รัฐกาตาร์
State of Qatar
รัฐกาตาร์
State of Qatar
เมืองหลวง โดฮา
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 24-27 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 50-52 องศาตะวันออก เป็นแหลมขนาดเล็กที่ยื่นออกไปจากชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอาระเบียเข้าไปในอ่าวเปอร์เซียหรืออ่าวอาหรับ มีพื้นที่ 11,586 ตร.กม. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 165 ของโลก และขนาดเล็กกว่าไทย 44.3 เท่า มีชายแดนทางบกยาว 87 กม. และมีชายฝั่งทะเลยาว 563 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก ติดกับอ่าวเปอร์เซียหรืออ่าวอาหรับ โดยมีชายฝั่งยาว 563 กม.
ทิศใต้ ติดกับซาอุดีอาระเบีย (87 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทรายซึ่งแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีพื้นที่เพาะปลูก 5.6% จุดสูงที่สุดของประเทศ คือ ยอดเขา Qurayn Abu al Bawl หรือ Tuwayyir al Hamir บนภูเขา Dukhan ความสูง 103 ม.
วันชาติ 18 ธ.ค. (วันขึ้นครองราชสมบัติของราชวงศ์อาลษานีเมื่อปี 2421)
เชค ตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อาลษานี
His Highness Sheikh Tamim bin Hamad bin Khalifa Al Thani
(เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์)
ประชากร 2,693,301 คน (ข้อมูลเมื่อ พ.ย.2564 ของสำนักงานวางแผนและสถิติแห่งชาติกาตาร์) เป็นชาวกาตาร์ 10% ชาวอาหรับชาติอื่น ๆ 13% อินเดีย 21.8% เนปาล 12.5% บังกลาเทศ 12.5% อียิปต์ 9.35% ฟิลิปปินส์ 7.35% ศรีลังกา 4.35% และอื่น ๆ 9.15% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 12.84% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 85.97% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 1.19% (ประมาณการปี 2563) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 79.58 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 77.47 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 81.74 ปี อัตราการเกิด 9.38 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 1.42 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.23% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ กาตาร์เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อาลเคาะลีฟะฮ์ของบาห์เรนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งราชวงศ์อาลษานีได้รับความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักรให้สถาปนา รัฐกาตาร์ขึ้นเมื่อ 18 ธ.ค. 2421 และปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกหลังการสถาปนารัฐกาตาร์มีสถานะเป็นเพียงรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร โดยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่สหราชอาณาจักรเรียกว่า Trucial States/Trucial Sheikhdoms จนกระทั่งเมื่อปี 2511 สหราชอาณาจักรประกาศความต้องการ ที่จะยุติการอารักขาให้ผู้นำ Trucial States ทั้ง 9 รัฐ ได้แก่ กาตาร์ บาห์เรน อาบูดาบี ดูไบ ชาร์จาห์ อัจญ์มาน อุมมุลกูวัยน์ รอสอัลคอยมะฮ์ และฟุญัยเราะฮ์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการหารือระหว่างผู้นำรัฐทั้ง 9 เกี่ยวกับการจัดตั้งเป็นสหภาพแห่งรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Union of Arab Emirates) แต่ไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน และเป็นเหตุให้กาตาร์ประกาศเป็นรัฐเอกราชฝ่ายเดียวเมื่อ 3 ก.ย.2514
การเมือง ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) อำนาจอธิปไตยเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐ (อมีร หรือ Emir) ซึ่งเป็นพระประมุข การขึ้นครองราชสมบัติใช้ระบบสืบราชสันตติวงศ์ เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ปัจจุบัน คือ เชค ตะมีม บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อาลษานี (พระชนมพรรษา 42 พรรษา/ปี 2565) ขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่ 25 มิ.ย.2556 หลังจากเชค ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ บิน ฮะมัด อาลษานี พระราชบิดาประกาศสละราชสมบัติ กาตาร์ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกตั้งแต่ 2 ก.ค.2542 จนกระทั่งจัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเมื่อ 29 เม.ย.2546 และเชค ฮะมัด เจ้าผู้ครองรัฐในขณะนั้น ทรงมีพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 มิ.ย.2547
ฝ่ายบริหาร : อำนาจบริหารเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐมาโดยตลอด จนกระทั่งในรัชสมัย เชค เคาะลีฟะฮ์ บิน ฮะมัด อาลษานี (พระอัยกาของเชค ตะมีม เจ้าผู้ครองรัฐองค์ปัจจุบัน) ทรงริเริ่มตำแหน่ง นรม. ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลตั้งแต่ 29 พ.ค.2513 และทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ต่อมา เชค ฮะมัด พระราชโอรสของเชค เคาะลีฟะฮ์ ทรงยึดอำนาจพระราชบิดาแล้วขึ้นสืบราชสมบัติเป็นเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เมื่อปี 2538 โดยเชค ฮะมัด ทรงดำรงตำแหน่ง นรม.ด้วยพระองค์เอง ระหว่างปี 2538-2539 จึงแต่งตั้งสมาชิก พระราชวงศ์ชั้นสูงให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนเจ้าผู้ครองรัฐจนถึงรัชกาลปัจจุบัน โดย นรม.คนปัจจุบัน คือ เชค คอลิด บิน เคาะลีฟะฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาลษานี (อายุ 54 ปี/ปี 2565) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ 28 ม.ค.2563 อย่างไรก็ดี การแต่งตั้ง ครม.และอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลยังอยู่ที่เจ้าผู้ครองรัฐ ขณะที่ นรม. ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการบริหารงานของ รมว.กระทรวงต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายที่เจ้าผู้ครองรัฐทรงกำหนด
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีรัฐสภา (Advisory Council หรือ Majlis al Shura) แบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 45 คน มีวาระ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 30 คน และอีก 15 คน มาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐ อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ได้แก่ การรับรองงบประมาณแผ่นดิน การตรวจสอบการทำงานของ รมต. การยกร่างและลงมติเพื่อรับรองร่างกฎหมาย ทั้งนี้ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 9 มิ.ย.2547 รัฐบาลกาตาร์ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญภายในปี 2550 แต่ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ โดยเชค ฮะมัด ทรงประกาศขยายวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาชุดเดิมซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐตั้งแต่ปี 2553 ออกไปจนถึงปี 2564 จึงสามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรกของประเทศ เมื่อ 2 ต.ค.2564
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบกฎหมาย civil law ในการพิจารณาคดีอาญา คดีแพ่ง และพาณิชย์ และใช้บทบัญญัติของศาสนาอิสลามในการพิจารณาคดีครอบครัวและมรดก ส่วนระบบศาลประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นอกจากนี้ ยังมีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าผู้ครองรัฐเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการศาลต่าง ๆ เหล่านี้ โดยคำแนะนำของสภาตุลาการสูงสุด วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ : ไม่มีระบบพรรคการเมือง อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มการเมืองใด ๆ ในกาตาร์ เนื่องจากเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย
เศรษฐกิจ กาตาร์มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพสูงเทียบเท่าประเทศในยุโรปตะวันตก โดยเป็นผลมาจากการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศเมื่อปี 2480 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยพึ่งพาการประมงและการหาไข่มุก ไปเป็นการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลักซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของ GDP หรือ 85% ของรายได้จากการส่งออกและ 70% ของรายได้ภาครัฐ อุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักและสำคัญของประเทศ คือ การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การผลิตและการกลั่นน้ำมันดิบ การผลิตแอมโมเนีย ปุ๋ย ปิโตรเคมี เหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ และการซ่อมเรือพาณิชย์ ทั้งนี้ สถาบันการจัดการนานาชาติหรือ Institute for Management Development (IMD) ในสวิตเซอร์แลนด์ ประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจของกาตาร์เมื่อ มิ.ย.2564 อยู่ที่อันดับ 17 ของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กาตาร์มีนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง
กาตาร์ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ Qatar National Vision 2030 เมื่อปี 2551 โดยมีเป้าหมายและแผนงานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความท้าทายและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยภายในปี 2573 การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเหมาะสมและยั่งยืน การบริหารการใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยการขยายตลาดส่งออกก๊าซธรรมชาติ เฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและเอเชีย เป็นการกระจายความเสี่ยงและทำให้มีประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์มากขึ้น โดยจะส่งผลดีสำหรับกาตาร์ในการต่อรองกับประเทศต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กาตาร์ยังเร่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจด้าน Knowledge-based Economy ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ : น้ำมันดิบมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 25,240 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 13 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 1.809 ล้านบาร์เรล และส่งออกวันละประมาณ 502,801 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 24.70 ล้านล้านลูกบากศ์เมตร (มากเป็นอันดับ 3 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 184,880 ล้านลูกบากศ์เมตร และส่งออกได้วันละ 143,700 ล้านลูกบากศ์เมตร (ประมาณการปี 2563 ของ OPEC) นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรประมง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รียาลกาตาร์ (Qatari Riyal-QAR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 3.64 รียาลกาตาร์ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 9.30 บาท : 1 รียาลกาตาร์ (ธ.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 147,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.9%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.5%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 13,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 61,790 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ : 40,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 2.146 ล้านคน (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 3.45%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 25,669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 51,504 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (88.2%) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าวและแป้งสาลี น้ำมันพืช สัตว์มีชีวิต น้ำผึ้งธรรมชาติ เครื่องดื่ม (0.1%) สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ขนส่ง (9.6%) และอื่น ๆ (2.1%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ อินเดีย สหภาพยุโรป
มูลค่าการนำเข้า : 25,835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (72.6%) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ปีก ข้าว เครื่องดื่ม ขนมปัง (11.3%) เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ (7.7%) และอื่น ๆ (8.5%)
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น
การทหาร หลักนิยมทางทหารของกาตาร์เน้นการป้องกันประเทศเพื่อรักษาความอยู่รอดปลอดภัยของชาติเป็นหลัก เฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์สาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ เจ้าผู้ครองรัฐทรงดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพกาตาร์อยู่ในกำกับของกระทรวงกลาโหม มีกำลังพล 16,500 นาย และไม่มีศักยภาพพอที่จะรับมือกับภัยคุกคามจากกองกำลังต่างชาติ เฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นเหตุให้กาตาร์ต้องอาศัยสหรัฐฯ ช่วยค้ำประกันความมั่นคงด้วยการอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ส่วนหน้า (US Central Command-USCENTCOM) ที่ฐานทัพอากาศ Al Udeid ในโดฮา ซึ่งถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก ปัจจุบันมีกองกำลังสหรัฐฯ ในกาตาร์ประมาณ 10,000 นาย นอกจากนี้ ตุรกีกับกาตาร์บรรลุข้อตกลงด้านการทหารเพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพภายในภูมิภาคตะวันออกกกลางเมื่อ ธ.ค.2557 ครอบคลุมการฝึกซ้อมทางทหารและการอนุญาตให้ตุรกีเข้าไปจัดตั้งฐานทัพถาวรและประจำการกองทหารของตุรกีที่ฐานทัพ Tariq Bin Ziyad ทางใต้ของโดฮา ปัจจุบันมีทหารตุรกีปฏิบัติภารกิจด้านการฝึกอบรมทางทหารประจำการในฐานทัพดังกล่าวประมาณ 300 นาย ทั้งนี้ งบประมาณทางทหารของกาตาร์เมื่อปี 2563 อยู่ที่ 6,466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.34% ของ GDP)
นอกจากนี้ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอียิปต์ จากกรณีกาตาร์แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่ม Muslim Brotherhood ในอียิปต์ กลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน และอิหร่าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวต่างเห็นว่าเป็นภัยคุกคามของประเทศตน จนนำไปสู่การประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และลงโทษกาตาร์ด้วยการตัดการติดต่อทางบก ทางอากาศ และทางทะเลกับกาตาร์มาตั้งแต่ มิ.ย.2560 ยังอาจเป็นปัจจัยให้กาตาร์เพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการสั่งซื้อและนำเข้าอาวุธ อากาศยาน และเรือรบ เช่น เครื่องบินรบ F-15 จากสหรัฐฯ มูลค่ารวม 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ มิ.ย.2560 เรือรบพร้อมขีปนาวุธจากอิตาลี มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านยูโร เมื่อ ส.ค.2560 รวมทั้งมีเแผนจะสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย และขยายฐานทัพอากาศ Al Udeid ซึ่งเป็นที่ตั้ง USCENTCOM ส่วนหน้า และฐานทัพอากาศโดฮา ในโดฮา
– ทบ. มีฐานทัพที่ North Camp และ Barzan Camp กำลังพลประมาณ 12,000 นาย ในจำนวนนี้รวมถึง Emiri Guard หรือ Royal Guard (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) มียุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น Leopard 2A7 จำนวน 62 คัน รถถังโจมตี (ASLT) รุ่น AMX-10RC จำนวน 12 คัน และรุ่น Piranha II จำนวน 36 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) รุ่น Fennek จำนวน 26 คัน รุ่น V-150 จำนวน 8 คัน และรุ่น VBL จำนวน 16 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ (IFV) รุ่น AMX-10P จำนวน 40 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น AMX-VCI จำนวน 30 คัน รุ่น VAB จำนวน 160 คัน รุ่น Ejder Yalcin จำนวน 150 คัน และรุ่น Dingo จำนวน 14 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) รุ่น PzH 2000 จำนวน 24 กระบอก ปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) รุ่น G5 howitzer จำนวน 12 กระบอก เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง (MRL) รุ่น 30-tube มากกว่า 2 เครื่อง และรุ่น ASTROS II จำนวน 4 เครื่อง เครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) รุ่น L16 จำนวน 26 เครื่อง รุ่น VAB VPM 81 จำนวน 4 เครื่อง และรุ่น Brandt จำนวน 15 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL) แบบ SP รุ่น VAB VAC HOT จำนวน 24 ลูก แบบ MANPATS รุ่น FGM-148 Javelin และรุ่น Kornet-EM (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และแบบ recoilless rifle (RCL) รุ่น Carl Gustav (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบพื้นสู่พื้น (SRBM) รุ่น BP-12 A จำนวน 2 ลูก
– ทร. มี บก.อยู่ที่โดฮา แต่มีฐานทัพเรือที่เกาะ Halul กำลังพลประมาณ 2,500 นาย ในจำนวนนี้รวมถึงหน่วยรักษาความมั่นคงชายฝั่ง (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือตรวจการณ์เร็วติดตั้งขีปนาวุธ (PCFGM/PCFG) ชั้น Barzan จำนวน 4 ลำ และชั้น Damsah จำนวน 3 ลำ เรือลาดตระเวนยุทธวิธี (PBF/PB) ชั้น MRTP16 จำนวน 3 ลำ ชั้น MRTP34 จำนวน 1 ลำ ชั้น DV15 จำนวน 4 ลำ ชั้น MV-45 จำนวน 4 ลำ ชั้น M160 จำนวน 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมีอาวุธปล่อยต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น MM40 Exocet จำนวน 12 ลูก
– ทอ. มีฝูงบินประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศ Al-Udeid กำลังพลประมาณ 2,000 นาย อากาศยานและยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น Mirage 2000ED จำนวน 9 เครื่อง รุ่น Mirage 2000D จำนวน 3 เครื่อง รุ่น Rafale DQ จำนวน 5 เครื่อง รุ่น Rafale EQ จำนวน 18 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง (TPT) รุ่น C-17A Globemaster จำนวน 8 เครื่อง รุ่น C-130J-30 จำนวน 4 เครื่อง รุ่น A340 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น B-707 จำนวน 2 เครื่อง รุ่น B-727 จำนวน 1 เครื่อง และรุ่น Falcon 900 จำนวน 2 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี/ต่อต้านเรือรบผิวน้ำ (ASuW) รุ่น Mk-3 จำนวน 8 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ (MRH) รุ่น AW139 จำนวน 21 เครื่อง รุ่น SA341 จำนวน 2 เครื่อง และรุ่น SA342L จำนวน 11 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (TPT) รุ่น Mk2A จำนวน 3 เครื่อง และรุ่น Mk2C จำนวน 1 เครื่อง รุ่น H125 Ecureuil จำนวน 1 เครื่อง อาวุธปล่อยต่อต้านอากาศยานแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) รุ่น MIM-104E/F Patriot (พิสัยไกล) รุ่น Mistral รุ่น FN-6 และรุ่น FIM-92 Stinger (Point-defence) อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น R-550 Magic2 และรุ่น Mica อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น Apache และรุ่น HOT และอาวุธปล่อยต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น AM-39 Exocet (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังความมั่นคงอื่น ๆ ได้แก่
– ตำรวจ ซึ่งรับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทยมี บก.อยู่ที่โดฮา กำลังพลประมาณ 5,000 นาย และยังมีหน่วยตำรวจลับที่รับผิดชอบภารกิจด้านต่อต้านการจารกรรมและการปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความไม่สงบ หน่วยสอบสวนคดีพิเศษของ Department of Information and Criminal Evidence และหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อช่วยเหลือตัวประกันและการเผชิญเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน
– หน่วยรบพิเศษประกอบด้วย 3 หน่วย ได้แก่ 1) กองกำลังพิทักษ์บ่อน้ำมันที่ Dukhan และ Umm Bab ซึ่งมีภารกิจในการรักษาความปลอดภัยบ่อน้ำมันและท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 2) กองกำลังพิทักษ์ชายแดน และ 3) Static Guards Regiment ซึ่งประจำการอยู่ทั่วประเทศ โดยทั้ง 3 หน่วย มีกำลังพลหน่วยละประมาณ 300-400 นาย
ปัญหาด้านความมั่นคง
กาตาร์เป็นประเทศเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างมหาอำนาจในอนุภูมิภาคอ่าวอาหรับ/อ่าวเปอร์เซีย 2 ประเทศ คือ อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย แต่กาตาร์ไม่เคยมีปัญหาตึงเครียดกับอิหร่านทั้งที่มีพรมแดนทางทะเลติดกัน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งก๊าซธรมชาติซึ่งเป็นรายได้สำคัญของกาตาร์ แต่กลับเป็นประเทศอาหรับเพื่อนบ้านของกาตาร์เอง ที่ดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของกาตาร์ เช่น การที่กาตาร์เคยกล่าวหารัฐกษัตริย์รอบอ่าวหลายประเทศว่าสนับสนุนเชค เคาะลีฟะฮ์ (เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 6) ให้พยายามก่อรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจคืนจากเชค ฮะมัด (เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ 7) เมื่อปี 2539 แต่ล้มเหลว นอกจากนี้ กาตาร์ยังเคยมีปัญหาพิพาทกับบาห์เรน กรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ Hawar นอกชายฝั่งทางตะวันตกในอ่าวอาหรับของกาตาร์ ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้วหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาเมื่อปี 2544 ให้บาห์เรนชนะ รวมทั้งเคยปะทะกับซาอุดีอาระเบียหลายครั้งก่อนที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงแก้ไขปัญหาพิพาทเขตแดนกันเมื่อปี 2544
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของกาตาร์หลังจากเชค ตะมีม (เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 8) ทรงขึ้นครองราชสมบัติ โดยเฉพาะการสนับสนุนและให้ที่ลี้ภัยแก่กลุ่ม Muslim Brotherhood กลายเป็นประเด็นสร้างความไม่พอใจให้กับซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) รวมทั้งอียิปต์ที่เป็นประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ถือว่ากลุ่ม Muslim Brotherhood เป็นภัยคุกคามระบอบการปกครองของตน ส่งผลให้กาตาร์มีปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน GCC และอียิปต์ โดยที่ประเทศดังกล่าวลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ด้วยการเรียก ออท.ของตนกลับจากกาตาร์ เมื่อ มี.ค.-พ.ย.2557 จนทำให้กาตาร์ต้องดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศดังกล่าว เช่น การให้สมาชิกระดับอาวุโสของกลุ่ม Muslim Brotherhood เดินทางออกจากกาตาร์ และให้สำนักข่าว Al Jazeera ของกาตาร์ ระงับการรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์อียิปต์ ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน GCC ก็หันมาปรับความสัมพันธ์กับกาตาร์ เนื่องจากเห็นความจำเป็นที่ทุกประเทศในตะวันออกกลางต้องร่วมมือกันปราบปรามกลุ่ม Islamic State (IS) ที่ขยายอิทธิพลในอิรักและซีเรียจนเป็นภัยคุกคามสำคัญของภูมิภาคในห้วงปี 2557 จึงทำให้การเจรจาแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้าน GCC ในที่ประชุมสุดยอด GCC วาระพิเศษ ที่ริยาด ซาอุดีอาระเบียเมื่อ 16 พ.ย.2557 สามารถคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ในครั้งนี้ได้
แม้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้าน GCC ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2557 แต่เกิดสถานการณ์ที่เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้าน GCC กลับมา ตึงเครียดอีก โดยเป็นผลมาจากการที่ซาอุดีอาระเบีย UAE บาห์เรน และอียิปต์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และลงโทษกาตาร์ด้วยการตัดการติดต่อทางบก ทางอากาศ และทางทะเลกับกาตาร์มาตั้งแต่ มิ.ย.2560 เนื่องจากไม่พอใจกรณีสำนักข่าว QNA ของทางการกาตาร์ เผยแพร่ถ้อยแถลงของเชค ตะมีม เมื่อ 23 พ.ค.2560 มีเนื้อหาแสดงท่าทีว่ายังทรงสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจกลุ่ม Muslim Brotherhood กลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน รวมทั้งทรงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายต่อต้านอิหร่านซึ่งกาตาร์เห็นว่าเป็นมหาอำนาจในโลกอิสลาม ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ใน GCC และประเทศอื่น ๆ ในโลกอาหรับต่างเห็นว่า กลุ่มติดอาวุธและกลุ่มหัวรุนแรงดังกล่าว รวมถึงอิหร่านเป็นภัยคุกคามประเทศตน ทั้งนี้ ปัญหาความสัมพันธ์ครั้งหลังสุดนี้ ยืดเยื้อจนถึงปี 2564 จึงคลี่คลายจากการที่ซาอุดีอาระเบีย UAE บาห์เรน และอียิปต์ ปรับเปลี่ยนท่าทีต่อกาตาร์ โดยลงนามข้อตกลงเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ในห้วงการประชุมสุดยอด GCC ครั้งที่ 41 ที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 5 ม.ค. 2564
นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายยังเคยเป็นปัญหาความมั่นคงของกาตาร์ โดยกาตาร์เผชิญการก่อเหตุของมือระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งคาดว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มอัลกออิดะฮ์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย (Al Qaida in the Arabian Peninsula-AQAP) ที่ Doha Players Theatre ใกล้ สอท.สหรัฐฯ ณ โดฮา เมื่อ มี.ค. 2548 (มีผู้เสียชีวิต 2 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอังกฤษ 1 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 คน) โดยนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีดังกล่าว กาตาร์เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามพรมแดนและสถานที่สำคัญในประเทศ และจนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกาตาร์อีก
ความสัมพันธ์ไทย-กาตาร์
กาตาร์กับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 7 ส.ค.2523 โดยไทยเปิด สอท. ณ โดฮา เมื่อปี 2545 ขณะที่กาตาร์เปิด สอท. ประจำกรุงเทพฯ เมื่อปี 2547 และมีความสัมพันธ์ที่ดี ต่อกันมาตลอด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงอยู่เป็นระยะ เช่น การเสด็จเยือนไทยของเชค ฮะมัด เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลเมื่อปี 2542 และเสด็จร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ มิ.ย.2549 และครั้งหลังสุดคือ การเสด็จเยือนไทยของเชค ษานี บิน ฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อาลษานี พระอนุชาของ เชค ตะมีม เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์พระองค์ปัจจุบัน เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ 26 ต.ค.2560
การเยือนไทยของผู้แทนรัฐบาลกาตาร์ครั้งหลังสุด ที่สำคัญคือ การเยือนไทยของนาย Ahmad bin Abdullah al-Mahmoud รอง นรม.กาตาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Summit) ครั้งที่ 2 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 8-10 ต.ค.2559 การเยือนไทยของ ดร. Mohammed Bin Saleh Al-Sada รมว.กระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมกาตาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 (7th Asia Ministerial Roundtable on Energy) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 31 ต.ค.- 4 พ.ย.2560 การเยือนไทยของเชค Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al-Thani รอง นรม. และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ พร้อมคณะ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่าง 28-30 ส.ค.2562 โดยเชค Mohammed ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. และ รมว.กระทรวงกลาโหม และพบหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รอง นรม. ในประเด็นความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ซึ่งการเยือนไทยของเชค Mohammed ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในฐานะรอง นรม.และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ และการเยือนไทย ดร. Ahmad Hassan Al-Hamadi ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ เมื่อ 14 พ.ย.2562 เพื่อพบหารือกับนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว แรงงาน และสาธารณสุข
ส่วนการเยือนกาตาร์ของผู้แทนรัฐบาลไทยครั้งหลังสุด คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เยือนกาตาร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Ministerial Meeting) ครั้งที่ 16 เมื่อ 1 พ.ค.2562 ที่โดฮา สำหรับความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายต่างสนับสนุนกันและกันเป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งกาตาร์ถือว่าเป็นกิจการภายในของไทย ขณะเดียวกันก็แสดงความสนใจให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนและการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ โดยหวังว่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยที่ผ่านมาเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักศึกษาที่วิทยาลัยอิสลามยะลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยฟาฏอนี) โดยมี รมว.กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนาอิสลามกาตาร์มาร่วมพิธีเปิดอาคารดังกล่าวเมื่อ 28 ม.ค.2550 นอกจากนี้ กาตาร์ยังเคยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานช่วยเจรจาให้รัฐบาลเอริเทรีย กดดันกลุ่มติดอาวุธให้ปล่อยลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเมื่อปี 2549
