เมืองหลวง เคียฟ (Kiev)
ที่ตั้ง อยู่ในยุโรปตะวันออก ติดกับทะเลดำ ตั้งอยู่ระหว่างโปแลนด์ โรมาเนีย และมอลโดวาทางตะวันตก กับรัสเซียทางตะวันออก มีพื้นที่ 603,550 ตร.กม. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองจากรัสเซีย และประมาณ 1.2 เท่าของไทย แบ่งเป็นพื้นดิน 579,330 ตร.กม. และพื้นน้ำ 24,220 ตร.กม. มีพรมแดนทางบกยาว 5,618 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซียและเบลารุส
ทิศตะวันออก จรดพรมแดนรัสเซีย
ทิศใต้ ติดทะเลดำและทะเลอาซอฟ
ทิศตะวันตก จรดพรมแดนโปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย และมอลโดวา
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ ทางตะวันตกมีเทือกเขา Carpathians ทางใต้สุดเป็นคาบสมุทรไครเมีย และมีแม่น้ำสำคัญ ๆ ของทวีปยุโรปไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำดนีสเตอร์ และแม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ
วันชาติ 24 ส.ค. (ปี 2534) วันประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
นายโวโลดีมีร์ เซนเลนสกี
Volodymyr Oleksandrovych Zelensky
(ประธานาธิบดียูเครน)
ประชากร 43,745,640 ล้านคน (ก.ค.2564) ประกอบด้วย ยูเครน 77.8% รัสเซีย 17.3% เบลารุส 0.6% มอลโดวา 0.5% ไครเมียตาตาร์ 0.5% บัลแกเรีย 0.4% ฮังการี 0.3% โรมาเนีย 0.3% โปล 0.3% ยิว 0.2% และอื่น ๆ 1.8%
รายละเอียดประชากร อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 16.16% วัยรุ่น (15-24 ปี) 9.28% วัยทำงาน (25-54 ปี) 43.66% วัยเริ่มชรา (55-64 ปี) 13.87% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 17.03% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 73.18 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 68.51 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 78.15 ปี อัตราการเกิด 9.23/1,000 คน อัตราการตาย 13.9/1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร -0.49%
การก่อตั้งประเทศ ยูเครนต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี 2460 แต่สหภาพโซเวียตปราบปราม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต นโยบายเปิดกว้างทางการเมืองของประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองในยูเครน จนกระทั่งมีการประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 24 ส.ค.2534 และจัดลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อ 1 ธ.ค.2534
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 มิ.ย.2539 และปรับแก้ไขเมื่อปี 2547 ปี 2553 และปี 2558 แบ่งเขตการปกครองเป็น 24 แคว้น (provinces) 1 สาธารณรัฐปกครองตนเอง และ 2 เทศบาลนคร (municipalities)
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนคนที่ 6 (สืบแทนประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก) เมื่อ 20 พ.ค.2562 ภายหลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน รอบที่ 2 เมื่อ 21 เม.ย.2562 ด้วยคะแนนเสียง 73.22% ขณะที่ประธานาธิบดีโปโรเชนโก ได้คะแนนเสียง 24.45% (การเลือกตั้งรอบแรกจัดขึ้นเมื่อ 31 มี.ค.2562 มีผู้สมัครรวม 39 คน) การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งโดยตรง วาระละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะมีขึ้นใน มี.ค.2567 สำหรับนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี โดยต้องผ่านการรับรองจากสภาสูงสุด (Verkhovna Rada) นรม.ทำหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาสูงสุดเช่นกัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Denys Shmyhal เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 มี.ค.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาสูงสุด (Verkhovna Rada) มีสมาชิก 450 คน (กึ่งหนึ่งมาจากเลือกตั้งโดยตรง และอีกกึ่งหนึ่งเป็นแบบสัดส่วน) วาระละ 5 ปี เนื่องจากรัสเซียผนวกไครเมียและพื้นที่บางส่วนในภาคตะวันออกของยูเครนยังไม่สงบ ทำให้ขาดสมาชิกรัฐสภารวม 27 ที่นั่ง โดยพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 21 ก.ค.2562 ได้แก่ พรรค Servant of the People (43.2%) ได้ 254 ที่นั่ง พรรค Opposition Platform for Life (13.1%) ได้ 43 ที่นั่ง พรรค Batkivshchyna หรือ Fatherland (8.2%) ได้ 26 ที่นั่ง พรรค European Solidarity (8.1%) ได้ 25 ที่นั่ง พรรค Holos หรือ Voice (5.8%) ได้ 20 ที่นั่ง และอื่น ๆ (21.6%) ได้แก่ พรรค Opposition Bloc 6 ที่นั่ง พรรค Samopomich 1 ที่นั่ง พรรค Svoboda 1 ที่นั่ง พรรคอื่น 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระ 46 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะจัดขึ้นภายใน ก.ค.2567
