สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
The Republic of the Union of Myanmar
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
The Republic of the Union of Myanmar
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นละติจูดที่ 22 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 98 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 676,578 ตร.กม. ระยะทางจากด้านเหนือสุด-ใต้สุดรวม 2,051 กม. และตะวันออก-ตะวันตกรวม 936 กม. ชายฝั่งทะเลยาว 1,930 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีน 2,129 กม.
ทิศใต้ ติดกับทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก ติดกับลาว 238 กม. และไทย 2,416 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับอินเดีย 1,468 กม.และบังกลาเทศ 271 กม.
ภูมิประเทศ ตอนบนเป็นภูเขาและหุบเขา มีเทือกเขาซึ่งเชื่อมต่อจากเทือกเขาหิมาลัยทอดเป็นแนวยาวจากเหนือไปทางใต้รวม 3 แนว คือ ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขานาคา-เทือกเขาชิน-เทือกเขายะไข่ ตอนกลางเป็นเทือกเขาพะโค และด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูงฉาน พื้นที่สูงและภูเขามีความสูงเฉลี่ย 3,000 ฟุต เทือกเขาสูงที่สุดคือ เทือกเขากากาโบราซี (Mt. Hkakabo Razi) ในรัฐคะฉิ่น ความสูง 5,881 ม. (19,296 ฟุต) ตอนกลาง
และตอนล่างเป็นที่ราบลุ่ม มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านหลายสาย อาทิ อิระวดี สาละวิน สะโตง และชินวิน
ภูมิอากาศ ส่วนใหญ่มีสภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน (กลาง พ.ค.-ปลาย ต.ค.)
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดเข้าสู่ประเทศ ทำให้มีฝนตกชุก พื้นที่ที่มีฝนตกมากที่สุด คือ ชายฝั่งทะเล
ในรัฐยะไข่ ภาคอิระวดี ภาคพะโค และภาคตะนาวศรี ปริมาณฝน 120-200 ลบ.นิ้ว/ปี ส่วนเขตพื้นที่ราบอื่น ๆ มีฝนตกเฉลี่ย 100 ลบ.นิ้ว/ปี พื้นที่ตอนกลางมีฝนตกน้อยที่สุด 20-40 ลบ.นิ้ว/ปี เนื่องจากถูกบดบังด้วย แนวเขายะไข่ทางด้านตะวันตก ฤดูหนาว (พ.ย.-ปลาย ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย 21-29 องศาเซลเซียส และ
ฤดูร้อน (มี.ค.-กลาง พ.ค.) อุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศ 32 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส ตอนบนสุดของประเทศบนยอดเขาอาจมีหิมะตกในช่วง พ.ย.-ม.ค. ตอนกลางประเทศมีสภาพอากาศแห้งแล้งกว่าบริเวณอื่น อุณหภูมิสูงสุด 45 องศาเซลเซียส
วันชาติ 4 ม.ค. (วันที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2491)
พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์
Senior General Min Aung Hlaing
(ผบ.ทสส. ประธาน SAC และ นรม.เมียนมา)
อูวินมยิน
U Win Myint
(ประธานาธิบดีเมียนมา)
ประชากร 56.59 ล้านคน (ก.ค.2563) มี 135 ชาติพันธุ์ แบ่งเป็นพม่า 68% ไทยใหญ่ 9% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 4% จีน 3% อินเดีย 2% มอญ 2% และอื่น ๆ 5% อัตราส่วนประชากรตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 26.56% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 67.77% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5.67% อัตราการเพิ่มประชากร 0.89% ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
การก่อตั้งประเทศ เมียนมาเคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรหลายอาณาจักรในดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 1392
ที่สำคัญ ได้แก่ อาณาจักรพุกาม อาณาจักรอังวะ-หงสาวดี และอาณาจักรตองอู มีราชวงศ์อลองพญาเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนที่จะตกอยู่ใต้การยึดครองของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2428
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกลุ่มสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-fascist People’s Freedom League) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมชาวเมียนมานำโดยคณะของ
นายพลอองซาน (บิดาของอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ) ที่มีนโยบายขับไล่ญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชให้เมียนมา จนกระทั่งเมียนมาได้รับเอกราชเมื่อ 4 ม.ค.2491 ขณะเดียวกันนายพลอองซานเจรจาชักชวนผู้นำชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อประกาศเอกราช โดยลงนามข้อตกลงปางหลวงและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเมียนมา
ปี 2491 ให้เมียนมาและชนกลุ่มน้อยรวมตัวในรูปแบบสหภาพ โดยรัฐฉานและรัฐคะยามีสิทธิแยกตัวออกไปหลังครบ 10 ปี รัฐคะฉิ่นไม่ได้สิทธิแยกตัวแต่สามารถปกครองตนเองได้ ส่วนรัฐกะเหรี่ยงอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ก่อนที่นายพลเนวินจะยึดอำนาจการปกครองเมื่อ มี.ค.2505 และเมียนมาปกครองแบบเผด็จการทหาร
มาจนถึงปี 2553 ซึ่งเมียนมาจัดการเลือกตั้งทั่วไปและได้รัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง
เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2554
เมียนมา เดิมชื่อว่าพม่า (Burma) จนกระทั่งเมื่อปี 2532 เมียนมาได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมา (Myanmar) เพื่อสื่อความหมายถึงความเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธ์ุทุกเชื้อชาติ
ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชนชาติพม่าเพียงอย่างเดียว ทั้งยังสะท้อนนโยบายสมานฉันท์และการสร้างเอกภาพ
ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งมาจาก
การสรรหาของสมาชิกรัฐสภา แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 รัฐ (State) 7 ภาค (Region) และ 1 เขตสหภาพ (เมืองหลวงเนปยีดอ ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี) และแบ่งการบริหารเป็นรัฐบาล 2 ระดับ คือ รัฐบาลระดับสหภาพ มี 24 กระทรวง และรัฐบาลท้องถิ่นประจำภาค/รัฐ โดยจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีประจำภาค/รัฐให้กับพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2551 แบ่งสรรอำนาจเป็น
3 ส่วนสำคัญ คือ 1) ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขของรัฐและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบัน คือ พลเอกอาวุโสมินอ่องไหล่ง์) มีอำนาจสั่งการสูงสุดในกองทัพและควบคุมกระทรวงด้านความมั่นคง 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน และ 3) สภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Defence and Security Council-NDSC) ซึ่งเป็นเวทีหารือประเด็นความมั่นคงและเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
เมียนมาจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 8 พ.ย.2563 โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติ เพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) ของอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง (ครั้งแรกเมื่อ 8 พ.ย.2558) อย่างไรก็ตาม แม้เมียนมาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการทหารเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือน แต่กองทัพเมียนมายังมีบทบาททางการเมืองสูง ขณะที่รัฐบาลพรรค NLD พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของกองทัพ ทำให้กองทัพเมียนมานำโดย พล.อ.อาวุโส
มินอองไลง์ ผบ.ทสส. เข้าควบคุมอำนาจจากพรรค NLD เมื่อ 1 ก.พ.2564 และตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) ขึ้นมาเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารประเทศ โดยมี พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ เป็นประธาน SAC และ พล.อ.รองอาวุโส โซวิน รอง ผบ.ทสส. เป็นรองประธาน SAC
พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ ผบ.ทสส. และประธาน SAC ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่และยกเลิกการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินภายใน ส.ค.2566 (2 ปี 6 เดือน นับจากการยึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ.2564) โดยย้ำถึงการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมือง (multi-party election) และการสร้างชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและการเป็นสหพันธรัฐ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากการสรรหาและเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภา มีวาระ 5 ปี มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารทั้งหมด แต่งตั้งบุคคลขึ้นเป็นรัฐมนตรี ยกเว้นกระทรวงด้านความมั่นคง 3 กระทรวง ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกิจการชายแดน และกระทรวงกลาโหม) ปัจจุบันเมียนมาไม่มีประธานาธิบดี แต่มี พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ ผบ.ทสส. และประธาน SAC ทำหน้าที่เป็น นรม.
