สาธารณรัฐโคลอมเบีย
Republic of Colombia
สาธารณรัฐโคลอมเบีย
Republic of Colombia
เมืองหลวง โบโกตา
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ 1,138,910 ตร.กม. (รวม Isls de Malpelo, Roncador และ Serrana Bank) มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ในอเมริกาใต้ (รองจากบราซิล อาร์เจนตินาและเปรู) ตั้งอยู่ในจุดต่อเชื่อมระหว่างอเมริกากลางกับอเมริกาใต้ และเป็นประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่มีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และทะเลแคริบเบียน
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดทะเลแคริบเบียน (1,760 กม.)
ทิศตะวันออก ติดเวเนซุเอลา (2,341 กม.) และบราซิล (1,790 กม.)
ทิศใต้ ติดเอกวาดอร์ (708 กม.) และเปรู (1,494 กม.)
ทิศตะวันตก ติดปานามา (339 กม.) และมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (1,448 กม.)
นอกจากนี้ ยังมีเขตแดนทางทะเลร่วมกับคอสตาริกา นิการากัว ฮอนดูรัส จาเมกา สาธารณรัฐโดมินิกัน และเฮติ
ภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศของโคลอมเบียแบ่งตามภูมิภาคออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ เขตเทือกเขา Andes (ทางตะวันออก) พื้นที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก ชายฝั่งทะเลแคริบเบียน เขตที่ราบ Llanos ป่าฝนแอมะซอน และเกาะต่าง ๆ ตั้งอยู่บนส่วนหนึ่งของวงแหวนไฟ (Ring of Fire) ทำให้เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด พื้นที่สูงที่สุดในประเทศอยู่ที่ตะวันตกของภูมิภาค Cordillera โดยมีความสูงเฉลี่ย 4,700-5,000 เมตร มีแม่น้ำ สายหลัก 7 สาย ได้แก่ Magdalena, Cauca, Guaviare, Atrato, Meta, Putumayo และ Caquetá ที่ลุ่มหลัก 4 แห่ง ได้แก่ the Pacific drain, the Caribbean drain, the Orinoco Basin และ the Amazon Basin โดยมีแม่น้ำ The Orinoco และ Amazon แบ่งเขตแดนระหว่างโคลอมเบีย เวเนซุเอลา และเปรู โคลอมเบียมีพื้นที่ “National Park” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 142,682.24 กม. หรือประมาณ 12.77% ของพื้นที่ โคลอมเบียยังมีป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีแหล่งน้ำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่
ภูมิอากาศ สภาพอากาศของโคลอมเบียแบ่งตามเขตพื้นที่ โดยพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับความสูง 1,000 เมตร เป็นพื้นที่อากาศจะร้อนที่เรียกว่า Tierra Caliente อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 24 องศาเซลเซียส ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 82.5% ของประเทศ ส่วนพื้นที่ราบ Tierra Templada มีความสูงประมาณ 1,001-2,000 เมตร เป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 17-24 องศาเซลเซียส พื้นที่ Tierra Fría จะเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็น ระดับความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 2,001-3,000 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 12-17 องศาเซลเซียส พื้นที่ที่มีความสูงระหว่าง 3,000-4,000 เมตร มีสภาพอากาศหนาวเย็นและทุ่งหญ้าแบบเทือกเขาสูง พื้นที่ Tierra Helada มีความสูงมากกว่า 4,000 เมตร อุณหภูมิต่ำกว่า องศาเซลเซียส มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมทั้งปี
ván Duque Márquez
(ประธานาธิบดีโคลอมเบีย)
รายละเอียดประชากร เป็นลูกผสมระหว่างคนเชื้อสายอินเดียนพื้นเมืองกับคนผิวขาว (mestizo) และ คนผิวขาว 87.6% Afro-Colombian ผสมผสานระหว่างชาว Multatto, Raizal และ Palenquero 6.8% ชาวอินเดียนพื้นเมือง 4.3% และไม่สามารถระบุได้ 1.4% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 23.27% อายุ 15-24 ปี 16.38% อายุ 25-54 ปี 42.04% อายุ 55-64 ปี 9.93% อายุ 65 ปีขึ้นไป 8.39 % อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 31.2 ปี เพศชาย 30.2 ปี เพศหญิง 32.2 ปี อัตราการเกิด 16.51 คน
ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.53 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.04%
การก่อตั้งประเทศ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมอพยพมาจากพื้นที่ในอเมริกากลาง (Mesoamerica) และแคริบเบียน ก่อนที่ชาวอินคาจะขยายอิทธิพลเข้ามา กลุ่มชาวสเปนเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกเมื่อปี 2053 ที่ Santa María la Antigua del Darién จนกระทั่งช่วงปี 2079-2082 Nikolaus Federmann ทหารชาวเยอรมันเดินทางมาค้นหา El Dorado หรือ “City Of Gold” ตามตำนานของชาวอินคา ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมากหลั่งไหลมาตั้งถิ่นฐานที่ New Granada ระหว่างศตวรรษที่ 16-17 ประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อปี 2353 โดยนาย Simón Bolívar เป็นประธานาธิบดีคนแรก เป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่ยึดแนวทางการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพรรค Liberal และพรรค Conservative (ก่อตั้งเมื่อปี 2391 และปี 2392)
เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา
การเมือง ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล มีวาระ 4 ปี และตั้งแต่ปี 2561 กำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ปัจจุบัน นาย Ivan Duque Marquez ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ 7 ส.ค.2561 การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 17 มิ.ย.2561 การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นใน 27 พ.ค.2565
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร และแต่งตั้ง ครม.