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) มีศาลฎีกา (Supreme Court of Ukraine-SCU) ประกอบด้วยผู้พิพากษา 100 คน ประจำศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลพาณิชย์ และศาลปกครอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้พิพากษา 18 คน และศาลต่อต้านการทุจริตระดับสูง ประกอบด้วยผู้พิพากษา 39 คน ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อ ก.ย.2562 ขณะเดียวกัน ศาลพิเศษถูกยกเลิกหลังมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของยูเครน โดยประธานาธิบดีเซเลนสกีลงนามในกฤษฎีกาเมื่อ พ.ย.2562
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Batkivshchyna (Fatherland) ของนาง Yulia Tymoshenko อดีต นรม.หญิงคนแรกของยูเครน 2) พรรค European Solidarity ของอดีตประธานาธิบดีโปโรเชนโก 3) พรรค Holos (Voice) ของนาย Sviatoslav Vakarchuk 4) พรรค Opposition Bloc หรือ OB ของนาย Evgeny Murayev 5) พรรค Opposition Platform-For Life ของนาย Yuriy Boyko และนาย Vadim Rabinovich 6) พรรค Radical ของนาย Oleh Lyashko 7) พรรค Samopomich (Self Reliance) ของนาย Andriy Sadovyy 8) พรรค Servant of the People ของนาย Oleksandr Kornienko รองประธานคนที่ 1 รัฐสภายูเครน และ 9) พรรค Svoboda (Freedom) ของนาย Oleh Tyahnybok
เศรษฐกิจ ยูเครนมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงเป็นหนึ่งในประเทศ ผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% จากข้อมูลกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการเกษตรยูเครนระบุว่า การส่งออกธัญพืชห้วง ก.ค.2563-มิ.ย.2564 ลดลง 16.9% เหลือ 25.27 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวสาลี 12.38 ล้านตัน ข้าวโพด 8.34 ล้านตัน ข้าวบาร์เลย์ 3.75 ล้านตัน เนื่องจากเก็บเกี่ยวได้น้อยลงจากสภาพอากาศเลวร้าย ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งชาติยูเครน (National Bank of Ukraine-NBU) คาดการณ์ผลผลิตธัญพืชปี 2563 ลดลงจากที่คาดไว้ 72 ล้านตัน เหลือ 67 ล้านตัน โดยเมื่อปี 2562 ยูเครนส่งออกธัญพืช 57.2 ล้านตัน รวมถึงเป็นประเทศส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (organic product) ไปยังสหภาพยุโรปรายใหญ่เป็นอันดับ 2 จำนวน 3.24 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10%
ธนาคารโลก (World Bank-WB) คาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยูเครนปี 2564 ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโรค COVID-19 และปัญหานโยบายทางเศรษฐกิจ โดย WB ส่งเสริมยูเครนดำเนินการภายใต้กรอบการปฏิรูปประเทศห้วงปี 2565-2569 หรือ Country Partnership Framework (CPF) พร้อมให้คำปรึกษากับทั้งรัฐบาล สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสการพัฒนาประเทศ ตลอดจนแนวทางที่ WB สามารถช่วยเหลือเพิ่มเติม (เริ่มกระบวนการเมื่อ ก.ย.2564) ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจยูเครนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2563 อยู่ที่ 308,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 409,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.93% แม้หนี้สาธารณะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 54.3% (ปี 2562 อยู่ที่ 56.95%) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ระบุรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) ของยูเครนต่ำสุดในยุโรป
นอกจากนี้ ยูเครนมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมหนัก แม้ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะจากรัสเซีย ทำให้ยูเครนประสบปัญหา ความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเมื่อมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซีย เนื่องจากยูเครนพึ่งพารายได้จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพื่อส่งออกผ่านท่อส่งไปยุโรป (ยุโรปนำเข้าก๊าซรัสเซียผ่านท่อส่งยูเครนกว่า 40%) ก่อนหน้านี้ ยูเครนมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซียเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติทั้งการค้างชำระหนี้และราคาที่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้รัสเซียระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติให้ยูเครนหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 2549 และ ปี 2552 จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในยุโรป และมีความขัดแย้งกันกรณีก๊าซธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้นนับแต่ปี 2557 โดยยูเครนเป็นประเทศหน้าด่านระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป (EU) เฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งน้ำมันจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรป มีเมือง Odessa เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน และเป็นศูนย์กลางการเดินเรือหลักในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรบอลข่าน อย่างไรก็ดี รัสเซีย ยูเครน และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission-EC) มีแผนลงนามข้อตกลงความร่วมมือขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยุโรปผ่านยูเครน เริ่มบังคับใช้ใน 1 ม.ค.2563 ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรประยะยาว ทั้งนี้ ยูเครนอาจได้รับผลกระทบจากโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซีย (สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ ก.ย.2564) ที่รัสเซียประสงค์ใช้เป็นเส้นทางเพิ่มการส่งออกก๊าซรัสเซียไปยุโรปผ่านเยอรมนี ซึ่งจะลดการส่งผ่านยูเครน แม้เยอรมนีและสหรัฐฯ จะให้หลักประกันและกดดันรัสเซียให้ต่ออายุสัญญาส่งออกก๊าซไปยุโรปผ่านยูเครนหลังปี 2567 ก็ตาม
ปัญหาความไม่สงบในภาคตะวันออกของยูเครนและการขาดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ยูเครนประสบปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการสู้รบในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมการทหาร จนกระทบต่อการผลิตที่เคยมีสัดส่วนถึง 35% ของ GDP อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูเครนมีสัญญาณฟื้นตัว จากการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดย GDP เติบโต 2.5% เมื่อปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของปี 2559 แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ไม่สงบในภาคตะวันออก ที่จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมหลักของยูเครน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของยูเครนแทนที่รัสเซียหลังความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-ยูเครน (Deep and Comprehensive Free Trade Agreement-DCFTA) มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.2559 ขณะที่รัสเซียระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับยูเครน ตั้งแต่ 1 ม.ค.2559 ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อนุมัติเงินกู้รวม 17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ยูเครนเมื่อ มี.ค.2558 แบ่งเป็นเงินกู้งวดแรก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และงวดที่ 2 จำนวน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเมื่อ เม.ย.2560 IMF อนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมให้ยูเครนอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแลกกับการยื่นเงื่อนไขให้ยูเครนปฏิรูปเศรษฐกิจและปราบปรามการทุจริต และเมื่อ ก.ย.2562 ยูเครนเริ่มเจรจาโครงการกู้ยืม 3 ปี มูลค่า 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของ Extended Fund Facility (EFF) เพื่อใช้ในการพัฒนานโยบายการคลังและการเงิน รวมถึงมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ และส่งมอบเงินกู้ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2562
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : กริฟนา (Hryvnia-UAH)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 26.05 กริฟนา/ดอลลาร์สหรัฐ (12 พ.ย.2564)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 กริฟนา : 1.26 บาท (12 พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 516,683 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : ติดลบ 4.02%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,659 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 20.2 ล้านคน แบ่งเป็นภาคการเกษตร 5.8% ภาคอุตสาหกรรม 26.5% และภาคบริการ 67.8%
อัตราการว่างงาน : 9.48%
อัตราเงินเฟ้อ : 2.74%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 60,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมัน Rapeseed เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก สายไฟหุ้มฉนวน
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : รัสเซีย 9% จีน 8% เยอรมนี 6% โปแลนด์ 6% อิตาลี 5% ตุรกี 5%
