สาธารณรัฐมัลดีฟส์
Republic of Maldives
สาธารณรัฐมัลดีฟส์
Republic of Maldives
เมืองหลวง มาเล
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเส้นละติจูดที่ 3 องศา 15 ลิปดาเหนือ
เส้นลองจิจูดที่ 73 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 298 ตร.กม.
อาณาเขต อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และทางตะวันตกของศรีลังกา มีพื้นที่ชายฝั่งยาว 644 กม.
ภูมิประเทศ ประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 26 กลุ่ม รวม 1,190 เกาะ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ
200 เกาะ และได้รับการพัฒนาเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวประมาณ 80 เกาะ
ภูมิอากาศ ภาพอากาศร้อนชื้น ช่วง พ.ย.-มี.ค. และมีฝนชุกช่วง มิ.ย.-ส.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 27-30 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 98.6% พุทธ 0.6% คริสต์ 0.5% และฮินดู 0.3%
ภาษา มัลดิเวียนดิเวฮี (Dhivehi) เป็นภาษาราชการ แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.3% (ปี 2561) เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ งบประมาณด้านการศึกษา 4.25% ของ GDP (ปี 2559)
วันชาติ 26 ก.ค. (ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2508)
นายอิบราฮิม โมฮาเหม็ด โซลีห์
Ibrahim Mohamed Solih
(ประธานาธิบดีมัลดีฟส์)
ประชากร 543,870 คน (พ.ย.2563)
รายละเอียดประชากร ประกอบด้วยเชื้อชาติสิงหล ดราวิเดียน อาหรับ และแอฟริกา อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 19.60% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 76.81% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.59% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 79.89 ปี ชาย 81.6 ปี หญิง 78.5 ปี อัตราการเกิด 5.3 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร -0.1%
การก่อตั้งประเทศ มัลดีฟส์เคยปกครองโดยสุลต่านมานาน และเดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร และจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐเมื่อ 26 ก.ค.2511 มีนายโมมูน อับดุล เกยูม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 6 สมัย ด้วยระบบพรรคเดียวเป็นเวลา 30 ปี และ ให้คำมั่นปฏิรูปประชาธิปไตย รวมทั้งระบบการเมืองแบบมีผู้แทน และส่งเสริมเสรีภาพทางการเมือง โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองหลายพรรคเมื่อปี 2548 และเมื่อปี 2551 รวมทั้งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกเมื่อ ต.ค.2551 โดยที่มีผู้สมัครหลายคนจากหลายพรรคการเมือง
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐาน ผสมกับระบบกฎหมายจารีตประเพณี มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่เกิน
2 วาระ และเป็นผู้แต่งตั้ง ครม. การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดเมื่อ 23 ส.ค.2561
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภามัลดีฟส์มีสมาชิกจำนวน 85 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี เป็นระบบสภาเดียว เลือกตั้งล่าสุดเมื่อ 22 มี.ค.2557
ฝ่ายตุลาการ : ประธานศาลสูงสุดมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี
พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ Adhaalath Party-A, Dhivehi Quamee Party-DQ, Dhivehi Rayyithunge Party-DRP, Gaumiilthihaad-GI, Islamic Democratic Party-IDP, Maldivian Democratic Party-MDP, Maldives National Congress-MNC, Maldives Social Democratic Party-MSDP, People’s Alliance-PA, People’s Party-PP, Poverty Alleviation Party-PAP, Republican (Jumhooree) Party-JP, และ Social Liberal Party-SLP
เศรษฐกิจ มัลดีฟส์สามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นสู่ระดับประเทศ middle income ได้อย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของมัลดีฟส์ รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนสร้างรีสอร์ตจำนวนมาก เพื่อรองรับการท่องเที่ยว รองลงมาเป็นการประมง โดยมัลดีฟส์เป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่าที่สำคัญ สำหรับภาคการเกษตรและภาคการผลิตมีบทบาทน้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก และการขาดแคลนแรงงานในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายกระจายความเจริญไปยังส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายกระจายรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้กับประชาชน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยมีแผนให้เอกชนเข้ามาบริหารในบางกิจการ รวมทั้งสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน ด้วยมาตรการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ ปีงบประมาณ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูฟิยา (Rufiyaa/MVR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 15.4 รูฟิยา
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.50580 รูฟิยา (พ.ย.2563)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -18.6%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 1,110.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 8,150 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 306,070 คน
อัตราการว่างงาน : 6.4%
อัตราเงินเฟ้อ : 1.52%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 256.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2559)
สินค้าส่งออกสำคัญ : ปลาทูน่า
คู่ค้าสำคัญ : ไทย ศรีลังกา บังกลาเทศ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เยอรมนี และไอร์แลนด์
มูลค่าการนำเข้า : 2,125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2559)
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้า
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย สิงคโปร์ จีน ศรีลังกา มาเลเซีย และไทย
สินค้าเกษตรที่สำคัญ : มะพร้าว ข้าวโพด มันเทศหวาน และปลาทะเล
สินค้าอุตสาหกรรม : การท่องเที่ยว การแปรรูปปลาทะเล การขนส่งทางทะเล การต่อเรือ การแปรรูปมะพร้าว
การทหาร กกล.ความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์ (Maldives National Defence Force-MNDF) ประกอบด้วย กกล.ทางทะเล (Marine Corps) กกล.ป้องกันชายฝั่ง (Coast Guard) กกล.รักษาความมั่นคง (Security Protection Group) งบประมาณด้านการทหารประมาณ 92.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.5% ของ GDP (ปี 2559) กกล.ความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์มีขนาดเล็ก และมียุทโธปกรณ์ไม่เพียงพอที่จะใช้ในการป้องกันการรุกรานจากภายนอก ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีเพื่อให้หน่วยงานตำรวจใช้ในการป้องกันความปลอดภัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ปัญหาการค้ามนุษย์จากแรงงานอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ และบางส่วน มาจากอินเดียเพื่อประกอบอาชีพเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคบริการ และการขายบริการทางเพศของผู้หญิงและเด็ก
2) มัลดีฟส์มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาความมั่นคงจากกลุ่มหัวรุนแรงมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ต่อแนวโน้มการก่อการร้ายจากเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีแนวความคิดหัวรุนแรง และกลุ่มที่ถูกชักจูงให้ไปทำสงครามในอิรักและซีเรียแต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
3) การเมืองของมัลดีฟส์ยังคงอยู่ในสภาพที่เปราะบาง ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่าง
ขั้วอำนาจเก่า (พรรค PPM ของอดีตประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน อับดุล เกยูม) กับขั้วอำนาจใหม่ (พรรค MDP ของอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด นาชีด)
4) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมัลดีฟส์ โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้ชาวมัลดีฟส์จำนวนมาก
ต้องกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย
ความสัมพันธ์ไทย-มัลดีฟส์
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 2 มิ.ย.2524 และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งในระดับรัฐบาล และประชาชน
ด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-มัลดีฟส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการลงนามความตกลงความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกันเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการจะขยายมูลค่าทางการค้าระหว่างกันเป็น 2 เท่า (200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2561 โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2558) การค้ารวมระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.64% ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ย 0.03% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันไทยและมัลดีฟส์ยังเห็นพ้องจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายความร่วมมือด้านประมง และอุตสาหกรรมแปรรูปด้านการประมงระหว่างกัน เนื่องจากมัลดีฟส์เป็นแหล่งนำเข้าปลาทูน่าที่สำคัญของไทย รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นจุดแข็ง
ในอนาคตหากมีการเชื่อมโครงการท่าเรือทวายมาที่มัลดีฟส์ จะเอื้อประโยชน์ต่อระบบ การขนส่งทางทะเล นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือในด้านความมั่นคงกับมัลดีฟส์ เพื่อจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นรายได้หลักของทั้งสองประเทศ โดยมัลดีฟส์ขอความร่วมมือไทยเกี่ยวกับปัญหาด้านโจรสลัด
ปัจจุบันมีคนไทยในมัลดีฟส์ประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบริการ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการเดินอากาศ (ปี 2532) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (ปี 2546) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ (ปี 2556) ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ปี 2556) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการหารือร่วมไทย-มัลดีฟส์ (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการธนาคาร (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ (ปี 2556) และบันทึกความเข้าใจด้านโทรคมนาคม (ปี 2556)