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภาคือ วุฒิสภา มีสมาชิก 108 คน กำหนดโควตาพิเศษสำหรับคณะกรรมาธิการชนเผ่าทั่วประเทศ 2 คน และสมาชิกพรรค People’s Alternative Revolutionary Force (FARC) 5 คน และสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 172 คน มาจากการเลือกตั้งโดยระบบ Party-list 166 คน และสมาชิกพรรค People’s Alternative Revolutionary Force (FARC) 5 คน (ตามที่กำหนดในความตกลงสันติภาพปี 2559) บวกกับรองประธานาธิบดี 1 คน ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่ของทั้ง 2 สภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งสมาชิกทั้ง 2 สภาครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 11 มี.ค.2561 และครั้งต่อไปจะจัดขึ้นใน มี.ค.2565
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Alternative Democratic Pole (PDA) นาย Jorge Enrique Robledo เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Citizens Option (Opcion Ciudadana-OC) หรือที่รู้จักกันในชื่อ the National Integration Party (PIN) นาย Angel Alirio Moreno เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Conservative Party (PC) นาย Hernan Andrade เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Democratic Center Party (CD) มีนาย Alvaro Uribe Velez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Green Alliance มีนาง Claudia Lopez Hernandez เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Humane Colombia นาย Gustavo Petro เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Liberal Party (PL) มีนาย Cesar Gaviria เป็นหัวหน้าพรรค พรรค People’s Alternative Revolutionary Force หรือ FARC มีนาย Rodrigo Londono Echeverry เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Radical Change (CR) มีนาย Rodrigo Lara Restrepo เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Social National Unity Party (U Party) มีนาย Roy Barreras เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง สหภาพแรงงานกลาง (Central Union of Workers หรือ CUT) กลุ่ม Colombian Confederation of Workers หรือ CTC กลุ่ม General Confederation of Workers หรือ CGT กลุ่มกบฎ National Liberation Army หรือ ELN และกลุ่มกองกำลังบางส่วนของ Revolutionary Armed Forces of Colombia หรือ FARC
ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ มีปัญหาเขตแดนทางบกและทางทะเลกับนิการากัว และเวเนซุเอลา ปัญหาองค์กรอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ความเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธและ
กองกำลังกึ่งทหารตามแนวพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ปัญหาความขัดแย้งและอาชญากรรม
ในพื้นที่ทำให้ชาวโคลอมเบียในพื้นที่อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาทางการเมืองในเวเนซุเอลา ทำให้มีผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาพำนักในโคลอมเบียประมาณ 681,396 คน อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลาแถลง
เมื่อ 4 ต.ค.64 ว่าเตรียมเปิดพรมแดนระหว่างเวเนซุเอลา-โคลอมเบีย ระยะทาง 2,000 ก.ม. อีกครั้งหลังจากเวเนซุเอลาปิดพรมแดนตั้งแต่ ก.พ.2561
เศรษฐกิจ โคลอมเบียเป็นประเทศที่วางนโยบายเศรษฐกิจและการเงินมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจของโคลอมเบียได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) กับประเทศต่าง ๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและปัญหาเงินเฟ้อ การที่โคลอมเบียพึ่งพาภาคการส่งออกพลังงานและสินแร่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพิ่มสูงขึ้น โคลอมเบียยังเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินสำคัญอันดับที่ 4 ของโลก เป็นผู้ส่งออกกาแฟและดอกไม้อันดับที่ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญอันดับที่ 4 ของประเทศลาตินอเมริกา แต่การพัฒนาเศรษฐกิจกลับมีอุปสรรคจากปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภค ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ปัญหาความยากจน การค้ายาเสพติดและสถานการณ์ความมั่นคงที่ไม่แน่นอน
แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของโคลอมเบียจะอยู่ที่ 4.7% มาเป็นเวลานาน แต่ปี 2559 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียลดลงเหลือ 2% และปี 2563 ลดลงเหลือ – 6.85% เนื่องจากผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (El Niño) การประท้วงของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งทำให้ราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
โคลอมเบียลงนามความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 12 ประเทศ และเป็นสมาชิกก่อตั้งของ Pacific Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าในภูมิภาค ร่วมกับชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโกและเปรู เพื่อส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD เมื่อปี 2556 โคลอมเบียเพิ่มความร่วมมือด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมากตั้งแต่ปี 2560 เป็นประเทศคู่ค้าที่โคลอมเบียได้รับประโยชน์จากการทำความตกลง FTA แต่ยังคงไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปยังตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากปัญหาขาดความหลากหลายของสินค้า ปัญหาการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่อัตราพิกัดศุลกากร ในสินค้าประเภทสุรา เอทิลแอลกอฮอล์ เวชภัณฑ์ และสิทธิแรงงาน
ทั้งนี้ รัฐบาลโคลอมเบียไม่สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.87 แสนล้านบาท ในปี 2564 หลังเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 10,000 คน รวมตัวบริเวณอาคารรัฐสภาในกรุงโบโกตา เมื่อ พ.ค.2564
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : โคลอมเบียเปโซ (Colombian pesos-COP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 3,881.36 COP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 118.74 COP (พ.ย.2564)
การทหาร กองทัพโคลอมเบียมีกำลังพล 293,200 นาย ทบ. 223,150 นาย ทร. 56,400 นาย ทอ. 13,650 นาย กำลังพลสำรอง 34,950 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 187,900 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 669 คัน รถถังปืนใหญ่อัตตาจร 6 กระบอก ปืนใหญ่ชนิดลาก 110 กระบอก เครื่องบิน 490 เครื่อง เครื่องบินโจมตี/สกัดกั้น 21 เครื่อง เครื่องบินโจมตี 59 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง 71 เครื่อง เครื่องบินฝึก 105 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 272 เครื่อง เรือฟริเกต 4 ลำ เรือ Corvettes 1 ลำ เรือดำน้ำ 11 ลำและเรือลาดตระเวนชายฝั่ง 70 ลำ งบประมาณด้านการทหาร 8,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3% ของ GDP)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โคลอมเบียเป็นประเทศที่ 11 ของโลก
ที่มีผู้ป่วยมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจนและชนชั้นแรงงาน ทำให้ชาวโคลอมเบียว่างงานกว่า
4 ล้านคน โดยโคลอมเบียมีบทบาทนำในการขอให้ประชาคมโลกช่วยเหลือประเทศรายได้ต่ำในการเจรจาซื้อวัคซีน COVID-19 เพื่อให้โลกสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในปี 2564 โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ประสบภาวะขาดแคลนวัคซีน
2) ความเสี่ยงในการดำเนินการตามกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบีย และกลุ่มกองทัพปฏิวัติโคลอมเบียหรือกลุ่ม FARC (Revolutionary Armed Forces of Colombia) หลังโคลอมเบียเปลี่ยนรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Ivan Duque Marquez ซึ่งมีแนวความคิดไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิสมาชิกระดับนำของกลุ่ม FARC ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่ต้องรับโทษที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชน การลักพาตัว เรียกค่าไถ่และค้ายาเสพติด ในช่วงสงครามกลางเมือง
3) การแยกตัวของสมาชิกกลุ่ม FARC ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรองดองของรัฐบาลโคลอมเบีย
4) การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียกับกลุ่ม National Liberation Army (ELN)
5) ปัญหายาเสพติด โคลอมเบียเป็นประเทศผู้ผลิตยาเสพติดที่สำคัญ (โคคา ฝิ่นและกัญชา) รวมถึงเป็นผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ที่สุดของโลก ตลาดสำคัญคือสหรัฐฯ และตลาดยาเสพติดที่สำคัญอื่น ๆ ของโลกรวมทั้งเป็นแหล่งฟอกเงินของพ่อค้ายาเสพติดผ่านตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดมืด ตั้งแต่ปี 2560 มีรายงานตรวจพบการลักลอบนำเข้าโคเคนจากโคลอมเบียมายังไทยบ่อยครั้งขึ้น
6) โคลอมเบียประกาศเมื่อ ส.ค.2564 ว่าจะรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันจำนวน 4,000 คน มาพำนักในประเทศชั่วคราว ก่อนย้ายถิ่นฐานไปสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ลี้ภัยทั้งหมด
7) คิวบา โคลอมเบีย และแอฟริกาใต้ ลงนามเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia-TAC) กับอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พ.ย.2563 ซึ่ง TAC เป็นความตกลงที่ประเทศนอกภูมิภาคที่ต้องการเข้ามา
มีความเกี่ยวพันกับอาเซียนในลักษณะต่าง ๆ ต้องลงนามความตกลงว่าจะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ
ในภูมิภาคร่วมกัน (ปัจจุบันมีประเทศที่ลงนามกับอาเซียนแล้ว 43 ประเทศ)