มูลค่าการนำเข้า : 62,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รถยนต์ ยาบรรจุหีบห่อ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน 13% รัสเซีย 12% เยอรมนี 10% โปแลนด์ 9% เบลารุส 7%
ทรัพยากรธรรมชาติ : แร่เหล็ก ถ่านหิน แร่แมงกานิส ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เกลือ แร่ซัลเฟอร์ แร่แกรไฟต์ แร่ไทเทเนียม แมกนีเซียมซัลเฟต ดินขาว นิกเกิล ปรอท และป่าไม้
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ยูเครนออกกฎหมายเพิ่มกำลังพลจาก 184,000 นาย เป็นสูงสุด 250,000 นาย (เท่ากับระดับเมื่อปี 2556) เมื่อต้นปี 2558 การปฏิรูปกองทัพยังไม่คืบหน้าเนื่องจากขาดงบประมาณ และปัญหาการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภาคตะวันออกตั้งแต่ มี.ค.2557 จนถึงปัจจุบันยังมีเหตุปะทะและ โจมตีประปราย แม้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ ก.พ.2558 ยูเครนจัดตั้ง National Guard เพื่อร่วมปฏิบัติการใน ภาคตะวันออกเมื่อปี 2557 และประกาศหลักนิยมทางทหาร เมื่อ ก.ย.2558 โดยระบุว่า ภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคตมาจากรัสเซีย ซึ่งยูเครนควรปรับปรุงกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัยตามมาตรฐาน เนโตและสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยูเครนยังฝึกร่วมทางทหารกับต่างชาติบ่อยครั้งขึ้นหลังปี 2557 โดยเฉพาะกับเนโต อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ตกทอดจากสมัยอดีตสหภาพโซเวียต และบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีเป้าหมายเป็น 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ยูเครนเคยเป็นประเทศส่งออกอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2555 (มูลค่า 1,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากข้อมูลของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ระบุว่า ยูเครนส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับ 12 ของโลก ห้วงปี 2559-2563 (จากผู้ส่งออกรายใหญ่ 68 ประเทศ) โดยมีจีน รัสเซีย และไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ สำหรับประเทศส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ 5 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน
กำลังพลรวม : 209,000 นาย งบประมาณด้านการทหารปี 2563 ประมาณ 4,129 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปี 2562 ที่มีประมาณ 3,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีประมาณ 3,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทบ. 145,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.หลัก 854 คัน (รุ่น T-64, T-64BV/BM, T-72AV/B1, T-80BV, T-84 Oplot, T-80, T-72, T-64 และ T-55) ยานลาดตระเวน 548 คัน (รุ่น BRDM-2 และ BRM-1K) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ 1,137 คัน (รุ่น BMP-1, BMP-1AK, BMP-2, BMP-3, BTR-3DA, BTR-3E1 และ BTR-4E) ยานสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 338 คัน (รุ่น BTR-D, MT-LB, BTR-60, BTR-70 และ BTR-80) ปืนใหญ่ 1,770 กระบอก ระบบขีปนาวุธต่อต้าน ฮ.โจมตีแบบ Mi-24 Hind มี 35 เครื่อง ฮ.ขนส่งแบบ Mi-8 Hip มี 23 เครื่อง อาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ อาทิ 9K35 Strela-10 (SA-13 Gopher), 9K33 Osa-AKM (SA-8 Gecko) และขีปนาวุธ S-300V (SA-12 Gladiator) ระบบเรดาร์สอดแนม และอาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น
ทร. 11,000 นาย (รวมกองบิน ทร.และนาวิกโยธิน) มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ Odessa ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือฟริเกต 1 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 9 ลำ อาทิ เรือคอร์เวต นอกจากนี้ ยังมีเรือปล่อยทุ่นระเบิด 6 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 2 ลำ เรือระบายพล 1 ลำ และเรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 10 ลำ
ทอ. 45,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ บ.รบ 125 เครื่อง แยกเป็น บ.ขับไล่ 71 เครื่อง (แบบ MiG-29 Fulcrum 37 เครื่อง และแบบ Su-27 Flanker 34 เครื่อง) บ.ขับไล่/โจมตีภาคพื้นดินแบบ บ.Su-24M Fencer 14 เครื่อง บ.โจมตีแบบ Su-25 Frogfoot 31 เครื่อง บ.ลาดตระเวน/สอดแนม 12 เครื่อง (แบบ Su-24MR Fencer-E 9 เครื่อง และ An-30 Clank 3 เครื่อง) บ.ขนส่ง 30 เครื่อง และ บ.ฝึกแบบ L-39 Albatros 31 เครื่อง ฮ.แบบ Mi-9 14 เครื่อง ฮ.ขนส่งขนาดกลางแบบ Mi-8 Hip 30 เครื่อง และขนาดเบาแบบ Mi-2 Hoplite 2 เครื่อง โดยมีอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ เช่น แบบ S-300P/PS/PT (SA-10 Grumble) และแบบ 9K37M Buk-M1 (SA-11 Gadfly) อาวุธปล่อยอากาศสู่พื้น เช่น แบบ Kh-25 (AS-10 Karen) และ Kh-59 (AS-14 Kedge) อาวุธต่อต้านเรดาร์ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศด้วยอินฟราเรด และนำวิถีด้วย semi-active radar homing
ยูเครนสั่งถอนกำลังทหาร 21 นายที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจกับเนโตในอัฟกานิสถาน และอพยพออกจากอัฟกานิสถานห้วง 1-5 มิ.ย.2564 เป็นการยุติการมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังประจำการทหารในเซอร์เบีย (40 นาย) และร่วมปฏิบัติภารกิจกับสหประชาชาติในซูดาน (UNISFA) 6 นาย ในคองโก (MONUSCO) 259 นาย ในซูดานใต้ (UNMISS) 4 นาย ในมาลี (MINUSMA) 2 นาย ในไซปรัส (UNFICYP) 1 นาย และในเซอร์เบีย (UNMIK) 2 นาย นอกจากนี้ ยังส่งผู้สังเกตการณ์ในมอลโดวา 10 นาย
กองกำลังต่างประเทศในยูเครน หลังจากรัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อ มี.ค.2557 รัสเซียส่งทหารเข้าประจำการในไครเมีย 28,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีฐานทัพเรือ ที่เมืองเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นฐานทัพหลักในทะเลดำ ขณะที่มีทหารจากหลายประเทศร่วมในกองกำลังของ OSCE ในยูเครนประมาณ 800 นาย ได้แก่ แอลเบเนีย อาร์เมเนีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส เบลเยียม บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย มอลโดวา มอนเตเนโกร เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย เซอร์เบีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ทาจิกิสถาน ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน
การทูตและการเมือง ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครนเมื่อ 6 พ.ค.2535 สอท.ไทยประจำมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมยูเครน (ฝ่ายยูเครนได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ออท. ณ วอร์ซอ เป็น ออท.ไทยประจำยูเครนแล้ว โดยหน้าที่ในการดูแลของ สอท.ไทยประจำมอสโก จะสิ้นสุดลงเมื่อ ออท. ณ วอร์ซอ ยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง) และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เคียฟ ส่วนยูเครนมี สอท.ประจำกรุงเทพฯ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพฯ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยไทยและยูเครนมีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเครน (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JC) ลงนามเมื่อ 3 พ.ค.2545 เป็นกลไกการพัฒนาความสัมพันธ์
นายพาฟโล คลิมคิน (Pavlo Klimkin) รมว.กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เยือนไทย ระหว่าง 4-5 มิ.ย.2560 ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยกับยูเครน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกระหว่างทั้งสองประเทศในคดีอาญา และความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับยูเครน อีกทั้งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านการแลกเปลี่ยน การเยือนของคณะผู้แทนทางการค้าและนักธุรกิจ และการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee)
สำหรับวิกฤตยูเครน ไทยสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเคารพหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน อย่างไรก็ตาม การที่ยูเครนยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงมีคำแนะนำการเดินทางไปยูเครน ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย (Autonomous Republic of Crimea) ภูมิภาค Lugansk และภูมิภาค Donetsk 2) ปฏิบัติตามกฎหมายการเดินทางเข้าพื้นที่ที่ควบคุมไม่ได้เป็นการชั่วคราว (temporarily un-controlled areas) และเข้า-ออกโดยใช้จุดผ่านแดนที่ได้รับอนุญาตโดยรัฐบาลยูเครนเท่านั้น 3) รายงานตัวกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เคียฟในการเดินทางเข้า-ออกยูเครน 4) หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับฝูงชนหมู่มากหากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง 5) เลือกเดินทางไปยังสถานที่ที่ได้รับคำแนะนำจากคู่มือนำเที่ยวที่เป็นที่นิยมในการเดินทางในฐานะนักท่องเที่ยว 6) ติดตามการรายงานข่าวการเมืองและข่าวสารทั่วไปในยูเครนเป็นประจำ และ 7) ทำประกันการเดินทางท่องเที่ยวและสุขภาพที่ครอบคลุมก่อน
