หน้ากากอนามัย นะจ๊ะ เสรีภาพส่วนบุคคล…..เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองไทย แม้ “นะจ๊ะ” จะเป็นคำที่ผู้นำไทยชอบใช้พูดคุยกับประชาชนและสื่อมวลชน ขณะที่ “เสรีภาพส่วนบุคคล” ก็เป็นคำที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน แต่หน้ากากอนามัยมาเกี่ยวอะไรด้วย
ใครที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาก็จะเห็นว่า ช่วงนี้สหรัฐอเมริกากำลังพยายามสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพื่อหยุดโรค COVID-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันเกือบ 600,000 คน ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้วกว่า 100 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสหรัฐอเมริกามีศักยภาพที่จะผลิตและแจกจ่ายวัคซีนจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว
แต่ที่แปลก คือ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกากลับตัดสินใจผ่อนปรนคำแนะนำในการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วครบทุกโดส เมื่อ 27 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะเดียวกัน แต่ละรัฐซึ่งมีอำนาจออกกฎหมายของตัวเองเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการ ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงทำแบบนั้น?
คำตอบก็คือ เพื่อจูงใจให้คนฉีดวัคซีน เพราะยิ่งฉีดเร็วเท่าไหร่ก็จะได้ใช้ชีวิตตามปกติเร็วขึ้นเท่านั้น และยังเป็นการประนีประนอมให้กับชาวอเมริกันส่วนหนึ่งที่มองว่า การบังคับให้คนสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จนทำให้การป้องกันโรค COVID-19 กลายเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนทางการเมือง แม้แต่นักการเมืองและผู้ว่าการรัฐหลาย ๆ คน ก็ไม่ค่อยอยากจะออกกฎหมายให้คนสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ปัจจุบันมีการบังคับใช้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเพียง 25 รัฐ และเมืองหลวงอย่างวอชิงตัน ดี.ซี.
นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างของสหรัฐอเมริกา คือ วัคซีนมีแนวโน้มล้นตลาด เพราะมีคนจำนวนมากที่ยังไม่มั่นใจในวัคซีน กับคนอีกกลุ่มที่เลือกจะไม่ฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มระบายวัคซีนที่สต็อกไว้มากกว่าจำนวนประชากร ด้วยการส่งวัคซีนไปช่วยประเทศอื่น
สำหรับบ้านเรา การขอให้คนไทยสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันในระหว่างที่คนส่วนใหญ่รอวัคซีนอยู่ แต่เราสามารถเรียนรู้จากประเทศที่รุดหน้าในการฉีดวัคซีนอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวิธีรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีนที่น่าสนใจ เช่น การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปฉีดวัคซีนตามบ้านและร้านค้า การลดหย่อนภาษีให้บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานฉีดวัคซีน การจูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนโดยให้นักเทศน์ นักกีฬา และบุคคลที่ได้รับการยอมรับในชุมชนเข้าไปพูดคุย ซึ่งในบ้านเราก็มี อสม.
ส่วนวิธีสุดท้ายที่ฟังดูแปลก ๆ แต่มีจริง คือ การร่วมมือกับบาร์ คลับ และร้านอาหารจัดโปรโมชัน “shots for shots” โดยตั้งจุดฉีดวัคซีนในร้าน และแจกคูปองให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนนำไปแลกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟรี ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากันถ้าเอามาใช้ในบ้านเรา แต่คงมีคนต่อแถวฉีดวัคซีนยาว…..
——————————————————–