ความสัมพันธ์ไทย–โคลอมเบีย
ไทยและโคลอมเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 20 เม.ย.2522 ครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อปี 2557 โดย สอท.ไทย ณ ลิมา เปรู มีเขตอาณาครอบคลุมโคลอมเบีย และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ โบโกตา คนแรกเมื่อ 16 พ.ย.2531 โคลอมเบียเคยเปิด สอท. ในไทยเมื่อปี 2535 แต่ต้องปิดลงตั้งแต่ 28 ก.พ.2542 ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และแต่งตั้งให้ ออท. ณ กัวลาลัมเปอร์ เป็น ออท.ประจำไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาทางทางโคลอมเบียได้ยื่นคำขอเปิด สอท.โคลอมเบียประจำประเทศไทยอีกครั้ง (ครม.มีมติอนุมัติเมื่อ 2 ต.ค.2555) ปัจจุบันมีนางอานา มาเรีย ปริเอโต อาบัด (H.E. Mrs. Ana Maria Prieto Abad) ดำรงตำแหน่ง ออท.
นอกจากนี้ เมื่อ 11 ก.ค.2556 รมว.กระทรวงการต่างประเทศไทยและโคลอมเบียลงนามในความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างสองประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับสูงและระดับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ไทยและโคลอมเบียเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนสนับสนุนการจัดการประชุม Bilateral Consultations เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมและขยายความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าไทยกับโคลอมเบียเมื่อปี 2563 มูลค่า 7,474.63 ล้านบาท ไทยส่งออก 5,664.19 ล้านบาท และนำเข้า 1,810.44 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,853.74 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและซักแห้งและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่ไทยนำเข้า เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ถ่านหิน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เคมีภัณฑ์
ทั้งสองฝ่ายขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองประเทศมีศักยภาพ โดยไทยชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจสีส้ม (Orange Economy) ของโคลอมเบีย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ให้เป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมในรูปแบบ SMEs พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน ตลอดจนเชิญชวนให้โคลอมเบีย
ใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนเพื่อขยายตลาดเข้าสู่ประเทศอาเซียนตามนโยบาย Thailand Plus One
ความตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงกับหน่วยงาน Presidencial Against Ililliicit Crops (PCI), Accion Social ของโคลอมเบียเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงและพื้นที่ปลูกพืชเสพติด
ไทยและโคลอมเบียมีความร่วมมือด้านวิชาการในกรอบทวิภาคี โดย Presidential Agency of International Cooperation of Colombia (APC) ของโคลอมเบีย ต้องการร่วมมือกับไทยในหลายสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น การปลูกพืชทดแทนการปลูกพืชเสพติด การท่องเที่ยว การพัฒนาพลังงานชีวมวล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์และพยาบาลและความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยโคลอมเบียได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในโครงการกรอบความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin American Cooperation-FEALAC) อาทิ การอบรมหลักสูตร Tourism Management โครงการบัวแก้วสัมพันธ์ ซึ่งเน้นด้านการท่องเที่ยว ประมงและ SMEs การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านยาเสพติด โครงการฝึกอบรมด้านการลดความยากจน (Poverty Reduction) การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติระหว่างสมาชิก FEALAC
ขณะที่ไทยพร้อมสนับสนุนทุนฝึกอบรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพแก่ชาวโคลอมเบียเช่นกัน ตลอดจนยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการที่ดิน การปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด และ
การท่องเที่ยวป่าเชิงอนุรักษ์แก่โคลอมเบีย นอกจากนี้ ไทยและโคลอมเบียลงนามบันทึกความเข้าใจ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างกันระหว่างการเยือนโคลอมเบียของ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย เมื่อ 16 ก.ย.2558
ปัจจุบัน มวยไทยเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายในโคลอมเบีย และมีชาวโคลอมเบียเดินทางมาฝึกหัดมวยไทยที่ประเทศไทยด้วย โรงเรียนสอนฝึกหัดมวยไทยโบราณรามเกียรติ์ในโคลอมเบียได้จัดสัมมนาการไหว้ครูมวยไทยภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้กับนักเรียนและสมาชิก International Muay Thai Academy เมื่อ 15 ก.พ.2558