เศรษฐกิจ ไทยและยูเครนวางแผนจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้ายูเครน-ไทย (Joint Trade Commission and the Ukraine-Thailand Business Forum) ครั้งแรก ภายใน ธ.ค.2563 ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-ยูเครน เมื่อปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเครนปี 2562 อยู่ที่ 555.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 355.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งยูเครนได้เปรียบดุลการค้า 347.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 155.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ แทรกเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ธัญพืช ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน อาทิ ธัญพืช ไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช กากและเศษจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ การแพทย์และศัลยกรรม ผลิตภัณฑ์จากแร่ การลงทุนไม่มีข้อมูลว่าไทยเข้าไปลงทุนในยูเครน แต่มีนิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนในไทย 150 รายที่มีการถือหุ้นของชาวยูเครน สถิตินักท่องเที่ยวยูเครนในไทยห้วงปี 2562 มีจำนวน 22,619 คน เพิ่มขึ้น 4.72% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่นักท่องเที่ยวยูเครนในไทยเมื่อปี 2560 มีจำนวน 60,794 คน (เพิ่มขึ้น 12%) สร้างรายได้ 4,505.37 ล้านบาท สำหรับคนไทยในยูเครนมีจำนวน 213 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานและผู้สมรสกับชาวยูเครน มีร้านอาหารไทย 1 ร้าน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับยูเครน ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครน (30 เม.ย.2541) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-ยูเครน (3 พ.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่าง กต.ไทย-ยูเครน (10 มี.ค.2547) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (10 มี.ค.2547) อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (10 มี.ค.2547) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไทยและหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยูเครน เกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวของกับการฟอกเงิน (19 ก.ค.2548) ข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก BTR-3E1 จำนวน 96 คันจากยูเครน (ปี 2550) มูลค่า 129.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยรับมอบ 2 คันแรกแล้วเมื่อ 17 ก.ย.2553 และยูเครนกำหนดส่งมอบทั้งหมดภายในปี 2558 และข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot จำนวน 49 คันจากยูเครน (1 ก.ย.2554) มูลค่าประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยูเครนส่งรถถังชุดแรกให้ไทย 5 คันเมื่อ ก.พ.2557 ชุดที่ 2 อีก 5 คัน เมื่อ มิ.ย.2558 ชุดที่ 3 จำนวน 10 คัน เมื่อ พ.ค.2559 ชุดที่ 4 จำนวน 5 คัน เมื่อ พ.ย.2559 ชุดที่ 5 จำนวน 5 คัน เมื่อ มี.ค.2560 และชุดที่ 6 จำนวน 5 คันเมื่อ มิ.ย.2560 โดยเมื่อ มี.ค. 2561 ยูเครนส่งมอบรถถังที่เหลือทั้งหมดให้ไทย นอกจากนี้ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติยูเครน (National Security and Defense Council of Ukraine-NSDCU) ระบุเมื่อ 15 มิ.ย.2561 ว่า ยูเครนและไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทหารร่วมกัน เพื่อสนับสนุนภารกิจบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องใหม่ (Maintenance, Repair and Overhaul-MRO) รวมถึงความเป็นไปได้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกันในไทย
ความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน
การทูตและการเมือง ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครนเมื่อ 6 พ.ค.2535 สอท.ไทยประจำมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมยูเครน (ฝ่ายยูเครนได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ออท. ณ วอร์ซอ เป็น ออท.ไทยประจำยูเครนแล้ว โดยหน้าที่ในการดูแลของ สอท.ไทยประจำมอสโก จะสิ้นสุดลงเมื่อ ออท. ณ วอร์ซอ ยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง) และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เคียฟ ส่วนยูเครนมี สอท.ประจำกรุงเทพฯ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพฯ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยไทยและยูเครนมีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเครน (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JC) ลงนามเมื่อ 3 พ.ค.2545 เป็นกลไกการพัฒนาความสัมพันธ์ ทั้งนี้ เมื่อ 30 พ.ค.2564 นายอันดรีย์ เบชตา (Andrii Beshta) ออท.ยูเครนประจำกรุงเทพฯ เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ขณะปฏิบัติภารกิจประสานความร่วมมือในพื้นที่สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวยูเครนที่จะเดินทางมาไทยหลังสถานการณ์โรค COVID-19 โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษเมื่อ 5 มิ.ย.2564 ปัจจุบันนาย Pavlo Orel อุปทูต/ที่ปรึกษา ปฏิบัติหน้าที่แทน
นายพาฟโล คลิมคิน (Pavlo Klimkin) รมว.กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เยือนไทย ระหว่าง 4-5 มิ.ย.2560 ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยกับยูเครน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกระหว่างทั้งสองประเทศในคดีอาญา และความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับยูเครน อีกทั้งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านการแลกเปลี่ยน การเยือนของคณะผู้แทนทางการค้าและนักธุรกิจ และการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee)
เมื่อปี 2562 นางศันสนีย สหัสสะรังษี ออท. ณ วอร์ซอ ในฐานะ ออท.ไทยประจำยูเครน พร้อมคณะ เดินทางไปกรุงเคียฟ เพื่อเข้าร่วมประชุม Political Consultations ไทย-ยูเครน ครั้งที่ 2 ที่มีนาย ศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายในรอบ 10 ปี เพื่อหารือถึงแนวทางในการกระชับความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางประสานความร่วมมือของทั้งสองประเทศในกรอบเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระดับบุคคล รวมถึงการเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนาย Sergiy Kyslytsya รมช.กระทรวงการต่างประเทศยูเครน นอกจากนี้ ออท.ศันสนียร่วมคณะผู้แทนไทยไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอากาศยานของบริษัท Antonov ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องบิน Mrija ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ผลิตอากาศยานสำหรับพลเรือนและทางทหารรายสำคัญของยูเครน
สำหรับวิกฤตยูเครน ไทยสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเคารพหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน อย่างไรก็ตาม การที่ยูเครนยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงมีคำแนะนำการเดินทางไปยูเครน ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย (Autonomous Republic of Crimea) ภูมิภาค Lugansk และภูมิภาค Donetsk 2) ปฏิบัติตามกฎหมายการเดินทางเข้าพื้นที่ที่ควบคุมไม่ได้เป็นการชั่วคราว (temporarily un-controlled areas) และเข้า-ออกโดยใช้จุดผ่านแดนที่ได้รับอนุญาตโดยรัฐบาลยูเครนเท่านั้น 3) รายงานตัวกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เคียฟ ในการเดินทางเข้า-ออกยูเครน 4) หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับฝูงชนหมู่มากหากเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง 5) เลือกเดินทางไปยังสถานที่ที่ได้รับคำแนะนำจากคู่มือนำเที่ยวที่เป็นที่นิยมในการเดินทางในฐานะนักท่องเที่ยว 6) ติดตามการรายงานข่าวการเมืองและข่าวสารทั่วไปในยูเครนเป็นประจำ และ 7) ทำประกันการเดินทางท่องเที่ยวและสุขภาพที่ครอบคลุมก่อน
เศรษฐกิจ ไทยและยูเครนวางแผนจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้ายูเครน-ไทย (Joint Trade Commission and the Ukraine-Thailand Business Forum) ครั้งแรก ภายในปี 2564 (เลื่อนจากปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19) ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-ยูเครน เมื่อปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเครนปี 2563 อยู่ที่ 307.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 555.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2561 อยู่ที่ 355.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยส่งออก 99.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 208.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยูเครนได้เปรียบดุลการค้า 109.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562 ยูเครนได้เปรียบดุลการค้า 347.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเมื่อปี 2561 ซึ่งได้เปรียบ 155.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ แทรกเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ธัญพืช ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน อาทิ ธัญพืช ไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช กากและเศษจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ การแพทย์และศัลยกรรม ผลิตภัณฑ์จากแร่ ด้านการลงทุน ไม่มีข้อมูลว่าไทยเข้าไปลงทุนในยูเครน แต่มีนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในไทย 150 รายที่ชาวยูเครนถือหุ้น สถิตินักท่องเที่ยวยูเครนในไทยห้วงปี 2562 มีจำนวน 22,619 คน เพิ่มขึ้น 4.72% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่นักท่องเที่ยวยูเครนในไทยเมื่อปี 2560 มีจำนวน 60,794 คน (เพิ่มขึ้น 12%) สร้างรายได้ 4,505.37 ล้านบาท สำหรับคนไทยในยูเครนมีจำนวน 213 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานและผู้สมรสกับชาวยูเครน มีร้านอาหารไทย 1 ร้าน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับยูเครน ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครน (30 เม.ย.2541) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-ยูเครน (3 พ.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่าง กต.ไทย-ยูเครน (10 มี.ค.2547) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (10 มี.ค.2547) อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (10 มี.ค.2547) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไทยและหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยูเครนเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวของกับการฟอกเงิน (19 ก.ค.2548) ข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก BTR-3E1 จำนวน 96 คันจากยูเครน (ปี 2550) มูลค่า 129.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยรับมอบ 2 คันแรกแล้วเมื่อ 17 ก.ย.2553 และยูเครนกำหนดส่งมอบทั้งหมดภายในปี 2558 และข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot จำนวน 49 คันจากยูเครน (1 ก.ย.2554) มูลค่าประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยูเครนส่งรถถังชุดแรกให้ไทย 5 คันเมื่อ ก.พ.2557 ชุดที่ 2 อีก 5 คัน เมื่อ มิ.ย.2558 ชุดที่ 3 จำนวน 10 คัน เมื่อ พ.ค.2559 ชุดที่ 4 จำนวน 5 คัน เมื่อ พ.ย.2559 ชุดที่ 5 จำนวน 5 คัน เมื่อ มี.ค.2560 และชุดที่ 6 จำนวน 5 คันเมื่อ มิ.ย.2560 โดยเมื่อ มี.ค. 2561 ยูเครนส่งมอบรถถังที่เหลือทั้งหมดให้ไทย นอกจากนี้ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติยูเครน (National Security and Defense Council of Ukraine-NSDCU) ระบุเมื่อ 15 มิ.ย.2561 ว่า ยูเครนและไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทหารร่วมกัน เพื่อสนับสนุนภารกิจบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องใหม่ (Maintenance, Repair and Overhaul-MRO) รวมถึงความเป็นไปได้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกันในไทย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) ปัญหาความไม่สงบในภาคตะวันออกของยูเครน โดยนานาประเทศยังพยายามส่งเสริมการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่ม Normandy format หรือ Normandy contact group หรือ Normandy Four (จัดตั้งเมื่อ 6 มิ.ย.2557) ประกอบด้วย เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศส และยูเครน) รวมทั้งมีการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงตั้งแต่ ก.พ.2558
2) ผลกระทบจากการที่ยูเครนเป็นรัฐกันชน ซึ่งเป็นพื้นที่แข่งขันอิทธิพลระหว่างยุโรปกับรัสเซีย และเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรป ทำให้ยูเครนต้องส่งเสริมความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS) เพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามจากรัสเซีย
3) ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ทั้งจากการผนวกไครเมียของรัสเซียและบริเวณทะเลอาซอฟ พื้นที่ขัดแย้งแห่งใหม่ใกล้ช่องแคบเคิร์ช และความพยายามขยายความร่วมมือกับประเทศตะวันตกของยูเครน โดยเฉพาะการที่ยูเครนมุ่งเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และเนโต ซึ่งรัสเซียคัดค้าน ขณะที่การซ้อมรบและการเพิ่มกำลังทหารและอาวุธในประเทศสมาชิกเนโตที่มีพรมแดนติดกับยูเครน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุปะทะหรือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซีย อาจกระทบต่อความมั่นคงของยูเครน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซีย ที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ประเทศหากรัสเซียลดการพึ่งพาจากการเป็นประเทศทางผ่าน
4) สถานการณ์ในประเทศ ทั้งการปฏิรูปประเทศของยูเครน เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การจัดการกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และเสถียรภาพทางการเมืองในยูเครน