
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Flag_of_the_Association_of_Southeast_Asian_Nations
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน ย่อมจะส่งผลต่ออาเซียนในภาพรวม เฉพาะอย่างยิ่ง ภาพลักษณ์การเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของการมีประชาธิปไตยตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน รวมถึงหลักการที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ซึ่งในประเด็นหลังนี้อาจทำให้อาเซียนถูกกดดันจากประชาคมโลก หากเกิดกรณีสถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลงจนส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในฐานะพลเมือง
นอกจากนี้ หากชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของเมียนมา มากกว่าการคำนึงถึงข้อห่วงกังวลเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อาจทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนนั้น ๆ ถูกมองว่าสนับสนุนการยึดอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

ที่มา : https://time.com/5935193/myanmar-coup-crackdown-democracy/
ทั้งนี้ ท่าทีของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ.64 เป็นท่าทีเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ ต่างจากเดิมที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนมักใช้เวลา เพื่อรอดูสถานการณ์รวมถึงขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกที่เหลือ เพื่อออกเป็นแถลงการณ์ในภายหลัง โดยแถลงการณ์สำนักเลขาธิการอาเซียนได้วิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้เมียนมาเร่งหารือเพื่อการประนีประนอมโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแถลงการณ์ของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนมีลักษณะเพียงการแสดงท่าทีห่วงกังวลของอาเซียนต่อเมียนมาเท่านั้น มิได้มีเนื้อหารุนแรงหรือบีบบังคับให้เมียนมาต้องเร่งยุติปัญหาโดยเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในระหว่างกัน
ประเด็นสถานการณ์ในเมียนมาอาจเป็นอุปสรรคสำหรับบรูไนในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2564 เนื่องจากประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค เช่น สหรัฐฯ อาจใช้โอกาสนี้ในการกดดันให้บรูไนทำหน้าที่ผู้แทนของอาเซียนในการกดดันเมียนมา สำหรับการดำเนินงานในฐานะประธานอาเซียนต่อการประชุมสำคัญของอาเซียน ในกรณีที่
เมียนมายังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลหรือผู้นำประเทศ ตามระเบียบปฏิบัติปกติเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวง ได้แก่ ปลัดกระทรวง จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของเมียนมาในการเข้าร่วมประชุม และในการประชุมระดับ
ผู้ปฏิบัติของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ จะยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของอาเซียน
แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับเมียนมาว่าจะยังคงส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียนหรือไม่

ที่มา : https://thediplomat.com/2018/12/brunei-between-big-powers-managing-us-china-rivalry-in-asia/
ส่วนการประชุมสำคัญของอาเซียนที่มีผู้นำเข้าร่วมประชุม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน (ปีละสองครั้ง) และการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ในช่วงปลายปี) หากเมียนมายังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติ หรือมีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ และเมียนมาต้องการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม เจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับปลัดกระทรวงจะเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม และตามธรรมเนียมปฏิบัติของอาเซียนส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการระบุถึงในเชิงลบต่อประเด็นความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศใดประเทศหนึ่ง ในการประชุม นอกเหนือจาก การประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ของอาเซียนเท่านั้น (เช่นเดียวกับในห้วงที่ไทยมีการรัฐประหาร)
ทั้งนี้ บรูไนในฐานะประธานอาเซียนยังคงมีข้อห่วงกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และได้ประกาศเป็นกำหนดการล่วงหน้าไว้ว่า จะจัดให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำรวมกันสองครั้งในโอกาสเดียว (ครั้งที่ 38 และ 39) โดยในชั้นต้นนี้กำหนดว่าจะเป็นการประชุมทางไกลในเดือน ต.ค. 64