การค้าไทย-กาตาร์ เมื่อปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 2,324.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (72,621.94 ล้านบาท) ลดลงจากเมื่อปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 3,736.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (117,331.52 ล้านบาท) โดยเมื่อปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 324.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,007.16 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 1,999.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (105,668.91 ล้านบาท) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 1,675.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (52,607.61 ล้านบาท) ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 การค้าไทย-กาตาร์ มีมูลค่าประมาณ 2,963.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (93,951.34 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกมูลค่า 273.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,521.73 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 2,689.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (85,429.61 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญจากกาตาร์ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
ด้านการลงทุน สหพันธ์ธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้างแห่งประเทศไทยเคยรับว่าจ้างให้ดำเนินงานออกแบบและควบคุม การก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2549 รวมทั้งดำเนินการปรับหมู่บ้านนักกีฬาดังกล่าวเป็นโรงพยาบาล Hamad Medical Center ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีบริษัทในภาคการก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท TTCL ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รับงานก่อสร้างโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในกาตาร์ จำนวน 2 แห่ง คือ โครงการ Ras Abu Fontas A2 แล้วเสร็จเมื่อ ก.ค.2558 และโครงการ Ras Abu Fontas A3 แล้วเสร็จเมื่อ เม.ย.2560 เและบริษัท WEN Qatar ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีหุ้นส่วนเป็นชาวกาตาร์ รับงานก่อสร้างในลักษณะทำสัญญารับเหมาช่วง ขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และการก่อสร้าง Qatar Museum
ด้านพลังงาน บริษัท Qatargas ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของกาตาร์ลงนาม Head of Agreement กับบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ของไทยในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้ ปตท.สผ.ระยะยาวปริมาณ 1 ล้านตันต่อปีเมื่อ 3 ก.พ.2551 โดยเริ่มจัดส่งให้ไทยตั้งแต่ปี 2554 ส่วนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงนามความตกลงซื้อก๊าซ LPG จากบริษัท Qatar International Petroleum Marketing (Tasweeq) ปริมาณ 270,000 ตัน เมื่อ ม.ค.2554 และลงนามความตกลงกับบริษัท Qatargas เมื่อ ธ.ค.2555 ในการจัดหา LNG ระยะยาวปีละ 2 ล้านตัน เป็นเวลา 20 ปี โดยเริ่มส่งมอบในปี 2558 นอกจากนี้ บริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Qatar Petroleum Investment (QPI) ในโครงการปิโตรเคมี Long Son Petro Chemical ในเวียดนามเมื่อปี 2552
ด้านการท่องเที่ยว ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากชาวกาตาร์ซึ่งนอกจากเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว ยังนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเมื่อปี 2562 มีชาวกาตาร์เดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 33,539 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวกาตาร์ที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวและได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราจำนวนรวม 33,153 คน (ลดลงจากเมื่อปี 2561 ซึ่งมีจำนวนรวม 36,065 คน) ขณะที่ห้วงปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยและกาตาร์ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้มีชาวกาตาร์เดินทางมาไทยลดลง อยู่ที่ 2,781 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวกาตาร์เดินทางมาไทย รวม 777 คน ส่วนชาวไทยในกาตาร์มีประมาณ 3,365 คน เป็นแรงงานจำนวน 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือในภาคการก่อสร้าง ที่เหลืออยู่ในภาคบริการ เช่น พนักงานสายการบิน Qatar Airways พนักงานนวดสปา พ่อครัวและแม่ครัว นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนและนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง (ข้อมูลเมื่อ ธ.ค.2560)
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐกาตาร์ว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (9 ส.ค.2534) บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกาตาร์ (23 พ.ย.2541) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าและวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐกาตาร์ (12 เม.ย.2542) และความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยในรัฐกาตาร์ (15 พ.ค.2555)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม