ฟื้นฟูสุขภาพป่าด้วยโปรตีนจากถั่ว
“สุขภาพ (healthy) สิ่งแวดล้อม (environment) การทารุณกรรมต่อสัตว์ (Cruelty to Animals)” แนวคิดเหล่านี้ทำให้ผู้คนต่างเริ่มมีความคิดที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง และในขณะเดียวกันก็ทำให้พืชกลายเป็นทางเลือกในการบริโภคที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการทำปศุสัตว์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ทั้ง “พื้นที่” ในการเลี้ยงและการเพาะปลูกพืชเป็นอาหารสัตว์ จนทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์รุกคืบเข้าไปในพื้นที่ป่าในประเทศไทย ปัจจุบัน พื้นที่การเกษตรกว่า 80% เป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ และท้ายที่สุดมักมีการทำเกษตรกรรมด้วยการปลูกพืชแบบเดิม ๆ ทำให้เกิดพื้นที่ “เขาหัวโล้น” มากกว่า 8.6 ล้านไร่ ดังนั้น…การตัดวงจรการสร้างเขาหัวโล้นดังกล่าวด้วยการหันมาบริโภคพืช จึงมีส่วนช่วยในการรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะจะช่วยลดขั้นตอนการผลิต จากการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ก็กลายเป็นการบริโภคพืชโดยตรง นอกจากนี้ การรณรงค์เรื่องการบริโภคพืชแทนเนื้อสัตว์ยังสร้างความตระหนักรู้ในการเลือกวิธีการปลูกพืชที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการความมั่นใจว่าจะไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ในอาหาร ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่การใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรม ปลูกบนพื้นที่ที่ราดด้วยยาฆ่าหญ้า เร่งการโตด้วยปุ๋ยเคมี และป้องกันด้วยยาฆ่าแมลง ซึ่งที่ผ่านมา…พืชที่เต็มไปด้วยสารเคมีเหล่านี้ถูกป้อนให้กับสัตว์จำนวนมากเพื่อทำน้ำหนักให้โตไว และกลายมาเป็นเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหารของเรา แม้ผู้ผลิตจะยืนยันว่าสัตว์เหล่านั้นได้รับการเลี้ยงดูอย่างปลอดภัย แต่อาหารสัตว์ก็ยังมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ดี ในทางกลับกัน….การเลือกบริโภคผักปลอดสารพิษทำให้เราได้รับสารพิษจากกระบวนการผลิตวัตถุดิบลดลง ผู้คนจึงนิยมที่จะบริโภคพืชผักกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารเคมี เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) และการบริโภคพืชผักเป็นหลักจะช่วยทำให้ร่างกายดูดซับสารอาหารและย่อยได้ง่ายกว่า ทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย เมื่อค่านิยมในการบริโภคอาหารเปลี่ยนไป ความต้องการเนื้อสัตว์ลดลงสวนทางกับความต้องการบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืช (plant-based protein)…