องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก
Organisation of Petroleum Exporting Countries (OPEC)
องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก
Organisation of Petroleum Exporting Countries (OPEC)
เว็บไซต์ www.opec.org
ที่ตั้งสำนักงาน เวียนนา ออสเตรีย
เลขาธิการ นายมูฮัมหมัด ซานูสิ บาร์คินโด (Muhammad Sanusi Barkindo) ชาวไนจีเรีย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ OPEC คนที่ 28 สมัยที่ 1 ตั้งแต่ 1 ส.ค.2559 (วาระ 3 ปี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อ 1 ส.ค.2562
ภารกิจ กำหนดเป้าหมายร่วมกันด้านปิโตรเลียมของประเทศสมาชิก เพื่อประกันความยุติธรรมและความมีเสถียรภาพของราคาปิโตรเลียม รวมถึงผลตอบแทนที่ยุติธรรมแก่นักลงทุน ทั้งนี้ OPEC 13 ประเทศ ร่วมกับ Non-OPEC อีก 10 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บรูไน คาซัคสถาน มาเลเซีย เม็กซิโก โอมาน รัสเซีย ซูดานใต้ และซูดาน รวมเป็น 23 ประเทศ (OPEC+) ตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันตามโควตาของแต่ละประเทศรวมกันวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล ภายใต้ Declaration of Cooperation (DoC) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันจนถึง มี.ค.2563 แต่เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามราคาน้ำมันและการเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เมื่อต้นปี 2563 ทำให้ OPEC+ ตกลงปรับลดกำลังการผลิตลงกว่าวันละ 9.7 ล้านบาร์เรลเมื่อ เม.ย.2563 เริ่มต้น 1 พ.ค.2563 และเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 2 ล้านบาร์เรล จนทำให้การปรับลดเหลือวันละ 7.7 ล้านบาร์เรลเมื่อ ก.ค.2563 เป็นต้นมา
แม้ OPEC+ ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตให้เหลือวันละ 5.8 ล้านบาร์เรลช่วง ม.ค.2564 – เม.ย.2565 แต่ที่ประชุม OPEC+ กลับมีมติปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันในช่วง พ.ค.-ก.ค.2564 อย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากตลาดน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังวิกฤตโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ทั้งนี้ เมื่อ 4 พ.ย.2564 OPEC+ ตกลงคงการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกวันละ 400,000 บาร์เรล โดยไม่ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น ในการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลก เพื่อกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ต่ำลง ซึ่งห้วงไตรมาส 2-4/2564 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นมากจนถึงระดับเพดานบาร์เรลละ 85 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี จากความต้องการน้ำมันดิบในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการติดตามผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิก OPEC+ ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมระดับรัฐมนตรี OPEC ครั้งที่ 171 เมื่อ 30 พ.ย.2559 เพื่อติดตามการดำเนินการลดกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC+ ตาม DoC โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ การปรับลด/เพิ่ม หรือขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่ม OPEC+ ซึ่ง ที่ผ่านมา มีการประชุมดังกล่าวมาแล้ว 22 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 4 พ.ย.2564 โดยยืนยันจะคงการเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกวันละ 400,000 บาร์เรล จนถึง ธ.ค.2564 พร้อมย้ำให้ทุกประเทศปฏิบัติตามข้อตกลงเคร่งครัด
นายมูฮัมหมัด ซานูสิ บาร์คินโด
Muhammad Sanusi Barkindo
(เลขาธิการ OPE)
สมาชิก สมาชิกแรกเริ่มของ OPEC ได้แก่ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา จากนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มเติมเรียงลำดับตามปี ได้แก่ กาตาร์ (2504) อินโดนีเซียและลิเบีย (2505) สหรัฐอาหรับ- เอมิเรตส์ (2510) แอลจีเรีย (2512) ไนจีเรีย (2514) เอกวาดอร์ (2516) กาบอง (2518) แองโกลา (2550) กินี (2560) และคองโก (2561) ทั้งนี้ เอกวาดอร์ยกเลิกการเป็นสมาชิก OPEC ชั่วคราวเมื่อ ธ.ค.2535 และกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งเมื่อ ต.ค.2550 ขณะที่อินโดนีเซียยกเลิกเป็นสมาชิกชั่วคราวเมื่อ ม.ค.2538 และกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งเมื่อ ม.ค.2559 สำหรับกาบองยกเลิกการเป็นสมาชิกเมื่อ ม.ค.2538 และกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้งเมื่อ ก.ค.2559 ส่วนกาตาร์ออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อ ม.ค.2562 และเอกวาดอร์แถลงออกจากสมาชิกอีกครั้งใน ม.ค.2563 ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 (ต.ค.2563) สมาชิก OPEC ประกอบด้วย 13 ประเทศ ได้แก่ แองโกลา คองโก กินี กาบอง อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซุเอลา และแอลจีเรีย
ก่อตั้งเมื่อ ก.ย.2503 โดยอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา โดยการลงนามข้อตกลงที่แบกแดด อิรัก