โจเซฟ ไบเดน ผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับนานาประเทศเพื่อหารือวิธีแก้ไขปัญหาโลกร้อน (Climate Change) พร้อมกันแบบออนไลน์ระหว่าง 22-23 เม.ย.64 ซึ่งเป็นการประชุมที่ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี เพื่อเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า สหรัฐฯ จะเป็นผู้นำโลกในการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง ในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก พร้อม ๆ กับการบอกชาวอเมริกันว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (zero-emissions) ก่อนปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า เร็วกว่าจีนที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่อีก 40 ปี
แม้สหรัฐฯ จะมีนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ต่อเนื่องเพราะการเมืองและผู้นำรัฐบาลมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ทุก ๆ 4 ปี แต่การที่ผู้นำสหรัฐฯ คนนี้ให้ทุกหน่วยงานบรรจุวาระ “ปัญหาโลกร้อน” ไว้ในการทบทวนแผนปฏิบัติงานและการกำหนดนโยบาย ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงกลาโหม ก็นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นอย่างจริงจัง และมีแนวโน้มจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ออกมาขานรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัท Google, Apple, และ Walmart เพราะพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณมหาศาลจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การประชุมครั้งนี้ ผู้จัดเตรียมพร้อมมาอย่างดี และหวังใช้การประชุมนี้สร้างแรงกระทบไปทั่วโลก ดังนั้น การเลือกผู้เข้าร่วมการประชุม ก็ต้องเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สหรัฐฯ อยากจะพูดคุย ชื่นชม ส่งสัญญาณเตือน หรือสานต่อเพื่อให้เป้าหมายของสหรัฐฯ เดินหน้าต่อไปได้
สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย กลุ่มประเทศหลัก ๆ ได้แก่
1) ประเทศและกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่ม Major Economics Forum on Energy and Climate (MEF) จำนวน 17 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร คณะกรรมาธิการยุโรปและคณะมนตรียุโรป
2) ประเทศที่มีความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดดเด่น เช่น ภูฏาน ซึ่งบรรลุการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ และชิลี ที่เป็นประเทศเปราะบางต่อปัญหาโลกร้อน แต่มีความคืบหน้าในการใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหินอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้หลักการปฏิบัติได้จริง (practical) และรัฐสนับสนุนภาคเอกชน (pro-business approach)
3) ประเทศที่มีเศรษฐกิจเปราะบาง มีปัญหาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน หรือเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนอย่างรุนแรง เช่น เวียดนาม หมู่เกาะมาแชล และแอนติกาและบาร์บูดา ซึ่งเป็นประเทศเกาะในทะเลแคริเบียน กาบองที่พื้นที่ของประเทศร้อยละ 80 เป็นป่า เช่นเดียวกับเคนยาที่ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์
4) ประเทศที่มีแผนการเชิงนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะเข้าสู่เป้าหมาย net zero-emissions เช่น สิงคโปร์ เดนมาร์ก บังกลาเทศ และสเปน
ทั้งนี้ ประเทศที่สหรัฐฯ อยากเตือน พร้อม ๆ กับขอความร่วมมือเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยกัน เพราะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้แก่ จีน อินเดีย บราซิล รวมทั้งเวียดนาม
สำหรับไทย ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่ประเทศข้างต้นได้เข้าร่วมแล้ว และตัดความคิดว่า “สหรัฐฯ ไม่สนใจไทยอีกแล้ว” ออกไป ก็อาจจะพออธิบายได้ว่า ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มใดที่สหรัฐฯ จะต้องเรียกให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก MEF ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ไทยมีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) อยู่แล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังไม่ได้ตั้งปีเป้าหมายที่จะ net zero-emissions
การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศ ถ้ามองในอีกแง่มุม ก็อาจเป็นโอกาสให้ไทยมีเวลาศึกษานโยบายสหรัฐฯ จากการประชุมครั้งนี้และวิธีการที่ประเทศต่าง ๆ รับมือกับนโยบายดังกล่าว ที่อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานและเป็น “แรงกดดัน” ให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยควรใช้เวลานี้ศึกษานโยบายของตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก เร่งสร้างจุดแข็ง และกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ชัดเจน เป็นขั้นตอน และทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้ไทยมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ในพฤศจิกายนนี้
เรียบเรียงจาก
Executives call on Biden to cut emissions to combat climate change (cnbc.com)
President Biden Invites 40 World Leaders to Leaders Summit on Climate | The White House
How did Chile become a global climate leader? | Ensia
New climate change report highlights grave dangers for Vietnam (mongabay.com)