รัฐปาเลสไตน์
State of Palestine
รัฐปาเลสไตน์
State of Palestine
เมืองหลวง รอมัลลอฮ์ ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ (มีสถานะเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัย จนกว่าเยรูซาเลมตะวันออกจะได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองโดยอิสราเอล)
ที่ตั้ง ตะวันออกกลาง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแยกจากกัน คือ 1) เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ระหว่างเส้นละติจูดที่ 31-33 องศาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 35-36 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 5,860 ตร.กม. และ 2) ฉนวนกาซา (Gaza Strip) ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บนพิกัดเส้นละติจูดที่ 31 องศา 25 ลิปดาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 34 องศา 20 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ 360 ตร.กม. ทั้งนี้ พื้นที่รวมกันของเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มีขนาดเล็กกว่าไทยประมาณ 82 เท่า
อาณาเขต
เขตเวสต์แบงก์
ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ติดกับอิสราเอล 330 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับจอร์แดน 148 กม. โดยมีแม่น้ำจอร์แดนและ ทะเลสาบเดดซีเป็นเส้นกั้นอาณาเขต
ฉนวนกาซา
ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ติดกับอิสราเอล 59 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 40 กม.
ทิศใต้ ติดกับอียิปต์ 13 กม.
ภูมิประเทศ เวสต์แบงก์ตั้งอยู่บนที่ราบสูงจูเดีย ส่วนใหญ่เป็นภูเขา แต่มีพื้นที่ลาดเป็นชั้น ๆ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้เป็นอย่างดี ส่วนในฤดูร้อนสามารถปลูกผักผลไม้ได้ ขณะที่ฉนวนกาซามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล สลับเทือกเขาเป็นบางส่วน
วันชาติ 15 พ.ย.
นายมะห์มูด อับบาส
Mahmoud Abbas
(ประธานาธิบดีปาเลสไตน์)
ประชากร เวสต์แบงก์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,949,246 คน (ก.ค.2564) เป็นเชื้อสายอาหรับ 83% และชาวยิว 17% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 35.31% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 61.06% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.62% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 75.9 ปี เพศชาย 73.8 ปี และเพศหญิง 78.1 ปี อัตราการเกิด 24.8 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.43 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.72%
ฉนวนกาซามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,957,062 คน (ก.ค.2564) เป็นเชื้อสายอาหรับ 100% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 42.53% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 54.8% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.68% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 75.14 ปี เพศชาย 73.38 ปี และเพศหญิง 77 ปี อัตราการเกิด 28.1 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 2.94 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 2.05%
การก่อตั้งประเทศ ปาเลสไตน์เคยอยู่ใต้การปกครองของชาวยิว โรมัน เปอร์เซีย และอาหรับ แต่ปัจจุบันเผชิญกับการรุกรานของชนชาติยิว หรืออิสราเอล จากการที่ชาวยิวเชื่อในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้เป็นมาตุภูมิของชาวยิว ดังนั้น เมื่อปี 2440 ชาวยิวในสหรัฐฯ และยุโรปจึงรวมตัวกันตั้งองค์การยิวสากล หรือไซออนนิสต์ (Zionist) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งชาวยิวกลับไปตั้งถิ่นฐานและสร้างชาติยิวขึ้นใหม่ในปาเลสไตน์ จนนำไปสู่การสถาปนารัฐยิว หรืออิสราเอลขึ้นบนดินแดนปาเลสไตน์ได้สำเร็จ
เมื่อปี 2491 ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาเลสไตน์ที่เรียกว่า “องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์” (Palestine Liberation Organization-PLO) ภายใต้การนำของนายยัสเซอร์ อาราฟัต (ยาซิร
อะเราะฟาต) และประกาศตั้งรัฐเอกราชปาเลสไตน์เมื่อ 15 พ.ย.2531 ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จนกระทั่งมีการลงนามใน “ข้อตกลงสันติภาพออสโล ฉบับที่ 1” เมื่อปี 2536 ที่ถือเป็นการยอมรับว่ามีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา อีกทั้งคาดหวังว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตได้สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อ 29 พ.ย.2555 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ผ่านข้อมติที่ 67/19 ยกสถานะปาเลสไตน์จากองค์กรผู้สังเกตการณ์ (observer entity) เป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ถาวรที่มิใช่สมาชิก (non-member permanent observer state) ซึ่งถือเป็นการรับรองโดยปริยายว่าปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐ ปัจจุบัน มีประเทศกว่า 130 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศรับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์
การเมือง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฟัตตะห์ภายใต้การนำของนายมะห์มูด อับบาส กับกลุ่มฮะมาสภายใต้การนำของนายอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ส่งผลให้การปกครองของปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยพฤตินัยมาตลอด เนื่องจากเขตเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฟัตตะห์ ขณะที่ฉนวนกาซาอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮะมาส โดยทั้งเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาต่างก็มีผู้นำคณะผู้บริหารของตนเอง จนกระทั่งเมื่อ 2 มิ.ย.2557 ทั้งสองกลุ่มสามารถยุติความขัดแย้งที่มีต่อกันด้วยการลงนามข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกัน ต่อมา เมื่อ 17 มิ.ย.2558 นายรอมี ฮัมดัลลอฮ์ นรม.ในขณะนั้น ประกาศลาออก ประกอบกับกลุ่มฟัตตะห์และกลุ่มฮะมาสมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส จึงตัดสินใจยุติบทบาทรัฐบาลแห่งชาติชุดดังกล่าว และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวที่กลุ่มฮะมาสไม่ยอมรับ อย่างไรก็ดี เมื่อ 17 ก.ย.2560 กลุ่มฮะมาสตัดสินใจยุบคณะกรรมการบริหารฉนวนกาซา (รัฐบาลที่กลุ่มฮะมาสตั้งขึ้นฝ่ายเดียวในฉนวนกาซา) และยินยอมส่งมอบฉนวนกาซาให้กลับไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลแห่งชาติที่ประธานาธิบดีอับบาสจัดตั้งขึ้น รวมทั้งประกาศว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นทั้งในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์เมื่อ 22 พ.ค.2564 แต่เมื่อ 29 เม.ย.2564 ประธานาธิบดีอับบาสประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่มีกำหนด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นประมุขของชาวปาเลสไตน์ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นรม. และ ครม. ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายมะห์มูด อับบาส ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 ม.ค.2548 และขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไปจนกว่าจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ส่วน นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Mohammad Shtayyeh เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 10 มี.ค.2562 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปยังไม่มีกำหนดจัด
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาแบบสภาเดี่ยว คือ สภานิติบัญญัติปาเลสไตน์ (Palestinian Legislative Council-PLC) มีสมาชิก 132 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอำนาจในการออกกฎหมายจำกัดเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลเรือนและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การเลือกตั้งสมาชิก PLC ครั้งหลังสุดจัดขึ้นเมื่อ 25 ม.ค.2549 และไม่สามารถจัดประชุมสภาได้ตั้งแต่
ปี 2550 หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฟัตตะห์กับกลุ่มฮะมาสจนถึงปัจจุบัน ส่วนการเลือกตั้งสมาชิก PLC ชุดใหม่ ยังไม่สามารถกำหนดวันจัดการเลือกตั้งได้เช่นกัน
ฝ่ายตุลาการ : มีศาลสูงสุด โดยรัฐสภามีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Fatah (Liberation Movement of Palestine) พรรค Hamas (Islamic Resistance Movement) พรรค Martyr Abu Ali Mustafa (Popular Front for the Liberation of Palestine) พรรค Palestine Democratic Union พรรค Palestinian People พรรค Democratic Front for the Liberation of Palestine พรรค Palestinian National Initiative และพรรค Third Way
เศรษฐกิจ การที่อิสราเอลปิดล้อมเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาก่อให้เกิดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าเข้า-ออกปาเลสไตน์ และส่งผลให้เศรษฐกิจปาเลสไตน์ต้องพึ่งพาอิสราเอลและเงินบริจาคจากนานาชาติ ปัจจุบัน ปาเลสไตน์เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ ตัดงบประมาณช่วยเหลือทางทหาร และ สนง.บรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ใน
ตะวันออกใกล้ (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East-UNRWA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณะสุขแก่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาเมื่อปี 2561 รวมทั้งอิสราเอลได้ระงับการจ่ายเงินที่ได้จากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้ามูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนแก่ปาเลสไตน์ ตั้งแต่เมื่อ ก.พ.2561 ทำให้ปาเลสไตน์ประสบปัญหาด้านมนุษยธรรมและวิกฤติทางการเงินอย่างมาก รวมทั้งได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศลดลงจาก 32% ของ GDP เมื่อปี 2551 เหลือ 3.5% เมื่อปี 2562 และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ของปาเลสไตน์ตกต่ำลง ทั้งนี้ ปี 2564 เศรษฐกิจในเขตเวสต์แบงก์เริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่สถานะทางการคลังของ Palestinian Authority (PA) ที่บริหารเขตเวสต์แบงก์ค่อนข้างตึงเครียด เนื่องจากเงินช่วยเหลือที่ได้รับอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจในฉนวนกาซายังอยู่ในภาวะยากลำบาก
ภาคการเกษตร มีผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะกอก พืชตระกูลมะนาว ผักกาด กะหล่ำปลี ฟักทอง มะเขือเทศ ข้าวโพด องุ่น แตงโม แอปเปิ้ล ทับทิม ลูกแพร์ สาลี่ และอินทผลัม ภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ สิ่งทอ สบู่ น้ำมันมะกอก เครื่องหนัง และของที่ระลึกทำจากไม้แกะสลัก ซึ่งรับงานมาจากอิสราเอลเป็นส่วนใหญ่
สกุลเงิน : ปัจจุบัน ปาเลสไตน์ยังไม่มีระบบเงินตราเป็นของตนเอง เนื่องจากอิสราเอลไม่ยินยอม เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกราช เงินตราที่ใช้จึงเป็นสกุลเงินเชคเกลของอิสราเอล และสกุลเงินดีนาร
ของจอร์แดน
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 15,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -11.457%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,239.73 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 1,266,283 คน
อัตราการว่างงาน : 25.89%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.576%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 5,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 2,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ หิน มะกอก ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ปลา และหินปูน
มูลค่าการนำเข้า : 7,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : อาหาร สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์
ประเทศคู่ค้า : อิสราเอล จอร์แดน และอียิปต์
การทหาร กองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Forces-NSF) เป็นกองกำลังกึ่งทหารของรัฐบาล มีสถานะเป็นกองกำลังแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 ภารกิจของ NSF ในปัจจุบัน ได้แก่ การรักษาความมั่นคงภายใน ปราบปรามสมาชิกกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีและผู้นำระดับสูง ผบ.NSF
ยุทโธปกรณ์สำคัญ ที่อยู่ในความครอบครองของกลุ่มฮะมาส ได้แก่ จรวด รุ่น Qassam และ Grad เครื่องยิงลูกระเบิด และเครื่องยิงอาวุธปล่อยแบบประทับบ่า รุ่น Malyutka
กำลังพล กองกำลังป้องกันประเทศประมาณ 10,000 นาย ส่วนใหญ่มาจากกองทัพปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestinian Liberation Army-PLA) ซึ่งเป็นปีกทางทหารขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังความมั่นคงอื่น ๆ ที่มีสายบังคับบัญชาแยกต่างหากจาก NSF
เช่น หน่วยข่าวกรองต่างประเทศ (Palestinian General Intelligence Service) ไม่ทราบจำนวนกำลังพล
หน่วยข่าวกรองในประเทศ (Palestinian Preventive Security) ประมาณ 4,000 คน กองกำลังตำรวจ 9,000 นาย กองกำลังพิเศษ (Special Force) ประมาณ 1,200 นาย กองกำลังพิทักษ์ประธานาธิบดี (Presidential Guard) ประมาณ 3,000 นาย หน่วยข่าวกรองทหาร (Military Intelligence) และหน่วยประสานภารกิจทางทหาร (Military Liaison) ไม่ทราบจำนวน และกองกำลังป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (Civil Defense) ประมาณ 1,000 คน
อย่างไรก็ดี ปาเลสไตน์ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่สำคัญที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังของรัฐบาล คือ กองกำลังติดอาวุธภายใต้กองกำลัง Izz al-Din al-Qassam ของกลุ่มฮะมาส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหนึ่งของปาเลสไตน์ มีกำลังพลประมาณ 15,000-20,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ อาวุธต่อสู้รถถัง ปืนใหญ่ประเภทยิงระเบิด (MRL) และปืนครก (MOR)
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความตึงเครียด หลังจากสหรัฐฯ ประกาศแผนสันติภาพตะวันออกกลาง หรือ Deal of the Century เมื่อ 28 ม.ค.2563 ที่วอชิงตัน ดีซี
เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แผนสันติภาพดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่
การรับรองอธิปไตยของอิสราเอลเหนือพื้นที่ที่ชาวอิสราเอลเข้าขยายการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสก์แบงก์
ของปาเลสไตน์ คิดเป็น 30% ของพื้นที่ทั้งหมด และการรับรองสถานะเมืองเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งเป็นการเปิดทางให้อิสราเอลผนวกดินแดนบางส่วนของเขตเวสต์แบงก์และหุบเขาจอร์แดน ขณะที่ปาเลสไตน์ต้องการให้เยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ในอนาคต ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มฮะมาสและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในฉนวนกาซากับกองทัพอิสราเอลอยู่เป็นระยะ และปัญหาความขัดแย้งบริเวณแนวรอยต่อระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ทั้งในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ ซึ่งนำไปสู่การ
ใช้กำลังตอบโต้ระหว่างกัน และทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
อิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซาของปาเลสไตน์นาน 12 ปี โดยจำกัดการเคลื่อนไหวของคนและสินค้าที่เข้า-ออกฉนวนกาซา ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น มีไฟฟ้าใช้เพียงวันละ 12 ชม. โดยมีชาวปาเลสไตน์
ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 80%
ความสัมพันธ์ไทย-ปาเลสไตน์
ไทยและปาเลสไตน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยไทยรับรองรัฐปาเลสไตน์ตามมติ ครม. เมื่อ 29 พ.ย.2554 ก่อนที่คณะผู้แทนถาวรไทย/UN ณ นิวยอร์ก สหรัฐฯ มีหนังสือแจ้งการตัดสินใจอย่างเป็นทางการเมื่อ 17 ม.ค.2555 และเมื่อ 11 ก.ค.2555 นายรียาฎ อัลมาลิกี รมว.กต.ปาเลสไตน์ ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุม United Nations Asian Pacific Meeting in Support of Israeli-Palestinian Peace ที่กรุงเทพฯ (ระหว่าง 10-12 ก.ค.2555) ได้พบหารือกับนายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผช.รมว.กต.ไทย และตกลงร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ 1 ส.ค.2555 โดยไทยมอบหมายให้ สอท. ณ อัมมาน จอร์แดน มีเขตอาณาครอบคลุมปาเลสไตน์ และเมื่อ 12 ก.พ.2556 ที่ประชุม ครม. มีมติรับรอง ออท.ปาเลสไตน์ ประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนักที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ดูแลเขตอาณาไทยเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะเปิด สอท.ถาวร ในแต่ละฝ่ายต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ เคยเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่าง 19-20 ก.พ.2559 โดยถือเป็นการเยือนของผู้แทนระดับสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งแรก
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความพยายามของปาเลสไตน์ในการฟื้นฟูและผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศรวมถึงประชาคมระหว่างประเทศ
2) ปัญหาความรุนแรงระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล และการตอบโต้หรือโจมตีระหว่างกัน ซึ่งอาจลุกลามและนำไปสู่การเผชิญหน้ากันรุนแรงอีกครั้ง
3) ความเป็นไปได้ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากที่ถูกเลื่อนมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2557 แม้ภายหลังกำหนดจัดการเลือกตั้งเมื่อ 22 พ.ค.2564 แต่ต่อมาถูกเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด
4) ความพยายามของอิสราเอลในการผนวกดินแดนเขตเวสต์แบงก์ โดยอิสราเอลยังคงสนับสนุนการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์อย่างต่อเนื่อง โดยในห้วง ต.ค.2564 มีแผนจะสร้างที่พักอาศัยเพิ่มอีก 3,000 หลัง ปัจจุบัน มีประชากรยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์แล้วมากกว่า 600,000 คน มีจุดตั้งถิ่นฐาน 145 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานใกล้กับพรมแดนที่ติดกับอิสราเอล