SAC ออกประกาศเมื่อ 1 ส.ค.2564 ปฏิรูประบบราชการ โดยแต่งตั้ง พล.อ.อาวุโส
มินอองไลง์ เป็น นรม. และ พล.อ.รองอาวุโส โซวิน เป็น รอง นรม. พร้อมกับแยก 3 กระทรวง ออกเป็น
6 กระทรวง ได้แก่ 1) แยกสำนักรัฐบาลสหภาพ ออกเป็น 2 สำนัก คือ สำนักรัฐบาลสหภาพ (1) และสำนักรัฐบาลสหภาพ (2) 2) แยกกระทรวงแรงงาน การตรวจคนเข้าเมือง และประชากร ออกเป็น 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการตรวจคนเข้าเมืองและประชากร และ 3) แยกกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา ออกเป็น 2 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการกีฬาและเยาวชน อนึ่ง ก่อนหน้านี้รัฐบาล SAC พยายามกระชับอำนาจที่เคยถูกกระจายออกไปเมื่อสมัยรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กลับเข้าสู่กองทัพ ด้วยการโยกย้ายกรมบริหารทั่วไป (GAD/คล้ายกับกรมการปกครอง) ให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยดังเดิม (ในสภาวะปกติ รมว.มท. ถูกเสนอชื่อและแต่งตั้งโดย ผบ.ทสส.)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีวาระ 5 ปี และมี 2 ระดับ คือ 1) รัฐสภาสหภาพ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 440 คน มาจากการเลือกตั้ง 330 คน และจากการคัดเลือกของกองทัพ 110 คน) และวุฒิสภา (สมาชิกวุฒิสภามี 224 คน มาจากการเลือกตั้ง 168 คน และจากการคัดเลือกของกองทัพ 56 คน) และ 2) สภาท้องถิ่นประจำภาค/รัฐ ทั้งนี้ ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของสภาทั้ง 2 ระดับ ปัจจุบันเมียนมาไม่มีสมาชิกรัฐสภา
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ศาลสูงประจำภาค/รัฐ ศาลสูงประจำเขตปกครองตนเอง ศาลประจำเมือง ศาลประจำอำเภอ และศาลอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ คือ
ศาลทหารและศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) พรรคเพื่อความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party-USDP) พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party-NUP) พรรคประชาธิปไตยแห่งชนชาติฉาน (Shan National Democratic Party-SNDP) พรรคเพื่อการพัฒนาชนชาติยะไข่ (Rakhine Nationalities Development Party-RNDP) และพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force-NDF)
เศรษฐกิจ เมียนมามุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา เพื่อมุ่งสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2574 เน้นเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง สนับสนุนการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความโปร่งใส
และเสถียรภาพในระบบการเงิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ท่าเรือ และสิ่งปลูกสร้างด้านพลังงาน สร้างงานภายในประเทศ พัฒนาภาคเอกชน ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พัฒนาภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมียนมามีข้อได้เปรียบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจุดสนใจของนักลงทุน คือ
เป็นจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ เป็นช่องทางเลือกการออกสู่ทะเลของจีน และ
มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และป่าไม้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเมียนมาถดถอยอย่างมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และถูกซ้ำเติมจากความวุ่นวายทางการเมืองจากเหตุการยึดอำนาจของกองทัพ (เมื่อ ก.พ.2564) โดยธนาคารโลก (World Bank-WB) คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาในปี 2564 จะชะลอตัวลงร้อยละ 18 ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องของภาคการธนาคาร ค่าเงินจัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 23 เศรษฐกิจเมียนมามีขนาดเล็กลงร้อยละ 30 ขณะที่สัดส่วนของประชากรยากจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ภายในต้นปี 2565 รวมถึงนักลงทุนต่างชาติระงับหรือถอนการลงทุนออกจากเมียนมาหลายราย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : จัต (Kyat)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1,776.77 จัต : ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 54.31 จัต : 1 บาท (15 พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 76,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการโดยธนาคารโลกปี 2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -9.99%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,400.2 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 22.95 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 1.79%
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 7,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 8.8%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 1,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 18,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการนำเข้า : 18,611 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ก๊าซธรรมชาติ ข้าว ถั่ว ทองแดง น้ำตาล
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมัน น้ำตาล รถบรรทุก ไขมันพืช สิ่งทอพิมพ์ลาย
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : จีน ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย
การทหาร กองทัพเมียนมาเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูง มีภารกิจหลัก คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การเสริมสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันกองทัพเมียนมาพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายพัฒนากำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ควบคู่กับการทำให้ทั่วโลกยอมรับ ยุทโธปกรณ์หลักจัดซื้อจากรัสเซีย จีน และปากีสถาน รวมถึงผลิตเองเพื่อใช้ในประเทศตามขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ
กองทัพเมียนมามีกำลังพลรวม 406,000 นาย แบ่งเป็น 3 เหล่าทัพ ได้แก่ ทบ.กำลังพล 375,000 นาย ยุทโธปกรณ์หลักได้แก่ ถ.หลัก 185 คัน ถ.เบา 105 คัน รถหุ้มเกราะ 115 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (รสพ.) 431 คัน ป.ใหญ่ 422 กระบอก ปรส.1,000 กระบอก จรวดขนาด 84 มม.ประมาณ 1,000 กระบอก ทร.กำลังพล 16,000 นาย หน่วยปฏิบัติการพิเศษ 800 นาย ไม่มีนาวิกโยธิน ยุทโธปกรณ์หลัก ได้แก่ เรือดำน้ำ เรือรบหลัก 5 ลำ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 113 ลำ เรือปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก 18 ลำ เรือสนับสนุนการรบและส่งกำลังบำรุง 18 ลำ ทอ.กำลังพล 15,000 นาย ยุทโธปกรณ์หลัก ได้แก่ บ.ขับไล่ 63 เครื่อง (MiG-29B/MiG-29UB/F-7M) บ.โจมตี 22 เครื่อง (A-5C) บ.ฝึกติดอาวุธ/โจมตีเบา 82 เครื่อง บ.ลาดตระเวนทางทะเล 6 เครื่อง บ.ลำเลียง 22 เครื่อง ฮ. 78 เครื่อง (Mi2/Mi-35) และอากาศยานไร้คนขับ 45 เครื่อง
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาความมั่นคงที่ท้าทายรัฐบาล คือ 1) สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและ
ความมั่นคงหลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจ เมื่อ 1 ก.พ.64 ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศและ
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล SAC จัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Force-PDF) ขึ้นต่อสู้กับกองทัพ 2) การเคลื่อนไหวต่อต้าน SAC ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG) และอดีตสมาชิกพรรค NLD ที่สูญเสียอำนาจ 3) ปัญหาโรฮีนจาและสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่
4) ปัญหาการสู้รบและความคืบหน้าการดำเนินกระบวนการสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย 5) ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มพุทธหัวรุนแรงกับชาวมุสลิมในประเทศ และ 6) ปัญหาอาชญากรรม อาทิ การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และค้าอาวุธ
ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อ 24 ส.ค.2491 ความสัมพันธ์อยู่ในระดับดีและใกล้ชิดกันทั้งในระดับรัฐบาล กองทัพ และประชาชน โดยไทยดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรและให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่เมียนมา เช่น ด้านการพัฒนา การอำนวยความสะดวกในกระบวนการสันติภาพ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในห้วงที่เมียนมาประสบภัยพิบัติ ขณะที่เมียนมาให้ความสำคัญ
อย่างมากกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทย โดยทั้งสองประเทศต่างยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ
อย่างสม่ำเสมอ
ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยกับเมียนมามีกลไกความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JC) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee-JBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee-RBC)
และคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) ของฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการหารือประเด็นความมั่นคงตามแนวชายแดนจากการที่ไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมา 2,401 กม. ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบภายในเมียนมา เช่น ปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบ (ผภร.) ชาวเมียนมา
ในไทยกว่า 100,000 คน ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเมียนมาและ
ชาวมุสลิมโรฮีนจา รวมถึงปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจ ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้บริเวณชายแดนและกรณีที่จะมีผู้หนีภัยความไม่สงบและหนีภัย
ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากปัญหาการเมืองและ COVID-19 เข้ามาในไทยมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าการค้าไทย-เมียนมา ปี 2563 อยู่ที่ 205,631.42 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 29,476.96 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 117,554.19 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำตาลทราย รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไทยนำเข้ามูลค่า 88,077.23 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเมียนมา ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เศษโลหะ โค กระบือ สุกร ไม้ซุง ไม้แปรรูป ด้านการลงทุน ไทยเป็น
ผู้ลงทุนอันดับ 6 ของเมียนมา รองจากสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยในเมียนมา เมื่อปี 2563 รวม 5,760.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การผลิต ประมง และปศุสัตว์ ผู้ลงทุนรายใหญ่ อาทิ ปตท.สผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อิตาเลียนไทย ซีพี และเครือซิเมนต์ไทย
ด้านพลังงาน ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมามากกว่า 20% ของปริมาณการใช้ในไทย เมียนมามีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ยาดานา เยตากุน และซอติก้า อย่างไรก็ดี เมียนมาลดสัดส่วนการขาย
ก๊าซธรรมชาติให้ไทยในระยะหลัง เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศมากขึ้นจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไทยและเมียนมาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2 ฉบับ เมื่อ มิ.ย.2558 ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน และความร่วมมือด้านไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ตั้งแต่การสำรวจ
การผลิต จนถึงการพัฒนาการกลั่นน้ำมัน และผลิตปิโตรเคมี
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) แนวโน้มสถานการณ์การเมืองในเมียนมาจะตึงเครียดและรุนแรงต่อเนื่อง หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจ เมื่อ 1 ก.พ.2564 ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล SAC จัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ขึ้นต่อสู้กับกองทัพ ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และอดีตสมาชิกพรรค NLD ที่สูญเสียอำนาจ จะเคลื่อนไหวต่อต้าน SAC ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะใน UN และอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับ SAC ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงขยายวงกว้างขึ้นจน SAC ไม่สามารถควบคุมได้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองแบบเต็มรูปแบบและสภาวะรัฐล้มเหลว
2) ความคืบหน้าในการปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่เมียนมาเผชิญวิกฤตรุมเร้ารอบด้าน ทั้งการเมือง ความมั่นคง COVID-19 และเศรษฐกิจ
3) ปัญหาโรฮีนจาในรัฐยะไข่ และความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวเมียนมาพุทธหัวรุนแรงกับชาวมุสลิมในประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องตนเองของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ และความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ที่เคลื่อนไหวในรัฐยะไข่เพื่อจัดตั้งพื้นที่ปกครองของตนเอง ซึ่งกระทบต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในรัฐยะไข่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พร้อมรับกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจาจากบังกลาเทศ นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้ายสากล เช่น กลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกลุ่ม Islamic State (IS) อาจแสวงประโยชน์ปลุกระดมและเรียกร้องให้มุสลิมในต่างประเทศสนับสนุนชาวโรฮีนจาในเมียนมาต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา
4) การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลเมียนมามุ่งมั่นผลักดันให้เกิดความคืบหน้า โดยเฉพาะการหารือเรื่องการจัดตั้งระบอบสหพันธรัฐ การปราบปราม
กองกำลังของชนกลุ่มน้อย และการแบ่งสรรอำนาจการปกครองหรือผลประโยชน์ในพื้นที่ระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อย