สาธารณรัฐสิงคโปร์
Republic of Singapore
สาธารณรัฐสิงคโปร์
Republic of Singapore
เมืองหลวง สิงคโปร์
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณปลายสุดของแหลมมลายู ตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร
ไปทางทิศเหนือ 137 กม. พื้นที่สิงคโปร์เมื่อปี 2563 มีขนาด 728.6 ตร.กม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2562 ที่มีพื้นที่ 725.7 ตร.กม. จากการถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ให้เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากร รัฐบาลมีแผนขยายพื้นที่เป็น 766 ตร.กม.ภายในปี 2573 ระยะทางจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาว 50 กม. และทิศเหนือจรดทิศใต้ยาว 27 กม. ชายฝั่งยาว 193 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบยะโฮร์ ห่างจากรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย 1 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนใต้ ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ 1,770 กม. และห่างจาก จ.กาลิมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย 586 กม.
ทิศใต้ ติดกับช่องแคบมะละกา ห่างจากเกาะเรียวของอินโดนีเซีย 125 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับช่องแคบยะโฮร์ ห่างจากรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย 3 กม.
ภูมิประเทศ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 1 เกาะ คือ เกาะสิงคโปร์ หรือ Pulau Ujong ในภาษามาเลย์ และเกาะเล็ก ๆ อีก 62 เกาะ แต่อาจยุบรวมเป็นเกาะใหญ่ภายในอนาคต เหมือนกับเกาะจูร่งทางตอนใต้ของสิงคโปร์ ส่วนตอนกลางของประเทศเป็นเขตหินแกรนิต ภูมิประเทศสูง ๆ ต่ำ ๆ และเป็นเนินเขา จุดสูงสุดอยู่ที่ยอดเขาบูกิตติมา (163.63 ม. หรือ 537 ฟุต)
วันชาติ 9 ส.ค.
นายลี เซียน ลุง
Lee Hsien Loong
(นรม.สิงคโปร์)
นางฮาลิมาห์ ยาโคบ
Halimah Yacob
(ประธานาธิบดีสิงคโปร์)
ประชากร 5.45 ล้านคน (ปี 2564) มีอัตราลดลง 4.1% แบ่งเป็นผู้ถือสัญชาติสิงคโปร์ 3.50 ล้านคนผู้มีถิ่นพำนักถาวร 488,700 คน ผู้พำนักชั่วคราว 1.46 ล้านคน อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 12.80% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 76.32% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 10.89% อายุขัยโดยเฉลี่ย 83.9 ปี เพศชาย 81.5 ปี เพศหญิง 86.1 ปี (ปี 2563) ความหนาแน่นของประชากร 8,019 คนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. สิงคโปร์เป็นสังคมพหุเชื้อชาติประกอบด้วยชาวจีน (74.3%) มาเลย์ (13.5%) อินเดีย (9%) และอื่น ๆ (3.2%)
การก่อตั้งประเทศ
สิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2375 และถูกญี่ปุ่นยึดครองเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2496 สหราชอาณาจักรทบทวนรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์และร่างใหม่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สิงคโปร์ปกครองตนเองมากขึ้น ทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเมื่อปี 2498 และได้รับสิทธิในการดูแลกิจการภายในของตนเองอย่างเต็มที่เมื่อปี 2501 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2502 พรรคกิจประชาชนได้รับชัยชนะ นายลี กวน ยิว ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคดำรงตำแหน่ง นรม. หลังจากนั้นจึงร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อขับไล่จักรวรรดินิยมสหราชอาณาจักรจนประสบความสำเร็จ ต่อมาทั้งสองฝ่ายเกิดความแตกแยกกัน และสิงคโปร์ได้รวมตัวกับมาเลเซีย ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ เป็นสหพันธรัฐมาลายาเมื่อ 1 ก.ย. 2505 และขอแยกตัวจากมาเลเซียเมื่อ 9 ส.ค. 2508
การเมือง ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบรัฐสภาเดียว (Republic & Paliamentary Democracy) มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประมุขรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าฝ่ายบริหาร การเมืองสิงคโปร์มีเสถียรภาพ โดยพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party-PAP) ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลมาโดยตลอดนับตั้งแต่แยกตัวจากมาเลเซีย อำนาจอธิปไตยของสิงคโปร์ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : นรม.มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบรัฐสภาเดียว แบ่งเป็น 1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำนวน 93 ที่นั่ง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี 2) สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามคำแนะนำของคณะกรรมการคัดเลือก วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี 6 เดือน ตามรัฐธรรมนูญไม่เกิน 9 คน และ 3) สมาชิกฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 15%
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้นและศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ศาลชั้นต้นประกอบด้วย ศาลเขตศาลแขวงและศาลเยาวชน ส่วนศาลฎีกาประกอบด้วยศาลสูงและศาลอุทธรณ์ที่รับพิจารณาคดีที่ ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีศาลที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการบริหารกฎหมายอิสลามที่เรียกว่าศาลชารีอะฮ์ เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับครอบครัวของชาวมุสลิมในสิงคโปร์
เศรษฐกิจ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (ปี 2560-2570) ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้นวัตกรรม ด้านธนาคารกลางสิงคโปร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2563 และปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ 6-7% และ 4.1% ตามลำดับ เนื่องจากภาคก่อสร้าง ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยวและการบริการชะลอตัว จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อีกทั้งความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงไม่คลี่คลาย แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมปรับแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และแรงงาน การพัฒนาทักษะแรงงานโดยให้ความสำคัญกับการวิจัย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และการเป็นแรงงานฝีมือขั้นสูง รวมถึงพยายามผลักดันให้ SMEs ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) การเชื่อมโยงด้านการทำธุรกิจกับต่างประเทศ และอุตสาหกรรมผลิตขั้นสูงภายในปี 2573
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (1 เม.ย.2564-31 มี.ค.2565) 102,340 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (เพิ่มขึ้น 8.8% จากปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 8,280 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.35 ดอลลาร์สิงคโปร์
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ : 24.34 บาท (พ.ย. 2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 348,137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -5.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 61,218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 61,229 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 362,304.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563) และ 419,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2564)
ประชากรวัยทำงาน : 2,345,500 คน
อัตราการว่างงาน : 3%
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : 719,212.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 46,087 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 382,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : เครื่องยนต์ เครื่องมือขนถ่ายวัสดุ ผลิตภัณฑ์เคมี สินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์ เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ฮ่องกง และสหภาพยุโรป (EU)
มูลค่าการนำเข้า : 336,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิงและแร่ธาตุที่เป็นเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี สินค้าอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : มาเลเซีย จีน สหรัฐฯ EU และไต้หวัน
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ มาเลเซีย EU และไต้หวัน
คู่ค้าสำคัญ 5 อันดับในกลุ่มอาเซียน : มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ : ประมาณ 2.7 ล้านคน
การทหาร กองทัพสิงคโปร์ ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. ขึ้นตรงต่อ ผบ.ทสส. และ รมว.กระทรวงกลาโหม ชายสิงคโปร์อายุ 18-20 ปี ทุกคนจะต้องเข้ารับการฝึกและประจำการในกองทัพเป็นเวลา 2 ปี และเป็นกำลังพลสำรองจนถึงอายุ 40 ปี กำลังทหาร 51,000 นาย แบ่งเป็น ทบ. 41,000 นาย ทร. 4,000 นาย และ ทอ. 6,000 นาย กำลังพลสำรอง 7,400 นาย กองทัพสิงคโปร์ทันสมัยและมีแสนยานุภาพสูงที่สุดในภูมิภาค ยุทโธปกรณ์สำคัญ อาทิ ถ.หลัก 96 คัน ถ.เบา 372 คัน ถ.รบทหารราบ 622 คัน ถ.ลำเลียงหุ้มเกราะ 1,655 คัน เรือดำน้ำชั้น Challenger 2 ลำ เรือดำน้ำชั้น Archer 2 ลำ เรือรบหลัก 12 ลำ (เรือฟริเกตชั้น Formidable ที่ติดอาวุธปล่อยนำวิถี Harpoon 2 ลำ Sylver 1 ลำ Aster 1 ลำ ตอร์ปิโด 2 ลำ) เรือตรวจการณ์และลาดตระเวน 24 ลำ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 4 ลำ เรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 4 ลำ บ.รบ 105 เครื่อง (บ.F-16C/D จำนวน 60 เครื่อง บ.F-15SG จำนวน 40 เครื่อง และ บ.F-50 จำนวน 5 เครื่อง) จัดสรรงบประมาณด้านการทหารในปี 2564 จำนวน 11,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 คิดเป็น 1.8%) ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศให้สามารถส่งกองกำลังเข้าไปใช้พื้นที่สำหรับฝึกทางทหาร ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฝรั่งเศส คูเวต ไต้หวัน ไทย และสหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์
ไทย-สิงคโปร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 20 ก.ย.2508 และมีความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง กต.ไทยริเริ่มจัดการประชุม Political Consultations ไทย-สิงคโปร์ ครั้งแรก เมื่อ ส.ค.2563 ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกต.โดยปรับเปลี่ยนจากการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่าง หน่วยราชการไทย-สิงคโปร์ หรือ Civil Service Exchange Programme (CSEP) ทั้งนี้ การประชุม Political Consultations เน้นหารือแนวทางการขยายความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ส่วนความร่วมมือด้านทหาร สิงคโปร์ยังต้องพึ่งพาไทยในการใช้พื้นที่ฝึกซ้อมรบที่ จ.กาญจนบุรี และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดผ่าน 5 กลไกความร่วมมือทวิภาคีหลักคือ 1) การหารือระหว่าง นรม.อย่างไม่เป็นทางการ 2) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในชื่อ Political Consultations ไทย-สิงคโปร์ ซึ่งริเริ่มครั้งแรกเมื่อ ส.ค. 2563 โดยปรับเปลี่ยนจากการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทย-สิงคโปร์ การประชุม Political Consultations ไทย-สิงคโปร์ 3) Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ก.