การฟื้นตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย GDP ขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาส 1/2564 ขณะการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจเร่งจ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อเดินเครื่องสายพานการผลิตสินค้าและบริการสำหรับรองรับดีมานด์ที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมได้เผชิญกับความยากลำบากในการจัดหาแรงงาน จนส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของบริษัท และอาจสร้างปัญหาต่อภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
เค้าลางการเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ภายหลังการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำ เม.ย 64 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะมีจ้างงานมากกว่า 900,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการระบาดของโรค COVID-19 กว่า 8,120,000 ตำแหน่ง (อ้างอิงจากตัวเลขตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่ประจำ มี.ค. 64 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ)
ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารและค้าปลีกที่เผชิญกับความยากลำบากในการหาลูกจ้างอย่างหนัก ซึ่งในห้วง พ.ค. 64 บริษัทชั้นนำหลายแห่งได้ประกาศขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดผู้สมัครงาน ดังเช่น 1) บริษัท Mcdonald ประกาศขึ้นค่าจ้างพนักงานในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 2) บริษัท Chipotle ประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง 3) บริษัท Under Armour เตรียมปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง สู่ระดับ 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง รวมถึง 4) Bank of America ที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างชั่วคราวจากระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง สู่ระดับ 25 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง
ในส่วนของสาเหตุการเกิดปัญหานั้น ภาคธุรกิจพุ่งเป้ากล่าวโทษไปยังมาตรการแจกเงินคนตกงานที่เรียกว่า “Federal Bonus Unemployment Benefits” หรือ “Federal Enhanced Jobless Benefits” ซึ่งเป็นมาตรการที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Donald Trump เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยมีการแจกเงินคนตกงานเพิ่มเติมจากสวัสดิการว่างงานปกติถึงรายละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ ต่อมาได้ลดจำนวนเงินลดลงเหลือรายละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ และด้วยความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ว่างงานและพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รัฐบาลประธานาธิบดี Joe Biden จึงขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปจนถึง 6 ก.ย. 64
โดยการแจกเงินคนตกงานย่อมส่งผลเสียต่อจำนวนแรงงานในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จากข้อมูลในรายงานสำนักงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office-CBO) พบว่ามาตรการแจกเงินคนตกงานอาจส่งผลให้ผู้รับสวัสดิการว่างงานจำนวน 5 ใน 6 ราย มีรายได้จากการรับเงินเยียวยามากกว่ารายได้ที่คาดหวังจากการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ลดแรงจูงใจในการทำงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของ Bank of America ซึ่งระบุว่ามาตรการแจกเงินคนตกงานจะลดแรงจูงใจในการทำงานสำหรับกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยสร้างรายได้ก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ที่ระดับน้อยกว่า 32,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี เนื่องด้วยรายได้จากสวัสดิการว่างงานที่มีจำนวนใกล้เคียงกับค่าแรงที่คาดหวังจากการทำงาน จึงเกิดแรงกดดันจากบริษัทและพรรค Republican เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแจกเงินคนตกงาน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยปัจจุบันมี 24 รัฐ ส่วนใหญ่เป็นเขตของพรรค Republican ที่อาจพิจารณายุติมาตรการแจกเงินคนตกงานเร็วกว่ากำหนด
อย่างไรก็ตาม มาตรการแจกเงินคนตกงานเป็นเพียงมูลเหตุหนึ่งเท่านั้น โดยปรากฎว่าการจ่ายผลตอบแทนพนักงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยที่สร้างปัญหา จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Labor Statistics) ระบุว่านับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จนถึงปัจจุบัน (มิ.ย. 63 – เม.ย. 64) รายได้เฉลี่ยแรงงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐฯ ของพนักงานที่ไม่ใช่ระดับจัดการงาน (Nonsupervisory Employees) เพิ่มขึ้นจากระดับ 24.77 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง สู่ระดับ 25.45 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 2.7 แต่ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นพบว่าดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงอัตราร้อยละ 4.2 ส่งผลให้ค่าแรงที่แท้จริง (Real Wage) ลดลง ซึ่งกระทบแรงจูงใจในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ว่างงานในสหรัฐฯ
สำหรับธุรกิจร้านอาหารและการโรงแรม (Leisure and Hospitality) ซึ่งเผชิญกับความยากลำบากในการจัดหาแรงงานมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ พบว่า ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นรายได้เฉลี่ยของพนักงานที่ไม่ใช่ระดับจัดการงานเพิ่มขึ้นจากระดับ 14.58 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง สู่ระดับ 15.68 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง แม้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.5 แต่ทว่าก็เป็นอัตราการเติบโตที่เกิดจากฐานค่าแรงที่ต่ำ อีกทั้งค่าแรงในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีลักษณะที่ค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นในช่วง เม.ย.64 ซึ่งธุรกิจเริ่มเผชิญกับความลำบากในการจัดหาพนักงานแล้ว จึงอาจบ่งชี้ได้ในระดับหนึ่งว่ามาตรการแจกเงินคนตกงานส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจของกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในร้านอาหาร ค้าปลีก และโรงแรม
ดังนั้น ข้อมูลสถิติที่สะท้อนชัดเจนมากขึ้นขณะนี้ คาดว่าคงทำให้ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้นว่าในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอาจจำเป็นต้องยุติการแทรกแซงตลาดแรงงานผ่านมาตรการแจกเงินโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกลไกทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการกำหนดผลตอบแทนพนักงานที่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในอัตราที่สูงกว่าปกติ
————————–
เรียบเรียงจาก :
https://www.cbo.gov/publication/56387
https://data.bls.gov/timeseries/CUSR0000SA0&output_view=pct_1mth
https://www.bls.gov/webapps/legacy/cesbtab8.htm