สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
Republic of Indonesia
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
Republic of Indonesia
เมืองหลวง จาการ์ตา
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแนวเส้นศูนย์สูตร ระหว่างมหาสมุทรอินเดียทางทิศใต้กับมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศเหนือ ซึ่งทำให้อินโดนีเซียคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสองผ่านช่องแคบที่สำคัญ ได้แก่ มะละกา ซุนดา และลอมบ็อก
อาณาเขต พื้นที่ 1,904,569 ตร.กม. เป็นแผ่นดิน 1,811,569 ตร.กม. (ใหญ่ประมาณ 3.7 เท่าของไทย) เป็นพื้นที่ทะเล 93,000 ตร.กม. มีแนวเขตแดนทางบกยาว 2,958 กม. ติดกับมาเลเซีย (ด้านรัฐซาราวักและ รัฐซาบาห์) ระยะทาง 1,881 กม. ติมอร์เลสเต 253 กม. และปาปัวนิวกินี 824 กม. ชายฝั่งยาว 54,716 กม. ระยะทางจากตะวันออกสุด-ตะวันตกสุด 6,401 กม.
ภูมิประเทศ เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 17,480 เกาะ แต่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 6,000 เกาะ ประกอบด้วย 5 เกาะหลัก ได้แก่ กาลิมันตัน (539,460 ตร.กม.) สุมาตรา (473,606 ตร.กม.) ปาปัว (เป็นส่วนหนึ่งของเกาะนิวกินีมีพื้นที่ 421,981 ตร.กม.) สุลาเวสี (189,216 ตร.กม.) และชวา (132,107 ตร.กม.) ที่เหลือเป็นหมู่เกาะขนาดเล็กประมาณ 30 หมู่เกาะ มีภูเขาไฟประมาณ 400 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลัง 127 ลูก
วันชาติ 17 ส.ค.
นายโจโก วิโดโด
Joko Widodo
(ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย)
ประชากร 275,122,131 คน (ก.ค.2564) มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ คิดเป็น 3.51% ของประชากรโลก อัตราการเพิ่มขึ้น 0.81% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 23.87% อายุ 15-64 ปี 68.31% อายุ 65 ปีขึ้นไป 7.82% อายุขัยเฉลี่ย 72.82 ปี ชาย 70.62 ปี หญิง 75.12 ปีประชากร 57.3% อาศัยอยู่ในเขตเมือง อินโดนีเซียมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 300 กลุ่ม เป็นชาวชวา 40.1% ซุนดา 15.5% มาเลย์ 3.7% บาตัก 3.6% มาดูรา 3% และชาติพันธุ์อื่น ๆ 34% ซึ่งรวมจีนด้วยประมาณ 2%
การก่อตั้งประเทศ ที่ตั้งของอินโดนีเซียเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า และศาสนาที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นที่ตั้งของหลายอาณาจักรทั้งฮินดู พุทธ และอิสลาม ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรในยุคล่าอาณานิคม เนื่องจากอินโดนีเซียมีเครื่องเทศมากจึงถูกเรียกว่า “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ญี่ปุ่นบุกยึดอินโดนีเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อน อินโดนีเซียตกเป็นของเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง การสถาปนาเป็นประเทศอินโดนีเซียเริ่มจากการต่อสู้แยกตัวเป็นเอกราชในนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของรัฐที่เป็นอิสระในการปกครองตนเองจำนวน 15 รัฐ โดยประกาศเอกราชเมื่อ 17 ส.ค.2488
การเมือง เป็นรัฐเดี่ยวในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ (เป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก) แบ่งการปกครองเป็น 34 จังหวัด อุดมการณ์ทางการเมืองมีทั้งชาตินิยม และนิยมอิสลามแต่อยู่บนหลักการปัญจศีลและหลักนิยมทางสังคม
ปัญจศีลเป็นอุดมการณ์และปรัชญาขั้นพื้นฐานของประเทศ 5 ประการ คือ 1) เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว 2) เป็นมนุษย์ที่ยุติธรรมและมีอารยธรรม 3) เอกภาพของอินโดนีเซีย 4) ประชาธิปไตยอันเกิดจากปัญญาและความรู้ของผู้แทนบนความเห็นเป็นเอกฉันท์ และ 5) ความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อประชาชนทุกคนของอินโดนีเซีย
หลักนิยมทางสังคม คือ 1) มุชาวะเราะฮ์ : การปรึกษาหารือกัน 2) โกตองโรยอง : การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3) มุฟากัต : การยอมรับและปฏิบัติตามการตัดสินใจของที่ประชุม และ 4) บีเนกาตุงกัลอีกา : เอกภาพในความหลากหลาย
ฝ่ายบริหาร : มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (ครั้งแรกเมื่อปี 2547) วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกระจายอำนาจเพื่อให้จังหวัดต่าง ๆ สามารถบริหารตนเองได้ จึงมีการเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารและสภานิติบัญญัติในท้องถิ่นตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงระดับอำเภอหรือเทศบาล
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ผู้ลงสมัครจะต้องถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรต้องมี ส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่า 20% (112 คน) จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 560 คน หรือได้คะแนนเสียง (popular vote) ไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะเสนอชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีพร้อมกัน ในการเลือกตั้งทั้งคู่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากหรือ 50% ขึ้นไปในครั้งแรก แต่หากไม่มีคู่ใดได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดให้ลงคะแนนเสียงใหม่ในรอบที่ 2
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 17 เม.ย.2562 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด สังกัดพรรค Indonesian Democratic Party-Struggle (PDI-P) ชนะนายปราโบโว ซูเบียนโต ผู้นำฝ่ายค้านด้วยคะแนนเสียง 55.5% ต่อ 45.5% ทำให้นายโจโก วิโดโด เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยเมื่อ 20 ต.ค.2562 การเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดจัดในปี 2567
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาหรือสภาที่ปรึกษาประชาชน (Majelis Permusyawaratan Rakyat-MPR) ประกอบด้วย ส.ส. (Dewan Perwakilan Rakyat-DPR) 560 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป และสมาชิกของสภาผู้แทนจังหวัด (Dewan Perwakilan Daerah-DPD) 132 คน (เลือกตั้งจังหวัดละ 4 คน) MPR มีอำนาจหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีและ/หรือ รองประธานาธิบดี
ฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดการพิจารณาตรวจสอบกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ การยุบพรรคการเมือง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งทั่วไป และวินิจฉัยชี้ขาดความเห็นของ DPR ที่ยื่นเสนอขอถอดถอนประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี
พรรคการเมือง : อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ พรรค Indonesian Democratic Party-Struggle (PDI–P) พรรค Golkar พรรค Democratic Party (PD) และพรรค Gerindra และยังมีพรรคการเมืองที่มีฐานมาจากกลุ่มอิสลาม หรือมีแนวทางนิยมอิสลามหลายพรรค เช่น พรรค National Mandate Party (PAN) พรรค National Awakening Party (PKB) พรรค Prosperous Justice Party (PKS) พรรค United Development Party (PPP)
การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 17 เม.ย.2562 มีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งใน DPR 10 พรรค โดยพรรค PDI-P ของนางเมกวาตี ซูการ์โนปุตรี อดีตประธานาธิบดี (ระหว่างปี 2544-2547) มีมากที่สุด 128 ที่นั่ง รองลงมา คือ พรรค Golkar 85 ที่นั่ง พรรค Gerindra 78 ที่นั่ง พรรค Nasdem 59 ที่นั่ง พรรค PKB 58 ที่นั่ง พรรค PD 54 ที่นั่ง พรรค PKS 50 ที่นั่ง พรรค PAN 44 ที่นั่ง พรรค PPP 19 ที่นั่ง
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใช้กลไกตลาด มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลไกขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก
ช่วงปี 2551-2555 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6% (ยกเว้นปี 2552 ซึ่งขยายตัวเพียง 4.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก) ระหว่างปี 2556-2562 การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% เนื่องจากการบริโภคภายในซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น สินแร่และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียมีราคาตกต่ำ ปี 2563 อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ภาคการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และการบริโภคภายใน ซึ่งเป็นที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศปี 2563 จะหดตัวระหว่างร้อยละ 0.6 -1.7 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2541
นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2554-2568 (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011-2025 หรือ MP3EI) มีหลักการสำคัญ คือ เร่งรัดและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2568 และตั้งเป้าให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวประมาณ 14,250-15,000 ดอลลาร์สหรัฐ GDP มีมูลค่า 4.0-4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 3% ภายในปี 2568
ในระยะต่อไป อินโดนีเซียมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ เหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ อุปกรณ์การขนส่ง พาณิชย์นาวี นิกเกิล ทองแดง บอกไซต์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สินค้าเกษตร ท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปศุสัตว์ ป่าไม้ โกโก้ ประมง และอาวุธยุทโธปกรณ์ และจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ 6 เขตเศรษฐกิจ คือ 1) เขตเศรษฐกิจสุมาตรา จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งสำรองพลังงานของชาติ 2) เขตเศรษฐกิจชวาจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศ 3) เขตเศรษฐกิจ กาลิมันตันจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปด้านเหมืองแร่ และเป็นแหล่งพลังงานของประเทศ 4) เขตเศรษฐกิจสุลาเวสีจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรของประเทศ 5) เขตเศรษฐกิจบาหลี-นูซาเต็งการาจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและผลิตอาหารของประเทศ และ 6) เขตเศรษฐกิจปาปัว-หมู่เกาะโมลุกกะจะพัฒนาเป็นศูนย์กลาง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูเปียะฮ์ (Rupiah-IDR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 14,325.07 รูเปียะฮ์ต่อ 1 ดอลลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 429.85 รูเปียะฮ์ต่อ 1 บาท (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 1,058,423.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : หดตัว 2.1% (ปี 2563)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,869.6 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
แรงงาน : 134.6 ล้านคน (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : ร้อยละ 4.3 (ปี 2563)
อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 1.9 (ปี 2563)
ผลผลิตทางการเกษตร : ยางพารา น้ำมันปาล์ม กาแฟ โกโก้ เครื่องเทศ
ผลผลิตอุตสาหกรรม : รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี เครื่องจักร สิ่งทอ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลประมาณ 2,900 ล้านดอลลาร์ (ไตรมาส 2/2563)
มูลค่าการส่งออก : 163,355 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้าส่งออก : ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม ก๊าซธรรมชาติ รถยนต์ ทอง
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย
มูลค่าการนำเข้า : 135,141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้านำเข้า : ปิโตรเลียมกลั่น ปิโตรเลียมดิบ ชิ้นส่วนยานยนต์ โทรศัพท์ ก๊าซธรรมชาติ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไทย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ มาเลเซีย
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์
ทรัพยากรธรรมชาติ : ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ทอง ทองแดง สังกะสี นิกเกิล ป่าไม้
การทหาร กองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia-TNI) ถูกจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย Global firepower เป้าหมายทางการทหารอินโดนีเซียต้องการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และคงกำลังพลเท่าที่จำเป็น (Minimum Essential Force – MEF) ภายในปี 2567 งบประมาณการป้องกันประเทศปี 2564 อยู่ที่ 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินโดนีเซียมีเป้าหมายจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธภายในปี 2565 และควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไว้ที่ 49% ขณะเดียวกันกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซียก็มีนโยบายเน้นการจัดหายุทโธปกรณ์โดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งโดยนำเข้าระบบอาวุธที่ทันสมัย ได้แก่ เรือดำน้ำ เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินลาดตระเวณ เครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ และระบบเรดาร์ตรวจชายฝั่ง และกระจายสัดส่วนการซื้ออาวุธจากหลากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน เพื่อนำมาศึกษาและพัฒนาระบบอาวุธของตนเอง รัฐวิสาหกิจที่ผลิตอาวุธและอุตสาหกรรมทางทหาร ได้แก่ PT Pindad, PT Dirgantara Indonesia, PT Dahana, PT LEN Industri, PT PAL Indonesia, PT Inti และ PT Krakatua Steel
