สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย
Syrian Arab Republic
สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย
Syrian Arab Republic
เมืองหลวง ดามัสกัส
ที่ตั้ง ตะวันออกกลาง บนชายฝั่งทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ระหว่างเลบานอนกับตุรกี ระหว่างเส้นละติจูดที่ 32-38 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 36-43 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 185,180 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 90 ของโลก และเล็กกว่าไทย 3 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 6,794 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตุรกี 899 กม.
ทิศใต้ ติดกับจอร์แดน 379 กม. และอิรัก
ทิศตะวันออก ติดกับอิรัก 599 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับเลบานอน 403 กม. อิสราเอล 83 กม.
และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 193 กม.
ภูมิประเทศ ที่ราบสูงทะเลทรายกึ่งแห้งแล้ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือและทางตอนใต้เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของประเทศ มีแม่น้ำยูเฟรติสไหลผ่านทางตะวันออก มีชายฝั่งแคบและหุบเขาทางตะวันตกของประเทศ
ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแล้ง (อากาศทะเลทราย) ตอนกลางและทางตะวันออกของประเทศมีอุณหภูมิสูง
ในฤดูร้อนอุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนอากาศชื้น ทางเหนือมีฝนตกมาก
ดามัสกัสมีอากาศหนาวเย็นและหิมะตกเป็นบางช่วง ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. ฤดูฝน-หนาวเริ่มตั้งแต่ ธ.ค.-ก.พ. มีภัยธรรมชาติ คือ พายุทะเลทรายและพายุฝุ่น
ศาสนา อิสลาม 87% (ซุนนี 74% ที่เหลือ 13% เป็นอลาวี, อิสมาอีลี และชีอะฮ์) คริสต์ 10% (ส่วนใหญ่เป็นนิกายแอนติออเคียนออร์ทอดอกซ์) ดรูซ 3% และยูดาย (เหลือจำนวนเพียงเล็กน้อยในดามัสกัส และเมืองอเลปโป)
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเคิร์ด อาร์เมเนีย อราเมอิก เซอร์คาซเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 86.4% ระบบการศึกษาในซีเรียมีพื้นฐานมาจากระบบการศึกษาของฝรั่งเศส โรงเรียนของรัฐเปิดให้เรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงเกรด 9
วันชาติ 17 เม.ย. (เป็นวันที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2489)
นายบะชาร อัลอะซัด
Bashar al-Assad
(ประธานาธิบดีซีเรีย)
ประชากร 17,500,657 คน (ปี 2563 ประมาณการของ UN)
รายละเอียดประชากร ชาวอาหรับ 50% ชาวอลาวี 15% ชาวเคิร์ด 10% Levantine 10% และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงดรูซ, อิสมาอีลี, Imami, Nusairi, Assyrian, Turkoman และอาร์เมเนีย 15% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 33.47% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.11% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.46% อายุเฉลี่ยของประชากร 23.5 ปี อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 73.7 ปี เพศชาย 72.3 ปี เพศหญิง 75.3 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 23.5 ปี เพศชาย 23 ปี เพศหญิง 24 ปี อัตราการเกิด 23.8 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 4.25%
การก่อตั้งประเทศ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสเข้าปกครองจังหวัดซีเรียของจักรวรรดิออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) จนกระทั่งซีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2489 แต่ประเทศไร้เสถียรภาพจึงรวมประเทศกับอียิปต์เมื่อปี 2501 และจัดตั้งเป็นสหสาธารณรัฐอาหรับ (United Arab Republic) แต่รวมตัวได้เพียง 3 ปี ซีเรียก็ขอถอนตัวออกมาเมื่อปี 2504 ต่อมา เมื่อปี 2514 ซีเรียรวมประเทศอีกครั้งกับอียิปต์และลิเบียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ (Federation of Arab Republics) แต่ความสัมพันธ์กับอียิปต์เสื่อมถอยลง เนื่องจากอียิปต์ทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล หลังจากสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับสลายตัวลงในปี 2520 ซีเรียจึงมีสถานะเป็นสาธารณรัฐอาหรับซีเรียมาจนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐภายใต้การปกครองโดยทหาร (ตั้งแต่ปี 2506) อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น
3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีบะชาร อัลอะซัด (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 ก.ค.2543) เป็นประมุขของประเทศและมีอำนาจในการบริหารประเทศ ดำรงตำแหน่งวาระละ 7 ปี ไม่จำกัดวาระ โดยชนะการลงประชามติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบิดาใน 2 วาระแรก และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบมีผู้สมัครหลายคน ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในซีเรียเมื่อ 3 มิ.ย.2557 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไป มิ.ย.2564) ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ 3 ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานาธิบดี นรม. รอง นรม. และ ครม. รัฐบาลชุดปัจจุบันมี นรม.ฮุซัยน์ อัรนูซ เป็นผู้นำรัฐบาล (ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 11 มิ.ย.2563)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบสภาเดี่ยว คือ สภาประชาชน (Majlis al-Shaab) มีสมาชิก 250 คน สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งล่าสุดเมื่อ 17 ก.ค.2563 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไป คือ ปี 2567)
ฝ่ายตุลาการ : ใช้กฎหมายที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสมัยจักรวรรดิออตโตมาน กฎหมายอิสลามใช้ในระบบศาลครอบครัว มีศาลพิเศษทางศาสนา ไม่ยอมรับการบังคับคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และมีศาลพลเรือน ประกอบด้วย ศาลฎีกา (ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยประธานาธิบดี) ศาลรัฐธรรมนูญ (ตัดสินคดีความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง)
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรคการเมืองหลัก คือ National Progressive Front (NPF) ซึ่งประกอบด้วย พรรค Ba’ath ของประธานาธิบดีบะชาร อัลอะซัด พรรค Socialist Unionist Democrat พรรค Syrian Arab Socialist Union พรรค Syrian Communist พรรค Syrian Social Nationalist และพรรค Unionist Socialist นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ได้แก่ พรรค Communist Action Party และ National Democratic Front ประกอบด้วย พรรคร่วม 5 พรรค คือ พรรค Arab Democratic Socialist Union พรรค Arab Socialist Movement พรรค Democratic Ba’ath Party พรรค People’s Democratic และพรรค Revolutionary Workers
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซีเรียดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดธนาคารเอกชน อย่างไรก็ดี สงครามกลางเมืองในซีเรีย มาตรการคว่ำบาตร และมาตรการเข้มงวดทางการค้าจากนานาประเทศ เช่น สันนิบาตอาหรับ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของซีเรียเป็นอย่างมาก จากนั้น เกิดวิกฤตทางการเงินของเลบานอน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประท้วงเมื่อ 17 ต.ค.2562 ทำให้รัฐบาลเลบานอนกำหนดมาตรการเข้มงวด
ทางการเงิน ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ซีเรียอ่อนลง เนื่องจากเลบานอนเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของซีเรีย อีกทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจซีเรียให้ตกต่ำยิ่งขึ้นและเร็วขึ้น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์ซีเรีย (Syrian pounds) หรือ SYP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 512.90 ปอนด์ซีเรีย
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 16.87 ปอนด์ซีเรีย (พ.ย.2563)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 22,163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2561 ของ UN)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -3.4% (ประมาณการปี 2561 ของ UN)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,230 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2561 ของ UN)
แรงงาน : 4,797,280 คน (ปี 2562 ของธนาคารโลก)
อัตราการว่างงาน : 12.1% (ประมาณการปี 2561 ของ UN)
อัตราเงินเฟ้อ : 28.1% (ประมาณการปี 2560)
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ฝ้าย ถั่ว มะกอก หัวผักกาดหวาน เนื้อวัว เนื้อแพะ ไข่ สัตว์ปีก และนม
ผลผลิตอุตสาหกรรม : ปิโตรเลียม สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เหมืองฟอสเฟต และซีเมนต์
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 5,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2561)
สินค้าส่งออก : น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เมล็ดเครื่องเทศ ถั่วชนิดต่าง ๆ ผลไม้
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : ซาอุดีอาระเบีย 15% เลบานอน 13.1% อียิปต์ 11.7% ตุรกี 9.97% จอร์แดน 9.78%
มูลค่าการนำเข้า : 6,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2561)
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ออกอากาศ บุหรี่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำมันจากเมล็ดพืช แป้งสาลี
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน 20.5% ตุรกี 20% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 19.2% อียิปต์ 5.15% รัสเซีย 3.67%
คู่ค้าสำคัญ : จีน ตุรกี อียิปต์
ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมัน แหล่งแร่เหล็ก ทองแดง โครเมียม สังกะสี ทังสเตน แร่ไมกา เงิน ทองคำ และไฟฟ้าพลังน้ำ
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ไม่ปรากฏข้อมูลงบประมาณด้านการทหาร ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. และ บก.ป้องกันภัยทางอากาศ มีประธานาธิบดีเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ผู้ชายต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุ 18 ปี โดยอยู่ในกองทัพเป็นระยะเวลา 30 เดือน กำลังพลรวม ทหาร 169,000 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 100,000 นาย โดยทหารแยกเป็น ทบ. 130,000 นาย ทร. 4,000 นาย และ ทอ. 15,000 นาย บก. ป้องกันภัยทางอากาศ 20,000 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รุ่น T-55A รุ่น T-55AM รุ่น T-55AMV รุ่น T-62 รุ่น T-62M รุ่น T-72 รุ่น T-72AV รุ่น T-72B รุ่น T-72B3 รุ่น T-72M1 และรุ่น T-90 รถหุ้มเกราะลาดตระเวน (RECCE) รุ่น BRDM-2 รถรบทหารราบ (IFV) รุ่น BMP-1 รุ่น BMP-2 และรุ่น BTR-82A รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) รุ่น BTR-50 รุ่น BTR-152 รุ่น BTR-60 รุ่น BTR-70 และรุ่น BTR-80 อาวุธปล่อยต่อต้านรถถัง ปืนใหญ่รุ่นต่าง ๆ เครื่องปล่อยขีปนาวุธผิวพื้นสู่ผิวพื้นชนิดพิสัยใกล้ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ประเภทลาดตระเวนหาข่าว (ISR) รุ่น Mohajer 3/4 และรุ่น Ababil อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ (SAM) ทั้งหมดไม่ปรากฏจำนวน
ทร. ได้แก่ เรือคอร์เวต รุ่น Petya III จำนวน 1 ลำ เรือเร็วลาดตระเวนติดตั้งอาวุธ (PBFG) รุ่น Osa I/II จำนวน 16 ลำ รุ่น Tir จำนวน 6 ลำ เรือลาดตระเวน รุ่น Zhuk จำนวน 8 ลำ ทุ่นระเบิดการสงครามประเภทต่าง ๆ เรือยกพลขึ้นบกขนาดกลาง รุ่น Polnochny B จำนวน 3 ลำ
ทอ. ได้แก่ บ.ขับไล่ (FTR) รุ่น MiG-23MF/ML/UM Flogger จำนวน 34 เครื่อง รุ่นMiG-29A/SM/UB Fulcrum จำนวน 30 เครื่อง บ.โจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น MiG-21MF/bis Fishbed จำนวน 68 เครื่อง รุ่น MiG-21U Mongol A จำนวน 9 เครื่อง รุ่น MiG-23BN/UB Flogger จำนวน 41 เครื่อง บ.โจมตี (ATK) รุ่น Su-22 Fitter D จำนวน 28 เครื่อง รุ่น Su-24 Fencer จำนวน 11 เครื่อง บ.ลำเลียง (TPT) รุ่นต่างๆ จำนวน 23 เครื่อง ฮ.โจมตี (ATK) รุ่น Mi-25 Hind D จำนวน 24 เครื่อง ฮ.อเนกประสงค์ (MRH)
รุ่น Mi-17 Hip H จำนวน 26 เครื่อง รุ่น SA342L Gazelle จำนวน 28 เครื่อง อาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศ (AAM) อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่ผิวพื้น (ASM) ขีปนาวุธต่อต้านคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ (ARM) ไม่ปรากฏจำนวน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม กกล.ติดอาวุธอื่น ๆ ในซีเรีย เช่น กลุ่ม National Front for Liberation ประมาณ 50,000 คน กลุ่ม Syrian Democratic Forces ประมาณ 50,000 คน กลุ่ม Syrian National Army ประมาณ 20,000 คน และกลุ่ม Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) ประมาณ 20,000 คน
ปัญหาด้านความมั่นคง
ความสัมพันธ์ไทย-ซีเรีย
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยกับซีเรียสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ม.ค.2499 แต่ยังมิได้จัดตั้ง สอท. โดยไทยมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำซีเรีย และซีเรียมีกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2562 การค้าระหว่างไทย-ซีเรีย มีมูลค่า 85.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,614.13 ล้านบาท) ไทยส่งออกให้ซีเรีย 85.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,612.13 ล้านบาท) และนำเข้าจากซีเรีย 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.16 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าซีเรีย 85.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,611.82 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 การค้าไทย-ซีเรีย มีมูลค่า 27.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (875.30 ล้านบาท) ไทยส่งออก 27.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (873.63 ล้านบาท) และนำเข้า 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.67 ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปซีเรีย ปี 2562 ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ
สินค้าที่ไทยนำเข้า ปี 2562 ได้แก่ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลที่คนไทยอาศัยอยู่ในซีเรีย (เมื่อปี 2563)
ด้านการท่องเที่ยว ปี 2562 นักท่องเที่ยวซีเรียเดินทางมาไทย มีจำนวน 4,123 คน และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2563 คนสัญชาติซีเรียมาไทย (เพื่อการท่องเที่ยวและวัตถุประสงค์อื่น ๆ) มีจำนวน 1,256 คน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับซีเรีย-ความตกลงว่าด้วยบริการการบินระหว่างไทยกับซีเรีย (ลงนามเมื่อ 18 ม.ค.2535)