อินเดียกำลังเผชิญกับพายุ COVID-19 ระลอก 2 พัดกระหน่ำประเทศ จากการมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มวันละมากกว่า 300,000 ราย ผู้ป่วยสะสมมากกว่า 19 ล้านราย เสียชีวิต 211,835 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากยังไม่ถึงจุดพีค (Peak) ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงกลาง-ปลาย พ.ค.64 อีกทั้งการแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้นจากชุมชนเมืองไปยังเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ อินเดียยังเผชิญกับปัญหาระบบสาธารณสุขรุนแรง ทั้งขาดแคลนเตียงผู้ป่วย ออกซิเจนทางการแพทย์ วัคซีนและยารักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 บรรดาเศรษฐีอินเดียเช่าเครื่องบินเจ็ทเหมาลำบินหลบภัยออกนอกประเทศกันระนาว ขณะที่ต่างประเทศอาจอพยพคนกลับหากสถานการณ์เลวร้ายลง เห็นได้จากที่สหรัฐอเมริกาออกประกาศแนะนำการเดินทางไปอินเดียในระดับสูง ไม่ให้ชาวอเมริกันเดินทางไปอินเดีย และให้เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเดินทางออกจากอินเดียโดยสมัครใจแล้ว
การแพร่ระบาดระลอก 2 พลิกผันอินเดียจากผู้ส่งออกวัคซีนและยารักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกลายเป็นต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอสำหรับคนในประเทศ และยังเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต้องระดมความช่วยเหลือเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตครั้งนี้
แล้วไทยได้อะไรจากวิกฤตโรค COVID-19 ในอินเดียครั้งนี้ ?
อย่าการ์ดตกและไม่ประมาท การไม่ “สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ” ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากในช่วงโรค COVID-19 ระบาด อาจนำพามาซึ่งวิกฤตครั้งใหญ่เหมือนเช่นในอินเดีย ที่ประชาชนละเลยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือใส่กันไม่ถูกวิธี และยังไปเข้าร่วมอีเว้นท์ใหญ่ที่มีผู้คนแออัด เช่น เวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในหลายรัฐ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลของกลุ่มเกษตรกรอินเดีย และเทศกาลกุมภเมลา (Kumbh Mela) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญทางศาสนา จนทำให้เกิดการแพร่เชื้อขนาดใหญ่ (super spreader) นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังถูกโจมตีว่าไม่สนใจคำเตือนถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ที่พบตั้งแต่ช่วง ต.ค.63
สร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง จะช่วยให้ประเทศรับมือกับภาวะวิกฤตได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลอินเดียถูกโจมตีอย่างมากที่ไม่เร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศให้แข็งแกร่ง ในช่วงที่อินเดียเริ่มควบคุมโรค COVID-19 ระลอกแรกได้ อีกทั้งยังบริหารผิดพลาด โดยส่งออกวัคซีนและยารักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งออกซิเจนเหลวไปช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ จนทำให้ในประเทศเกิดภาวะขาดแคลน
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ ทำให้อินเดียต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่าสิบปี สหรัฐอเมริกาที่บอกเสมอว่าอินเดียเป็นพันธมิตรสำคัญในอินโด-แปซิฟิก กลับเสนอให้ความช่วยเหลือล่าช้ากว่าจีน ที่ขัดแย้งกับอินเดีย นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับอินเดีย โดยไม่ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพราะต้องการสำรองไว้ใช้ในประเทศ จนทำให้อินเดียขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตวัคซีน Covishield ขณะที่อินเดียผ่อนปรนให้ส่งออกยา Hydroxychloroquine ไปสหรัฐอเมริกาได้เมื่อ เม.ย.63 จึงทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ชาวอินเดียที่มองว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีความจริงใจที่จะช่วยเหลืออินเดีย อย่างไรก็ดี กระแสความไม่พอใจดังกล่าวก็ยังไม่กระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอเมริกา
แต่กระนั้น ภาวะที่คนเราต้องร้องขอหรือจำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นช่วยเหลือ ก็เป็นทุกข์ในยามยากอีกประการ ภาวะที่อินเดียเจอขณะนี้น่าจะทำให้อินเดียและหลายประเทศ รวมถึงไทย ตระหนักถึงคำกล่าวที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่างแท้จริง……….
—————————————-