พ. 2545 เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม และ 4) ความร่วมมือด้านการทหาร ที่ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยกองทัพสิงคโปร์ต้องพึ่งพาไทยในการใช้พื้นที่และน่านฟ้าเพื่อการฝึกซ้อมรบ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีความใกล้ชิดบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ด้านการค้าสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย และเป็นคู่ค้าอันดับ ที่ 5 ของไทยในโลก รองจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมาเลเซีย เมื่อปี 2563 การค้าระหว่างไทยและสิงคโปร์มีมูลค่า 530,471 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 295,473 ล้านบาท การส่งออก 234,999 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 60,474 ล้านบาท ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย. 2564) มูลค่าการค้ารวม 375,967 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 29,319 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป
สิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 6 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดที่ ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยเมื่อปี 2563 มูลค่าเงินลงทุน 16,365 ล้านบาท คิดเป็น 75.6% ของเงินลงทุนจากอาเซียนทั้งหมด โดยโครงการจากสิงคโปร์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดบริการและ สาธารณูปโภค
ความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับไทยมีความใกล้ชิดกันทุกมิติ ไทยและสิงคโปร์ต้องการส่งเสริมความร่วมมือการสนับสนุนความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ขณะเดียวกันสิงคโปร์และไทยมีความคืบหน้าความร่วมมือภาคธนาคารอย่างมาก โดยธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์และธนาคารแห่งประเทศไทย ริเริ่มการใช้ระบบโอนเงินระหว่างสองประเทศแบบ real-time เมื่อ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน PayNow ของสิงคโปร์ และ PromptPay ของไทย โดยนับเป็นการเชื่อมโยงระบบการโอนระหว่างประเทศแบบทันทีที่ถูกพัฒนาเป็นครั้งแรกในโลก
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (15 ก.ย. 2518) บันทึกความเข้าใจด้านยานยนต์ (27 ส.ค. 2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (27 ส.ค. 2546) บันทึกความเข้าใจด้านธุรกิจและการลงทุน (27 ส.ค. 2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (27 ส.ค. 2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์ (27 ส.ค. 2546) บันทึกความเข้าใจการฝึกบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศระหว่าง ทอ.ไทยกับสิงคโปร์ (24 พ.ย. 2546) บันทึกความเข้าใจการเข้าร่วมการฝึก Cobra Gold กองทัพไทย-สิงคโปร์ (22 ก.พ. 2548) บันทึกความเข้าใจการสนับสนุน ด้านการฝึกและการส่งกำลังบำรุง ทอ.ไทย-สิงคโปร์ (12 พ.ย. 2548) บันทึกความเข้าใจการจัดทำความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (23 พ.ย. 2548) บันทึกความเข้าใจการฝึกของกองทัพสิงคโปร์ในไทย ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2550-2553) (16 ก.ค. 2555) บันทึกความเข้าใจการเว้นการเก็บภาษีซ้อน บันทึกความเข้าใจการท่องเที่ยวทางเรือ บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรม (11 มิ.ย. 2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (31 พ.ค. 2559) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างกองทัพเรือ (14 พ.ค. 2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (11 ก.ค.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรระหว่างสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์กับสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ (21 ส.ค. 2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านธุรกิจประกันภัย (26 ก.ย. 2562) ความร่วมมือการโอนเงินระหว่างไทย-สิงคโปร์แบบ real-time (29 เม.ย. 2564)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองของสิงคโปร์เพื่อหาทายาททางการเมืองแทนนายเฮง ซวี เกียต ที่ประกาศถอนตัวจากการเป็นทายาทรุ่นที่ 4 พรรคกิจประชาชน (People ’s Action Party-PAP) เพื่อสืบทอดตำแหน่ง นรม.สิงคโปร์ ต่อจาก นายลี เซียน ลุง เมื่อ 8 เม.ย.2564 โดยสิงคโปร์ประกาศปรับ ครม.ครั้งใหญ่เมื่อ 23 เม.ย.2564 มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังจากเผชิญการแพร่ระบาดโรค COVID-19 และเพิ่มประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายให้นักการเมืองรุ่นที่ 4 ก่อนสืบทอดตำแหน่งผู้นำรุ่นต่อไป คาดว่า จะมีการลงมติคัดเลือกทายาทการเมืองคนต่อไปในช่วงกลางวาระของ ครม. ชุดปัจจุบัน หรือในปี 2566
แนวทางพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตวิถีใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์การอยู่ร่วมกับโรค COVID-19 ในฐานะโรคประจำถิ่น ควบคู่กับการขจัดปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้งการสนับสนุนแรงงานรายได้ต่ำ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่เปิดกว้าง โดยสิงคโปร์กำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1) การรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจระหว่างประเทศ 2) การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และ 3) การสนับสนุนผู้ประกอบการสิงคโปร์ให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจสมัยใหม่