรึกษาของเลขาธิการ OIC เป็นหัวหน้าคณะเยือนไทยในลักษณะ Goodwill Mission ระหว่าง 2-13 มิ.ย.2548 เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่และรายงานให้ที่ประชุม ICFM (หรือเปลี่ยนชื่อเป็น CFM ในปัจจุบัน) ครั้งที่ 32 ที่ซานา เยเมน ระหว่าง 28-30 มิ.ย.2548 ทั้งนี้ ผลการเยือนดังกล่าวทำให้ OIC เข้าใจสถานการณ์ในไทยมากขึ้น พร้อมกับยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา ขณะที่ฝ่ายไทยชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่ มัสญิดกรือเซะ และ สภ.อ.ตากใบ เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่นโยบายของรัฐที่ต้องการใช้ความรุนแรงต่อคนไทยมุสลิม ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม ICFM ครั้งที่ 32 จึงออกข้อมติว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิของชุมชนและชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่มิใช่สมาชิก OIC ที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นครั้งแรก แต่ไม่มีเนื้อหาเชิงลบ โดยเป็นการรับทราบผลการเยือนดังกล่าวและมอบหมายให้เลขาธิการ OIC รายงานความคืบหน้าให้ ICFM ทราบในปีต่อ ๆ ไป
รัฐบาลไทยยังคงสานต่อความร่วมมือกับ OIC ด้วยการเชิญ ศ.ดร.เอกเมเลดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC เยือนไทย ระหว่าง 30 เม.ย.-2 พ.ค.2550 และมีการออกคำแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า OIC ยังคงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และได้เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งดำเนินกระบวนการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่คนไทยมุสลิมในพื้นที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของตนภายในกรอบของรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี OIC ยินดีที่รัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะจัดการกับรากเหง้าของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง โดยได้รับทราบถึงแผนงานของทางการไทยที่จะจัดวิชาอิสลามศึกษาไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุญาตให้ใช้บทบัญญัติของศาสนาอิสลามเป็นกฎหมาย (ชะรีอะฮ์) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการในครอบครัว นอกจากนี้ ยังยินดีที่รัฐบาลไทยยืนยันจะนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ ที่ถูกจับกุมเมื่อปี 2547 ตามคำเรียกร้องของเลขาธิการ OIC
เหตุรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ รวมทั้งการที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักเลขาธิการ OIC ทำให้สำนักเลขาธิการ OIC มีท่าทีโน้มเอียงไปในทางเห็นอกเห็นใจกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น เห็นได้จากกรณีนายซำซูดิง คาน (หรือ อบู ยาซิร ฟิกริ) ประธานกลุ่มพูโลเก่า ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยต่อที่ประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญของ OIC (Intergovernmental Group of Experts-IGGE) ที่ญิดดะฮ์ ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ เม.ย.2552 นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการ OIC ยังจัดทำร่างข้อมติเกี่ยวกับสถานการณ์ของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทยเป็นการเฉพาะเพื่อเสนอให้ที่ประชุม CFM พิจารณามาตั้งแต่การประชุม CFM ครั้งที่ 35 ที่ยูกันดา เมื่อปี 2551 แต่การดำเนินการของไทยร่วมกับมิตรประเทศก็ส่งผลให้ที่ประชุมมีมติเลื่อนการพิจารณาร่างข้อมติดังกล่าวออกไปทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี การประชุม CFM ครั้งที่ 39 ที่จิบูตี เมื่อ พ.ย.2555 ข้อมติซึ่งมีข้อความที่ระบุให้เลื่อน (defer) การพิจารณาออกข้อมติว่าด้วยสถานการณ์ของมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นการเฉพาะ ถูกตัดออกไปอย่างสิ้นเชิงเป็นครั้งแรก และนับตั้งแต่การประชุม CFM ครั้งที่ 40 ที่กินี เมื่อ ธ.ค.2556 จนถึงการประชุม CFM ครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 47 ที่เมืองนีอาเม สาธารณรัฐไนเจอร์ ระหว่าง 27-28 พ.ย.2563มีการรับรองข้อมติเกี่ยวกับสถานการณ์ของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทย แต่ไม่มีเนื้อหาเชิงลบต่อไทยมากนัก อีกทั้งไม่ปรากฏข้อความในลักษณะข่มขู่ว่าจะกลับไปพิจารณาเกี่ยวกับการออกข้อมติว่าด้วยสถานการณ์ของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นการเฉพาะอีกเช่นกัน ส่วนการประชุม CFM ครั้งที่ 48 ประจำปี 2564 ซึ่งปากีสถานเป็นเจ้าภาพ ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 คาดว่าจะจัดการประชุมได้ในช่วงต้นปี 2565