ไต้หวัน
Republic of China
ไต้หวัน
Republic of China
เมืองหลวง ไทเป
ที่ตั้ง เป็นเกาะในทะเลจีนใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตรงข้ามมณฑลฝูเจี้ยน บริเวณเส้นละติจูดที่ 25 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 121 องศาตะวันออก มีช่องแคบไต้หวันซึ่งกว้างประมาณ 130 กม. ยาว 220 กม. คั่นอยู่พรมแดน ด้านเหนือใกล้ญี่ปุ่น ทางใต้ใกล้ฟิลิปปินส์ ตะวันออกคือ มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ เกาะไต้หวันมีความยาวจากเหนือ-ใต้ ประมาณ 400 กม. และกว้างสุดจากตะวันออก-ตะวันตก 145 กม.
อาณาเขต ประกอบด้วย หมู่เกาะไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู หมู่เกาะคินเหมินและมัตสุ (หม่าจู) พื้นที่รวมประมาณ36,000 ตร.กม. ใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์
ภูมิประเทศ 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นภูเขาที่ลาดลง เป็นที่ราบทางตะวันตก โดยมีเทือกเขาขนาดใหญ่และขนาดกลางทอดตัวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ของตัวเกาะ ยอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหยกหรือยูซันสูง 3,952 ม. มีแม่น้ำสายสั้น ๆ และไหลเชี่ยว มีพื้นที่เพาะปลูก 24%
ภูมิอากาศ สภาพอากาศเป็นกึ่งโซนร้อน ฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ย 25-28 องศาเซลเซียส อากาศโดยทั่วไปทางตอนใต้ร้อนกว่าทางตอนเหนือ ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากเฉลี่ย 2,580 มม.ต่อปี บริเวณที่มีฝนตกชุกคือ บริเวณตอนเหนือของเกาะ และยังต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหวเสมอ
ประชากร 23.83 ล้านคน (ปี 2563) เป็นชาวไต้หวัน 84% จีนแผ่นดินใหญ่ 14% ชาวเขา/พื้นเมือง 2% ชาวไต้หวันมีอายุขัยเฉลี่ย 76.41 ปี เมื่อปี 2563 ประชากรโดยรวมลดลง 0.3 % อยู่ที่ 23.83 ล้านคน ประกอบด้วย พลเมืองถาวรไต้หวัน 22.91 ล้านคน และแรงงานต่างชาติ 921,000 คน ส่วนประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 3.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 50.1% คิดเป็น 15% ของพลเมืองถาวรทั้งหมดของไต้หวัน ส่วนประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวน 2.91 ล้านคน ลดลง 668,000 คน คิดเป็น 12.6% ของพลเมืองทั้งหมด เป็นผลจากการมีอัตราการเกิดต่ำและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 15-64 ปี (ไม่นับรวมแรงงานต่างชาติ) ลดลง 169,000 คน เหลือ 16.55 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด
ศาสนา ผสมผสานระหว่างพุทธขงจื่อและเต๋า 93% คริสต์ 4.5% และอื่น ๆ 2.5%
ภาษา ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ ภาษาท้องถิ่นคือ ไต้หวันและฮักกา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือของประชาชน 98.9% จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา 88% ไต้หวันมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ไต้หวันมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 153 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย 141 แห่ง และวิทยาลัย 12 แห่ง ในแต่ละปีเยาวชนไต้หวันมีความสามารถทางวิชาการในระดับโลกโดดเด่นมากขึ้น เช่น การเข้าร่วมแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกในสาขาวิชาชีววิทยา คณิตศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์
ในปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันมีนโยบาย 1) ลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาของเยาวชน ด้วยการขยายการให้บริการด้านการศึกษาในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มเงินค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ปกครองของเยาวชน อายุ 2 ปีขึ้นไป 2) เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของครู 3) ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา เช่น ปรับปรุงห้องเรียน สนามเด็กเล็ก และหอพัก 4) ส่งเสริมการใช้สองภาษา (ภาษาจีนกับภาษาอังกฤษ) ภายในปี 2573 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไต้หวัน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาภาษาพื้นเมือง 5) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัลระดับสูง เพื่อสร้างเสริมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6) ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะและชุมชน และ 7) การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาไต้หวัน เพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ
วันชาติ 10 ต.ค.
น.ส.ไช่ อิงเหวิน
Tsai Ing–wen
(ประธานาธิบดีไต้หวัน)
ประชากร 23.78 ล้านคน (ปี 2563) เป็นชาวไต้หวัน 84% จีนแผ่นดินใหญ่ 14% ชาวเขา/พื้นเมือง 2% ชาวไต้หวันมีอายุขัยเฉลี่ย 76.41 ปี
การก่อตั้งประเทศ ชาวพื้นเมืองอาศัยบนเกาะไต้หวันตั้งแต่บรรพกาล จนกระทั่งชาวดัตช์และสเปนเข้าไปตั้งฐานการค้าและฐานทัพในไต้หวันในต้นศตวรรษที่ 17 ต่อมาปลายศตวรรษที่ 17 กองทัพราชวงศ์ชิงควบคุมเกาะไต้หวัน และตั้งเป็นมณฑลเมื่อปี 2428 ไต้หวันตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 2438 ตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิที่ราชวงศ์ชิงแพ้สงครามและต้องยกไต้หวันให้กับญี่ปุ่น จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไต้หวันอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนตั้งแต่ปี 2488 ต่อมากองทัพของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในไต้หวันประมาณ 1.2 ล้านคน เมื่อ ต.ค.2492
การเมือง ประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำกองทัพ และเป็นตัวแทนของชาติในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ มีอำนาจสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำสภาบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกเป็นสมัยที่ 2
โครงสร้างการปกครองรัฐธรรมนูญไต้หวันแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 5 สภา (The Five Yuans) ได้แก่ 1) สภาบริหาร (The Executive Yuan) 2) สภานิติบัญญัติ (The Legislative Yuan) 3) สภาตุลาการ (The Judicial Yuan) 4) สภาตรวจสอบและคัดเลือก (The Examination Yuan) และ 5) สภาควบคุม (The Control Yuan) ทั้ง 5 สภามีอำนาจการบริหารประเทศสูงสุด
สภาบริหาร : (The Executive Yuan หรือคณะรัฐมนตรี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับผิดชอบการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล มีการจัดองค์กรย่อย 3 ระดับ ภายใต้สภาบริหาร คือ 1) คณะมนตรีสภาบริหาร (ExecutiveYuan Council) คือ คณะรัฐมนตรี 2) องค์การบริหาร (Executive Organizations) คือ กระทรวงและคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง 3) หน่วยงานขึ้นตรง (Subordinate Departments) รวมไปถึงสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสถิติ กรมประชาสัมพันธ์คณะกรรมาธิการพิเศษอื่น ๆ และคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจ
สภานิติบัญญัติ : (The Legislative Yuan) เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของสภาบริหาร ผู้แทนของสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี สภานิติบัญญัติมีสมัยประชุมปีละ 2 ครั้ง และมีอำนาจในการออกกฎหมายทั่วไป การรับรองคำสั่งฉุกเฉิน การตรวจสอบร่างรัฐบัญญัติงบประมาณและการตรวจสอบรายงานทางบัญชี การรับรองรัฐบัญญัติที่ออกโดย กฎอัยการศึก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สภาตุลาการ : (The Judicial Yuan) ดูแลระบบตุลาการของประเทศ ทั้งนี้ ระบบตุลาการของไต้หวันมีศาลชั้นต้น (The District Court) ศาลอุทธรณ์ (The High Court) และศาลฎีกา (The Supreme Court) สภาตุลาการเป็นองค์กรด้านตุลาการสูงสุดของประเทศ โดยควบคุมกระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลฝ่ายบริหาร และคณะกรรมาธิการระเบียบวินัยข้าราชการ สภาตุลาการมีประธาน รองประธาน และตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาควบคุม
สภาตรวจสอบและคัดเลือก : (The Examination Yuan) ดูแลและจัดระบบกิจการพลเรือนรับผิดชอบในการสอบสวน การแต่งตั้ง การคัดเลือก การใช้จ่ายเงินของข้าราชการในสังกัดของรัฐบาล
สภาควบคุม : (The Control Yuan) เป็นฝ่ายควบคุมสูงสุดของชาติ มีสิทธิในการให้ความคิดเห็น การพิจารณาความผิดของข้าราชการ การตักเตือน การลงโทษ และการตรวจสอบบัญชี สภาควบคุมมีอำนาจในการถอดถอน จนท.ของรัฐ
เศรษฐกิจ ไต้หวันมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และปิโตรเคมี เศรษฐกิจไต้หวันมีจุดแข็งที่สำคัญจากนโยบายทางการเงินระดับมหภาค สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลที่โปร่งใส และมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากจีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่นโยบายของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินให้ความสำคัญลำดับแรกกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมนโยบายNew Southbound เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้มากขึ้น
ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันทั่วโลกประจำปี 2564 โดย International Institute for Management Development (IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 11 เมื่อปี 2563 IMD จัดอันดับความสามารถการแข่งขันทั่วโลกจาก 64 เขต/ประเทศ โดยประเมินใน 4 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไต้หวันอยู่อันดับที่ 6 8 7 และ 14 ตามลำดับ สะท้อนถึงความสำเร็จของไต้หวันในการป้องกันโรคติดต่อ ความสามารถในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และความสามารถในการสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี IMD ระบุว่าไต้หวันมีจุดอ่อนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีข้อเสนอแนะว่า จะต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้า และอัตราการเกิดต่ำ
เศรษฐกิจไต้หวันพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่อุปสงค์ทั่วโลกลดลง และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน ประกอบกับไต้หวันมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอัตราการเกิดต่ำ การเพิ่มสูงขึ้นของผู้สูงอายุ และอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ไต้หวันมีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น และจัดเก็บภาษีได้น้อยลง
สัดส่วนเศรษฐกิจ
ภาคบริการการคิดเป็น 62.1%
ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 36%
ภาคการเกษตรคิดเป็น 1.8%
สกุลเงิน : ดอลลาร์ไต้หวันอัตราแลกเปลี่ยน 27.82 ดอลลาร์ไต้หวัน : 1 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 1 ดอลลาร์ไต้หวัน : 0.85 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 34,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.69% (ปี 2565)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 65,141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)
ดุลการค้า : เกินดุล 53,803 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 22,400 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2563)
แรงงาน : 11.4 ล้านคน (ก.ย.2564)
อัตราการว่างงาน : 3.9% (ก.ย.2564)
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 1.0-1.5%
มูลค่าการส่งออก : 364,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
สินค้าส่งออกสำคัญ : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ปิโตรเคมี ยานยนต์และส่วนประกอบเรือ อุปกรณ์สื่อสารแบบไร้สาย จอแสดงผลแบบแบน เหล็ก พลาสติก และคอมพิวเตอร์
คู่ค้าส่งออกสำคัญ : จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
มูลค่าการนำเข้า : 310,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมัน เซมิคอนดักเตอร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เหล็ก คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารแบบ ไร้สาย ยานยนต์ สารเคมี และสิ่งทอ
คู่ค้านำเข้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และเกาหลีใต้
การทหาร
ทบ. กำลังพล 200,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถังหลัก 1,100 คัน และปืนใหญ่ 1,600 กระบอก
ทร. กำลังพล 45,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำ 4 ลำ เรือฟริเกต 22 ลำ และเรือพิฆาต 4 ลำ
ทอ. กำลังพล 45,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ 384 เครื่อง เครื่องบินขนส่ง 19 เครื่อง และเครื่องบินสำหรับภารกิจพิเศษ 25 เครื่อง
ในปี 2564 สถาบัน Global Firepower จัดให้กองทัพไต้หวันมีขีดความสามารถอันดับที่ 22 จากเดิมอันดับที่ 26 กองทัพไต้หวันมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารเพื่อป้องกันภัยคุกคาม ซึ่งในปี 2565 งบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้น 4% หรือ 16,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเตรียมการรบและเสริมสร้างกำลังทหาร
ไต้หวันลงนามสัญญาจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ 2 สัญญา เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านความมั่นคงของไต้หวัน ประกอบด้วย ระบบยิงระยะไกล มูลค่า 9,620 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน คาดว่าจะประจำการในปี 2570 ที่นครเถาหยวน และขีปนาวุธอีกจำนวนหนึ่งมูลค่า 39,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน คาดว่าจะประจำการในปี 2571 ที่นครเกาสง ทั้งนี้ คาดว่า เป็นระบบ High Mobility Artillery Rocket Systems (HIMARS) และระบบ Harpoon Coastal Defense Systems (HCDS)
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ภัยคุกคามจากกองทัพจีนที่มีต่อไต้หวัน โดยจีนนำสรรพาวุธมาประจำการในมณฑลฝูเจี้ยนและเจียงซี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด้านตะวันตกของไต้หวัน เนื่องจากจีนยังคงเห็นว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่รอการผนวก โดยกองทัพอากาศจีนส่งเครื่องบินปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน (Air Defense Identification Zone-ADIZ) มากกว่า 600 ครั้ง ในปี 2564 จากเดิม 380 ครั้ง เมื่อปี 2563
2) ภัยคุกคามทางไซเบอร์และข่าวปลอมเพื่อบ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาล โดยกระทรวงความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวันระบุว่า ถูกโจมตีทางไซเบอร์ 5 ล้านครั้งต่อวัน และอ้างว่าเป็นการจารกรรมจากจีนที่มุ่งโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานรัฐและพนักงานของรัฐ เพื่อจารกรรมข้อมูลทางการไต้หวัน เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยเมื่อ พ.ค.2564 ไต้หวันจัดตั้งกระทรวงพัฒนาดิจิทัลเพื่อกำกับดูแลข้อมูลและการสื่อสาร เพื่อป้องกันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
ความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน
ไทยยึดหลักการจีนเดียวในการดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวัน ทำให้รัฐบาลไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ยังมีความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ วิชาการ และสังคม ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ Joint Economic Cooperation between Chinese National, Association of Industry & Commerce (CNAIC) และ Federation of Thai Industries (FTI) (ม.ค.2532)
การค้าทวิภาคี ม.ค.-ก.ย.2564 ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 10 ของไต้หวัน มูลค่าการค้ารวม 352,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.55% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าไต้หวัน 138,252 ล้านบาท โดยไทยนำเข้าจากไต้หวัน 245,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 23.19%) ส่งออกไปไต้หวัน 107,019 ล้านบาท(เพิ่มขึ้น 23.19%) สินค้านำเข้าของไทยที่สำคัญ ได้แก่ ไอซีบอร์ด เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าประมง เหล็กกล้าชิ้นส่วนจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสิ่งทอ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม ข้าว นอกจากนี้ ระหว่าง ม.ค.-ก.ย.2564 ไต้หวันเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุน ลำดับที่ 8 จำนวน 41 โครงการ มูลค่า 6,074 ล้านบาท ลดลงจาก 58 โครงการ มูลค่า 14,581 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของเมื่อปี 2563
การท่องเที่ยว ประเทศไทยและคนไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวไต้หวันในทุกระดับ เนื่องจากความใกล้ชิดด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนาพุทธ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากโรค COVID-19 ทำให้ห้วง ม.ค-ก.ย2564 ชาวไต้หวันเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพียง 662 คน ลดลง 99.44% จาก119,266 คน เมื่อปี 2563
แรงงานไต้หวันเป็นตลาดแรงงานสำคัญอันดับ 1 ของไทย ในปี 2564 มีแรงงานไทยในเดินทางไปไต้หวันเพิ่มขึ้นอีก 9,110 คน ส่วนใหญ่เป็นสาขาอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานประเภทควบคุมเครื่องจักรและประกอบชิ้นส่วน ขณะที่มีชาวไต้หวันเดินทางมาไทยเพื่อติดต่อค้าขายและลงทุนประมาณ 150,000 คนส่วนมากเป็นนักธุรกิจ ปัจจุบัน มีคนไทยพำนักในไต้หวัน 62,018 คน (ส.ค.2563)
ด้านวิชาการ ไทยและไต้หวันมีความร่วมมือด้านวิชาการครอบคลุมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สาธารณสุขชุมชน และการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises-SMEs) ความตกลงสำคัญ ได้แก่ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ปี 2542) ความตกลงระหว่างสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทยเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2555) ส่งผลให้นักธุรกิจนักลงทุนไทยและไต้หวันได้รับประโยชน์จากการที่ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนในส่วนของรายได้จากการดำเนินธุรกิจระหว่างไทยกับไต้หวัน และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ (ปี 2556) เพื่อเพิ่มศักยภาพของตำรวจไทยและไต้หวันผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