ยุทโธปกรณ์สำคัญ รถถัง 453 คัน รถรบทหารราบ 64 คัน ยานลำเลียงหุ้มเกราะ 834 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 74 กระบอก ปืนใหญ่ลากจูง 356 กระบอก ปืน ค. 875 กระบอก ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง 135 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 415 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 93 ชุดยิง เรือดำน้ำชั้น Cakra 2 ลำ ชั้น Nagapasa 2 ลำ เรือฟริเกต 11 ลำ เรือคอร์เวต 20 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 116 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 30 ลำ เครื่องบินขับไล่ 41 เครื่อง เครื่องบินโจมตี 65 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง 62 เครื่อง เครื่องบินลาดตระเวน 4 เครื่อง เครื่องบินฝึก 104 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 192 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี 14 เครื่อง
กำลังพลรวม 782,970 นาย แบ่งเป็น ทบ. 300,400 นาย ทร. 65,000 นาย ทอ. 30,100 นาย และ ตร. 387,470 นาย กำลังสำรอง 400,000 นาย
ปัญหาด้านความมั่นคง
สถานการณ์ความมั่นคงที่อินโดนีเซียห่วงกังวล คือ การก่อการร้ายของกลุ่มสวามิภักดิ์กลุ่ม Islamic State (IS) ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2557 เช่น กลุ่ม Jamaah Ansharut Daulat (JAD) ที่ใช้การลงมือคนเดียวและแบบกลุ่มสมาชิกครอบครัวซึ่งตรวจพบได้ยาก นอกจากนี้ กลุ่ม Jemaah Islamiah (JI) มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในห้วงที่ผ่านมา โดยปรากฏว่า JI กำลังสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ควบคู่ไปกับการจัดหาอาวุธ รวบรวมและฝึกสมาชิกใหม่ ซึ่งอาจทำให้อินโดนีเซียเผชิญภัยคุกคามจากการก่อการร้ายมากขึ้น
ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่สำคัญของอินโดนีเซียคงเหลือแต่ความเคลื่อนไหวแบ่งแยก จ.ปาปัว และ จ.ปาปัวตะวันตก นำโดยขบวนการปาปัวเสรี (Organisasi Papua Merdeka-OPM) โดยยกประเด็นชาวปาปัวมีเชื้อชาติต่างจากชาวอินโดนีเซียบนเกาะอื่น และนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ต้องการเป็น เอกราชจากอินโดนีเซีย กลุ่ม OPM เน้นการโจมตีที่มุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ความเสียหายยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากไม่มีอาวุธที่ทันสมัย ปัจจุบันกลุ่ม OPM พยายามใช้การยุยงให้การประท้วงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากภายนอก อาทิ องค์การสหประชาชาติ ประเทศตะวันตกและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิคที่มีเชื้อชาติเดียวกันโดยใช้ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอินโดนีเซีย
ความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย
ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีมานาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมีขึ้นเมื่อ 7 มี.ค.2493 โดยมีความร่วมมือที่ดีต่อกันทุกด้าน อินโดนีเซียแสดงท่าทีต้องการช่วยไทยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ไทยต้องการเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน และความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายจากอินโดนีเซีย ตลอดจนต้องการให้อินโดนีเซียช่วยสร้างความเข้าใจกับโลกมุสลิมเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเมื่อปี 2554 ยังมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาพิพาท เขตแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-อินโดนีเซียได้รับการส่งเสริมภายใต้กรอบของอาเซียนและภายใต้กรอบ IMT-GT มีการทำความตกลง ความร่วมมือ สนธิสัญญา และ MoU ด้านต่าง ๆ มากกว่า 14 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2549 อินโดนีเซียเสียเปรียบดุลการค้าไทยมาโดยตลอด ปี 2563 อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของไทยในตลาดโลก ไทยมีมูลค่าการค้ากับอินโดนีเซีย 418,653.48 ล้านบาท ลดลง 17.72 % ไทยได้เปรียบดุลการค้า 55,218.11 ล้านบาท
สินค้าที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ 2) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3) เม็ดพลาสติก 4) น้ำตาลทราย และ 5) เคมีภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ถ่านหิน 2) น้ำมันดิบ 3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 4) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และ 5) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ด้านการลงทุน ไตรมาสที่ 3/2563 ไทยลงทุนในอินโดนีเซียเป็นอันดับ 12 และอันดับที่ 3 ในประเทศสมาชิกอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย) โดยมีโครงการลงทุน 118 โครงการ มูลค่า การลงทุน 50.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2563 อินโดนีเซียยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทย จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2,542 ล้านบาท ได้รับอนุมัติ 2,017 ล้านบาท มากเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศสมาชิกอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย) และเป็นอันดับ 11 จากทุกประเทศที่ยื่นขอรับการสนับสนุนการลงทุน
ข้อตกลงที่สำคัญ : สนธิสัญญาทางไมตรี (3 มี.ค.2497) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีปในตอนเหนือของช่องแคบมะละกาและในทะเลอันดามัน (17 ธ.ค.2514) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (9 มิ.ย.2519) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศาล (8 มี.ค.2521) ความตกลงว่าด้วย การยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (25 มี.ค.2524) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านป่าไม้ (27 พ.ค.2527) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านถ่านหิน (12 ม.ค.2533) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี (20 พ.ค.2533) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจและวิชาการ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (18 ม.ค.2535) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (17 ก.พ.2541) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (23 พ.ค.2546) ความตกลงด้านวัฒนธรรม (17 ม.ค.2545) บันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย (27 พ.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยการบริการทางอากาศ (8 มี.ค.2510 และปรับปรุงแก้ไขปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุน (21 ก.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (16 ธ.ค.2548) ความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) (16 พ.ย.2554) ข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย (16 พ.ย.2554) ข้อตกลงการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง (ต.ค.2556)
ไทยและอินโดนีเซียได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission-JC) ไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 9 ณ เมืองย็อกยาการ์ตา อินโดนีเซีย ระหว่าง 5-7 ก.ค.2561 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีรอบด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านกฎหมายและกงสุล ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต และความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคี
ไทยและอินโดนีเซียยังมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด มีการจัดทำความตกลง ด้านสังคมและวัฒนธรรม และมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ อาทิ การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดไทยในอินโดนีเซีย และ การสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างกัน
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เข้มงวด โดยอินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสะสมมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งส่งผลกระทบกับชนชั้นล่างที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทำให้ชาวอินโดนีเซียตกงานกว่า 2 ล้านคน และมีประชาชนกลับเข้าสู่เส้นความยากจนประมาณ 4.9 ล้านคน
2) อินโดนีเซียกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G20 ในปี 2565 โดยจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ทำงานร่วมกัน สนับสนุนให้มีการจัดระเบียบทรัพยากรความมั่นคงด้านสุขภาพขึ้นใหม่ เช่น เงินทุนและวัคซีน และสร้างข้อกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพสำหรับการเดินทาง
3) การจัดระเบียบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากอินโดนีเซียยังคงต้องพึ่งพาจีน ที่เป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุน และการส่งออก เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ไว้วางใจจีนที่มีท่าทีเชิงรุกในทะเลจีนใต้ซึ่งกระทบกับสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรในเขตเศรษฐกิจจำเพาะรอบหมู่เกาะนาตูนา ทำให้อินโดนีเซียต้องกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลจีนและรักษาความมั่นคงทางทะเล นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังพยายามแสวงหาความร่วมมือที่หลากหลายกับประเทศอื่น อาทิ เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย รัสเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี ชาติในแอฟริกา เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป