สหรัฐอเมริกา
United States of America
สหรัฐอเมริกา
United States of America
เมืองหลวง วอชิงตัน ดี.ซี.
ที่ตั้ง อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 25-49 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 67-124 องศาตะวันตก มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากสหพันธรัฐรัสเซียและแคนาดา (ใหญ่กว่าไทยเกือบ 18-19 เท่า) มีพื้นที่ 9,631,420 ตร.กม. ชายฝั่งทะเลยาว 19,924 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับแคนาดา
ทิศใต้ ติดกับเม็กซิโก
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิประเทศ ภาคตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนในรัฐอะแลสกา รัฐเนวาดา และรัฐแคลิฟอร์เนีย ภาคกลางเป็นที่ราบระหว่างเทือกเขาสูงทางตะวันตกกับที่ราบสูงทางตะวันออกภาคเหนือ มีอาณาบริเวณกว้างขวางจากชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกไปจนถึงชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกภาคตะวันออก เป็นเขตหินเก่ามีเทือกเขาและที่ราบสูงจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบนิวฟาวแลนด์และลาบราดอร์ และเทือกเขาแอพพาลาเชียน
วันชาติ 4 ก.ค. (ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 4 ก.ค.2319)
นายโจเซฟ โรบิเนต ไบเดน จูเนียร์
Joseph Robinette Biden Jr
(ประธานาธิบดีคนที่ 46)
ประชากร ประมาณ 333.6 ล้านคน (พ.ย. 2564) มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย ประกอบด้วย คนผิวขาว 57.8% คนเชื้อสายลาติน 18.7% คนเชื้อสายแอฟริกา 12.1% และอื่น ๆ 11.4%
รัฐที่มีประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย เทกซัส ฟลอริดา นิวยอร์ก และเพนซิลเวเนีย
การก่อตั้งประเทศ เดิมเป็นดินแดนของชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนและฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม และเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรที่เข้ามาขยายอิทธิพลในทวีปอเมริกาและ ทำสงครามแย่งชิงอาณานิคมกับฝรั่งเศสและสเปนจนเกิดสงคราม 7 ปี (ระหว่างปี 2299-2306) ต่อมาได้แยกตัวออกจากการปกครองของสหราชอาณาจักร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างอาณานิคมกับ
สหราชอาณาจักร จนนำไปสู่การปฏิวัติและประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร โดยนายจอร์จ วอชิงตันเป็นผู้บัญชาการสู้รบและประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2319 ซึ่งต่อมานายจอร์จ วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ เมื่อ 4 มี.ค.2332
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐตั้งแต่ 4 มี.ค.2332 และจากผลการเลือกตั้งเมื่อ
3 พ.ย.2563 ประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนปัจจุบันคือ นายโจเซฟ ไบเดน สังกัดพรรคเดโมแครต ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ 20 ม.ค.2564
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 538 คน ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของ พ.ย. ทุก 4 ปี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย มีอำนาจในการร่างรัฐบัญญัติเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ยับยั้งรัฐบัญญัติ ที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ออกคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ทำหน้าที่ Commander-in-chief แต่งตั้งผู้พิพากษา ออท. และตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ระดับรองรัฐมนตรีขึ้นไป
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเป็นระบบ 2 สภา 1) วุฒิสภามีสมาชิก 100 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงรัฐละ 2 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีทุก 2 ปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวน 1 ใน 3 วุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอขอแต่งตั้ง รวมทั้ง ครม. และให้สัตยาบันสนธิสัญญา 2) สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละรัฐ เช่น ประชากร 575,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ปัจจุบัน มี ส.ส. 435 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ การกล่าวโทษเพื่อถอดถอนเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหารตุลาการและวุฒิสภา
ฝ่ายตุลาการ : โครงสร้างศาลสหรัฐฯ เป็นระบบศาลคู่คือ ศาลของรัฐบาลกลางและศาลของรัฐศาลของรัฐบาลกลาง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ศาลชั้นต้นหรือประจำเขต ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาหรือศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะล้มเลิกกฎหมายใด ๆ และการกระทำของฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลของรัฐบาลกลางมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายและสนธิสัญญาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายทะเล คดีที่มีผลกระทบถึงเจ้าหน้าที่ทางการทูตของต่างประเทศในสหรัฐฯ ความขัดแย้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นคู่คดี และความขัดแย้งระหว่างรัฐหรือประชาชนของรัฐกับต่างประเทศ หรือประชาชนของรัฐต่างประเทศ ส่วนศาลของรัฐจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ แบ่งเป็น 3 ระดับ เช่นเดียวกับศาลของรัฐบาลกลางคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุดของรัฐ แต่อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานจะเป็นเรื่องภายในแต่ละรัฐ
