สาธารณรัฐประชาชนจีน
People’s Republic of China
สาธารณรัฐประชาชนจีน
People’s Republic of China
เมืองหลวง ปักกิ่ง
ที่ตั้ง ทิศตะวันออกของทวีปเอเชีย บริเวณริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือระหว่างเส้นละติจูด 4-53 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูด 73-35 องศาตะวันออก พื้นที่ประมาณ 9,597,000 ตร.กม. (1 ใน 4 ของทวีปเอเชีย) ความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 5,000 กม. จากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 5,500 กม. มีพรมแดนยาว 22,117 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และมองโกเลีย
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับเกาหลีเหนือและทะเลเหลือง
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนตะวันออก
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก ติดกับอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับอินเดีย เนปาล และภูฏาน
ทิศใต้ ติดกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม
ภูมิประเทศ 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบสูง โดยแบ่งเป็นเขตภูเขา 33% ที่ราบสูง 26% ที่ราบลุ่ม 19% และเนินเขา 10% ลักษณะภูมิประเทศเหมือนขั้นบันไดจากที่ราบชิงไห่-ทิเบตทางตะวันตกความสูง 4,000 ม. ขึ้นไปลาดลงทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูงที่มีความสูง 1,000-2,000 ม. มีเทือกเขากั้นก่อนลดลงเป็นพื้นที่ที่มีความสูงระหว่าง 500-1,000 ม. และกลายเป็นที่ราบด้านตะวันออกจนถึงชายฝั่งและไหล่ทวีป เทือกเขาสำคัญ ได้แก่เทือกเขาหิมาลัย (พรมแดนระหว่างจีน อินเดีย และเนปาล) เทือกเขาคุนหลุน และเทือกเขาเทียนซาน มีแม่น้ำ ลำคลองมากกว่า 1,500 สาย ที่สำคัญ คือ แม่น้ำแยงซี (ยาวที่สุดในจีน) แม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำเฮยหลงเจียง และแม่น้ำจูเจียง นอกจากนี้ จีนยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง แม่น้ำแดง แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพรหมบุตร
วันชาติ 1 ต.ค.
นายสี จิ้นผิง Xi Jinping
(ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง)
ประชากร 1,412,000,000 คน (ปี 2563) เป็นชาวฮั่น 91.5% จ้วง 1.3% หุย 0.8% แมนจู 0.8% อุยกูร์ 0.7% ทิเบต 0.5% และอื่น ๆ 4.4 % อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 15% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 72.04% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 10.81% ประชากรจีนมีอายุเฉลี่ย 76.5 ปี (ปี 2561) ทั้งนี้เมื่อ 1 ม.ค.2559 รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนมีลูกได้ 3 คน ในปี 2564 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index-HDI) ของจีน เมื่อปี 2561 อยู่ในอันดับ 86 จาก 189 ประเทศ สำหรับเมืองที่มีประชากรหนาแน่น 5 อันดับแรก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจิน กว่างโจว และเซินเจิ้น
จีนเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2553-2563) ประชากรจีนเพิ่มขึ้น 5.38% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำสุดในรอบ 50 ปี จำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.64 อยู่ที่ 264 ล้านคน ประชากรอายุระหว่าง 15-59 ปี ลดลง 6.79% อยู่ที่ 894 ล้านคน ขณะที่อัตราการเกิดลดลง 18% อยู่ที่ 12 ล้านคนเมื่อปี 2562 เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายลูกคนเดียวเป็นเวลา 36 ปี โดยการส่งเสริมนโยบายให้มีลูกสองคนไม่ประสบผล เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เขตเมืองมีค่าครองชีพสูง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีบุตร และการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ทำให้ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
การก่อตั้งประเทศ มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานับพันปี แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความวุ่นวายในประเทศ ความอดอยาก การพ่ายแพ้ทางทหาร และการยึดครองของต่างชาติ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยประธานเหมาเจ๋อตุงรบชนะกองทัพของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยจอมพลเจียงไคเช็ค และสถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 1 ต.ค.2492 ต่อมาเมื่อปี 2521 นายเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นที่ 2 ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมาเจ๋อตุงดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ จนทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมาเติบโตในเกณฑ์สูงและรวดเร็ว รวมทั้งส่งผลให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจีนดีขึ้น
การเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้กำหนดนโยบายทุกด้าน รัฐบาลและสภาประชาชนแห่งชาติมีหน้าที่ทำตามมติและนโยบายที่พรรคกำหนดเท่านั้น โครงสร้างทางการเมืองที่สำคัญของจีน คือ 1) พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกอบด้วย สมัชชาพรรค คณะกรรมการกลาง คณะกรรมาธิการทหารกลาง คณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยคณะกรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการประจำกรมการเมือง และเลขาธิการพรรค 2) สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรสูงสุดในการใช้อำนาจรัฐ มาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนระดับท้องถิ่นต่าง ๆ มีอำนาจทั้งด้านนิติบัญญัติและการเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี 3) ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ 4) คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของประเทศซึ่งบริหารงานตามมติของสภาประชาชนแห่งชาติ 5) คณะกรรมาธิการทหารกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายระดับสูงของกองทัพจีน 6) สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน เป็นองค์กรแนวร่วมที่ประกอบด้วย ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคประชาธิปไตยต่าง ๆ ผู้แทนชนกลุ่มน้อย ตลอดจนผู้รักชาติจากไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และชาวจีนโพ้นทะเล และ 7) ศาลประชาชนเป็นองค์กรสูงสุดในการพิพากษาและควบคุมตรวจสอบงานพิพากษาของศาลระดับท้องถิ่น
เศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจจีนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยึดแนวทางสำคัญ 2 ประการ คือ แนวทางความรุ่งเรืองร่วมกัน (common prosperity) และการพึ่งพาตนเองตามแนวทางระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนคู่ขนาน (dual circulation) โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและคุณภาพมากกว่าเร่งเติบโตเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมจีน แนวทางความรุ่งเรืองร่วมกัน มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ แก้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขจัดความยากจน ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของบริษัทขนาดใหญ่ ป้องกันการสร้างรายได้จากช่องทางที่ผิดกฎหมาย ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนคู่ขนาน มุ่งลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้ากับสหรัฐฯ และการแพร่ระบาดโรค COVID-19 จึงมุ่งเน้นปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาการส่งออก ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยอาศัยประโยชน์จากการเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการปฏิรูปโครงสร้างภาคอุปทานที่จีนมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านจากการเป็นโรงงานโลกไปสู่อุตสาหกรรมที่มีคุณภาพและใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตของภาคบริการ
เศรษฐกิจจีนในภาพรวมยังคงเติบโตในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อไปในระยะยาว แต่ยังเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ วิกฤตขาดแคลนพลังงาน อุทกภัย และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ จีนยังสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นตัวกระตุ้นใหม่ต่อการพัฒนาคุณภาพสูง โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วในห้วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2563 มีมูลค่ารวม 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.6% จากเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่เร็วที่สุดในโลก
สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีน (Foreign direct investment-FDI) ปี 2563 เพิ่มขึ้น 12.3% มูลค่า 153,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดย FDI ในทุนเรือนหุ้นของจีนเพิ่มขึ้น 2.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2563 ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ และ FDI ของจีนคิดเป็น 20% ของ FDI โลก เนื่องจากขีดความสามารถการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซับซ้อนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 การลงทุนของจีนในประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เพิ่มขึ้น 22,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 14.7% ของ FDI ของจีนทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 20.6% แม้เผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่ง FDI ของจีนได้จ่ายภาษีให้กับประเทศผู้รับ FDI 44,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างงานท้องถิ่น 2.18 ล้านตำแหน่ง
ในห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 FDI ของจีนเพิ่มขึ้น 17.8% มูลค่า 142 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดย FDI ในภาคบริการเพิ่มขึ้น 20.3% และการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มขึ้น 23.7% ทุนต่างประเทศในบริการเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น 27.9% และการผลิตในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10% นอกจากนี้ FDI ในจีนจากกลุ่มประเทศ BRI และอาเซียนในห้วงเดียวกัน เพิ่มขึ้น 30.7% และ 29.5% ตามลำดับ ขณะที่การค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ BRI เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ส่วนการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น 20.4% เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ทั้งนี้ FDI ในจีนคิดเป็น 10% ของ FDI โลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
สัดส่วนเศรษฐกิจ
ภาคการเกษตรคิดเป็น 8.6% ของ GDP ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ข้าวโพด ถั่วลิสง ชา ผลไม้ และปศุสัตว์
ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 39.8% ของ GDP อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ การผลิตเครื่องจักรสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาวุธยานยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง
ภาคบริการคิดเป็น 51.6% ของ GDP
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 14.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : 4.9% (ไตรมาสที่ 3 ของปี2564)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 273,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
ดุลการค้า : เกินดุล 513,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 4,971 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
แรงงาน : 894.38 ล้านคน (ปี 2563)
อัตราการว่างงานในเขตเมือง : 6.2% (ปี 2563)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 1.8% (ต.ค.2564)
มูลค่าการส่งออก : 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
สินค้าส่งออกสำคัญ : อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ โทรศัพท์มือถือ ยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม และเกาหลีใต้
มูลค่าการนำเข้า : 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค. 2564)
สินค้านำเข้าสำคัญ : แร่เหล็ก ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ
ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ: 3.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ค. 2564)
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน(FDI) : 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค 2564)
การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีน (ODI) : 153,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
การทหาร พรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army-PLA) ผ่านคณะกรรมาธิการทหารกลาง ซึ่งมีเลขาธิการพรรคเป็นประธาน และผ่านกรมการเมืองของกองทัพ มีกองกำลังประจำการขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2,035,000 ล้านนาย (ก.พ.2562)
1) กองทัพบก แบ่งเป็น 18 กรม กอง และหน่วยปฏิบัติการผสมที่แยกเป็นอิสระ โดยมีกำลังพล 975,000 นาย ขีปนาวุธข้ามทวีป 70 ลูก ยานเกราะ 3,860 คัน รถถัง 6,740 คัน ปืนใหญ่ 13,420 กระบอก
2) กองทัพเรือ มีกองเรือหลักประกอบด้วย กองเรือทะเลเหนือ กองเรือทะเลตะวันออก และ กองเรือทะเลใต้ โดยมีกำลังพล 240,000 นาย เรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือดำน้ำติดขีปนาวุปโจมตี 57 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก 4 ลำ เรือฟริเกต/เรือพิฆาต 82 ลำ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธ 40 ลำ
3) กองทัพอากาศ มีหน่วยบัญชาการกองทัพอากาศ ทั้ง 5 เขตยุทธศาสตร์ (Strategic Zone) มีกำลังพล 395,000 นาย มีเครื่องบินขับไล่ 1,700 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิด 162 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 1,966 ลำ เฮลิคอปเตอร์ขนส่งขนาดใหญ่/กลาง 383 ลำ ยานบินไร้คนขับ 15 ลำ และดาวเทียม 77 ดวง
4) กองกำลังขีปนาวุธ (Rocket Force) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการป้องปราม ทางยุทธศาสตร์ และพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โดยประจำการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือพิสัยกลาง (Dongfeng-26) เมื่อ เม.ย.2561
5) กองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์ (Strategic Support Force) มีภารกิจด้านความมั่นคงทาง ไซเบอร์ อวกาศ โครงสร้างพื้นฐาน และอิเล็กทรอนิกส์ มีกำลังพลประมาณ 175,000 นาย
6) กองกำลังตำรวจติดอาวุธ (Armed Police Force) มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ คุ้มครองบุคคลและสถานที่สำคัญ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย และร่วมกับกองทัพในยามสงคราม ทั้งนี้ กองทัพจีนสั่งการให้กองกำลังรักษาชายฝั่ง (Coast Guard) ซึ่งรับผิดชอบกิจการทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเป็นหน่วยงานภายใต้กองกำลังติดอาวุธตั้งแต่ ก.ค.2561 เป็นต้นไป มีกำลังพล 660,000 นาย
7) กองกำลังสำรอง (Reserve Force) มีหน้าที่จัดเตรียมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติภารกิจในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัจจุบันกองทัพจีนมี กองกำลังสำรอง 510,000 นาย และมีแผนลดกองกำลังสำรองลง 300,000 นายเมื่อปี 2560 เพื่อเพิ่มกองกำลัง ในกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังขีปนาวุธ ตลอดจนปรับให้สอดคล้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นสงครามข้อมูลข่าวสารและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
จีนจัดตั้งฐานทัพที่จิบูติ เป็นฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกของจีน ประกอบด้วยท่าเรือและ สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ มีทหารเรือประจำการประมาณ 26,000 นาย (ปี 2561) และวางแผนขยายเป็น 100,000 นาย โดยมีภารกิจสำคัญคือ การสนับสนุนการต่อต้านโจรสลัด การสร้างสันติภาพ การอพยพพลเรือน การปกป้องเส้นทางเดินทางทางทะเล การรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและการช่วยเหลือทางมนุษยชน นอกจากนี้ จีนยังส่งกองกำลังร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติประมาณ 2,500 นาย
งบประมาณทางทหารปี 2563 เพิ่มขึ้น 6.6% เป็น 1.268 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 178,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจาก 7.5% เมื่อปี 2562 ที่จัดสรรงบประมาณทางทหารไว้ที่ 1.19 ล้านหยวน โดยนักวิเคราะห์จีนเห็นว่าการเพิ่มงบประมาณทางทหารดังกล่าวจะเป็นหลักประกันว่าโครงการพัฒนาที่สำคัญของกองทัพจะไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดสรรงบประมาณทางทหารไม่ให้เกินร้อยละ 2 ของ GDP
นโยบายทางทหารของจีนมุ่งเน้นการป้องกันประเทศเชิงรุกควบคู่กับหลักการพัฒนาอย่างสันติ โดยมุ่งเน้น 1) การพัฒนาทางทหารอย่างสันติ และการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร มีเป้าหมายเพื่อป้องกันตนเอง 2) สร้างกลไกความมั่นคงร่วมกันกับนานาประเทศ และกลไกความเชื่อมั่นทางทหารที่มีความยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ทั่วโลก 3) สนับสนุนและเข้าร่วมการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และส่งเสริมความร่วมมือกับกองทัพต่างชาติ ทั้งนี้ จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทหาร และจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายกำลังและการป้องกันชายฝั่งตะวันออกถึงแนวเขตทะเลลึก (Blue Water Navy Capability)
ยุทธศาสตร์การป้องกันเชิงรุกในสถานการณ์ใหม่ จีนให้ความสำคัญกับการเอาชนะสงครามข่าวสาร การจัดการกับปัญหาทางทะเล การควบคุมภาวะวิกฤตและการปกป้องอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดนและความมั่นคง นอกจากนั้น จีนให้ความสำคัญกับภารกิจในอวกาศและไซเบอร์มากขึ้น โดยจีนสนับสนุน การใช้ประโยชน์ในอวกาศอย่างสันติ คัดค้านการแข่งขันสะสมอาวุธ และขยายความร่วมมือด้านอวกาศกับต่างประเทศ ส่วนด้านไซเบอร์ จีนมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการป้องกันสงครามอิเล็กทรอนิกส์และ กองกำลังไซเบอร์ การป้องกันทางไซเบอร์ การส่งเสริมความร่วมมือทางด้านไซเบอร์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ทางไซเบอร์ ทั้งนี้ จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม ด้วยการสร้างสถาบันวิจัยด้านควอนตัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อประยุกต์ใช้กับกองทัพจีน โดยเฉพาะการถอดรหัสลับและ การสำรวจใต้ทะเลลึกของเรือดำน้ำ
จีนเร่งสร้างกองทัพจีนยุคใหม่ให้ทันสมัยภายในปี 2578 และยกระดับกองทัพจีนให้อยู่ในระดับ ชั้นนำของโลกภายในกลางศตวรรษที่ 21 (ปี 2583-2593) โดยมุ่งการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนายุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาในกองทัพมากขึ้น ด้วยการรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 120 คน มาทำงานให้แก่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทหารของจีน (Chinese Academy of Military Science) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และเทคโนโลยีควอนตัม สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน Type 002 ที่จะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2558 จะแล้วเสร็จในครึ่งแรกของปี 2564 ล่าช้าจากกำหนดเดิมเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรค COVID-19 นอกจากนี้ จีนยังได้ทำพิธีวางกระดูกงูเพื่อต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 โดยทั้ง 2 ลำต่อโดยอู่ต่อเรือเจียงหนานในนครเซี่ยงไฮ้ ขณะเดียวกัน จีนวางแผนจะให้อู่ต่อเรือต้าเหลียนต่อเรือบรรทุก เครื่องบินลำที่ 5 ที่จะเป็นลำแรกที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบันจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 2 ลำ ได้แก่ เรือเหลียวหนิง (ซื้อเรือเก่าจากยูเครนมาปรับปรุง) และเรือชานตง (เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนต่อเอง) โดยยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนตั้งเป้าหมายว่าจะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำภายในปี 2578 เพื่อปฏิบัติภารกิจในทะเลเหลือง ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก แห่งละ 2 ลำ
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงหลักของจีน คือ ภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม แบ่งเป็นภัยคุกคามภายในประเทศ ได้แก่ 1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากจีน ทั้งฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน และเขตปกครองตนเองซินเจียง 2) กลุ่มลัทธิฝ่าหลุนกงซึ่งจีนถือเป็นลัทธิผิดกฎหมาย 3) ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติและโรคระบาด อาทิ โรค COVID-19 และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับภัยคุกคามจากภายนอก ได้แก่ 1) การละเมิดน่านน้ำและน่านฟ้าของจีน 2) นโยบายสกัดกั้นจีนในทุกมิติของสหรัฐฯ 3) การขยายบทบาททางทหารของญี่ปุ่น 4) ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และ 5) สถานการณ์วุ่นวายในตะวันออกกลาง รวมทั้งความไม่สงบในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ของจีน ในต่างประเทศ ซึ่งอาจได้รับความเสี่ยงจากกลุ่มก่อการร้าย โจรสลัด และความไม่สงบในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ไทย-จีน
นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ก.ค.2518 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ทั้งในกรอบทวิภาคีในรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุน การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การทหารที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีในหลายระดับ ในระดับสูงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 1 ต.ค.2562 ในฐานะที่ทรงสร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือกับจีน และในระดับรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ระหว่าง 26-27 เม.ย.2562 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างกันของ Belt and Road Initiative กับเส้นทางรถไฟไทย-จีน และ Greater Bay Area กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor-EEC) นอกจากนี้ ไทย-จีน-ลาว ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ร่วมกัน รวมทั้งไทยสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคกับจีน ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity-MPAC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy-ACMECS) กับจีน
ในห้วงมค.-ก.ย.2564 จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 30.95% หรือ 2,411,223 ล้านบาท ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 26.63% มูลค่า 878,280 ล้านบาท นำเข้าเพิ่มขึ้น 33.56% มูลค่า 1,532,943 ล้านบาท ไทยเสียดุลการค้า 654,662 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมาไทย ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ
ด้านการท่องเที่ยว การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจากวิกฤตโรค COVID-19 ทำให้ห้วง ม.ค.-ก.ย.2564 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง 99.54% อยู่ที่ 5,696 คน จาก 1,247,564 คน เมื่อ ม.ค.-ก.ย.2563
ข้อตกลงที่สำคัญข้อตกลงทางการค้า (31 มี.ค.2521) พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-จีน (9 พ.ย.2521) ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (12 มี.ค.2528) ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย-จีน (28 ส.ค.2544) ความตกลง เร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ไทย-จีน (18 มิ.ย.2546) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (18 ต.ค.2546) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ (ต.ค.2546)
นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงของภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย) กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (27 ส.ค.2536) ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและวิชาการระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้ามณฑลเหอเป่ย (28 มี.ค.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-จีนและสภาธุรกิจจีน-ไทย (28 ส.ค.2544) แผนปฏิบัติการร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 2 (ปี 2555-2559) และการขยายความร่วมมือภายใต้ ทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า (ปี 2555)
การลงนามความตกลงภาครัฐ 6 ฉบับ (11 ต.ค.2556) ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยGovernmental Cooperation Project on the Infrastructure Development in Thailand in Connection with Agricultural Products Payment 2) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือภายใต้โครงการหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน 3) แผนปฏิบัติการ 5 ปี สำหรับความร่วมมือทางทะเลไทย-จีน 4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา 5) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน และ 6) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยและธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีนความร่วมมือ 4 ฉบับ (22 ธ.ค.2557) ได้แก่ 1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย 2) ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท 3) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน และ 4) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศจีนจำกัด (Bank of China Limited) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (ธ.ค.2558 และ ส.ค.2559) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับภาคเอกชนจีน 5 ฉบับ เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ 1) บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง 2) บันทึกข้อตกลงเพื่อการศึกษาร่วมกันในโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เนตในประเทศไทย 3) ความร่วมมือในการพัฒนาสนามทดสอบและพันธมิตรเพื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงต้น 4) ความร่วมมือพหุภาคีในการพัฒนา EEC Startup Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และ 5) ความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันไอโอทีและดิจิทัลพาร์คประเทศไทยบันทึกความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (เม.ย.2562) และการลงนามสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ต.ค.2563)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) สถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคงภายใน เช่น ผลต่อเนื่องจากการแต่งตั้งและโยกย้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเขตปกครองตนเองซินเจียงและทิเบต ปัญหาการเมืองและสังคมในฮ่องกง
2) การแข่งขันอิทธิพลกับสหรัฐฯ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ
3) บทบาทของจีนในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา คาบสมุทรเกาหลี และอัฟกานิสถาน
4) ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้
5) การขยายบทบาทของจีนผ่านทางความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการขยาย Soft power ของจีนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น การใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เป็นเครื่องมือทางการทูต
6) ปัญหาความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน
7) ความสัมพันธ์จีนกับประเทศมหาอำนาจอื่น เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย สหภาพยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย
8) ยุทธศาสตร์และการเป็นมหาอำนาจทางทะเลของจีน โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ ทั้งทางบกและทางทะเล (Belt and Road Initiative-BRI)
9) การขยายอิทธิพลทางการทหารของจีน
10) บทบาทผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศ และการดำเนินการตามเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603
11) การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19
12) สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโรค COVID-19 และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง
13) การพัฒนาและผลักดันบทบาทเงินหยวนดิจิทัล
14) การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2565 ใน ก.พ.2565
15) การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมืองในต้นปี 2565