องค์กรอิสระ : คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการกำกับการทำงานของธนาคารด้านอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการด้านการป้องกันแก้ไขข้อขัดแย้งแรงงาน และคณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์
พรรคการเมืองสำคัญ : ระบบหลายพรรค แต่มีพรรคใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ผลัดเปลี่ยนกันบริหารประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐ ส่วนพรรคการเมืองอื่นไม่มีบทบาททางการเมืองมากนัก
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด รายได้ส่วนใหญ่เมื่อไตรมาส 2/2564 มาจากภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร 25.4% บริการด้านสารสนเทศ เช่น สื่อออนไลน์ โทรคมนาคม ภาพยนตร์ และดนตรี 19.4% บริการที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กฎหมาย คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 16.9% บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ 9.4% และบริการด้านสาธารณสุข 6.3%ขณะที่อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ปศุสัตว์ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง ธัญพืช สัตว์ปีก และสุกร ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แร่ธาตุ เหล็ก ถ่านหิน ทองคำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากเมื่อปี 2563 เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโรค COVID-19 ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเร่งฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ตั้งแต่ 8 พ.ย.2564 อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ประสบปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณมหาศาล และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19
สกุลเงิน : ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน 32.78 บาท : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 20.89 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -3.4% (ปี 2563)
หนี้สาธารณะ : 28.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
ดุลงบประมาณ : ขาดดุล 2.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 616,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 64,530 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : 4.6% (ต.ค.2564)
อัตราเงินเฟ้อ : 1.2% (ปี 2563)
ดุลการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ : ขาดดุล 676,684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ : 2.13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้าส่งออก : ยารักษาโรคเครื่องจักรอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ น้ำมันดิบ รถยนต์โดยสาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม อากาศยานพลเรือนและเครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุพลาสติก อุปกรณ์โทรคมนาคม และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์
มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ : 2.81 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้านำเข้า : ยารักษาโรค รถยนต์โดยสาร โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าในครัวเรือน ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ น้ำมันดิบ เครื่องนุ่งห่ม เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ สินค้าประมง และผลไม้
คู่ค้าสำคัญ : จีน เม็กซิโก เวียดนาม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอิตาลี
การทหาร สหรัฐฯ มีศักยภาพด้านการทหารอันดับ 1 ของโลก กองทัพสหรัฐฯ ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. หน่วยนาวิกโยธิน หน่วยยามฝั่ง และกองกำลังอวกาศ (ตั้งขึ้นเมื่อ ธ.ค.2562) จัดกำลังในรูปแบบกองบัญชาการร่วมตามภารกิจและสภาพภูมิรัฐศาสตร์ 10 แห่ง ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคอาร์กติกมากขึ้น ประธานาธิบดีเป็น Commander-in-chief รมว.กห. เป็นผู้บัญชาการฝ่าย พลเรือน รองจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ
งบประมาณด้านการป้องกันประเทศ : 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปีงบประมาณ 2564) หรือ 11.1% ของงบประมาณทั้งหมด แบ่งเป็น 1) งบประมาณ กห. สหรัฐฯ 879,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการปฏิบัติการซ่อมบำรุง ตอบแทนบุคลากร และจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 2) งบประมาณสนับสนุนการป้องกันประเทศ 116,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญทหาร การรักษาความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย การสอบสวนและบังคับใช้กฎหมาย และการรับมือกับโรค COVID-19 และ 3) งบประมาณบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ 31,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำลังพลรวม 1,388,100 นาย : ทบ. 485,400 นาย ทร. 346,500 นาย ทอ. 331,400 นาย
หน่วยนาวิกโยธิน 180,950 นาย หน่วยยามฝั่ง 41,450 นาย กองกำลังอวกาศ 2,400 นาย กำลังพลสำรอง844,950 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : ทบ. ได้แก่ ยานเกราะโจมตี MBT2,509 คัน ASLT134 คัน RECCE 1,745 คัน IFV 2,931 คัน APC 10,549 คัน และ AUV 16,516 คัน ยานเกราะทหารช่าง AEV 531 คัน ARV 1,195 คัน VLB 341 คัน MW 3 คัน และ NBC 234 คัน ระบบต่อต้านรถถังและโครงสร้างพื้นฐาน MSL 1,133 เครื่อง ปืนใหญ่ SP 1,023 กระบอก TOWED 1,339 กระบอก MRL 600 กระบอก และ MOR 2,507 กระบอก ระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่พื้น ATACMS 168 เครื่อง ยานสะเทินน้ำสะเทินบก LSL 7 ลำ LCT 34 ลำ และ LCM 36 ลำ บ. ISR 47 เครื่อง SIGINT 2 เครื่อง ELINT 9 เครื่อง TPT 156 เครื่อง และ TRG 4 เครื่อง ฮ. ATK 714 เครื่อง SAR 294 เครื่อง TPT 2,907 เครื่อง และ TRG 20 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ CISR 180 เครื่อง และ ISR 236 เครื่อง ระบบป้องกันทางอากาศ SAM 1,183 เครื่อง และระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD 42 เครื่อง
ทอ. ได้แก่ ระบบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่พื้น ICBM ติดหัวรบนิวเคลียร์ LGM-30G Minuteman III400 เครื่อง บ.รบBBR 139 เครื่อง FTR 261 เครื่อง FGA 1,000 เครื่อง ATK 143 เครื่อง CSAR 16 เครื่อง EW 13 เครื่อง ISR 40 เครื่อง ELINT 22 เครื่อง AEW&C 31 เครื่อง C2 4 เครื่อง TKR 156 เครื่อง TKR/TPT 83 เครื่อง TPT 333 เครื่อง และ TRG 1,126 เครื่อง ฮ. CSAR 76 เครื่อง และ TPT 62 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ CISR 210 เครื่อง และ ISR 51 เครื่อง ระบบป้องกันทางอากาศ SAM ระบบยิงขีปนาวุธจากอากาศ AAM SARH ASM AShM ALCM ARM EW ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU และนำวิถีด้วย INS/GPS
ทร. ได้แก่ เรือดำน้ำยุทธศาสตร์ SSBN 14 ลำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ UGM-133A Trident D-5/D-5LE20 ลูก และตอร์ปิโด 4 ลูก เรือดำน้ำยุทธวิธี SSGN 51 ลำ และ SSN 3 ลำ เรือบรรทุก บ. CVN 11 ลำ เรือลาดตระเวน CGHM 24 ลำ เรือพิฆาต DDGHM 40 ลำ และ DDGM 28 ลำ เรือฟริเกต FFGHM 1 ลำ และ FFHM 20 ลำ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง PCFG 10 ลำ PCF 3 ลำ PBF 64 ลำ และ PBR 6 ลำ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด MCO 8 ลำเรือบัญชาการ LCC 2 ลำ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก LHA 2 ลำLHD 7 ลำ LPD 11 ลำ และ LSD 12 ลำ เรือยกพลขึ้นบก LCU 32 ลำ LCM 8 ลำ LCP 33 ลำ และ LCAC 68 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง AFDL 1 ลำ AGOR 6 ลำ ARD 2 ลำ AX 1 ลำ และ ESB 2 ลำ
หน่วยนาวิกโยธิน ได้แก่ ยานเกราะโจมตี IFV 488 คัน APC 207 คัน AAV 1,242 คัน และ AUV 4,929 ยานเกราะทหารช่าง AEV 42 คัน ARV 105 คัน MW 38 คัน และ VLB 30 คัน ระบบต่อต้านรถถังและโครงสร้างพื้นฐาน MSL 106 เครื่อง ปืนใหญ่ TOWED 812 กระบอก MRL 40 กระบอก และ MOR 600 กระบอก อากาศยานไร้คนขับ ISR 100 เครื่อง และระบบป้องกันทางอากาศ SAM
หน่วยยามฝั่ง ได้แก่ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง PSOH 24 ลำ PCO 52 ลำ PCC 19 ลำ PBF 174 ลำ และ PBI 73 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง ABU 52 ลำ AGB 12 ลำ และ AXS 1 ลำ บ.SAR 42 เครื่อง TPT 16 เครื่อง และ ฮ. SAR 146 เครื่อง
กองกำลังอวกาศ ได้แก่ ดาวเทียมสื่อสาร 46 ดวง ดาวเทียมนำทาง 31 ดวง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา 6 ดวง ดาวเทียม ISR 17 ดวง ดาวเทียมข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์และข่าวกรองทางสัญญาณ (ELINT/SIGINT) 27 ดวง ดาวเทียมเฝ้าระวังทางอวกาศ 6 ดวง ดาวเทียมเตือนภัย 8 ดวง และระบบต่อต้านการสื่อสารทางอวกาศ (Counter Communications System-CCS)
ปัญหาด้านความมั่นคง สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้แก่ จีน และรัสเซีย ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงประจำปี 2560 ยุทธศาสตร์ด้านการทหารประจำปี 2561 และการทบทวนยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ประจำปี 2561 ของสหรัฐฯ ที่มุ่งสกัดกั้นอิทธิพลของจีนและรัสเซียเป็นอันดับแรกรองลงมา ได้แก่ ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ อิหร่าน และการก่อการร้าย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ กับภัยคุกคามจากการแทรกแซงจากต่างชาติ การต่อต้านข่าวกรอง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามไซเบอร์ ภัยคุกคามด้านอวกาศ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ปัญหาผู้อพยพ โรคระบาด และความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับมาตุภูมิสหรัฐฯ เผชิญปัญหาการก่อการร้ายโดยกลุ่มนิยมแนวทางรุนแรงในประเทศ ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองสังคม และเชื้อชาติหรือได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มก่อการร้ายสากล การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัญหาอาชญากรรม เหตุกราดยิง และปัญหา fake news
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยลงนามในวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย (Joint Vision Statement 2020 for the U.S.-Thai Defense Alliance) เพื่อขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วน การดำรงบทบาท ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน การเป็นผู้นำ และส่งเสริมกลไกความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เยือนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นไปโดยราบรื่นมากกว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การเดินหน้าสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงและการค้าในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันจะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศไปในเชิงบวกมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ไทยมีความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารกับสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ เล็งเห็นศักยภาพของไทยที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้านการแพทย์มากขึ้นในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 อีกทั้งสหรัฐฯ ใช้การทูตวัคซีนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับไทย โดยบริจาควัคซีนให้กับไทยต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กับไทยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานระหว่างกัน เพื่อขยายกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ กับไทย เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาด น้ำมันและก๊าซ และพลังงานทางเลือก
ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ได้แก่ ประเด็นเศรษฐกิจและการค้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีเป้าหมายลดการขาดดุลการค้ากับไทย สหรัฐฯ จึงใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อกดดันไทยให้ปรับนโยบายการค้าที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference-GSP) ต่อสินค้าไทยบางรายการ การวิจารณ์ไทยว่า มีปัญหาสิทธิแรงงาน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้แรงงานเด็ก เพื่อกดดันไทยให้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย และเปิดตลาดให้สินค้าและการลงทุนจากสหรัฐฯ
การดำเนินนโยบายต่อภูมิภาคที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน การกดดันจีนในทุกมิติ และการแก้ไขสถานการณ์ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในเมียนมา และภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทำให้สหรัฐฯ จะขอความร่วมมือจากไทยในเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายกดดันจีนมากขึ้น ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และสิทธิมนุษยชน ก็อาจส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม จากการที่สหรัฐฯ จะติดตามความสัมพันธ์ของไทยกับจีน และกดดันไทยให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 3 ของไทยมูลค่า 49,189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 11 ของสหรัฐฯ ปริมาณการค้าเมื่อปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่า34,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 14,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ 19,574 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยุทธปัจจัยน้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า พืช และผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม
ข้อตกลงสำคัญ : หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.1856 (ลงนามเมื่อ 20 มี.ค.2376) หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าและพิกัด ค.ศ.1856 (29 พ.ค.2399) สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ(13 พ.ย.2480) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค (19 ก.ย.2493) สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหรัฐฯ (29 พ.ค.2509) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ (28 ก.ย.2514) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (2 มิ.ย.2520) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (7 ธ.ค.2522) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (29 ต.ค.2525) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (14 ธ.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (13 เม.ย.2527) สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา (19 มี.ค.2529) เทศบาลนครเชียงใหม่-เมืองซานราฟาเอล รัฐแคลิฟอร์เนีย (13 มี.ค.2533) ปฏิญญาแห่งมิตรภาพเทศบาลนครอุดรธานี-เมืองรีโน รัฐเนวาดา (18 ธ.ค.2535) ประกาศสัมพันธภาพเทศบาลตำบลแหลมฉบัง-เมืองคาร์สันซิตี้ รัฐเนวาดา (26 ก.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (8 พ.ค.2539) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ (29 พ.ย.2539) ความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องที่ลงนามแล้ว ได้แก่เทศบาลเมืองภูเก็ต-เทศบาลนครลาสเวกัส (10 ก.พ.2540) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (30 ก.ย.2541) การสถาปนาความสัมพันธ์เทศบาลเมืองลำพูน-เทศบาลเมืองโอรินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย (14 ธ.ค.2541) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (14 ธ.ค.2544) ข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุน (23 ต.ค.2545) บันทึกความตั้งใจตามโครงการติดตั้งศูนย์ข้อมูลบุคคล (11 มี.ค.2547) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ (6 ส.ค.2556) และวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย (พ.ย.2562)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19ด้วยการออกมาตรการบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน และภายใน ม.ค.2565 จะลงโทษด้วยการเรียกเก็บค่าปรับ ผู้ที่ฝ่าฝืน ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรค COVID-19 การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำให้ห่วงโซ่อุปทานกลับสู่ภาวะปกติ ทนต่อวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (resilient)
ในทางการเมือง สหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่าย และการขยายเพดานหนี้สาธารณะในธ.ค.2564 เพื่อป้องกันปัญหาการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐ และการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลนอกจากนี้ สหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งกลางสมัยในปลายปี 2565 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะบ่งชี้ความนิยมต่อพรรคการเมืองและทิศทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี
อีกครั้งในปี 2567
ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อที่ขยายตัว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตั้งแต่ พ.ย.2564 และอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในกลางปี 2565 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง สหรัฐฯ เพิ่มการเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายจากกลุ่มนิยมแนวทางรุนแรงในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งห้วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนครบรอบ 1 ปีเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ใน 6 ม.ค.2565 และอาจติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องในช่วงที่สหรัฐฯ จัดการเลือกตั้งกลางสมัยในปลายปี 2565 เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสก่อเหตุรุนแรง
ด้านนโยบายต่างประเทศ สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการแข่งขันอิทธิพลกับจีนและรัสเซีย โดยใช้การกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน การเสริมสร้างภาพลักษณ์มหาอำนาจของโลกด้วยนโยบายการทูตวัคซีน และใช้เวทีระหว่างประเทศแสดงบทบาทการเป็นผู้กำหนดระเบียบโลก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันของมหาอำนาจยังคงเข้มข้น อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ จะแสวงหาความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับจีนและรัสเซีย เช่น การแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ คาดว่าผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนต่างประเทศมากขึ้นในปี 2565 หลังจากสถานการณ์โรค COVID-19 คลี่คลาย เพื่อกระชับความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ
สหรัฐฯ จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาอิทธิพลของสหรัฐฯ และสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยใช้เครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนหลักด้านความมั่นคง
ทั้งในและนอกภูมิภาค ได้แก่ กลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย) AUKUS (สหรัฐฯ
สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย) ส่วนในเอเชีย ตอ.ต. สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับอาเซียนให้มีบทบาทเป็นแกนกลางความมั่นคงหลักของภูมิภาค โดยส่งเสริมบทบาทนำของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับเวียดนามและสิงคโปร์มากขึ้น เพื่อส่งเสริมประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงร่วมกัน ตลอดจนเน้นย้ำการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และรับมือการขยายอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นมากขึ้น สำหรับกรณีเมียนมา จะทำให้สหรัฐฯ ยังคงสร้างความเกี่ยวพันกับภูมิภาคโดยใช้เครื่องมือทั้งทางการทูตและการกดดันเมียนมา รวมทั้งโน้มน้าวประเทศ
เพื่อนบ้านของเมียนมา และพันธมิตรสหรัฐฯ ในภูมิภาคร่วมมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา